ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คัดเลือกประธานบอร์ดธปท.: จุดเปลี่ยน (เสี่ยง) แบงก์ชาติ (1)

คัดเลือกประธานบอร์ดธปท.: จุดเปลี่ยน (เสี่ยง) แบงก์ชาติ (1)

7 พฤษภาคม 2012


ประเด็นการคัดสรรหาประธานคณะกรรมการแห่งประเทศไทย หรือ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะตัดสินและประกาศผลภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ แต่มีการฟันธงกันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า ตำแหน่งนี้คงตกเป็นของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ “ดร.โกร่ง” ไม่ใช่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ “คุณชายเต่า” ที่่ใครๆมักเรียกว่า “หม่อมเต่า”

“หม่อมเต่า”กับ “ดร.โกร่ง”เป็นคู่ “ท้าชิง” ที่ดูเหมือนจะสมน้ำสมเนื้อ แต่ภาพลักษณ์ต่างกันสิ้นเชิง ไม่ว่าจะมองจากมุมของคนในแบงก์ชาติหรือคนนอกแบงก์ชาติ

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่มา : www.bloggang.com

“หม่อมเต่า” ในฐานะอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติและอดีตประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ที่เพิ่งครบวาระแรกเมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2555

ชีวิตข้าราชการของ”หม่อมเต่า”ได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการ “ตงฉิน”

เมื่อมาอยู่แบงก์ชาติได้รื้อและปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่เว้น เช่น ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมแบงก์ชาติจับคู่แต่งงานกันเองเยอะ และถึงกับให้เจ้าหน้าที่ไปเก็บข้อมูลว่าคนแบงก์ชาติที่แต่งงานด้วยกันมีกี่คู่

จากข้อสังเกตเล็กๆ เป็นประเด็นที่หม่อมเต่าวิเคราะห์ออกมาว่า นั่นคือสาเหตุที่คนแบงก์ชาติดำเนินนโยบายอะไรออกมา บางครั้งส่งผลกระทบงต่อตลาดค่อนข้างรุนแรง เพราะคนแบงก์ชาติไม่ค่อยออกไปพบปะพูดคุยหรือรับประทานข้าวกับคนในอาชีพอื่น หรือคนอื่นๆ นอกแบงก์ชาติ ทำให้มุมมองและความคิดของคนแบงก์ชาติอยู่เฉพาะในรั้ววังบางขุนพรหม

ด้วยเหตุดังกล่าว หม่อมเต่าจึงริเริ่มนโยบายส่งคนแบงก์ชาติออกไปทำงานร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อให้เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการกลไกการทำงานของภาคธุรกิจเอกชน และมีมุมมองที่กว้างมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแบงก์ชาติในการดำเนินนโยบายการเงิน

แต่ที่คนแบงก์ชาติโดนกันหนักๆ คือ ความเป็นคน “ปากร้าย” ของหม่อมเต่า ที่มักพูดจาแรงๆ ตรงไปตรงมา จนผู้บริหารหญิงของแบงก์ชาติบางคนถึงกับน้ำตาตกมาแล้ว ทำให้หลายคนในแบงก์ชาติไม่พอใจ แต่เป็นเพียงช่วงแรกเท่านั้น สุดท้ายทุกคนในแบงก์ชาติก็เข้าใจและยอมรับนับถือหม่อมเต่า

การยอมรับมาจาก”หม่อมเต่า”เป็นคนที่”ดูจะไม่ฟังแต่ได้ยิน”

ดังนั้นจึงสามารถฟื้นความเชื่อมั่น และเรียกศรัทธาของแบงก์ชาติให้กลับคืนมาได้ดีระดับหนึ่ง หลังจากถูกทำลายไปพร้อมๆ กับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

หม่อมเต่าคือผู้ว่าการแบงก์ชาติคนแรก ที่ริเริ่มเอาจริงเอาจังกับการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินโดยใช้ “Inflation Targeting” หรือกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เริ่มตั้งแต่ปี 2543 และดำเนินการมาจนมาถึงปัจจุบันนี้ และเห็นด้วยกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ

ผลงานที่แบงก์ชาติ ยิ่งตอกย้ำถึงความรู้ความสามารถของหม่อมเต่า เพราะก่อนที่หม่อมเต่าจะเข้ามาเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ องค์กรนี้ถือว่าเป็น “แดนสนธยา” เข้าถึงยาก แต่สิ่งที่หม่อมเต่าพยายามรื้อและปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ ของแบงก์ชาติ ทำให้องค์กรนี้จับต้องได้มากขึ้น

การเข้ามาของหม่อมเต่านับเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญของแบงก์ชาติก็ว่าได้

ทางด้าน “ดร.โกร่ง” มีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือ “ป๋าเปรม” และได้ชื่อว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังในการลดค่าเงินบาท 2 ครั้ง จนนำพาประเทศฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนั้นมาได้ และยังมีเครดิตเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีคลังอีกด้วย

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่มาภาพ : www.matichon.co.th
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่มาภาพ : www.matichon.co.th

จากประสบการณ์ดังกล่าวทำให้ชื่อ ดร.โกร่งกลายเป็น “เทคโนแครต” ที่ได้รับการยอมรับนับถือในแวดวงข้าราชการและการเมือง และบางคนยกย่องว่าเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลในสังคมไทยเลยทีเดียว และทุกครั้งมักจะมีชื่อ ดร.โกร่ง ติดโผอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ มาตลอด

แม้แต่การคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติในครั้งแรกก็มีชื่อ ดร.โกร่ง เสนอเข้ามาจากฝากรัฐบาลในสมัย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีคลัง ตีคู่มาพร้อมๆ กับชื่อของ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี และ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ แต่การเมืองเปลี่ยนขั้ว พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล ชื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล จึงได้รับแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ด ธปท. คนแรกภายใต้กฎหมายใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551

แต่แนวคิดและความเชื่อเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ของ ดร.โกร่ง ส่วนใหญ่จะเห็นต่างไปจากคนในแบงก์ชาติ เห็นได้จากการวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิการทำงานของคนแบงก์ชาติค่อนข้างแรงอยู่บ่อยครั้ง

ในสมัย ดร.ธาริษา วัฒนเกส เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ มี ดร.อัจนา ไวความดี เป็นรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน มีนางสุชาดา กิระกุล เป็นผู้ช่วยว่าการสายนโยบายการเงิน และมี ดร.อมรา ศรีพยัคฆ์ เป็นผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ

ผู้บริหารหญิงทั้งหมดอยู่ในสายงานหลักของแบงก์ชาติ ที่ดูเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย รวมถึงเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งในช่วงนั้นเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก และเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงต่อเนื่อง สาเหตุเพราะมีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก จนต้องออกมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้า แต่ ดร.โกร่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว มีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งฉายาแบงก์ชาติในขณะนั้นว่า “แก๊งผมเปีย”

นอกจากนี้ รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร์” ซึ่งตั้ง ดร.โกร่งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ดร.โกร่งกลับมามีบทบาทด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มตัวอีกครั้ง และมีความคิดเห็นต่างจากแบงก์ชาติชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะกรณีการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่ง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ และผู้บริหารแบงก์ชาติคนอื่นๆ ออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรา 7 (3) ของ พ.ร.ก.โอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้แบงก์ชาติบริหารจัดการ ที่เขียนเปิดช่องคล้ายกับว่าให้แบงก์ชาติเขียนเช็คเปล่าให้รัฐบาล

การออกมาแสดงความเห็นดังกล่าวของแบงก์ชาติ ทำให้ ดร.โกร่งตำหนิแบงก์ชาติออกทีวีผ่านรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ว่า

“ธปท. ชอบพูดให้สังคมไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ขัดหลักประชาธิปไตย เพราะรัฐมนตรี นักการเมืองมาจากประชาชน แบงก์ชาติไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาพูดให้ไม่ไว้วางใจนักการเมือง”

จากความคิดต่างของ”แคนดิเดต”ทั้งสองท่านที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในแบงก์ชาติจะหนาวๆ ร้อนๆ ถ้าตัวเต็งประธานบอร์ดจะเป็น ดร.โกร่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นเช่นนั้น

ต่อให้มี 10 หม่อมเต่า ก็ยากจะเอาอยู่!