ThaiPublica > เกาะกระแส > สำนักงานสถิติแห่งชาติเตรียมทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม เผย ปี ’54 มีผู้ประกอบการ 2.25 ล้านราย

สำนักงานสถิติแห่งชาติเตรียมทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม เผย ปี ’54 มีผู้ประกอบการ 2.25 ล้านราย

1 พฤษภาคม 2012


นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ

วันที่ 30 เมษายน 2555 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) แถลงข่าว “สสช. สร้างเข็มทิศเศรษฐกิจไทย ด้วยสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม” เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ในชื่อ “มาดี” ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการธุรกิจการค้า การบริการ และอุตสาหกรรมการผลิตทั่วประเทศ ตลอดเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม นี้

นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สสช. จะจัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555 ขั้นที่ 2 ในช่วงเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม โดยการจัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลรายละเอียดที่เรียกว่าการ “แจงนับ” ซึ่งแตกต่างกับปี 2554 ที่ สสช. ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลพื้นฐานที่เรียกว่าการ “นับจด” การเก็บข้อมูลทั้ง 2 แบบ มีความแตกต่างกันที่ความละเอียดของข้อมูล การเก็บข้อมูลแบบแจงนับเป็นการเก็บข้อมูลพื้นฐาน ทำให้เห็นการกระจุกกระจายตัวของผู้ประกอบการและแรงงาน

“การเก็บข้อมูลแบบนับจด เป็นการเก็บข้อมูลแบบละเอียด ที่จะแสดงให้เห็นโครงสร้างของรายรับ ผลประกอบกิจการประเภทต่างๆ องค์ประกอบของค่าใช้จ่าย ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ภาครัฐในการวางแผนกำหนดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ภาคเอกชนใช้ในการวิเคราะห์ตัดสินใจด้านการบริหารและการลงทุน และสำหรับภาคประชาชน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน เปิดกิจการ หรือเข้าสู่ตลาดแรงงานในสาขาที่สนใจ” นายวิบูลย์กล่าว

ร้อยละของสถานประกอบการจำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ - ที่มา สสช.

การสำรวจในครั้งนี้ มีประเภทธุรกิจที่เข้าข่ายการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ ธุรกิจการค้า การบริการ และอุตสาหกรรมการผลิต ยกเว้นหาบเร่ แผงลอย โดยที่ธุรกิจขนาดเล็กที่มีคนงานไม่เกิน 10 คน จะเลือกตัวอย่างเก็บข้อมูลเฉพาะบางราย ส่วนธุรกิจที่มีคนงานตั้งแต่ 11 คนขึ้นไป จะเก็บข้อมูลทุกแห่ง

สรุปผลเบื้องต้นจากการนับจดทั่วประเทศ ในปี 2554 พบว่า ทั่วประเทศมีผู้ประกอบธุรกิจ การค้า การบริการ การผลิตและการก่อสร้าง 2.25 ล้านแห่ง ธุรกิจการขายปลีกมีสัดส่วนสูงสุดที่ 35.7% รองลงมาเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต 18.7% และที่พักแรม บริการอาหารและเครื่องดื่มอีก 12.7%

ขนาดของสถานประกอบการเมื่อวัดด้วยจำนวนคนทำงาน พบว่า ใน 2.25 ล้านแห่ง เป็นสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-15 คน ประมาณ 97.3% และเป็นสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 16 คนขึ้นไป 2.7%

จำนวนสถานประกอบการจำแนกตามขนาด ที่มา สสช.จำนวนเจ้าของกิจการและลูกจ้างในสถานประกอบการทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 10.2 ล้านคน แบ่งเป็น เจ้าของกิจการ 3.2 ล้านคน และลูกจ้าง 7 ล้านคน โดยลูกจ้างจำนวน 41.8% เป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน รองลงมาเป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-15 คน เป็นสัดส่วน 25.2% ตามลำดับ


โดยก่อนหน้านี้ สสช. มีกำหนดจัดทำสำมะโนอุตสาหกรรมแบบแจงนับทุก 10 ปี ที่ผ่านมามีการจัดทำมาแล้ว 3 ครั้ง คือ ปี 2507, 2540 และ 2550 และสำมะโนธุรกิจการค้า 3 ครั้ง คือ ปี 2509, 2531 และ 2545 แต่ในปัจจุบัน โครงสร้างด้านเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศคือ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่ทันสมัยในการวิเคราะห์ ประกอบกับการจัดทำสำมะโนด้านเศรษฐกิจในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จัดทำทุก 5 ปี สสช. จึงได้เปลี่ยนมาจัดทำข้อมูลสำมะโนธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมพร้อมกันแบบแจงนับทุก 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป (ข้อมูลเพิ่มเติม: สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555)