ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงาน “กนง.” ห่วงค่าครองชีพสูง กดดันการคาดการณ์เงินเฟ้อพุ่ง

รายงาน “กนง.” ห่วงค่าครองชีพสูง กดดันการคาดการณ์เงินเฟ้อพุ่ง

17 พฤษภาคม 2012


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% ต่อปี

โดยสาระสำคัญที่น่าสนใจคือ ประเด็นเรื่อง “อัตราเงินเฟ้อ” ซึ่งในรายงานฯ ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความเห็นว่า ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายนชะลอลงและยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แต่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีอยู่พอสมควร จึงควรระมัดระวังและติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อพลวัตของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความกังวลของประชาชนต่อปัญหาค่าครองชีพ ซึ่งจะส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อเร่งขึ้นในระยะต่อไป

ทั้งนี้ กนง. ประเมินอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2555 ที่ชะลอลงมาก เป็นผลของการลดลงของราคาอาหารสด กอปรกับฐานที่สูงในปีก่อน แต่คาดว่าจะเป็นการชะลอลงเพียง “ชั่วคราว”

เนื่องจากยังมีสินค้าหลายรายการที่รอปรับขึ้นราคา เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าโดยสารสาธารณะ ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เริ่มทยอยเห็นผลภายใต้ภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด และความกังวลของประชาชนต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาจนำไปสู่การคาดการณ์เงินเฟ้อที่เร่งขึ้น และเอื้อให้มีการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการมากขึ้น ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า

ในรายงานยังระบุว่า กนง. เห็นควรให้มีการสื่อสารเกี่ยวกับบทบาทของนโยบายการเงินในการดูแลความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันกับสาธารณชนให้มากขึ้น โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลแรงกดดันด้านอุปสงค์ รวมทั้งการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในการรักษาเสถียรภาพของราคา ทั้งนี้ ไม่ว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะสั้นจะมาจากปัจจัยใดก็ตาม ความยั่งยืนของผลกระทบและเสถียรภาพของราคาโดยรวมในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินเป็นหลัก

สำหรับประเด็นภาพรวมเศรษฐกิจ โดยสรุปในรายงานระบุว่า แม้ กนง. จะเห็นว่า เศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ กรรมการบางส่วนเห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกที่ดีกว่าคาด ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลของการเร่งผลิตและใช้จ่ายของภาคเอกชนเพื่อทดแทนและซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัย ซึ่งอาจชะลอลงในไตรมาสถัดไป จึงควรติดตามข้อมูลสำคัญเพื่อประเมินแรงส่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรมการที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ประธานกรรมการและผู้ว่าการ), นางสุชาดา กิระกุล (รองประธานและรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน), นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ (รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร), นายอำพน กิตติอำพน, นายศิริ การเจริญดี, นายณรงค์ชัย อัครเศรณี และนายอัศวิน คงสิริ (อ่านรายละเอียดรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ))

ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง คาดการณ์ว่า แรงกดดันค่าครอพชีพสูงจะลดลง เนื่องจากราคาพลังงานเริ่มลดลง และไม่คิดว่าราคาสินค้าแพงจะไม่เกิดขึ้นถาวร สามารถปรับขึ้นลงได้ เห็นได้จากตลาดผักราคาตอนนี้เริ่มลดลงจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าราคาสินค้ามีการปรับลดลง ขณะเดียวกันสินค้าบางอย่างก็ไม่ปรับราคาลง เช่น อาหารสำเร็จรูป แต่อาจเพิมปริมาณมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามราคาอาหารสำเร็จรูปอาจไม่ปรับราคาเพิ่ม แต่ลดปริมาณลง

“ถ้าร้านไหนขายแพง ไม่อร่อย หรือใครค้ากำไรเกินควร ก็ไม่ต้องซื้อ ต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ส่วนการควบคุมราคาสินค้าที่รัฐบาลดำเนินการเพราะผู้ประกอบการมีมากรายไม่พอที่จะทำให้สินค้าแข่งขันกันมากพอ จึงต้องควบคุมบ้าง แต่เราก็พยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตแข่งขันมากขึ้น ซึ่งดีขึ้นเรื่อยๆ”