ThaiPublica > คอลัมน์ > ดูหอมแดงแล้วห่วงข้าวไทย

ดูหอมแดงแล้วห่วงข้าวไทย

3 พฤษภาคม 2012


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ระยะนี้ ประเด็นเรื่องราคาสินค้า เป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ผมตั้งข้อสังเกตว่า เรากำลังใช้นโยบายหลายๆ อย่างผ่านการอุดหนุนด้านกลไกราคา ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว การอุดหนุนผ่านกลไกราคาแบบนี้ ถ้าทำแบบไม่คิดถึงผลกระทบให้ดี จะเป็นการสร้างความบิดเบือนในกลไกตลาด สร้างต้นทุนแอบแฝง เปลี่ยนพฤติกรรมของตลาด และเปิดช่องให้เกิดการทุจริต สุดท้ายแล้ว อาจจะทำให้ไม่บรรลุจุดประสงค์ของการอุดหนุน และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ การที่เราเก็บภาษี (และเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน) สำหรับน้ำมันดีเซล ซึ่งใช้กับรถบรรทุกและอุตสาหกรรมขนส่ง น้อยกว่าน้ำมันประเภทอื่นๆ (ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นมีราคาแพงกว่าน้ำมันประเภทอื่นๆ) เพื่อลดผลกระทบต่อภาคการขนส่ง ที่เราไม่ต้องการให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นเร็วเกินไป

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราเห็นคนมีฐานะหันมาใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเพื่อลดภาระค่าน้ำมันกันมากขึ้น ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้อยากซื้อรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลด้วยซ้ำ ถ้าเราเก็บราคาน้ำมันเท่ากัน คนกลุ่มนี้เลยพลอยได้ผลประโยชน์จากการอุดหนุน และรัฐพลอยเสียผลประโยชน์จากการเก็บภาษี นอกจากนี้ด้วยความที่ราคาน้ำมันถูกลง คนกลุ่มนี้อาจจะใช้พลังงานมากขึ้นด้วย เมื่อเทียบกับตอนเขาขับรถยนต์เครื่องเบนซิน

แล้วถ้างั้นเราไม่ควรให้การอุดหนุนเลยหรือ?

ในทางหลักการแล้ว ถ้าเรามีความจำเป็นทางการคลังที่จะต้องอุดหนุนภาคเศรษฐกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราน่าจะให้การอุดหนุนโดยตรง (โดยการให้เงินอุดหนุนไปเลย) โดยไม่เปลี่ยน “ราคา” ของสินค้านั้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้าอื่นๆ น่าจะเป็นวิธีที่ตรงจุดกว่า และสร้างการบิดเบือนน้อยกว่า

เช่น ถ้ารัฐมีความจำเป็นที่อยากจะช่วยชดเชยต้นทุนภาคขนส่ง ก็เอาเงินที่จะอุดหนุนราคาน้ำมันไปให้เป็นเงินอุดหนุนกลุ่มรถบรรทุก รถโดยสารไปเสียเลยดีกว่า คนขับ BMW 320d จะได้ไม่ต้องแอบแฝงมาเข้าคิวรับเงินอุดหนุนไปด้วย

แต่จริงครับ โลกนี้ไม่ได้สมบูรณ์ การให้เงินอุดหนุนแบบนั้นก็มีต้นทุนการบริหารจัดการสูง และสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตเหมือนกัน แต่ก็ลดความบิดเบือนลงไปได้

ระยะหลังๆ รัฐบาลใช้นโยบายบริหารจัดการสินค้าเกษตร ที่มีข่าวว่ารัฐบาลใช้เงินในโครงการจำนำราคาข้าวไปแล้วกว่า 120,000 ล้านบาท (แค่สำหรับการจำนำข้าวนาปรังของฤดูกาลที่แล้ว ยังไม่รวมข้าวนาปีของปีนี้) ตั้งงบจำนำมันสำปะหลังอีกกว่า 30,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมี สินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ที่กำลังเป็นข่าวคราวอีก เช่น ยางพารา สับปะรด และหอมแดง

จริงอยู่ครับว่า ปัญหาของตลาดผลผลิตทางการเกษตรส่วนมาก คือ มีระยะเวลาการผลิตค่อนข้างสั้น เมื่อผลิตออกมาแล้วเก็บไว้ได้ไม่นาน และมักออกสู่ตลาดพร้อมๆ กัน เป็นช่วงๆ ราคาสินค้าเกษตรจึงผันผวนค่อนข้างมาก และการตอบสนองต่อราคาค่อนข้างรุนแรง บางครั้งรัฐบาลจึงต้องเข้าไปช่วยเหลืออุดหนุนเมื่อราคาตกต่ำ

แต่การแทรกแซงแบบหลับหูหลับตา บิดเบือนกลไกตลาดแบบชัดเจน นอกจากจะเป็นการทำลายตลาดการแข็งขันแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ผิด ทำลายการจัดสรรทรัพยากร และสร้างภาระให้แก่รัฐแบบปลายเปิด และสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต

ผมขอยกตัวอย่างของการรับจำนำหอมแดง และบทเรียนหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับหอมแดงอาจจะเกิดขึ้นกับการรับจำนำข้าว ที่มีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่าตัวนัก

รัฐบาลอนุมัติโครงการแทรกแซงราคาหอมแดง พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยรอบแรกอนุมัติเงินงบประมาณจำนวน 325 ล้านบาท เพื่อพยุงราคาหอมแดงที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาในตลาดอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 5-6 บาท และได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีกกว่าพันล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการต่อ

หอมแดงเป็นพืชที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ใช้เวลาเพาะปลูกไม่นานมากนัก ถ้ามองกลับไปดูสถิติราคา ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมเกษตรกรจึงรู้สึกว่าราคาปีนี้ตกต่ำผิดปกติ จากข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ ราคาหอมแดงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6-8 บาท ระหว่างปี 2548-2553 มีเมื่อปีที่แล้วที่ราคาพุ่งไปถึง 13 บาท (และมีบางช่วงของปีขึ้นไปถึง 24 บาทด้วยซ้ำ)

เมื่อมีการรับจำนำหอมแดงด้วยราคาสูงกว่าตลาดมากๆ แน่นอนว่าเกษตรกรย่อมเอามาขายให้รัฐทั้งหมด จนรัฐไม่มีที่เก็บ ต้องเอาไปฝากไว้ตามวัด โรงเรียน หรือฝากให้เกษตรกรเอากลับไปเก็บไว้ที่บ้านด้วย

จนมีหอมจำนวนมากเน่าเสียจนเป็นข่าว และมีข้อครหาว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ มีการนำหอมจากแหล่งอื่น (เช่น เพชรบูรณ์) เข้ามาสวมสิทธิ์ด้วยหรือไม่ เมื่อพิสูจน์ซากหอมแดงที่บอกว่าเน่าเสีย ก็มีจำนวนน้อยกว่าปริมาณหอมที่รับซื้อมา และมีรายงานว่ามีการลักลอบนำหอมแดงกลับออกไปขายในตลาดอีกด้วย สุดท้ายแล้วราคาหอมแดงก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก (เพราะคนทั่วไปรู้ว่ารัฐบาลมีหอมอยู่ในมืออีกปริมาณมากเหลือเกิน)

เมื่อดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับหอมแดง แล้วก็หวั่นๆ กับโครงการจำนำข้าว ซึ่งมีขนาดและความเสี่ยงสูงกว่ากันมากนัก ผมเข้าใจว่ารัฐบาลกล้าประกาศรับจำนำข้าวที่ราคาสูงกว่าตลาดเกือบสองเท่า เพราะเชื่อว่ารัฐบาลสามารถควบคุมราคาข้าวในตลาดโลกได้ เพราะเราเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก

จริงครับ ประเทศไทยส่งออกข้าวประมาณปีละสิบล้านตัน จากปริมาณการส่งออกข้าวทั้งโลกประมาณสามสิบล้่านตัน ถ้ามองแบบนี้เราก็เป็นเกือบหนึ่งในสามของปริมาณการค้าข้าว แต่ถ้ามองปริมาณการผลิตเรายังห่างไกลครับ

ประเทศไทยผลิตข้าวได้ปีละประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร แต่ถ้านับการผลิตทั้งโลก มีอยู่ประมาณ 450 ล้านตันต่อปี เราไม่ถึงร้อยละ 5 ของการผลิตของโลกเลยด้วยซ้ำ (เพียงแต่เราผลิตมากกว่าการบริโภคภายในประเทศค่อนข้างมาก) ประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน (ผลิต 140 ล้านตัน บริโภค 135 ล้านตัน) อินเดีย (ผลิต 102 ล้านตัน บริโภค 95 ล้านตัน) หรือแม้กระทั่งเวียตนาม (ผลิต 26 ล้านตัน บริโภค 19 ล้านตัน) มีศักยภาพในการผลิตมากกว่าหรือพอๆกับไทย

การบิดเบือนตลาดโดยหวังว่าจะเพิ่มราคาตลาดโลกได้ ผมว่ายากมากครับ ดูกราฟข้างล่างที่ USDA (กระทรวงเกษตรฯของสหรัฐฯ) วิเคราะห์สถานการณ์การส่งออกข้าวดูสิครับ เขาบอกว่า

“ประเทศไทยกำลังเสียตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกเป็นครั้งแรกในรอบห้าสิบปี และกำลังถูกแทนที่ด้วยอินเดียและเวียดตนาม การสูญเสียตำแหน่งของประเทศไทยไม่ได้เกิดจากปริมาณการผลิตที่ลดลง ตรงกันข้าม ประเทศไทยน่าจะมีการผลิตสูงที่สุดในรอบหลายปี แต่มาจากโครงการสนับสนุนราคาของรัฐบาล ที่แปลกคือ ขณะที่ข้าวไทยกำลังกลับเข้าสู่ยุ้งฉางเพื่อเก็บแบบระยะยาว ข้าวอินเดียกำลังออกจากยุ้งฉางมาขาย อินเดียมีปริมาณข้าวในสต็อกมากจากการห้ามการส่งออกมาเป็นเวลานาน จึงสามารถตัดราคาที่รัฐบาลไทยกำลังพยายามตั้งไว้ ในขณะเดียวกันเวียตนามก็ตัดราคาสู้”

อ่านแล้วเสียวแทนครับ

ปริมาณการส่งออกข้าว ที่มา: www.fas.usda.gov/psdonline/circulars/grain.pdf
ปริมาณการส่งออกข้าว ที่มา: www.fas.usda.gov/psdonline/circulars/grain.pdf

อย่างที่บอกครับ การตอบสนองด้านราคาของสินค้าเกษตรมีมากและทำได้เร็ว เพราะข้าวปลูกแค่สามสี่เดือนก็ได้ผลผลิตแล้ว ถ้าผมเป็นชาวนาแล้วรัฐบาลประกันราคารับจำนำขนาดนี้ แน่นอนครับ ผมย่อมรีบเร่งการผลิตข้าวเพื่อเอามาขายให้รัฐบาลแน่นอน ถ้าผมเป็นชาวนาอินเดียและเวียตนามและรู้ว่าราคาข้าวอาจจะสูงขึ้น ผมก็ผลิตข้าวเพิ่มเหมือนกัน

ปกติการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรทั่วไป มักจะทำโดยการให้เงินอุดหนุนเพื่อให้เกษตรกรในประเทศสามารถขายสินค้าได้ต่ำกว่าราคาตลาดโลกเพื่อตัดราคากัน แต่การอุดหนุนของประเทศไทยรอบนี้ คือการพยายามทำให้ราคาสินค้าในตลาดโลกสูงขึ้น คู่แข่งแบบอินเดียและเวียดนามเลยยิ้มแฉ่ง

และก็มีคำถามตามมาอีกมากมาย เช่น รัฐบาลจะเอาข้าวในสต็อกไปทำอะไร (ที่มีปัจจุบันกว่า 8 ล้านตัน และกำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าข้าวนาปีปีนี้ออกมา) เรามีที่เก็บขนาดนั้นเลยหรือ? และจะรับประกันได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดเรื่องราวทุจริตและความเสียหายเช่นเดียวกับหอมแดง (ถ้าเกิดขึ้นก็เอาความเสียหายของหอมแดงคูณไปอีกหลายเท่าได้เลยครับ) เริ่มมีข่าวว่ามีการฝากข้าวเก็บไว้ที่โรงสี แล้วจะพิสูจน์ทราบได้อย่างไรว่าข้าวไม่ได้มีการลักลอบเปลี่ยนข้าว?

รัฐบาลมีนโยบายในการระบายข้าวในสต็อกอย่างไร?​

ถ้ารัฐบาลบอกว่าจะเอาไปขาย แล้วขายให้ใคร?

ใครจะรับซื้อที่ราคาที่รัฐบาลต้องการ ถ้าราคาตลาดโลกเองต่ำกว่ามาก?

ถ้าทำการขายแบบแลกเปลี่ยนกัน จะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ถูกเอาเปรียบ ถ้าขายที่ราคาตลาดโลก ความเสียหายจะเป็นเท่าไร?

ลองนึกดูนะครับ แค่มีข่าวว่ารัฐบาลไทยกำลังจะขายข้าวในสต็อก ราคาข้าวโลกคงปักหัวลงได้เลย

ถ้ารัฐบาลรับจำนำจนข้าวในประเทศสูงขึ้นมากจริงๆ (โดยไม่สนใจราคาโลก) จะป้องกันข้าวเพื่อนบ้านไม่ให้เข้ามาทดแทนได้อย่างไร และสุดท้าย รัฐบาลจะทำอย่างไรกับข้าวถุงที่ประชาชนกิน? (จะควบคุมราคาไม่ให้ขึ้นแบบที่กำลังทำอยู่อย่างนั้นหรือ) สุดท้ายเรื่องราวการขาดแคลนข้าวสาร แบบน้ำมันปาล์มจะเกิดขึ้นได้หรือไม่?

นอกจากนี้ การระดมเงินทุนเพื่อซื้อ “ข้าวทุกเม็ด” อาจต้องใช้เงินกว่าสามแสนล้านบาทต่อปี เงินพวกนี้จะมาจากไหน?

ปัจจุบันมาจากการระดมเงินผ่าน ธ.ก.ส. (ซึ่งก็กู้จากธนาคารพาณิชย์อีกที) และธนาคารอื่นๆ การดูดเงินเข้าไปมากๆ ก็อาจมีผลต่อสภาพคล่องในระบบได้ในระยะสั้น

คำถามพวกนี้ผมว่าน่าคิดนะครับ และน่าเป็นห่วงจริงๆ เพราะการแทรกแซงกลไกตลาดแบบทุ่มหมดหน้าตักจนลืมผู้เล่นในตลาดมันน่าหวาดเสียวครับ