ThaiPublica > คอลัมน์ > Modern Life ฉัน (ไม่) อยากเป็นชาวนา

Modern Life ฉัน (ไม่) อยากเป็นชาวนา

23 มิถุนายน 2012


ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

พิจารณาจากสิ่งที่ปรากฏใน Modern Life…ดูเหมือนกระบวนการถ่ายทำหนังสารคดีฝรั่งเศสปี 2008 เรื่องนี้ช่างเรียบง่าย เรย์มงด์ เดอปาร์ดง ผู้กำกับวัย 66 เพียงขับรถมุ่งหน้าลงชนบททางใต้ ถ่ายทิวทัศน์สองข้างทางหลากฤดู แวะเยือนชาวบ้านรายทาง ชักชวนพวกเขานั่งลงตรงไหนสักที่ เปิดบทสนทนาพลางตั้งกล้องถ่ายไว้ ทำซ้ำเช่นนี้ไปทีละบ้าน แล้วนำทั้งหมดร้อยเรียงอย่างแทบจะตรงไปตรงมาตามลำดับ เพื่อเป็นบทบันทึกความรู้สึกในห้วงเวลาหนึ่งของคนซึ่งเรียกตนเองว่า ‘ชาวนา’

แต่ในความง่ายนี้เอง ภายหลัง 1 ชั่วโมงของการดู ดิฉันกลับพบว่าหนังไม่เพียงทำให้เราเกิดความผูกพันกับบุคคลแปลกหน้าบนจอได้อย่างน่าประหลาด ทว่าภายหลัง 88 นาทีเมื่อหนังปิดฉาก มันยังสร้างความเศร้าสร้อยถึงขั้นสะท้านสะเทือน

เดอปาร์ดงเป็นช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ที่เกิดในครอบครัวชาวนา การเดินทางหลายสิบปีของเขาเพื่อตามเก็บความทรงจำต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน ท่ามกลางความผันเปลี่ยนของยุคสมัยนั้น แตกดอกออกเป็นทั้งผลงานภาพนิ่งสร้างชื่อและหนังสารคดี ที่ทำให้คนดูได้เห็นคนและประเทศฝรั่งเศสในมิติเลยพ้นจากการเป็นเมืองคู่รักและเมืองแฟชั่น โดยเฉพาะ ‘ไตรภาคชนบท’ ที่ประกอบด้วย Profils paysans: l’approche (2001), Profils paysans: le quotidien (2005) และ La vie moderne (Modern Life) เรื่องนี้ ซึ่งเป็นดังบทสรุปส่งท้ายถึงความเป็นจริงของอาชีพเกษตรกร

…อาชีพซึ่งคนชั้นกลางในเมืองใหญ่เมียงมองด้วยหลากอารมณ์ ตั้งแต่เวทนา ดูแคลน ไปจนถึงเคลิ้มฝัน …อาชีพซึ่ง เรย์มงด์ เปรวาต ชาวนาวัย 83 ผู้เป็นเกษตรกรรุ่นท้ายๆ ของชนบทโอต-การอน กล่าวว่า “มันไม่ใช่แค่ใช้ความชอบ แต่ต้องใช้ความรัก”

เปรวาตไม่ได้พูดด้วยท่าทีโรแมนติก แต่หนังทำให้เรารับรู้ว่า ความลุ่มหลงลึกล้ำที่เขากับพี่ชายตลอดจนเหล่าเพื่อนบ้านมีต่อผืนแผ่นดินนั้นเป็นความจริงแท้ เช่นกันกับความรักที่พวกเขามีต่อลมซึ่งพัดผ่านทุ่งหญ้า ฝูงแกะที่เดินเรียงราย และวัวที่ยืนเฝ้ารอการรีดนมอย่างสัตย์ซื่อ แต่ก็ความผูกพันต่อถิ่นกำเนิดอย่างแรงกล้าและต่อวิถีของชาวนาที่ดำเนินวนซ้ำเชื่องช้ามาชั่วนาตาปีนี่เอง ที่ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับความเจ็บปวดเมื่อพบว่า ‘ชีวิตสมัยใหม่’ ดังชื่อหนังนั้น กำลังกัดกร่อนความหวังที่พวกเขามีต่ออนาคตให้พังทลายลงตรงหน้าอย่างไม่อาจเลี่ยง

ภาษีซึ่งสูงลิบลิ่วทั้งที่ที่ดินในครอบครองของเกษตรกรแถบนี้เป็นที่สูงชันอันเพาะปลูกอะไรแทบไม่ได้, ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ทำนาซึ่งแพงเกินกว่าจะแบกรับ, ความยากไร้ที่บีบบังคับให้ต้องขายกระทั่งวัวสองตัวอันเป็นแหล่งรายได้สุดท้าย, ความเสื่อมโทรมของสังขารที่อาจหมายถึงการต้องขายฝูงแกะและเป็นจุดจบของอาชีพที่ทำมาชั่วชีวิต – – เรื่องราวเหล่านี้ไม่อาจชี้ชวนให้เรามองชาวนาด้วยประกายตาระยิบระยับซื่อใส ไม่ต่างกับความรู้สึกของคนหนุ่มสาวในหนัง ที่แม้ปรารถนาจะสืบสานอาชีพเกษตรกรมากเพียงใด แต่ความเป็นจริงอันยากลำบากที่พวกเขาได้เจอก็ล้วนโน้มนำให้ต้องเลือกเดินใหม่ในทางตรงกันข้าม

เบื้องหลังความเรียบง่ายอย่างยิ่งของวิธีเล่าเรื่องใน Modern Life แท้จริงแล้วคือการเพาะบ่มมิตรภาพมาต่อเนื่องยาวนานระหว่างเดอปาร์ดงกับชาวบ้านทุกคนที่ถูกสัมภาษณ์ จนกลายเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจถึงขั้นที่คนเหล่านั้นเชื้อเชิญเขาเข้าสู่ห้องที่แสนจะเป็นส่วนตัวอย่างห้องครัว ชงกาแฟให้ดื่มพร้อมหยิบยื่นคุกกี้ให้ด้วยความสนิทสนม และแม้บางคนจะบอกว่าไม่เคยดูหนังใดๆ มาก่อนเลยในชีวิต แต่พวกเขาก็ยินยอมนั่งลงคุยหน้ากล้องด้วยความยินดีที่ได้มีส่วนช่วยให้หนังเรื่องนี้ของเพื่อนลุล่วง

นอกเหนือจากความสัมพันธ์ระหว่างคนถ่ายกับคนถูกถ่าย ความรู้สึก ‘จริง’ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่เค้นคั้นปรุงแต่งยังเกิดจากทั้งความแม่นยำและผ่อนคลายของตัวเดอปาร์ดงเอง เขามีวิธีตั้งคำถามแบบชวนคุยที่บ่งบอกความรักนับถือในตัวผู้ถูกสัมภาษณ์ และแม้ไร้ซึ่งความพยายามจะมุ่งสู่คำตอบอันใหญ่โตสลักสำคัญ แต่มันก็นำไปสู่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถปะติดปะต่อด้วยตัวเองจนเห็นภาพชีวิตของชาวนาแต่ละคน ที่ยิ่งกว่านั้นคือ เขายอมให้เราได้เห็นแม้ช่วงเวลาที่ชาวนาผู้เฒ่าไม่ได้ยินคำถามของเขาจนต้องถามใหม่ซ้ำๆ, บางคนถูกถามแล้วตอบแค่ด้วยใบหน้านิ่งเฉย ท่าทีอึกอักอึดอัดขวยเขิน หรือเหม่อมองไปไกลโดยไม่พูดอะไรเลย

ความเงียบและการไม่พูดอาจเป็นช่วงเวลาไร้ค่าจนต้องถูกตัดทิ้งในหนังสารคดีหลายเรื่อง แต่เดอปาร์ดงไม่ได้ทำหนังด้วยวิธีนั้น ชาวนาในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เหยื่อและไม่ใช่วีรบุรุษ สายลมและผืนดินที่เขาเก็บภาพนั้นงดงามน่าหวงแหนแต่ก็ไม่ใช่ปลายทางแห่งความเพ้อฝัน ความเงียบและคำถามที่ไม่มีใครตอบคือสิ่งที่หนังให้เกียรติ ซึ่งในที่สุดแล้วนั่นคือคำตอบอันมีความหมาย ความจริง และความเศร้ามากมายในตัวมันเอง

หมายเหตุ: Modern Life เปิดตัวในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2008 โดยมีเป้าหมายเดิมคือฉายทางโทรทัศน์หลังจากนั้น แต่เสียงชื่นชมที่ได้รับทำให้มันได้เข้าฉายในโรงทั่วฝรั่งเศสโดยมีคนดูถึง 250,000 คน ซึ่งนับว่าสูงมากสำหรับหนังสารคดี และต่อมามันได้รับรางวัล Louis Delluc prize สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี (มอบโดยกรรมการ 20 คนที่ประกอบด้วยนักวิจารณ์และคนทำงานสายศิลปวัฒนธรรม)ดูที่นี่