ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อความรักและอุดมคติไม่เพียงพอ: บทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนผู้ผลิตหนังสือรายเล็กและผู้ผลิตหนังสืออิสระ

เมื่อความรักและอุดมคติไม่เพียงพอ: บทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนผู้ผลิตหนังสือรายเล็กและผู้ผลิตหนังสืออิสระ

13 มิถุนายน 2012


สมคิด พุทธศรี

หนังสือเป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและปัญญา ดังนั้นหนังสือจึงมิได้ให้อรรถประโยชน์แก่ผู้ที่บริโภคหนังสือเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสังคมภายนอกอีกด้วย การเติบโตของอุตสาหกรรมหนังสือในสังคมหนึ่งๆ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นคุณภาพของสังคมนั้นๆ รวมไปถึงคุณภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้นด้วย

กระนั้น เมื่อมองผ่านแง่มุมของความเป็นอุตสาหกรรมการผลิต และความเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้ หนังสือก็ไม่ได้แตกต่างจากสินค้าอื่นๆ ในระบบทุนนิยม ธุรกิจหนังสือถูกผูกขาดจากผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่มีอำนาจในตลาดสูง ในขณะที่ผู้ผลิตรายเล็กและผู้ผลิตอิสระที่แม้จะมีจำนวนมาก แต่อำนาจในตลาดกลับแปรผกผันกับจำนวน นี่คือสภาพที่เป็นจริงของทุกๆ สังคมที่สมาทานระบบทุนนิยม ไม่เกี่ยงว่าทุนนิยมนั้นจะพัฒนาแล้ว หรือว่าจะยังล้าหลังอยู่ก็ตาม

ในกรณีของประเทศไทย ข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบันตลาดหนังสือมีมูลค่าประมาณ 21,000 ล้านบาท หรือแค่ประมาณร้อยละ 0.2 ของผลิตภันฑ์มวลรวมประชาชาติเท่านั้น กล่าวคือ ในการผลิตสินค้าและบริการ 100 บาท สังคมไทยเจียดเงินไว้ผลิตหนังสือ 20 สตางค์เท่านั้น หรือจะลองคิดดูเล่นๆ ว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยในปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 282,000 บาท/ปี นั่นคือ คนไทยจ่ายเงินซื้อหนังสือแค่ประมาณ 564 บาท/ต่อปี หรือแค่ 47 บาท/เดือนเท่านั้น ไม่ว่ามองจากมุมไหน ธุรกิจหนังสือไทยก็ถือว่าเป็นเค้กที่ก้อนเล็กมากอยู่ดี

เมื่อมองไปที่โครงสร้างตลาด ข้อมูลในปี 2553 ระบุว่า ส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจหนังสือนั้นกระจุกอยู่กับผู้เล่นเพียงไม่กี่รายเท่านั้น กลุ่มผู้นำตลาดที่มีเพียง 8 ราย มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 32 กลุ่มสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ 45 รายมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันร้อยละ 33 ของตลาด ในขณะที่สำนักพิมพ์ขนาดเล็กกว่า 320 รายมีส่วนแบ่งตลาดเพียงแค่ร้อยละ 16 เท่านั้น เมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อสำนักพิมพ์แล้วพบว่า กลุ่มผู้นำตลาดและกลุ่มสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก 88.8 เท่า และ 26.4 เท่า เลยทีเดียว

แต่เดิมเค้กก็เล็กอยู่แล้ว ส่วนแบ่งที่ได้มายังน้อยกว่าใครเพื่อน จึงไม่แปลกใจว่า ผู้ผลิตหนังสือขนาดเล็กและผู้ผลิตหนังสืออิสระส่วนใหญ่จึงมักจะทำหนังสือดีมีคุณภาพ โดยใช้ความรักและอุดมคติเป็นเหตุผล และความรักและอุดมคติโอบอุ้มทุกสิ่งทุกอย่างในการทำธุรกิจหนังสือ แต่โลกทุนนิยมเป็นโลกที่ไม่โรแมนติกนัก เมื่ออยู่ในตลาด ความรักและอุดมคติหาใช่ตัวชี้ขาดความสำเร็จ ในปี 2554 แม้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กจะมีอัตราการขยายตัวของรายได้อยู่ที่ร้อยละ 0.24 แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่น่าปลาบปลื้มนัก เมื่อผู้เล่นในกลุ่มอื่นๆ นั้นมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5–17 ไม่ต้องพูดถึงว่า ในปี 2553 กลุ่มสำนักพิมพ์ขนาดเล็กเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่อัตราการขยายตัวของรายได้ติดลบ โดยติดลบถึงร้อยละ 20.88 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และนับเป็นการถดถอยอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ติดลบร้อยละ 15 ในปี 2552

เมื่อความรักและอุดมคติกินไม่ได้ ผู้ผลิตหนังสือขนาดเล็กและผู้ผลิตจำนวนมากที่หมดแรงจำต้องยอมแพ้และถอนตัวออกไป ข้อมูลสถิติชี้ว่า จำนวนสำนักพิมพ์ขนาดเล็กนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2550 จำนวนสำนักพิมพ์ขนาดเล็กมีทั้งสิ้น 381 ราย ในขณะที่ในปี 2554 สำนักพิมพ์ขนาดเล็กเหลือเพียงแค่ 320 รายเท่านั้น

ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ผลิตรายใหญ่อาจจะผลิตหนังสือออกมาได้เป็นจำนวนมาก และทำให้ตลาดหนังสือเติบโตได้อย่างคึกคักและมีเสถียรภาพได้ตามสมควร แต่สภาวะดังกล่าวมิอาจเป็นสภาวะในอุดมคติของสังคมได้ ในแง่ของวัฒนธรรมทางปัญญา การผูกขาดตลาดหนังสือไม่เพียงแต่เป็นการจำกัดการเข้าถึงหนังสือของผู้คนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการควบคุมการแสดงคิดความเห็นสาธารณะ และยังอาจก่อให้เกิดการผูกขาดทางวัฒนธรรมด้วย

ในมิติของเศรษฐศาสตร์ การผูกขาดตลาดหนังสือย่อมทำให้หนังสือดีมีคุณภาพที่มักจะไม่เป็นที่นิยมในตลาดอยู่ในตลาดน้อยเกินไป อันจะทำให้สังคมได้รับผลกระทบภายนอกที่เป็นบวก (positive externalities) ของหนังสือน้อยกว่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้ ได้แก่ ตลาดหนังสือและตำราทางวิชาการ เป็นต้น

นอกจากนี้ สภาวะผูกขาดยังสะท้อนให้เห็นถึงการกระจายผลได้อย่างไม่เป็นธรรมในธุรกิจหนังสือ ผลได้ของการเติบโตของธุรกิจหนังสือส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่กับผู้ผลิตรายใหญ่ ในขณะที่ผู้ผลิตขนาดเล็กและผู้ผลิตหนังสืออิสระที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ผลิตหนังสือคุณภาพ และมีความหลากหลายในประเภทของหนังสือที่ผลิต กลับมีส่วนแบ่งเพียงหยิบมือเดียวและอยู่รอดในตลาดได้อย่างยากลำบาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลงทุนและระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ของกลุ่มผู้นำตลาดและกลุ่มสำนักพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่ มีส่วนทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในตลาดหนังสือและในโลกทุนนิยม ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของธุรกิจหนังสือไทยคือ จะทำอย่างไรให้ผู้ผลิตหนังสือขนาดเล็ก และผู้ผลิตหนังสืออิสระที่ทำหนังสือดีแต่ตลาดไม่นิยมอยู่รอดได้ในตลาด แน่นอนว่า ผู้ผลิตหนังสือขนาดเล็กและผู้หนังสืออิสระไม่ได้คาดหวังว่าตัวเองจะผลิตหนังสืออย่างสะดวกสบายไร้กังวลใดๆ พวกเขาเพียงแต่หวังว่า ตัวเองจะอยู่รอดได้โดยไม่ลำบากจนเกินไปนัก

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เสนอว่า เมื่อตลาดทำงานไม่ทำงานหรือไม่อาจทำงานได้โดยสมบูรณ์ แต่สินค้านั้นส่งผลกระทบภายนอกที่เป็นบวกแก่สังคม รัฐจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนเพื่อให้มีการผลิตและการบริโภคในวงกว้าง อันจะทำให้ระดับสวัสดิการโดยรวมของสังคมดีขึ้นไปด้วย

ในหลายๆ ประเทศ ภาครัฐมีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริมผู้ผลิตหนังสือขนาดเล็กและผู้ผลิตหนังสืออิสระ ให้สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับตลาดได้ดีพอสมควร นอกจากการรณรงค์ให้ประชาชนของตนอ่านหนังสือมากขึ้นแล้ว มาตรการที่เป็นรูปธรรมส่วนใหญ่ที่รัฐใช้คือ การให้การสนับสนุนทางการเงิน ตัวอย่างเช่น ในแคนาดา ภาครัฐได้จัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนสำนักพิมพ์เกิดใหม่ (Emerging Publishing Grant) เป็นประจำทุกปี หรืออย่างในสวีเดน ผู้ประกอบการในธุรกิจหนังสือก็จะได้รับดอกเบี้ยราคาถูกกว่าท้องตลาดค่อนข้างมาก ที่ฝรั่งเศส สำนักพิมพ์อิสระที่ต้องการเงินลงทุนในโครงการที่ใช้งบประมาณสูงแต่ไม่มีเงินทุน ก็สามารถขอกู้เงินแบบปราศจากดอกเบี้ยจากศูนย์หนังสือแห่งชาติของฝรั่งเศส มาตรการเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีเงื่อนไขพ่วงมาด้วยว่า ผู้ผลิตจะต้องเลือกทำหนังสือสาระคุณภาพดี อาทิ กวี วรรณกรรมวิชาการ วรรณกรรมคลาสิก และวรรณกรรมภาษาถิ่น/ท้องถิ่น เป็นต้น

ในบางประเทศ ภาครัฐได้พยายามคิดค้นนวัตกรรมทางนโยบายใหม่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของสังคม กรณีของสกอตแลนด์นั้นเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจยิ่ง แต่ก่อนนั้น รัฐบาลสกอตแลนด์สนับสนุนผู้ผลิตหนังสือขนาดเล็กและผู้ผลิตหนังสืออิสระ ด้วยการให้เงินอุดหนุนผ่านสภาศิลปะแห่งสกอตแลนด์ (The Scottish Art Council) ซึ่งแม้จะมีประสิทธิผลพอสมควร แต่การช่วยเหลือก็จำกัดเฉพาะผู้ผลิตหนังสือที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งสกอตแลนด์เท่านั้น ต่อมาในปี 2009 รัฐบาลสกอตแลนด์จึงได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ชื่อว่า Creative Scotland 2009 Ltd. ซึ่งมีลักษณะการดำเนินการในรูปแบบบริษัทเอกชน โดยหน่วยงานแห่งนี้จะต้องนำเงินงบประมาณที่ได้จากภาครัฐไปร่วมลงทุนในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

ความน่าสนใจของ Creative Scotland 2009 Ltd. คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจสร้างสรรค์ในทุกแขนงสามารถนำเสนอโครงการที่ตนเองจะทำเพื่อขอให้รัฐร่วมเป็นหุ้นส่วนได้โดยตรง ที่สำคัญคือ Creative Scotland 2009 Ltd. ไม่ได้จัดประเภทของเศรฐกิจสร้างสรรค์ตามรูปแบบของศิลปะ (art form) เหมือนที่เคยทำมา กล่าวคือ ไม่ได้มีการแยกธุรกิจหนังสือ ธุรกิจเพลงเพลง หรือธุรกิจภาพยนตร์ ออกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่จะใช้ลักษณะของกิจกรรมเป็นเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประเภทของการลงทุน เช่น การลงทุนพัฒนาช้างเผือก (talent development) การลงทุนสร้างสาธารณูปโภคทางปัญญาและวัฒนธรรม (cultural facilities) และการพัฒนานวัตกรรม (innovation) เป็นต้น การใช้เกณฑ์เช่นนี้ส่งผลให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมมีความยืดหยุ่นและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

นอกจากการให้เงินอุดหนุนและการร่วมทุนแล้ว รัฐยังสามารถเป็นตัวกลางในการจับคู่ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ด้วย ในหลายๆ ประเทศ นโยบายการศึกษาและระบบห้องสมุด เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลใช้เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตหนังสือขนาดเล็กและผู้ผลิตหนังสืออิสระได้เป็นอย่างดี เช่น ในสวีเดนและนอร์เวย์ หนังสือที่ถูกผลิตออกมาเกือบทุกเล่มจะถูกซื้อโดยองค์กรหรือมูลนิธิที่เชื่อมโยงกับรัฐ เพื่อส่งไปยังห้องสมุดสาธารณะทุกแห่งในประเทศ ในสกอตแลนด์ แม้รัฐจะไม่ได้บังคับให้ห้องสมุดต้องซื้อหนังสือของทุกสำนักพิมพ์ แต่จากการสำรวจพบว่า ระบบห้องสมุดสมุดสาธารณะในสกอตแลนด์ให้ความสำคัญกับการสั่งซื้อหนังสือของผู้ผลิตขนาดเล็กและผู้ผลิตอิสระไว้ในห้องสมุด เนื่องจากหนังสือเหล่านี้มีถูกผลิตน้อยและมักจะหาได้ยากในท้องตลาด

ระบบห้องสมุดที่ก้าวหน้ายังมีประโยชน์ในเชิงของกลไกนโยบายอื่นๆ อีกด้วย ในประเทศอังกฤษ ฮอลแลนด์ และยุโรปเหนือ รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสือด้วยการจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์สำหรับการยืมในห้องสมุด (Library Lending Right) ให้กับผู้ผลิตหนังสือ โดยมีตรรกะว่า เมื่อหนังสือมาอยู่ในห้องสมุดสาธารณะ สังคมจะได้ประโยชน์จากการที่คนสามารถเข้าถึงหนังสือมากขึ้น แต่ผู้ผลิตหนังสือกลับเป็นผู้เสียประโยชน์เมื่อหนังสือที่ตนผลิตอาจขายได้น้อยลงในท้องตลาด เพราะคนหันมายืมจากห้องสมุดแทนที่จะซื้ออ่านเอง ทั้งนี้ หนังสือเล่มใดถูกยืมมากผู้ผลิตก็จะได้รับค่าลิขสิทธิ์มากขึ้นตามไปด้วย

นโยบายและมาตรการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้ อาจไม่มีความหมายใดๆ เลย ถ้าสิทธิและเสรีภาพในการอ่านและการเขียนในสังคมถูกจำกัด ในประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่านโยบายและมาตรการสนับสนุนธุรกิจหนังสือจะแตกต่างกันเพียงใด แต่สิ่งที่ทุกรัฐมีร่วมกันคือการให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงสินค้าวัฒนธรรมเป็นลำดับต้นๆ นี่เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการยกระดับธุรกิจหนังสือ และอาจหมายรวมถึงสังคมในภาพรวมด้วย