ThaiPublica > เกาะกระแส > ภาครัฐ- เอกชน ตีโจทย์ “AEC” วิกฤต หรือ โอกาส

ภาครัฐ- เอกชน ตีโจทย์ “AEC” วิกฤต หรือ โอกาส

12 มิถุนายน 2012


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “วาระแห่งชาติ : เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “วาระแห่งชาติ : เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ประเทศไทยมีความพร้อมหรือไม่พร้อมในการก้าวสู่การเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ เออีซี (Asean Economic Community : AEC) อย่างสมบูรณ์แบบในปี 2558 เป็นประเด็นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนชาวไทยทุกคนต้องประเมินตัวเองอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมพร้อมรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เพราะเออีซีมีทั้งโอกาสและความท้าทายเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ ในภาพรวมการดำเนินงานของประเทศไทยเพื่อรองรับการเปิดเออีซีในอีก 3 ปีข้างหน้า ตามตัวชี้วัดเออีซี สกอร์ คาร์ด เมื่อปี 2553-2554 ไทยสามารถปฏิบัติได้ตามเป้าหมายแล้ว 70% ขณะที่ผลรวมการดำเนินการของอาเซียนอยู่ที่ 56.4%

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของเออีซี ภาครัฐได้พยายามทำเรื่องนี้ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2555 กรมเจราการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้จัดสัมมนา “วาระแห่งชาติ : เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“ยิ่งลักษณ์” ดันเออีซีเป็นวาระแห่งชาติ

โดยมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า เออีซีคือหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต เมื่อ เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากเออีซีคือ กำลังซื้อใน 10 ประเทศจำนวน 600 ล้านคน จะทำให้มีกำลังซื้อสูง และขยายตัวรวดเร็ว รวมถึงจะเห็นการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมากขึ้น ทั้งวัตถุดิบ เงินทุน แรงงาน ซึ่งจะไปเป็นตามกลไกเสรีของเออีซี

“กำลังซื้อในอาเซียนที่เติบโตสูง ทำให้นักลงทุนสนใจลงทุนในประเทศไทยเพื่อก้าวไปสู่ประตูอาเซียน 10 ประเทศ แม้เราจะเห็นโอกาสจากเออีซี แต่อีกมุมที่ต้องเตรียมตัวรองรับคือ การแข่งขันที่สูงขึ้น จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจให้ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า รวมถึงเรื่องการสร้างยี่ห้อหรือแบรนด์ เป็นต้น” นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าว

นอกจากนี้ได้ให้กระทรวงพาณิชย์ไปทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อรวบรวมข้อมูลผลกระทบเกี่ยวกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี มารายงานให้รับทราบ เพื่อเร่งประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนในอาเซียนให้เป็นวาระแห่งชาติ และให้กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ประชุมเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการต่างจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีระบุว่า มี 4 เรื่องที่รัฐบาลต้องเตรียมตัวรับเออีซี คือ

1. เร่งปรับความสมดุลเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็งขึ้น โดยจะปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับการค้า การลงทุน และการบริโภค ซึ่งจะลงทุนทั้งด้านสาธารณูปโภค และคมนาคมขนส่ง เพื่อลดต้นทุนคมนาคมขนส่งในระยะยาว รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษี ที่ทำไปแล้วคือการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% ลดลงเหลือ 23% และ 20% ในปีนี้และปีถัดไปตามลำดับ

2. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีการเตรียมการพัฒนาในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การพัฒนาทักษะแรงงานไทย และนโยบายต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกันจะส่งเสริมให้ในนักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ

3. การปรับนโยบายภาครัฐและเอกชนให้สอดคล้องกันผ่านทางคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) และการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจะลงพื้นที่ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ นโยบายนี้จะทำไปสู่การทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยรัฐบาลต้องการข้อมูลในแต่ละพื้นที่ที่จะนำมาทำงานร่วมกับภาคเอกชน

4. การเชื่อมโยงอาเซียน เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานในประเทศหรือเชื่อมโยงระดับภูมิภาคในประเทศแล้ว รัฐบาลจะเชื่อมโยงการขนส่งทั้งทางบก และทางน้ำ ไปสู่อาเซียน เช่น แนวคิด The Economic Corridor Concept (แนวคิดระเบียงเศรษฐกิจ) ทั้งแนวเหนือ-ใต้ แนวตะวันออก-ตะวันตก และที่อีกยุทธศาสตร์ที่สำคัญจากทวาย ประเทศพม่าผ่านกรุงเทพไปแหลมฉบับ จะเป็นแรงดึงดูดที่สูง เพราะจะการขนส่งสินค้าจากอันดามันมาสู่อ่าวไทย หากเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งได้ทั้งหมดจะทำให้ลดต้นทุน ทั้งค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลา โดยเฉพาะสินคาเกษตร

นอกจากนี้ ตามแนวการค้าพรมแดนระหว่างประเทศ รัฐบาลจะทำให้ง่าย และสะดวกขึ้น เช่น การยกระดับด่านศุลกากรชั่วคราวเป็นด่านถาวร เป็นต้น แต่เรื่องนี้รัฐบาลจะระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหา เช่น การลักลอบเข้าเมือง การค้ายาเสพติด เป็นต้น

“สิ่งที่ต่างๆที่พูดถึง เราต้องเริ่มกลับมาทำงานอย่างเป็นจริงเป็นจัง เชื่อว่าภาพใหญ่เราเห็นตรงกัน แต่ภาคธุรกิจอาจส่วนเล็กที่ไม่ตรงกัน เราขอทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ เพื่อสร้างพื้นฐานการเจริญเติบโต และความแข็งแรงของทุกภาคธุรกิจ”นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าว

“ดร.โกร่ง” ไม่ห่วงเออีซี มั่นใจไทยพร้อมทุกด้าน

ด้าน ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ (กยอ.) ได้บรรยายพิเศษในงานสัมมนานี้ในหัวเรื่อง “อนาคตประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยตอกย้ำในเวทีนี้ว่า นับตั้งแต่หลังปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศมีการลงทุนต่ำกว่าเงินออมมาโดยตลอด 15 ปี และเสนอว่าผู้วางนโยบายเศรษฐกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดในเรื่องนี้

เพราะถ้าไม่ได้มีการใช้เงินออมอย่างเพียงพอค่าเงินบาทจะแข็งขึ้นเรื่อยๆ และในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้การลงทุนจะเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ประจวบกับการเกิดของเออีซีในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งสองอย่างนี้เท่ากับเปิดโอกาสให้กับประเทศไทยในขณะที่มีทรัพยากรทางการเงินเหลือ

ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ. บรรยายพิเศษเรื่อง “อนาคตประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ. บรรยายพิเศษเรื่อง “อนาคตประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

อย่างไรก็ตาม ดร.วีรพงษ์ มีความเห็นว่า เออีซีที่จะเริ่มต้นอย่างสมบูรณในปี 2015 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรกะทันหัน เพราะข้อตกลงต่างๆ ค่อยๆ ดำเนินการมาตลอด แต่การเปลี่ยนแปลง 5-10 ปีข้างหน้าจะเกิดขึ้นแน่นอน

โดยประเทศสมาชิกของอาเซียนมีจุดหมายปลายทางที่อยากเห็นคือ ในแง่การเมือง ต้องการเห็นการเมืองระดับประเทศต้องมีเสียงเดียวกันในการเจรจา ซึ่งพื้นที่นี้ประสบความสำเร็จดีไม่มีปัญหาอะไร โดยความสำเร็จนี้เกิดขึ้นมาตั้งนานแล้วในอาเซียน

อีกด้านหนึ่งคือ ความเป็นหนึ่งเดียวกันเรื่องวัฒนธรรมและสังคม ดร.วีรพงษ์เชื่อว่า จุดหมายปลายทางด้านนี้ไม่มีปัญหา แม้อาเซียนจะประกอบไปด้วยคนต่างชาติ ต่างศาสนา แต่เรื่องความอดทนการแตกต่างด้านวัฒนธรรมค่อนข้างสูงกว่ายุโรป และอเมริกา แม้ประเทศที่เคยมีปัญหา เช่น อินโดนีเซีย ก็มีการแก้ไขปัญหา เป็นต้น

ส่วนด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเสาหลักที่สำคัญของประชาคมอาเซียน สมาชิกประเทศอาเซียนพยายามจะให้เกิดตลาดเดียวกัน หรือประชาคมเดียวกันทั้งตลาดสินค้าและบริการ ตลาดเงิน และตลาดทุน แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ประธาน กยอ. มั่นใจว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

แต่ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ถ้า 10 ประเทศ จะเป็นระบบเศรษฐกิจเดียวกันเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น คือการแข่งขันของบริษัทต่างๆ ในอาเซียนที่ผลิตสินค้าอย่างเดียวกันจะมีมากขึ้น คือ มีการแข่งขันระห่างกันมากขึ้น ใครมีประสิทธิภาพสูงกว่าก็รอด ขณะเดียวกันโอกาสก็เปิด เพราะเมื่อเชื่อมต่อเป็นตลาดเดียวกัน ถ้าไทยมีประสิทธิภาพสูงกว่า เก่งกว่า ผลิตขายถูกว่า โอกาสที่ไทยจะขยายตัวเป็นบริษัทชาติในเอเชียก็เป็นของเรา

ส่วนอะไรที่เสียเปรียบ หรือ เป็นอุปสรรค เช่น กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการทำงานของราชาการ วิธีการบริหาร ประธาน กยอ. ก็มั่นใจว่า ต้องปรับเข้าหากันเป็นธรรมดาของตลาดเสรี หรือปราศจากสิ่งคุ้มครอง เช่น ภาษี หรือ อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ทางภาษี ซึ่งช่วงแรกๆ อาจมีการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กันบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้จะกระทบและค่อยๆ เปลี่ยนไป เช่น โครงสร้างภาษีอากร ถ้าประเทศใดทำให้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการธุรกิจเสียเปรียบ ก็คงมีแรงกดดันทำให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ความเสียเปรียบนั้นน้อยลง

สำหรับเรื่องมาตรฐานต่างๆ เช่น คุณภาพแรงงาน แรงงานมีฝีมือ ดร.วีรพงษ์เชื่อว่า จะมีแรงกดดันให้นำไปสู่การทบทวนของแรงงานที่มีผีมือ เช่น แพทย์ สถาปัตย์ พยาบาล และอื่นๆ ต้องปรับมาตรฐานเข้าหากันอย่างแน่นอน นอกจากนั้นแล้วมาตรฐานอื่นๆ ชัง ตวง วัด กฎจราจร วัฒนธรรมการใช้ และวัฒนธรรมอื่นๆ ต้องปรับเข้าหากันอย่างไม่มีปัญหา

“มีสิ่งเดียวที่ผมห่วงว่าปรับไม่ได้คือ การที่เราวิ่งรถด้านซ้าย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเราวิ่งทางขาวหมด การจะบังคับให้เปลี่ยนกฎจราจรนี้คงไม่ได้ นอกนั้นคงมีแรงกดดันให้เกิดระบบเดียวกันหมด เป็นแบบเดียวกับประชาคมยุโรป” ดร. วีรพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ เรื่องระบบการศึกษาเป็นอีกประเด็นที่ ดร. วีรพงษ์ระบุว่า มาตรฐานการศึกษาคงต้องปรับตัวให้ได้มาตรฐานมากขึ้น สำหรับประเทศไทยไม่น่าเป็นห่วง แต่พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาตรฐานการศึกษาต่ำคงมีความกดดันทำให้ปรับตัวมากขึ้น ความกดดันที่จะใช้ภาษาอังกฤษจะมีมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้น ใครที่ให้ลูกหลานเรียนภาษาจีน ควรให้เปลี่ยนมาเรียนภาษาอังกฤษดีกว่า ส่วนกรณีสมองไหลห่วงว่าคนไทยจะไปทำงานที่อื่น มั่นใจว่าไม่ต้องห่วง เพราะคนไทยไม่ชอบไปทำงานที่อื่น

“ถ้าวาดภาพอาเซียนไปข้างเป็นระบบเศรษฐกิจเดียวกัน ถ้าสู้กันแล้วคงจะเข้มแข็งขึ้นในฐานะภูมิภาค เหมือนยุโรป หรือ อเมริกาที่มี 50 มลรัฐ และการเป็นระบบเศรษฐกิจเดียวกัน เมื่อมีการเจรจากับภายนอกก็น่าจะแข็งขึ้น โดยจะมีความรู้สึกในเรื่องผลประโยชน์รวมกันมากยิ่งขึ้น” ดร.วีรพงษ์กล่าว

ดร.วีรพงษ์กล่าวอีกว่า ความสำคัญของอาเซียนในเวทีการค้าจะมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมตัวว่า ถ้าอาเซียนเปิดการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน เป็นต้น ไทยคงไม่ไดส่งที่ดีที่สุดในกรณีที่เป็นการเจรจาทวิภาคี แต่อาจได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับอาเซียนส่วนรวม

เออีซีที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า นายวีรพงษ์ย้ำว่า เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องตกอกตกใจ แต่การเปลี่ยนแปลงมีแน่ และคิดว่าความแนบแน่นของประชาคมอาเซียนในเรื่องวัฒนธรรม คงไม่แนบแน่นเท่ายุโรป และความรู้สึกรักชาติย่อมยังมีอยู่ เพราะหลายประเทศได้เอกราชจากความรักชาติบ้านเมือง ขณะที่ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีการดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามในส่วนเรื่องอื่นๆ มั่นใจว่าไม่น่าจะเป็นประเด็นที่เราสู้ไม่ได้

“ผมไม่ค่อยวิตกเท่าไรว่าประเทศไทยจะปรับตัวให้เข้ากับประชาคมอาเซียนในปี 2015 หรือ 2558 ไม่ได้ แม้ขณะนี้เราก็ดำเนินการล้ำหน้าประเทศอื่นๆไปแล้ว เช่นเรื่องกฎหมายระเบียบ เป็นต้น ที่สำคัญโอกาสนี้มาเกิดขึ้นตอนที่เรามีสตางค์ เพราะฉะนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ และมีผลดีกับประเทศอย่างมาก ตอนนี้ใครมีสตางค์ ก็ต้องเตรียมสตางค์ไปเทคโอเวอร์บริษัทในสิงคโปร์ได้เลย” ดร. วีรพงษ์กล่าว

เอกชนห่วงเอสเอ็มอี จี้รัฐวางยุทธศาสตร์ระยะยาวต้องชัดเจน

(ซ้ายไปขาว) ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล และ ดร.จิระ หงส์ลดารมภ์ ในเวทีอภิปราย “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 และผลกระทบต่อธุรกิจของประเทศ”
(ซ้ายไปขาว) ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล และ ดร.จิระ หงส์ลดารมภ์ ในเวทีอภิปราย “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 และผลกระทบต่อธุรกิจของประเทศ”

นอกจากนี้ ในเวทีสัมมนาเดียวกันนั้น ได้มีการอภิปรายในเรื่อง “ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 และผลกระทบต่อธุรกิจของประเทศ” โดยมีผู้อภิปรายคือ นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย และ ดร.จิระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และดำเนินรายการโดย ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน

โดยในมุมมองของ ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย มีความห่วงใยว่า เวลาพูดถึงการเปิดเสรี และมองว่าตลาดจะใหญ่ขึ้น ทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น มองอย่างนี้ในอนาคตจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเชื่อว่าเรื่องนี้ในที่สุดเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น

ส่วนในระยะสั้น ดร.ธวัชชัยมีความเห็นว่า ในที่สุดธุรกิจขนาดใหญ่จะไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนจำกัด ดังนั้นยุทธศาสตร์ที่เราน่าจะมองคือ ธุรกิจขนาดกลาง หรือ Medium จะเป็นผู้ผลิตที่มีศักยภาพสูง แต่ไม่คุ้นเคยไปลงทุนต่างประเทศ ดังนั้นควรตั้งเป็นยุทธศาสตร์ว่า มีอุตสาหกรรมอะไรบ้างที่เราจะส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางไปลงทุนต่างประเทศ และถ้าจะให้ไปรอดต้องไปแบบคลัสเตอร์

โดยธุรกิจขนาดกลางที่ดร.ธวัชชัยคิดว่ามีศักยภาพมาที่สุดคือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า อาเซียนจะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องที่อยู่อาศัยน่าสนใจมาก และธุรกิจสร้างบ้านของไทยได้รับการยอมรับในเรื่องฝีมือแรงงาน แต่ต้องไปเป็นคลัสเตอร์ไม่ว่าจะเป็น วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์

“เท่าที่ฟังจากธนาคารที่ไปเปิดสาขาในไซงอน ปักกิ่ง เวลาไปจริง หาคนไทยไม่ค่อยเจอ เพราะคนไทยไปลงทุนต่างประเทศแบบต่างคนต่างไป กระจัดกระจาย จึงคิดว่าคนจะไปลงทุนต่างประเทศ เราต้องมียุทธศาสตร์ระยะปานกลาง 5-10 ปีข้างหน้า” ดร.ธวัชชัยกล่าว

ทั้งนี้ เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย เสนอว่า กรมส่งเสริมการส่งออก และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นเจ้าภาพในการจัดทำยุทธศาสตร์ โดยย้ำว่า ต้องออกไปแบบคลัสเตอร์ เพราะหากเป็นแบบนี้ธนาคารจะตามไปได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวยังน่าเป็นห่วง ตราบใดที่ธุรกิจเราไม่มีมูลค่าเพิ่ม ยังรับจ้างผลิตให้บริษัทข้ามชาติจะลำบาก แต่คนที่ลำบากไม่ใช่นายทุน แต่เป็นแรงงาน

ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ แม้จะเป็นธุรกิจที่ไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่คนที่เป็นเจ้าของกิจการจำนวนมากไม่ใช่ของเรา แต่เป็นต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการ แม้จะไม่ได้ถือหุ้นทั้งหมด แต่มีความเป็นเจ้าของ ส่วนคนไทยเป็นแค่คนรับจ้าง เพราะฉะนั้นการสร้างประชาคมอาเซียนไม่ได้ใช่แค่การค้า แต่เป็นการดึงทุนธุรกิจบางประเภทเข้ามาด้วย เช่น ธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

สำหรับธุรกิจธนาคาร เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทยมองว่า การเปิดเสรีไม่ได้มีเพียงการไปตั้งสาขา แต่ปัจจุบันการให้บริการข้ามพรมแดนสามารถให้บริการข้ามพรมแดนได้โดยไม่ต้องมีสาขา แต่ในอนาคตต้องมีความรู้ ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ด้วย หรือกลายเป็นสินทรัพย์ที่เป็นพิษหรือไม่

สำหรับจุดอ่อนของธุรกิจไทย ดร.ธวัชชัยวิเคราะห์ว่า คือการทำธุรกิจเมื่อดีแล้ว จะหลงตัวเอง คิดว่าเราชนะ คิดว่าคนอื่นต้องปรับตัว ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อทำดีแล้ว เราต้องทำดีให้มากขึ้น และการจะไปลงทุนต่างประเทศสิ่งสำคัญคือ ต้องรู้เขา รู้เรา ทั้งในเรื่องธุรกิจ และเรื่องวัฒนธรรม หรือประเพณีของแต่ละประเทศด้วย

ด้าน ดร.จิระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ เห็นด้วยกับดร.ธวัชชัยที่ว่า การเปิดเสรีถ้ามองด้านธุรกิจอย่างเดียวจะอันตราย มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบเรื่องความเหลื่อมล้ำ

ดร.จิระมีข้อสังเกต 2 ข้อ เกี่ยวกับเออีซีว่า 1. อย่าคลั่ง 2015 จนเกินไป เพราะกระบวนการค้าเสรีมีมานานแล้ว และธุรกิจเขาเชี่ยวชาญและดำเนินการมาพอสมควรแล้ว แต่ปี 2015 เป็น 2025 จะเริ่มยุ่ง และอาจมีกรีซเกิดขึ้นในอาเซียน ถ้าระบบการศึกษาของไทยยังมีลักษณะจ่ายครบจบแน่ และ 2. ประชาคมอาเซียน น่าจะเป็นการมองโลกภิวัตน์ในมุมกว้าง อย่าไปคิดว่าอาเซียนเป็นทุนสิ่งทุกอย่างของประเทศไทย จริงๆ มองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์

เรื่องการเปิดเสรีในอดีตเรามีบทเรียนค่อนข้างแพง น่าจะเอามาดูว่าจะจัดการกับอาเซียนเสรีอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่จะดูโอกาส แต่เสรีมันไม่เสรีจริงมีการกีดกันการค้า และที่อันตรายที่สุดสำหรับคนไทยคือ เรารู้ตัวเองเยอะ แต่ไม่รู้เขา เพราะเราไม่สังคมแห่งการเรียนรู้

โดยในระยะยาวคนไทยต้องมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี การทำเรื่องนี้ต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่มาพูดในเวทีสัมมนาให้เป็นวาระแห่งชาติแล้วจบ อย่าทำแบบ “ไฟไหม้ฟาง” ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 มีเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยให้มีการตั้งสถาบันทุนมนุษย์เพื่อธุรกิจ

สถาบันนี้จะเป็นองค์กรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์น่าจะเข้ามาเป็นกระทรวงหลักดูแลเรื่องนี้ อย่าให้กระทรวงศึกษารับผิดชอบ รวมถึงกระทรวงแรงงานด้วยให้เป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนก็พอ เนื่องจากระทรวงพาณิชย์มีกรมธุรกิจการค้าที่ดูแลธุรกิจอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

“วิกฤตอาจมาโดยเราไม่รู้ตัว เพราะเราแข่งขันไม่ได้ วันนี้เราไม่ได้เก่งจริง เราเก่งแต่การใช้อำนาจและเก่งแต่เล่นการเมือง ” เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ กล่าว

สำหรับการศึกษาไทยในปี 2015 ดร.จิระบอกว่า ประเด็นอาเซียนเสรีจะสร้างแรงกดดันเรื่องการศึกษาให้มีการปรับปรุง และสิ่งที่เด็กไทยอยากเห็นการศึกษาในอนาคตต้องทำให้ คิดดี คิดเป็น ใฝ่รู้ คือ ต้องมีจริยธรรม มีปัญหา และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ถือเป็นคำตอบที่ผู้ใหญ่หลายๆ มองข้าม แต่ส่วนตัวขอเพิ่มเติมอีก 3 อย่าง คือ ต้องคิดสร้างสรรค์ คิดทำธุรกิจใหม่ๆ ไม่เฉพาะเรื่องสินค้าเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการจัดการ เป็นต้น และทุนทางวัฒนธรรม หรือ ความเป็นไทย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของคนไทย แต่เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นจนอาจทำให้ละเลยไป

หากเราทำเรื่องทุนมนุษย์สำเร็จ การศึกษาและธุรกิจไทยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอีก 5 ข้อ ได้แก่ 1. มาตรฐานสูงขึ้น 2. มีคุณภาพไม่เป็นรองใคร 3. มีความเป็นเลิศ 4. จะมีแบร์นดมาร์เกตติ้ง และ 5. มีกรณีศึกษาที่ดีนำไปโชว์เขาได้

“ถ้าเราทำได้ทั้งหมดเราจะอยู่ในอาเซียนอย่างสง่างาม วันนี้ถ้าเราไม่สนใจเรื่องทุนมนุษย์ การจะสู้ในอาเซียนเราจะอยู่ได้ระดับหนึ่ง แต่ระยะยาวเราอาจมีปัญหามากกว่ากรีซ” ดร.จิระกล่าว

ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เราให้ความสำคัญน้อยมาก ในอุตสาหกรรมถ้าจะทำให้เราแข่งขันสู้กับเขาได้ไม่ลำบากเรื่องทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นายพงษ์ศักดิ์ระบุว่า ต้องไม่มองเฉพาะด้านดีที่จะทำให้สามารถขยายตลาดการค้าจาก 65 ล้านคนในประเทศ เป็น 600 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น แต่จะต้องมองถึงผลกระทบที่อาจจะตามมาด้วยจากการที่ประเทศในอาเซียนจะสามารถเข้ามาทำตลาดในไทยได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ที่สำคัญภาครัฐจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะไปทางไหน เพราะภาคเอกชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังรู้เรื่องและเข้าใจต่อการเปิดเสรีการค้าน้อยมาก และมีการช่วยเหลือในด้านการพัฒนาโลจิสติกส์ และการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพ

“บริษัทขนาดใหญ่ไม่น่าห่วง แต่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะขนาดกลาง ซึ่งเขามีความพร้อมถ้าชี้ทางให้เขา ดังนั้นภาครัฐเองต้องเข้ามาช่วยในด้านการจัดการ การลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้เขาปรับตัวได้”