ThaiPublica > เกาะกระแส > “เรียนก่อนผ่อนทีหลัง” ให้กู้แบบไหนหนี้ไม่สูญ กองทุนไม่ล่ม

“เรียนก่อนผ่อนทีหลัง” ให้กู้แบบไหนหนี้ไม่สูญ กองทุนไม่ล่ม

19 มิถุนายน 2012


ข่าวแจก – สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เหตุผลหลักของการมีระบบการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ล้วนมุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้เรียนดีแต่ยากจน โดยเฉพาะการกู้ยืมเรียนในระดับอุดมศึกษา ให้เรียนก่อนผ่อนทีหลัง แต่ผลดำเนินการที่ผ่านมายังสวนทาง ทีดีอาร์ไอเสนอปรับปรุงใหม่ ระบบการเงินอุดมศึกษา เพิ่มมาตรการคัดกรอง สนับสนุนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีระบบติดตามใกล้ชิดหลังเรียนจบ ลดฐานรายได้เริ่มผ่อนชำระ ลดเสี่ยงหนี้สูญ-กองทุนล่ม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ให้ความเห็นว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปีการศึกษา 2549 สำหรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น โดยกำหนดให้ทุกคนมีสิทธิ์กู้จากกองทุนได้ ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงหรือต่ำ การกู้ยืมจะจำกัดเฉพาะสำหรับค่าเล่าเรียนเท่านั้น และการชำระคืนหนี้จะเริ่มขึ้นเมื่อผู้กู้มีรายได้ตั้งแต่ 16,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป โดยกำหนดอัตราการชำระคืนอยู่ที่ 5% ของรายได้ก่อนหักภาษี อัตราการชำระคืนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 8% และ 12% เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 30,000 บาท และ 70,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ

เนื่องจากการให้กู้ยืมสำหรับการลงทุนในการศึกษามีความเสี่ยงสูงในเรื่องของรายได้และการมีงานทำในอนาคต หัวใจของความสำเร็จของการให้กู้แบบ กรอ. จึงอยู่ที่ระบบการติดตามผู้กู้ ประกอบกับการกำหนดพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราการชำระคืน และรายได้ขั้นต่ำที่จะเริ่มชำระคืนให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา การประเมินกำหนดระดับรายได้ขั้นต่ำที่ 16,000 บาทต่อเดือนนั้นค่อนข้างสูงมากเมื่อคำนึงถึงรายได้ตลอดชีวิตของแรงงานอุดมศึกษาของไทย และยอดหนี้ กรอ. ที่ 200,000 บาท และจะทำให้มีจำนวนลูกหนี้ประมาณ 1 ใน 3 ที่ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้เลยเนื่องจากรายได้ไม่ถึงขั้นต่ำที่กำหนด ในที่สุด รัฐจะต้องแบกรับภาระอย่างน้อย 70% ของเงินที่ให้กู้ทั้งหมดเมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน ดังนั้น หากลดระดับรายได้ขั้นต่ำลงมาที่ 9,000 บาทต่อเดือน อัตราการอุดหนุนของรัฐจะลดลงเหลือประมาณ 30%

ดร.ดิลกะกล่าวว่า เมื่อดูคุณภาพการศึกษากับค่าจ้างจะพบว่าตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา อัตราค่าจ้างที่แท้จริงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีความเหลื่อมล้ำจากปัญหาคุณภาพบัณฑิตที่แตกต่างกันมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการเพิ่มการผลิตบัณฑิตโดยละเลยการควบคุมคุณภาพและไม่ตรงกับสาขาที่ตลาดต้องการ นโยบายค่าจ้างปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือนของรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอุปทานปริญญาบัตรมากขึ้นไปอีก และหากปล่อยให้สถาบันอุดมศึกษาเพิ่มการผลิตบัณฑิตโดยปล่อยให้คุณภาพโดยรวมลดลง จะยิ่งทำให้ปัญหาการชำระหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมไม่ว่าจะเป็นแบบ กรอ. หรือ กยศ. ในอนาคตมีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก

ตารางเปรียบเทียบค่าจ้างแท้จริง (1)
ตารางเปรียบเทียบค่าจ้างแท้จริง

ข้อเสนอแนะสำหรับ กรอ. ในยุค 2555 เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาระทางด้านงบประมาณมากเกินไป ในระยะแรก กรอ. ควรกำหนดพารามิเตอร์ของการชำระคืนหนี้ใหม่ โดยอาจจะเริ่มชำระคืนเมื่อผู้กู้มีรายได้ตั้งแต่ 9,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และควรให้กู้ยืมเฉพาะนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้ควรมีการกำหนดเพดานรายได้ของครัวเรือนสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์กู้ เช่น ครอบครัวต้องมีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี หรือนำจำนวนบุตรที่อยู่ในวัยเรียนมาพิจารณาถึงภาระของครอบครัวด้วยก็ได้ มีการติดตามภาวะการทำงานและรายได้ของลูกหนี้ในตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง

การปฏิรูประบบการเงินอุดมศึกษาในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะกำหนดมาตรการการคัดกรองผู้กู้ที่มีคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้กู้จะเรียนไม่จบ และจะช่วยลดปัญหาการผลิตบัณฑิตคุณภาพต่ำ หรือในสาขาวิชาที่ตลาดไม่ต้องการ อีกทั้งยังจะลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งของรัฐและของนักศึกษาเอง การคัดเลือกผู้ที่มีสิทธิ์กู้ยืมนั้นควรจะพิจารณาจากความสามารถทางวิชาการ โดยการนำคะแนนสอบมาตรฐานระดับประเทศ เช่น O-Net มาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคัดกรอง ส่วนผู้ที่จบในสายอาชีวะที่ต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาตรีจะต้องมีผลการเรียนดี และจะต้องผ่านการคัดเลือกโดยการสอบ O-Net เช่นเดียวเช่นกัน

ปัจจุบัน จำนวนเงินหมุนเวียนในระบบอุดมศึกษาไทยที่ไปถึงสถาบันการศึกษาเฉพาะมหาวิทยาลัยมีประมาณ 112,000 ล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้เป็นค่าเล่าเรียนสำหรับสถาบันเอกชนประมาณ 15,000 ล้านบาท (นักศึกษาทั้งหมด 250,000 คน) ค่าเล่าเรียนสถาบันของรัฐ 32,000 ล้านบาท (นักศึกษาทั้งหมด 1,750,000 คน) และงบประมาณอุดหนุนสถาบันของรัฐอีกประมาณ 65,000 ล้านบาท เมื่อคำนึงถึงนักศึกษาที่มาจากครอบครัวฐานะปานกลางและร่ำรวยที่มีการเตรียมตัวมาดี ส่วนมากจะเข้าศึกษาในสถาบันชั้นนำของรัฐ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้เรียนกลุ่มนี้จ่ายค่าเล่าเรียนต่ำสำหรับการศึกษาที่มีคุณภาพดี ในขณะเดียวกัน ผู้เรียนด้อยโอกาสที่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน และไม่ได้ผ่านการเตรียมตัวทางวิชาการที่ดีมาตั้งแต่เล็ก จะไปรวมอยู่ที่สถาบันของรัฐที่มีคุณภาพต่ำ และสถาบันเอกชนที่ไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ดังนั้น ผู้เรียนด้อยโอกาสกลุ่มนี้จะจ่ายค่าเล่าเรียนสูงสำหรับการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ

ดร.ดิลกะกล่าวว่า รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปค่าเล่าเรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ โดยเปลี่ยนให้คนรวยและคนชั้นกลางที่ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาคุณภาพดี ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้นที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตจริง และลดการอุดหนุนโดยตรงต่อสถาบันของรัฐ การอุดหนุนค่าเล่าเรียนควรจะพุ่งไปที่ผู้เรียนยากจนโดยตรงมากกว่า ไม่ว่าจะเรียนอยู่ในสถาบันของรัฐที่คุณภาพต่ำหรือสถาบันเอกชนก็ตาม การลดการอุดหนุนสถาบันของรัฐผ่าน supply-side financing และหันมาใช้ demand-side financing กับการอุดหนุนแบบเฉพาะเจาะจงที่ผู้ด้อยโอกาส ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความเป็นธรรมในสังคม และลดภาระหนี้สิน กรอ. ของผู้เรียนยากจน แต่ยังจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันระหว่างสถาบันอุดมศึกษามากขึ้นด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพในระยะยาวได้.