ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ความคุ้มค่า “งานวิจัยของประเทศ” ชี้ส่วนใหญ่อยู่บนหิ้ง ขาดการต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง

ทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ความคุ้มค่า “งานวิจัยของประเทศ” ชี้ส่วนใหญ่อยู่บนหิ้ง ขาดการต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง

18 พฤษภาคม 2012


สัมมนา “ก้าวแรกระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยมีวิทยากร ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู (ซ้าย) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (กลาง) ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์
สัมมนา “ก้าวแรกระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยมีวิทยากร ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู (ซ้าย) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (กลาง) ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์

ปัจจุบันรัฐบาลไทยให้งบประมาณสนับสนุนการทำวิจัยประมาณหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยในการลงทุนเพื่อการศึกษาและพัฒนาประเทศ งานวิจัยต่างๆ จะได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนอื่นๆ แต่การนำงานวิจัยต่างๆ ไปใช้จริงนั้นน้อยมากไม่ถึง 1%

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงจัดสัมมนา “ก้าวแรกระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศ: กรอบแนวคิดและตัวชี้วัดภาพรวมและรายสาขาการวิจัย” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประโยชน์ของระบบประเมินผลการวิจัยและพัฒนาคือสร้างกลไกการพร้อมรับผิดชอบในการใช้งบประมาณของหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัย และหน่วยงานมีข้อมูลในการกำหนดนโยบายและจัดสรรทรัพยากรการวิจัยและพัฒนาให้ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม

คำจำกัดความของการวิจัยและพัฒนาคือ งานที่มีลักษณะสร้างสรรค์ ซึ่งดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มพูนคลังความรู้ทั้งที่เกี่ยวกับมนุษย์ วัฒนธรรม และสังคม รวมถึงการใช้ความรู้เหล่านี้เพื่อการประยุกต์ใช้ในแนวทางใหม่ โดยมีองค์ประกอบคือ ไม่เคยมีใครทำมาก่อนและสามารถเพิ่มพูนความรู้ และการแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถเห็นได้ชัดแจ้งล่วงหน้าโดยคนในวงการ

การจัดกลุ่มวิจัยและพัฒนา (R&D) แบ่งได้ 3 ประเภทคือ การวิจัยพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์ และพัฒนาเชิงทดลอง หรือ 6 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์ เกษตรศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

ด้านตัวชี้วัดสำหรับการประเมินผลระบบการวิจัยและพัฒนา มีแนวคิดในการออกแบบระบบประเมินผลคือ เป็นข้อมูลที่ผู้มีส่วนได้เสียสามารถนำไปใช้ได้จริง เน้นการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบ ทำให้การประเมินง่ายและมีต้นทุนต่ำที่สุดต่อทุกฝ่าย และคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละสาขาซึ่งมีจุดมุ่งหมายและตัวชี้วัดในการวิจัยที่ต่างกัน

จากข้อมูลที่มีการจัดเก็บในปัจจุบัน คือ ด้านปัจจัยนำเข้า ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้าน R&D ต่อ GDP และจำนวนนักวิจัยต่อประชากร ด้านผลผลิต ได้แก่ผลงานตีพิมพ์และอ้างอิงในวารสารวิชาการในประเทศ (TCI) และต่างประเทศ (ISI Thomson Reuters) และสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร และด้านผลลัพธ์/ผลกระทบ ในระดับโครงการ องค์กร ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการวิจัยและพัฒนาในระดับโครงการ และผลกระทบจากการสร้างนวัตกรรมในภาคธุรกิจ

ทีดีอาร์ไอเสนอให้ใช้ตัวชี้วัดภาพรวมดังนี้ ด้านปัจจัยนำเข้าได้เพิ่มเติมเรื่องค่าใช้จ่ายด้าน R&D จำแนกตามหน่วยงานและประเภทการวิจัย จำนวนนักวิจัยจำแนกตามหน่วยงาน และโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มส่วนของกระบวนการบริหารจัดการ (optional) เข้ามาด้วย โดยมีการร่วมมือกับนักวิจัยอื่น/พันธมิตร/ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อพัฒนาระบบการวิจัยให้ดีขึ้น ด้านผลผลิตได้เพิ่มผลงานตีพิมพ์ที่รายงานโดยผู้วิจัย เช่น หนังสือ บทความในหนังสือ/การประชุมวิชาการ วิทยานิพนธ์ การจัดกิจกรรมเผยแพร่ เช่น การประชุมวิชาการ การจัดนิทรรศการ การจัดการแสดง ฯลฯ การได้รับการยกย่องจากวงการวิชาการ และทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ

ด้านตัวชี้ผลลัพธ์แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ 1. ผลลัพธ์เชิงเทคโนโลยี เช่น การนำเทคโนโลยีหรือผลงานไปใช้ 2. ผลลัพธ์เชิงสถาบัน เช่น การกำหนดนโยบายภาครัฐ 3. ผลลัพธ์เชิงพฤติกรรม คือมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือแนวทางปฏิบัติของธุรกิจ วิชาการ หรือประชาชน 4. ผลลัพธ์เชิงแนวคิด เช่น การถกอภิปราย และ5.การเสริมสร้างความสามารถ เช่น ทักษะหรือขีดความสามารถของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไป

ในส่วนของการวัดผลกระทบ แบ่งใหม่ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจ ซึ่งตีค่าเป็นตัวเงิน ผลกระทบเชิงปริมาณที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเงินได้ง่าย และผลกระทบเชิงคุณภาพที่สำคัญ 2. ด้านผลกระทบทางสังคมใช้ตัวชี้วัดภาวะทางสังคม เช่น การกระจายรายได้ อัตราการเจ็บป่วย ดัชนีครอบครัวอบอุ่น และผลกระทบเชิงคุณภาพที่สำคัญ และ 3. ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ผลกระทบที่แปลงมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น Preventive/Replacement cost method ตัวชี้วัดภาวะสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงาน พื้นที่ป่าไม้ ปริมาณของเสีย และผลกระทบเชิงคุณภาพที่สำคัญ

ต่อมาคือเรื่องแนวทางการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาในภาพรวม ซึ่งทีดีอาร์ไอแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ 1. การประเมินเบื้องต้น ตั้งแต่ข้อมูลทั่วไปของโครงการ จนถึงการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น 2. การประเมินการนำผลงานวิจัยไปใช้ โดยดูที่ปัจจัยป้อนเข้า ผลผลิตและวิเคราะห์ผลลัพธ์อย่างละเอียด รวมถึงการคาดการระดับการนำผลงานไปใช้ในช่วงเวลาต่างๆ แรงจูงใจที่จะนำผลงานไปใช้ และปัจจัยที่ส่งเสริมหรืออุปสรรคในการนำไปใช้ สุดท้ายคือ 3. การประเมินผลกระทบโดยเปรียบเทียบกับ counterfactuals ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีบอกถึงการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบพร้อมทั้งตัวอย่างงานวิจัยที่นำไปใช้จริงของทั้ง 5 สาขา คือ เกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยสาขาเกษตรที่เวียดนาม เรื่องการพัฒนาถั่วเหลืองสายพันธุ์ใหม่ของเวียดนามรวมถึงพัฒนาแนวทางการปลูกเพื่อให้ผลผลิตสูง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ เกษตรกรหันมาปลูกถั่วเหลืองสายพันธุ์ใหม่และพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการฟาร์ม ผู้วิจัยมีโอกาสไปศึกษาต่อที่สูงขึ้น มีผลให้เกษตรกรรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น หรืองานวิจัยการพัฒนาการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีของนักวิจัยไทย อันส่งผลให้เกษตรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเฉลี่ยไร่ละ 21.5 กก. (457.2 บาท) ลดการใช้สารเคมีและปุ๋ย มีผลผลิตที่สูงขึ้น เป็นต้น

สำหรับด้านสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัญหาที่เกิดขณะนี้ของไทยคือ งานวิจัยของสาขานี้ส่วนใหญ่เป็นเชิงพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่าศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจ และส่วนใหญ่มักไม่ได้ถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนเพื่อพัฒนาธุรกิจต่อไป

ส่วนงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพนั้น ต้องมีตัวชี้วัดที่แตกต่างกับตัวชี้วัดของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะส่งผลตรงต่อสุขภาพของประชาชน และเนื่องจากประเทศไทยเป็นระบบประกันสุขภาพ ดังนั้นต้องคำนวณมูลค่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจของรัฐบาล อีกทั้งผลกระทบด้านสังคมจะมีความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องความเป็นธรรมและจริยธรรม เช่น ยาที่มีราคาสูงจึงสามารถรักษาได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีฐานะ หรือการตัดสินใจช่วยชีวิตผู้ป่วยสาหัส ดังนั้น จึงต้องวัดผลกระทบด้านสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตด้วย

การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบสาขาสังคมศาสตร์ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การวิจัยด้านสังคมศาสตร์แบ่งเป็นพื้นฐานและประยุกต์ ในส่วนของประยุกต์แบ่งออกเป็นเชิงนโยบายและเชิงวิชาชีพหรือดำรงชีวิต โดยมีเป้าหมายของการวิจัยเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีแนวคิด “จากการผลิตสู่การสื่อสารและการเผยแพร่สู่ผู้กำหนดนโยบายหลักฐานจากงานวิจัยในกระบวนการพัฒนานโยบาย” ซึ่งการทำวิจัยนั้นต้องมุ่งสู่ 3 ประเด็นสำคัญ คือ การวิจัยที่มีเป้าหมายเชิงนโยบายชัดเจน, กลไกการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิผล และหลักฐานเกี่ยวกับมูลค่าของผลกระทบ

สุดท้าย การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบสาขามนุษยศาสตร์ ดร.สมเกียรติกล่าวว่า งานวิจัยด้านนี้มีความหลากหลายสูง ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และใช้เวลาในการวิจัยนาน แต่หากทำการวิจัยสำเร็จแล้วผลลัพธ์ที่ได้จะมีอายุยาวนานด้วย

ในทุกๆ โครงการวิจัยจะประเมินเยื้องต้นจากผู้วิจัยเอง ถ้าหากเป็นโครงการใหญ่ๆ ลงทุนสูง ก็ต้องไปตรวจสอบและวิเคราะห์ว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ และเมื่อมีการนำไปใช้ก็ต้องติดตามผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการวิจัยด้วย โดยดูผลจาก “เงิน” (หากสามารถตีเป็นเงินได้) “ดัชนีชี้วัด” หรือ “คุณภาพ/ปริมาณ” ที่เกิดขึ้น

หลังจากวิทยากรทั้ง 3 ได้นำเสนอระบบประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศแล้ว ก็เข้าสู่ช่วงเปิดเวทีแสดงความคิดของผู้ร่วมงานทุกท่านต่อระบบประเมินฯ ดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังนี้

ในแต่ละปีประเทศไทยมีงานวิจัยเกิดขึ้นนับพันเรื่อง แต่ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐ และเป็นเพียงการทำวิจัยเพื่อรักษาคุณภาพขององค์กรเท่านั้น ไม่ได้นำไปสู่ปฏิบัติจริงหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ อีกทั้งยังมียุทธศาสตร์การวิจัยที่ไม่ชัดเจน จึงทำให้ไม่มีน้ำหนักพอที่จะไปต่อรองขอทุนจากรัฐบาล

จากระบบที่ทีดีอาร์ไอนำเสนอ ผู้เข้าร่วมสัมมนาหลายท่านยังมีปัญหาเรื่องตัวชี้วัด และกระบวนการ เพราะหากงานวิจัยที่ไม่มีตัวชี้วัดก็จะไม่น่าเชื่อถือ หรือตัวชี้วัดมีความเอนเอียงไปตามทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยมของผู้วิจัย ทำให้ไม่เกิดผลลัพธ์หรือผลกระทบต่อสังคม ในขณะที่บางท่านมองว่าการที่ไม่เกิดผลลัพธ์/ผลกระทบนั้นเป็นเพราะการวิจัยมีช่องว่างระหว่างผลผลิตและผลลัพธ์/ผลกระทบมากเกินไป ดังนั้นควรตัวเชื่อมบางอย่างที่จะช่วยลดช่องว่างดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลลัพธ์

ระบบการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย แม้จะมีการทำกันมายาวนาน แต่ก็มักจบอยู่แค่เพียงงานวิจัยหนึ่งเล่มเท่านั้น ขาดการต่อยอดสู่การปฏิบัติจริงเพื่อการพัฒนา หรือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาระบบประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศ

วช.ประเมินการให้ทุนวิจัยกับผลลัพธ์ทางสังคม

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาและความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้น อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศในการสัมมนาครั้งนี้ว่า

ที่ผ่านมาเรามีการวิจัยค่อนข้างมาก แต่ก็สำคัญและมีผลอยู่แค่ในวงการวิจัยเท่านั้น ซึ่งนักวิจัยรู้ดีว่าความรู้ที่ได้จากการวิจัยสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดที่สุด เพราะผ่านกระบวนการศึกษามาเป็นอย่างเป็นระบบ แต่คนไทยภายนอกวงการวิจัยยังไม่มีความรู้หรือตระหนักในเรื่องนี้ เพราะมีความคิดที่ว่าสาเหตุที่ต่างประเทศทำได้เนื่องจากการวิจัยของต่างประเทศนั้นดี คนของเขามีความรู้ความสามารถ รัฐบาลให้การสนับสนุนด้านงบประมาณสูง แล้วงานวิจัยของไทยไม่น่าลงทุนอย่างต่างชาติหรือ? คำตอบคือ เราอาจมีแต่ไม่ยังไม่เคยพิสูจน์ว่าการวิจัยถูกต้องใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะระบบประเมินของเราจะจบลงเมื่อทำเล่มการวิจัยเสร็จ

ดังนั้น วช. จึงเป็นตัวกลางในการจัดตั้งการประเมินขึ้น ข้อแรกคือ ผู้ทำวิจัยเอาเงินไปทำการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลย่างไร ในแต่ละปีที่รับเงินทุนไปนั้นวิจัยเสร็จหรือไม่ สองคือผลงานวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์แล้วนอกจากเล่มรายงานได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือหรือวารสารหรือไม่ เพราะงานวิจัยที่ดีจะถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการประเมินคุณภาพรายโครงการได้ส่วนหนึ่ง

ตัวอย่างความสำเร็จและประโยชน์ของการวิจัยและพัฒนาเช่น การพัฒนาการปลูกข้าวของประเทศไทย จากสมัยที่เมืองไทยมีประชากร 20 ล้านคน ก็ประสบปัญหาว่าในอนาคตอาจมีข้าวไม่พอบริโภคในประเทศ แต่การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวและการปรับปรุงดินมากมายที่ผ่านมา ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรกว่า 60 ล้านคน ในพื้นที่เท่าเดิม กลับมีผลผลิตข้าวที่สูงมากพอจนสามารถเลี้ยงประชากรนอกประเทศได้อีก 300 ล้านคน

แต่หลายคนอาจมองว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยนั้นไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้นหน้าที่ของ วช. ก็คือการตรวจสอบว่าการวิจัยนั้นคุ้มค่าหรือไม่

ในภาคเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ เช่น อุตสาหกรรมใหญ่ๆ มักจะมีหน่วยการวิจัยและพัฒนาของตนเอง เพราะเห็นความสำคัญในการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาว่าสามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตหรือหาวัตถุอื่นๆ มาใช้แทน แล้วจดเป็นสิทธิบัตรที่ไม่มีใครเลียนแบบการผลิตได้ ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น แม้ว่าบริษัทอื่นๆ จะมีต้นทุนเรื่องค่าแรงหรือการซื้อวัตถุดิบที่ถูกกว่า ปัจจุบันพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วได้ผลสูงถึง 8 เท่าของเงินลงทุน

นอกจากนี้ ระบบประเมินยังสามารถระบุหรือตรวจสอบได้ว่างานวิจัยและพัฒนาชิ้นไหนควรได้รับเงินทุนสนับสนุน และปัจจุบันการประเมินผลเริ่มยากมากขึ้น เพราะงานวิจัยแต่ละสาขามีการประเมินผลที่แตกต่างกัน แต่ประเทศไทยยังใช้การวัดผลด้วยไม้บรรทัดเดียวกันอยู่ เช่น การเลื่อนขั้นของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ทุกคณะใช้เกณฑ์เดียวกันหมด ซึ่ง วช. ไม่ต้องการใช้หลักเกณฑ์แบบนี้ อีกทั้งการส่งการประเมินกลับไปยังผู้วิจัยยังสามารถทำให้องค์กรและผู้วิจัยสามารถพัฒนาตนเองและประเมินผลการวิจัยขององค์กรได้ด้วย

ดังนั้น การประเมินการวิจัยจึงสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมาผู้วิจัยส่วนใหญ่มักเรียกร้องแต่ทุนวิจัยเท่านั้น โดยลืมไปว่ายังมีส่วนประกอบอื่นๆ อีกที่จะทำให้การวิจัยพัฒนาสร้างผลลัพธ์ได้จริงกับสังคม ซึ่งทาง วช. จะปรับเปลี่ยนระบบให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิต คือมีการปรับเปลี่ยน หมุนเวียน และมีการพัฒนาไปตามลำดับ โดยหวังผลประโยชน์สูงสุด

ส่วนสาขาที่ต้องประเมินมากที่สุด แน่นอนคือด้านการเกษตร เพราะประเทศไทยลงทุนกับเรื่องนี้ไปมาก ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก็เป็นเกษตรกร ซึ่งการประเมินจะช่วยให้รู้ว่าทำวิจัยเกษตรแบบไหน อีกด้านคืออุตสาหกรรม โดยเฉพาะการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร และธุรกิจ SME