ThaiPublica > คอลัมน์ > “พม่ารำขวาน ไทยเถิดเทิง”

“พม่ารำขวาน ไทยเถิดเทิง”

15 มิถุนายน 2012


ดร.วิรไท สันติประภพ
[email protected]

คนที่ชอบฟังดนตรีไทยคงคุ้นเคยกับทำนองเพลง “พม่ารำขวาน” ที่มีจังหวะสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ ทำนองเพลงไทยหลายเพลงมักจะขึ้นด้วยชื่อของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลาวดวงเดือน เขมรไทรโยค หรือพม่ารำขวาน เพราะได้รับอิทธิพลจากเพลงของประเทศเหล่านั้น มีผู้สันนิษฐานว่าทำนองเพลง “พม่ารำขวาน” มีที่มาจากการละเล่นของทหารพม่าระหว่างพักรบในสมัยเมื่อยกทัพมาตีกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยได้ยินทำนองเพลงนี้แล้วชอบ จึงเอามาประยุกต์เป็นการละเล่นกลองยาวหรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “เถิดเทิง”

ในวันนี้ การปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจของพม่าดูจะตื่นเต้นและเร้าใจไม่น้อยไปกว่าทำนองเพลงพม่ารำขวาน ในด้านการเมืองนั้น ช่วงปลายปี 2553 รัฐบาลทหารพม่าจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี และในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ได้ยอมให้ NLD ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของนางออง ซาน ซูจี เข้าร่วมและชนะไปเกือบทุกที่นั่ง นางออง ซาน ซูจี ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรผู้ทรงเกียรติเป็นครั้งแรกหลังจากที่ถูกกักบริเวณในบ้านของตนเองมากว่า 15 ปี รวมทั้งได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี การเดินทางมาเมืองไทยของนางออง ซาน ซูจี เมื่อเดือนที่แล้ว ความสำคัญไม่ใช่อยู่ที่เพียงนางได้รับอนุญาตให้เดินทางนอกประเทศเท่านั้น แต่อยู่ที่นางกล้าเดินทางออกนอกประเทศด้วย ในอดีตมีหลายโอกาสที่รัฐบาลทหารพม่าพยายามผลักดันให้นางไปต่างประเทศ โดยหวังว่าเมื่อนางออกไปแล้วจะไม่สามารถกลับเข้ามาได้อีก

แม้ว่าทหารจะยังคงมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลพม่าอยู่มาก แต่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ใช้ทั้งกึ๋น ความกล้า และบารมี ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง คณะรัฐบาลมีรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนมากขึ้น รัฐมนตรีสายทหารที่เป็นพวกไม้แข็งไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงได้ถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและกระทรวงการสื่อสารถูกปลด หลังจากที่ประชาชนในเมืองมัณฑะเลย์เดินขบวน (เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี) ประท้วงสถานการณ์การขาดแคลนไฟฟ้าที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในพม่านี้อาจกล่าวได้ว่ามีประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และนางออง ซาน ซูจี เป็นผู้นำหลัก แม้ว่าทั้งสองคนจะเคยต่อสู้ขัดแย้งกันมาเป็นเวลานาน แต่ในวันนี้ทั้งสองฝ่ายเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันในกรอบประชาธิปไตย เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดีขึ้น (โดยไม่ต้องมีกฏหมายปรองดอง)

การปฏิรูปทางการเมืองได้สร้างรากฐานสำคัญสำหรับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของคนพม่ายังล้าหลังกว่าไทยอยู่หลายสิบปี รายได้ต่อหัวของคนพม่าอยู่เพียง 800 เหรียญต่อปีเท่านั้น ต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นเพียงร้อยละ 15 ของคนไทย การส่งออกของพม่าทั้งปีมีมูลค่าเท่ากับการส่งออกของไทยเพียงแค่ 15 วัน สองสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจพม่าล้าหลังมากคือ การกีดกันทางเศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรปที่มีต่อเนื่องนับสิบปี และนโยบายเศรษฐกิจแบบปิดประเทศ โดยผู้มีอำนาจรัฐเป็นใหญ่สามารถแทรกแซงและบิดเบือนกลไกตลาดได้ตามที่ต้องการ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้หลายประเทศลดระดับการกีดกันทางเศรษฐกิจลงอย่างรวดเร็ว เปิดทางให้ธุรกิจของตนเข้าไป (แข่งกับจีน) หาโอกาสทางธุรกิจจากความดิบและความอุดมสมบูรณ์ของพม่ากันอย่างเต็มที่

ในส่วนนโยบายเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลพม่าได้ปฏิรูปนโยบายหลายด้านแบบกลับหลังหัน พม่ากำลังออกกฏหมายทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายธนาคารกลาง (เพื่อให้ธนาคารกลางเป็นอิสระจากรัฐบาล) กฏหมายธนาคารพาณิชย์ กฏหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฏหมายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะยอมให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าที่ดินจากเอกชนพม่าได้ถึง 60 ปี รวมทั้งคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติให้ได้รับการชดเชยถ้าทรัพย์สินถูกยึดหรือเวนคืนโดยรัฐบาล

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่ถือว่าสำคัญและสร้างความตื่นเต้นเร้าใจมาก คือ การยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้น อัตราแลกเปลี่ยนทางการกำหนดให้เงินหนึ่งดอลลาร์แลกได้เพียง 5 จ๊าด ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดสูงถึง 800 จ๊าดต่อหนึ่งดอลลาร์ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรานี้เป็นช่องทางหารายได้ให้แก่รัฐบาลพม่า (และผู้มีอำนาจรัฐ) มาเป็นเวลานานเพราะธุรกรรมหลายอย่างจะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางการ ส่งผลให้รัฐบาลพม่าได้เงินดอลล่าร์ถูกกว่าความเป็นจริงนับร้อยเท่า การที่รัฐบาลพม่าประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพียงอัตราเดียวตามราคาตลาด จะลดความเบี่ยงเบนในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมาก ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ผู้ส่งออกไม่ถูกเอาเปรียบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นธรรม และลดโอกาสที่จะถูกผู้มีอำนาจรัฐเรียกร้องหาผลประโยชน์

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจของพม่าไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศพม่าเท่านั้น แต่จะเกิดผลต่อเศรษฐกิจรอบๆ พม่าอย่างมากด้วย พม่าเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของโลกหลายประเภทที่ยังไม่ถูกขุดขึ้นมาใช้ พม่าจะเป็นประตูเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียให้แก่จีนและไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งจากเอเชียไปยุโรปได้มาก พม่ามีประชากรเกือบ 60 ล้านคน ถ้าเศรษฐกิจพม่าเจริญเติบโตต่อเนื่อง คนพม่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นกำลังซื้อที่สำคัญของภูมิภาค ในวันนี้ นักธุรกิจจากทั่วโลกต่างมุ่งกันเข้าไปพม่าเพื่อหาลู่ทางทำธุรกิจ ราคาสำนักงานในย่างกุ้งเพิ่มขึ้นเร็วมาก ค่าโรงแรมในย่างกุ้งเพิ่มขึ้นกว่า 3-4 เท่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ที่นั่งบนเครื่องบินเส้นทางกรุงเทพย่างกุ้งเต็มเกือบตลอดเวลา เกิดปรากฏการณ์ที่ว่าแรงงานพม่าราคาถูกต้องเข้ามาหางานทำในไทย แต่นักธุรกิจและพวกมืออาชีพไทยกลับต้องไปของานพม่าทำ

คำถามสำคัญที่อยู่ในใจทุกคนเวลานี้คือ การปฏิรูปที่เกิดขึ้นในพม่าจะกลับหลังได้หรือไม่ และจะเปลี่ยนแปลงได้เร็วแค่ไหน คนส่วนใหญ่เชื่อว่ายากที่พม่าจะกลับหลังไปใช้นโยบายแบบเดิม เพราะทั้งประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และนางออง ซาน ซูจี ต่างมีเป้าหมายตรงกันที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพม่าให้ดีขึ้น (มากกว่าที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนของผู้นำและครอบครัว) เหตุการณ์ Arab Spring ในตะวันออกกลางคงจะมีส่วนทำให้รัฐบาลพม่าตระหนักว่าไม่มีทางที่จะกดขี่และหลอกลวงประชาชนได้ตลอดไป วันนี้มีคนพม่าหลายล้านคนที่ออกมาทำงานอยู่นอกประเทศ ได้เห็นคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในประเทศของตนเองมาก คงจะมีเพียงสาเหตุเดียวที่การปฏิรูปในพม่าจะกลับหลังหันได้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงผู้นำโดยการปฏิวัติจากกลุ่มทหารไม้แข็งที่สูญเสียอำนาจ

สำหรับคำถามที่ว่า การเปลี่ยนแปลงในพม่าจะเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหนนั้น ผมคิดว่าคงจะไม่เกิดได้เร็ว เพราะพม่าขาดคนที่มีความรู้และทักษะในด้านต่างๆ รวมทั้งจะต้องมีการปรับกฏหมายและกรอบกฏเกณฑ์หลายด้าน แต่ในบางภาคธุรกิจที่นโยบายของรัฐบาลเป็นใหญ่และเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานนั้น คงจะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเพราะรัฐบาลพม่ายังมีวิธีตัดสินใจแบบทหาร ถ้าตั้งใจรำขวานแล้วคงฟันต่อทันทีไม่เถิดเทิงไปมา ผมได้มีโอกาสไปเนย์ปีดอ เมืองหลวงใหม่ของพม่าเมื่อเดือนที่แล้ว ต้องประหลาดใจกับความสามารถในการวางผังเมือง และการก่อสร้างอาคารต่างๆ ในเมืองเนย์ปีดอมาก ทั้งๆ ที่ใช้เวลาแค่ 5-6 ปี รัฐสภาแห่งใหม่ของพม่ามีขนาดใหญ่และสวยกว่ารัฐสภาไทยหลายเท่านัก ถนนหน้ารัฐสภามีความกว้าง 20 เลน (ต่อให้เกณฑ์เสื้อทุกสีมาชุมนุมก็ไม่สามารถปิดกั้นรัฐสภาได้) อาคารสนามบินนานาชาติเนย์ปีดอสวยและประณีตกว่าสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตหลายเท่าตัว แม้ว่าในขณะนี้จะมีเที่ยวบินปกติเพียงวันละเที่ยวจากย่างกุ้งเท่านั้น ผมเชื่อว่าไม่มีทางที่รัฐบาลไทยและหน่วยงานราชการไทยจะสร้างเมืองใหม่ได้รวดเร็วเท่ากับที่พม่าสร้างเนย์ปีดอ

การปฏิรูปที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า ตื่นเต้นและเร้าใจไม่น้อยไปกว่าทำนองเพลงพม่ารำขวาน ได้แต่หวังว่าจะเกิดการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศไทยอย่างจริงจัง ไม่น้อยหน้ากว่าที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า เพราะถ้าปล่อยให้พม่ารำขวานปฏิรูปไปหลายยกแล้ว ไทยอาจได้แค่เพียงจำทำนองมาเถิดเทิง

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่ 13 มิถุนายน 2555