ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีดีอาร์ไอเสนอต้นแบบ “เขตการคมนาคมปลอดภัยทางถนน” แก้พฤติกรรมคนเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

ทีดีอาร์ไอเสนอต้นแบบ “เขตการคมนาคมปลอดภัยทางถนน” แก้พฤติกรรมคนเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

24 พฤษภาคม 2012


ข่าวแจก-สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ดร.ณรงค์ ป้อมหลักทอง
ดร.ณรงค์ ป้อมหลักทอง

ดร.ณรงค์ ป้อมหลักทอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงแนวทางการสร้างความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนที่น่าจะเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ควรอยู่ที่การให้ความรู้สร้างพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างมีวินัย ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น เป็นการลงทุนน้อยและคุ้มค่ากว่าการเร่งสร้างหรือตัดถนนใหม่ หรือขยายถนนรองรับปริมาณรถที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนจึงต้องมองอย่างเป็นระบบ มีการกำกับดูแลที่เข้มงวด

การตรวจสภาพรถที่เป็นอยู่ไม่ได้สะท้อนเรื่องความปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนน ต่อไปเมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียน ปัญหานี้จะไม่ใช่แค่คนไทยเสี่ยงกันเองภายในประเทศ เพราะจะมีการนำรถข้ามแดนเข้ามามากขึ้น ความปลอดภัยคมนาคมทางถนนจึงสำคัญ การนำมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนหรือ ISO 39001 ซึ่งว่าด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยคมนาคมมาใช้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการค้าบริการ การท่องเที่ยว และหากไทยดำเนินการจนได้มาตรฐานในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ก็สามารถจูงใจด้านการท่องเที่ยวได้

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานอะไรเลย มีเพียงนำมาตรฐานบางข้อมาปฏิบัติและยังทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกมีข้อจำกัดเรื่องกำลังคนและงบประมาณ จึงล่าช้าและไม่สามารถออกกติกาหรือรับมาตรฐานสากลมาปฏิบัติได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากรัฐจริงใจและคำนึงถึงความปลอดภัย ต้องไม่กำกับดูแลเฉพาะเรื่องค่าโดยสาร แต่ต้องดูเรื่องความปลอดภัยของการโดยสารด้วย โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ

ดร.ณรงค์กล่าวว่า ความปลอดภัยทางถนนไม่ใช่แค่มีถนนดี แต่ยังต้องประกอบด้วยมาตรฐานตัวรถและพฤติกรรมของคนใช้รถใช้ถนน ในส่วนของมาตรฐานตัวรถ ที่เป็นปัญหาคือรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะรถโดยสารขนาดใหญ่ ที่ในการผลิตยังไม่มีการทดสอบมาตรฐานที่ชัดเจน ปัจจุบันมีการศึกษาและพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ในการทดสอบมาตรฐาน แต่ยังขาดความพร้อมที่จะนำมาใช้อย่างกว้างขวาง และยังต้องอาศัยการจัดเก็บสถิติข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการทดสอบ เช่น กรณีการพลิกคว่ำ

ลักษณะการเกิดอุบัติเหตุถนนในเมืองไทยเกี่ยวข้องพฤติกรรมคนขับ ลักษณะภูมิประเทศ จุดความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่การทำอย่างนี้มีต้นทุนสูง ประกอบกับการกำกับดูแลไม่เข้มงวด ไม่บังคับให้ทำ บริษัทรถจึงไม่ลงทุน ขณะที่บริษัทที่ทำก็จะมีต้นทุนแพง มีผลต่อราคาขายรถ ทำให้แข่งขันสู้รายอื่นไม่ได้ นอกจากนี้ เพื่อประหยัดต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ มีการนำรถเก่ามาดัดแปลงและนำไปขออนุญาตประกอบการ เราจึงยังเห็นรถโดยสารขนาดใหญ่ที่สภาพตัวรถเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยออกมาวิ่งให้บริการอยู่ หากดูตัวอย่างประเทศสิงคโปร์จะเห็นว่ากำหนดให้รถโดยสารสาธารณะต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 17 ปี เป็นต้น

แม้มาตรฐานตัวรถเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรทำ แต่ปัญหาคือใช้การลงทุนสูง และก็ยังต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมคนใช้รถใช้ถนน จึงขอเสนอให้นำเรื่อง ISO 39001 ที่ว่าด้วยความปลอดภัยคมนาคมมาใช้ให้เกิดขึ้นจริง จะช่วยประหยัดงบประมาณ เพราะเป็นการลงทุนในตัวคนให้ความรู้ ให้เกิดพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย จะให้ผลคุ้มค่ากว่า

ขณะเดียวกัน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ยังคงทำต่อไปในเรื่อง สร้าง ซ่อม ดูแล ซึ่งล้วนเป็นโครงการใช้งบประมาณจำนวนมากและภาคการเมืองนิยมทำกันมาตลอด ในมุมกลับ หากสามารถนำ ISO 39001 มาใช้ ซึ่งเป็นการทำเรื่องกฎกติกาการบังคับใช้ ให้เกิดการแข่งกันในเชิงคุณภาพ มีการตรวจสอบสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลสำหรับพื้นที่ที่ทำได้มาตรฐาน พื้นที่นั้นยังผลักดันต่อในเรื่องการท่องเที่ยวได้ด้วย ที่สำคัญการลงทุนน้อยกว่ามากและให้ผลที่ยั่งยืน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเห็นความสำคัญในเรื่องใดก่อนหลัง

“เขตการคมนาคมปลอดภัยต้องทำเป็นตัวอย่างให้คนเอาเยี่ยงอย่าง โดยเริ่มจากเมืองที่มีเศรษฐกิจดีจากการท่องเที่ยว มีศักยภาพในการลงทุน และได้ประโยชน์โดยตรง เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา ฯลฯ ซึ่งการนำ ISO 39001 มาใช้เป็นการการันตีว่าภายในเมืองนี้หรือเขตพื้นที่นี้จะพบกับการเดินทางสะดวก ถนนดี ปลอดภัย ก็ถือเป็นจุดขายของการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวย่อมต้องการไปเที่ยวในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยและสะดวก ตัวอย่างเช่น ในประเทศเนเธอร์แลนด์ก็มีการนำ ISO 39001 มาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว”

ขณะที่การเกิดอุบัติเหตุมาจากองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ พฤติกรรมสภาวะคนขับ ยานพาหนะ ถนนและไฟส่องสว่าง และมีตัวแปรที่ทำให้เลวร้ายลงคือสภาพภูมิอากาศ หากอันใดอันหนึ่งบกพร่องก็มีผลให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ฉะนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องมองในภาพรวมและต้องไม่ไปลงทุนด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ต้องแก้ด้วยพฤติกรรมคนก่อนจึงจะคุ้มค่า หน่วยงานที่ควรร่วมกันทำเรื่องนี้ คือ กรมการขนส่งทางบก สมาคมผู้ประกอบการ สมาคมธนาคาร และ โดยเฉพาะกับ อบต., อบจ. ที่ต้องการผลักดันให้ท้องถิ่นของตัวเองเป็นท้องถิ่นตัวอย่าง อาทิ กำหนดให้เป็นเขตการคมนาคมปลอดภัยพิเศษ และยังเป็นการทำตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งความปลอดภัย

ดร.ณรงค์กล่าวด้วยว่า การสร้างความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ต้องมีการพัฒนาสร้างโครงข่ายบริการสาธารณะที่สามารถเข้าถึงประชาชนในตรอกซอกซอยให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ เพราะการไม่มีระบบขนส่งสาธารณะเข้าไปถึง ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้คน เนื่องจากมีปัญหาความไม่คุ้มทุน เอกชนจึงไม่ลงทุน ดังนั้นในระยะแรก หากจะต้องไปนำคนออกจากบ้านเพื่อมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะหลักที่มีอยู่ อาจใช้วิธีจ้างเอกชนดำเนินการ ให้บริการฟรี ซึ่งทำไประยะหนึ่งจะเกิดผลว่าเขามีความสะดวกในการเดินทางออกจากบ้านมาสู่ระบบขนส่งสาธารณะ ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุน้อยลง การสูญเสียทรัพยากรมนุษย์น้อยลง ประชาชนเกิดความมั่นใจ การเดินทางสะดวก ส่งผลให้การซื้อรถส่วนตัวน้อยลง หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในที่สุดผู้ประกอบการที่จ้างวิ่งในระยะแรก เมื่อมีความคุ้มทุนจากที่คนหันมาใช้บริการมากขึ้น ก็จะเข้ามาขอดำเนินการรับความเสี่ยง กำไร ขาดทุนเอง และเป็นระบบที่ควบคุมได้

นอกจากนี้ การพัฒนาสร้างความปลอดภัยคมนาคมทางถนน ยังเพิ่มโอกาสให้กับประเทศที่จะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีอาเซียน ทั้งจากการเดินทางท่องเที่ยวและการค้า การปรับปรุงดังกล่าวจะช่วยให้คว้าโอกาสนี้ไว้ได้