ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มนุษย์ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ปี 2050 เราต้องการโลก 2.9 ใบ

มนุษย์ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ปี 2050 เราต้องการโลก 2.9 ใบ

30 พฤษภาคม 2012


ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คนเราต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเพราะน้ำมือของมนุษย์ การบริโภคและใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติกันแบบไม่ยั้งคิด เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุดของมนุษย์

แต่หากลองมาดูรายงานฉบับนี้ บางทีหลายคนอาจตัดสินใจเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เพื่อโอบอุ้มโลกใบนี้ให้อยู่คู่กับคนรุ่นเราและรุ่นหลังต่อไป

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุในรายงาน Living Planet Report 2012 ว่า ตอนนี้มนุษย์เรากำลังใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าที่โลกสามารถสร้างขึ้นมาชดเชยได้ประมาณ 50% และภายในปี 2030 แม้เราจะมีโลกซัก 2 ใบ ก็อาจไม่เพียงพอที่จะผลิตทรัพยากรธรรมชาติสำหรับมนุษย์ทุกคน

ทุกๆ ปีนับตั้งแต่ปี 1970 รอยเท้านิเวศน์ (ecological footprint) ของมนุษย์ อยู่ในระดับที่สูงกว่าความสามารถของธรรมชาติในการดูดซับของเสียและสร้างทรัพยากรมาทดแทนของเก่าที่ถูกใช้ไป (biocapacity) ทำให้ส่วนต่างระหว่างสองสิ่งนี้เพิ่มจาก 30% ในปี 2005 เป็น 50% ในปี 2008 ซึ่งหมายความว่า โลกจะต้องใช้เวลา 1.5 ปี เพื่อสร้างทรัพยากรธรรมชาติมาทดแทนสิ่งที่มนุษย์ใช้ในเวลา 1 ปี และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาได้หมด และหากมนุษย์ยังใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไป ภายในปี 2050 คนเราก็ต้องการโลกแบบนี้ประมาณ 2.9 ใบ เพื่อช่วยให้คนเราดำรงชีวิตต่อไปได้

WWF บอกว่า biocapacity คือ ความสามารถทางชีวภาพ หรือความสามารถของระบบนิเวศในการผลิตทรัพยากรธรรมชาติและดูดซับของเสียที่คนเราสร้างขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบความสามารถทางชีวภาพต่อคนหนึ่งคนแล้ว พบว่าลดจากระดับ 3.2 โกลบอลเฮกตาร์ (gha) ในปี 1961 เหลือ 1.8 gha ในปี 2008 ซึ่งสวนทางกับความสามารถทางชีวภาพทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกัน

จากการศึกษาของ WWF พบว่า ในปี 2008 ประเทศที่มีความสามารถทางชีวภาพสูงที่สุดในโลก 10 อันดับแรกรวมกันมีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 60% ของความสามารถทางชีวภาพทั่วโลก และใน 10 ประเทศนี้ ก็มีประเทศกลุ่ม BRIICS รวมอยู่ด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย และจีน

แต่แนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในประเทศร่ำรวยทั่วโลก และประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างกลุ่ม BRIICS ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย จีน และแอฟริกาใต้ ผนวกกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า รอยเท้านิเวศน์ (ecological footprint) ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยแล้วพบว่า ประเทศร่ำรวยจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าประเทศยากจนประมาณ 5 เท่าตัว ซึ่งดูได้จากประเทศที่มีรอยเท้านิเวศ (ecological footprint) ต่อคนสูงที่สุด 10 อันดับแรกของโลก เป็นประเทศตะวันออกกลางรวยน้ำมัน 3 ประเทศ ประเทศยุโรป 4 ประเทศ และสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย

และถ้ามาดูกันเฉพาะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเห็นว่า ภูมิภาคนี้มีรอยเท้านิเวศรวมที่ระดับ 1.63 gha/คน ส่วนความสามารถทางชีวภาพรวมอยู่ที่ 0.86 gha/คน ซึ่งหมายความว่าชาวเอเชียแปซิฟิก ใช้ทรัพยากรมากกว่าที่ธรรมชาติในภูมิภาคนี้สามารถผลิตได้

นอกจากสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์กำลังใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินพอดีแล้ว WWF ยังใช้สถิติพิสูจน์ให้เห็นว่าธรรมชาติของโลกกำลังเสื่อมถอยลง โดยดัชนี Global Living Planet แสดงให้เห็นว่า ความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกลดลงเกือบ 30% นับตั้งแต่ปี 1970

โดยเฉพาะในประเทศยากจนนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลงอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศยากจนจะต้องอุดหนุนทรัพยากรธรรมชาติให้แก่คนในประเทศที่ร่ำรวยกว่า

ดัชนี Global Living Planet Index
ดัชนี Global Living Planet Index แสดงให้เห็นว่าความหลากหลายทางชีวภาพลดลงเกือบ 30% ระหว่างปี 1970-2008 โดยใช้ข้อมูลประชากร 9,014 ตัว จากสิ่งมีชีวิต 2,688 ชนิด ได้แก่ นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และปลา

ระบบนิเวศทั้งบนบก น้ำจืด และท้องทะเล มีแนวโน้มความหลากหลายทางชีวิตลดลงกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะชนิดของสิ่งมีชีวิตน้ำจืดที่ลดลงประมาณ 37% และดัชนีสิ่งมีชีวิตน้ำจืดในเขตร้อน (tropical freshwater index) ลดลงมากถึง 70%

หากดูในภาพรวมแล้ว ดัชนีเมืองร้อนทั่วโลกลดลงประมาณ 60% นับตั้งแต่ปี 1970 ซึ่งสวนทางกับดัชนีเขตอบอุ่นทั่วโลก (global temperate index) ที่เพิ่มขึ้น 31% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความหลากหลายทางชีวภาพในเขตอบอุ่นจะอยู่ในภาวะที่ดีกว่าเขตร้อน แต่กลับเป็นเพราะว่า เขตอบอุ่นเคยสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมามากก่อนหน้านี้แล้ว

มาถึงจุดนี้ หลายคนคงอยากจะช่วยฟื้นฟูโลกที่กำลังเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่ง WWF ก็แนะนำว่า คนเราสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง รวมทั้งการเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาด เพื่อร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เลือกเดินแทนการขับรถ หรือซื้ออาหารที่ผลิตใกล้บ้านมากกว่าอาหารที่ต้องขนส่งมาจากที่ไกลๆ นอกจากนี้เราก็ยังสามารถใช้สิทธิใช้เสียงที่มีอยู่ เพื่อเลือกนักการเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นตัวแทนของเรา เพื่อร่วมกันทำให้โลกของเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของคนรุ่นต่อไป

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่