ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (1)

ประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (1)

7 มิถุนายน 2012


ภาวิน ศิริประภานุกูล

หลังจากได้ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรมาเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ผมก็อยากจะขอร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวด้วยเช่นกันครับ เผื่อว่าอาจจะเป็นประโยชน์กับผู้มีอำนาจหน้าที่ในการปรับโครงสร้างภาษี หรืออาจจะเป็นการตั้งคำถามเพิ่มเติมให้ช่วยกันขบคิดในสังคมไทย โดยประเด็นหลักที่ผมจะพูดถึงในบทความชิ้นนี้จะอยู่ที่การปรับโครงสร้าง “ค่าใช้จ่าย” และ “เงินลดหย่อน” ในปัจจุบันครับ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบัน

วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบัน จะเริ่มต้นจากการคำนวณรวมรายได้ทุกประเภทของผู้เสียภาษีเข้าไว้ด้วยกัน โดยเราจะเรียกรายได้รวมนี้ว่า “เงินได้พึงประเมิน” และนำไปหัก “ค่าใช้จ่าย” และ “เงินลดหย่อน” ซึ่งโดยปกติแล้ว “ค่าใช้จ่าย” ของมนุษย์เงินเดือนโดยทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 60,000 บาท ในขณะที่ “เงินลดหย่อน” จะมีอยู่ด้วยกันราว 20 รายการ ยกตัวอย่างเช่น เงินลดหย่อนส่วนบุคคล 30,000 บาท เงินลงทุน LTF/RMF เงินค่าเบี้ยประกันชีวิต เงินจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน เป็นต้น

“เงินได้พึงประเมิน” ภายหลังจากการหัก “ค่าใช้จ่าย” และ “เงินลดหย่อน” ทุกประเภทแล้วจะกลายเป็น “เงินได้สุทธิ” และเจ้า “เงินได้สุทธิ” นี่เองครับ ที่จะถูกนำไปคำนวณกับ “อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ซึ่งถูกแบ่งเป็นชั้นๆ โดยเริ่มต้นจาก ชั้นเงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาท ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีในปัจจุบัน ถัดจากนั้นจะเป็น ชั้นเงินได้สุทธิ 150,001 – 500,000 บาท เสียภาษีอัตรา 10% ชั้นเงินได้สุทธิ 500,001 – 1,000,000 เสียอัตรา 20% และชั้นเงินได้สุทธิที่สูงขึ้นไปก็จะเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นด้วยเป็นลำดับ

เราจะเห็นได้ครับว่ายิ่ง “ค่าใช้จ่าย” และ “เงินลดหย่อน” มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ “เงินได้สุทธิ” ของผู้เสียภาษีจะมีมูลค่าลดลงไปเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าเงินภาษีที่ผู้เสียภาษีจะต้องจ่ายก็จะมีมูลค่าลดลงด้วยเช่นเดียวกัน โดยเงินภาษีที่ลดลงนั้นได้รับอิทธิพลจาก 2 ปัจจัย นั่นคือ 1) เงินได้สุทธิที่ลดลงอาจทำให้ผู้เสียภาษีตกลงไปอยู่ในชั้นเงินได้สุทธิที่ต่ำลง ซึ่งหมายความว่าอัตราภาษีที่จะใช้จัดเก็บกับผู้เสียภาษีคนดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่ต่ำลงด้วย และ 2) มูลค่าเงินได้สุทธิที่ลดลงนั้นจะทำให้มูลค่าเงินภาษีที่คำนวณได้จะลดลงตามไปด้วยเช่นกัน

ในปัจจุบัน “เงินลดหย่อน” จำนวนราว 20 รายการนั้นให้สิทธิกับผู้เสียภาษีเป็นมูลค่าที่สูงมาก โดยถึงแม้จะยังใช้สิทธิ “เงินลดหย่อน” ไม่ครบทุกรายการ มูลค่าของเงินลดหย่อนดังกล่าวอาจอยู่ในระดับที่สูงถึง 1 ล้านบาท นั่นหมายความว่าผู้เสียภาษีที่มีรายได้รวมราว 1.2 ล้านบาทต่อปี หรือราว 1 แสนบาทต่อเดือน หลังจากหักค่าใช้จ่าย 60,000 บาท หักเงินลดหย่อน 1 ล้านบาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 140,000 บาท ซึ่งตกอยู่ในชั้นเงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาท ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบัน พูดอีกอย่างก็คือด้วยโครงสร้างภาษีในปัจจุบัน ผู้มีรายได้ราว 1 แสนบาทต่อเดือนสามารถใช้สิทธิเงินลดหย่อนจนกระทั่งไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลยแม้แต่บาทเดียวได้ครับ

ข้อเสนอเพื่อปรับโครงสร้างภาษีในปัจจุบัน

สิ่งที่พวกเราสามารถสังเกตเห็นได้จากโครงสร้าง “ค่าใช้จ่าย” และ “เงินลดหย่อน” ในปัจจุบันนั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1) ค่าใช้จ่ายในโครงสร้างปัจจุบัน ซึ่งมีระดับสูงสุดที่ 60,000 บาทต่อปี หรือ 5,000 บาทต่อเดือน อาจไม่สะท้อนถึงระดับค่าครองชีพที่แท้จริงของผู้คนในยุคปัจจุบัน ดูเหมือนว่าค่าใช้จ่ายที่กำหนดอยู่ในโครงสร้างภาษีดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่ต่ำเกินความเป็นจริง ในขณะที่ 2) มีการให้สิทธิเงินลดหย่อนเป็นจำนวนหลายรายการ ซึ่งรวมมูลค่าแล้วอยู่ในระดับที่สูงมากจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้มูลค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่รัฐบาลจะจัดเก็บได้จะอยู่ในระดับที่ต่ำเกินความเป็นจริง

จากข่าวคราวที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีข้อเสนอเพื่อจัดการกับเรื่องดังกล่าวใน 2 ประเด็น นั่นคือ 1) การเสนอให้มีการปรับเพิ่ม “ค่าใช้จ่าย” ให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และ 2) การเสนอให้มีการปรับลดจำนวนรายการ หรือจำกัดมูลค่าของ “เงินลดหย่อน” ให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากจนเกินไป ในส่วนของข้อเสนอแรกนั้น คุณสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ชี้แจงว่าการปรับเพิ่มสิทธิหักค่าใช้จ่ายให้มากกว่า 60,000 บาท ต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภา ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน ในขณะที่โครงสร้างปัจจุบันก็ได้มีการยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้สุทธิน้อยกว่า 150,000 บาทต่อปีอยู่แล้ว

ในขณะที่ข้อเสนอในส่วนที่สองนั้นมีการตอบรับจากคุณสาธิต ในลักษณะของการจำกัดการใช้สิทธิเงินลดหย่อนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 7 แสนบาทหรือ 1 ล้านบาท แล้วแต่การตอบรับของทางรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวถูกตีกลับไปยังกรมสรรพากรอีกครั้ง โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่ายังไม่มีนโยบายที่จะปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบในช่วงนี้ ซึ่งถ้ามองในแง่ดีก็น่าจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับพวกเรา ให้ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับข้อเสนอการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งครับ

“ค่าใช้จ่าย” ที่เหมาะสมในโครงสร้างภาษีไทย

เนื่องจากมีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงมูลค่าของ “ค่าใช้จ่าย” ที่จะถูกนำไปใช้สิทธิหักออกจากเงินได้พึงประเมินของผู้เสียภาษี ดังนั้นเราก็น่าจะมีการพูดคุยกันในรายละเอียดครับ ว่าค่าใช้จ่ายส่วนดังกล่าว “ควรจะ” อยู่ในระดับเท่าไหร่

ในความเห็นของผมนั้น ค่าใช้จ่ายในโครงสร้างภาษีไทยควรจะมีลักษณะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของคนไทย ซึ่งถ้าหากบุคคลใดมีรายได้ในระดับต่ำกว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าว ก็อาจจะสร้างปัญหาต่อการดำรงชีพให้กับเขาได้ ดังนั้น รายได้ในส่วนนี้ไม่ควรจะถูกนำไปคำนวณภาษี เพราะการเสียภาษีจากรายได้ในส่วนนี้จะสร้างความยากลำบากในการดำรงชีพให้กับผู้เสียภาษี อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าผู้เสียภาษีมีรายได้เกินกว่าระดับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของเขาแล้ว รายได้ส่วนที่เกินขึ้นมาก็น่าจะถูกนำไปคำนวณเพื่อจ่ายภาษี

ดังนั้น คำถามสำคัญในประเด็นนี้จึงอาจเปลี่ยนไปเป็นว่า ระดับค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของคนไทยในปัจจุบัน ในตารางที่ 1 ผมนำข้อมูลรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยของประชากรไทยมาจากสำนักพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและการกระจายรายได้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นการประมวลผลข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งจากตารางดังกล่าวจะสังเกตได้ว่า ในปี 2552 รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ระดับ 4,307 บาท/คน/เดือน ครับ โดยกลุ่มคนที่มีรายจ่ายน้อยที่สุด 20% มีรายจ่ายเพียง 1,446 บาท/คน/เดือน ในขณะที่กลุ่มคนที่มีรายจ่ายลักษณะดังกล่าวมากที่สุด 20% ในสังคมไทย มีรายจ่ายอยู่ที่ระดับ 10,086 บาท/คน/เดือน

แน่นอนครับว่าผู้มีรายได้หลายๆ ท่านอาจถูกจำกัดการใช้จ่ายจากระดับรายได้ที่ตนเองได้รับ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายของคนที่อยู่ในกลุ่ม 20% แรก ก็อาจไม่ได้หมายความว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เพียงพอต่อการดำรงชีพก็เป็นได้ นอกจากนั้นแล้ว ผู้มีรายได้หลายๆ ท่านก็ยังมีภาระในการเลี้ยงดูผู้ที่อยู่ในอุปการะ ยกตัวอย่างเช่น ภรรยาหรือสามีที่มิได้ทำงาน ลูกๆ ที่ยังเรียนหนังสืออยู่ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ที่เกษียณอายุจากการทำงานไปแล้ว ดังนั้นเราอาจจะต้องมาพูดคุยกันครับ ว่าระดับ “ค่าใช้จ่าย” ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของคนไทยคนหนึ่งนั้นควรจะอยู่ในระดับเท่าไหร่

ในขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนระดับค่าใช้จ่ายดังกล่าวน่าจะนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยน “เงินลดหย่อนส่วนบุคคล” จำนวน 30,000 บาทต่อปี และข้อกำหนดในการยกเว้นภาษีให้กับผู้ที่มีเงินได้สุทธิในชั้น 0 – 150,000 บาท ไปพร้อมๆ กันด้วยครับ เนื่องจากในความเห็นของผมนั้น เงินได้ในส่วนที่เกินกว่าภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพน่าจะถูกนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด ซึ่งทำให้ภายหลังจากการปรับปรุงค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับต้นทุนในการดำรงชีวิตที่แท้จริงแล้ว ก็น่าจะมีการยกเลิกเงินลดหย่อนและการยกเว้นภาษีให้กับชั้นเงินได้สุทธิแรกพร้อมๆ กันไปด้วย

ผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ในประเด็นถัดมานั้น เราอาจจะมีคำถามต่อมูลค่าของ “เงินลดหย่อน” ที่เหมาะสมสำหรับโครงสร้างภาษีไทยว่าควรจะอยู่ในระดับใด จากข้อเสนอที่มีข่าวออกมานั้นจะอยู่ในรูปแบบของการจำกัดวงเงินขั้นสูงสุด 7 แสนหรือ 1 ล้านบาทต่อผู้เสียภาษีหนึ่งราย โดยส่วนตัวแล้วผมมีความเห็นคล้อยตามกับข้อเสนอดังกล่าวครับ แต่เพียงแค่เฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น เนื่องจากผมคิดว่าการกำหนดมูลค่าขั้นสูงดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่สูงมากเกินไป

การกำหนดมูลค่ารวมของ “เงินลดหย่อน” เพิ่มเติมไปจาก “ค่าใช้จ่าย” จะมีส่วนคล้ายคลึงกับการกำหนดระดับรายได้ของประชากรไทย ที่เราคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องเสียภาษีด้วยเช่นเดียวกันครับ ดังที่ได้กล่าวเอาไว้ในตอนต้นว่ารายได้รวมของผู้เสียภาษีจะถูกนำมาหัก “ค่าใช้จ่าย” และ “เงินลดหย่อน” ก่อนที่จะถูกนำไปคำนวณภาษี ดังนั้นยิ่ง “เงินลดหย่อน” มีมูลค่าสูงมากเท่าไหร่ เงินได้สุทธิที่จะถูกนำไปคำนวณภาษีก็จะมีมูลค่าลดลงไปเท่านั้น

โดยส่วนใหญ่แล้ว เงินลดหย่อนในโครงสร้างภาษีไทยจะมีความเกี่ยวข้องกับการออมเงินหรือการสะสมสินทรัพย์เป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น เงินลงทุนใน LTF/RMF เงินจ่ายเบี้ยประกันชีวิต เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือแม้แต่เงินจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน เป็นต้น ผู้ที่ใช้สิทธิเงินลดหย่อนนี้โดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง โดยจากโครงสร้างภาษีปัจจุบัน ผู้ที่มีรายได้ในระดับ 20,000 บาทต่อเดือน หรือ 240,000 บาทต่อปี ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้สิทธิเงินลดหย่อนเพิ่มเติมครับ เนื่องจาก เงิน 240,000 บาท ภายหลังจากหักค่าใช้จ่าย 60,000 บาท และเงินลดหย่อนส่วนบุคคล 30,000 บาทแล้ว จะเหลือเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ซึ่งตกอยู่ในชั้นเงินได้สุทธิที่ได้รับการยกเว้นภาษีพอดี ผู้ที่ใช้สิทธิเงินลดหย่อนจริงๆ แล้วน่าจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ในระดับสูงกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

ผมนำข้อมูลในตารางที่ 2 มาประกอบกับการพูดคุยในประเด็นนี้ครับ โดยในตารางดังกล่าว ผมนำตัวเลข GDP ณ ราคาปัจจุบันมาหารด้วยจำนวนผู้มีงานทำของประเทศไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปี 2551 – 2554 ตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ในระดับราว 240,000 บาทต่อปี หรือราว 20,000 บาทต่อเดือนพอดีครับ นั่นหมายความว่ารายได้เฉลี่ยของผู้มีงานทำในประเทศไทยจะตกอยู่ในระดับดังกล่าว

ข้อมูลในตารางที่ 3 ซึ่งผมนำมาจากสภาพัฒน์ จะช่วยแสดงภาพของผู้มีรายได้ในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้นครับ โดยจากตารางนี้เราจะเห็นได้ว่า กลุ่มคน 20% ที่ 4 ที่มีรายได้เกือบจะรวยที่สุดของประเทศไทยจะมีรายได้ราว 20% ของรายได้รวมของทั้งประเทศพอดี นั่นหมายความว่ากลุ่มคนไทยกลุ่มนี้จะมีรายได้เฉลี่ยเท่ากับค่าเฉลี่ยรายได้ของคนไทยพอดี ซึ่งทำให้คน 20% นี้มีรายได้รวมราว 20% ของทั้งหมดด้วย ผมตีความจากข้อมูลนี้ได้ว่า ลักษณะการกระจายของรายได้คนไทยไม่สมมาตรกันครับ โดยกลุ่มคน 20% ที่ 4 มีรายได้เท่ากับค่าเฉลี่ย กลุ่มคน 60% มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และกลุ่มคน 20% เท่านั้นที่มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย

เมื่อนำข้อมูลในตารางที่ 2 มาประกอบกับข้อมูลในตารางที่ 3 เราจะเห็นได้ว่า กลุ่มคนราว 60 – 70% มีรายได้ต่ำกว่า 240,000 บาทต่อปี ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยอัตโนมัติจากโครงสร้างภาษีในปัจจุบัน ในขณะที่มีคนไทยเพียงราว 30 – 40% เท่านั้นที่มีรายได้ในระดับที่เข้าข่ายต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าเราเอาตัวเลข 30% มาคูณกับจำนวนผู้มีงานทำราว 38 ล้านคน ก็จะได้ตัวเลขเท่ากับ 11.4 ล้าน ซึ่งมีความใกล้เคียงกับจำนวนผู้ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากๆ ครับ และอย่าลืมนะครับว่าคนจำนวน 11.4 ล้านคน ที่มีรายได้สูงกว่า 240,000 บาทต่อปีนี้ยังสามารถจะใช้สิทธิ “เงินลดหย่อน” เพิ่มเติมไปจากเงินลดหย่อนส่วนบุคคลของตนเองได้อีก

ประเด็นมูลค่ารวมของสิทธิ “เงินลดหย่อน” ที่เหมาะสมนี้ยังมีเพิ่มเติมอีกมากพอสมควรครับ โดยผมจะขอเก็บเอาไว้พูดคุยกับทุกท่านในครั้งต่อไป