ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ชาวมาบตาพุดระบุโรงงาน-ชาวบ้าน อยู่ด้วยกันต้องบนฐานข้อมูลเดียวกัน เผยขอกนอ.เป็น 10 ปี ไม่เคยเปิดรายงานสารเคมีแต่ละโรงงาน

ชาวมาบตาพุดระบุโรงงาน-ชาวบ้าน อยู่ด้วยกันต้องบนฐานข้อมูลเดียวกัน เผยขอกนอ.เป็น 10 ปี ไม่เคยเปิดรายงานสารเคมีแต่ละโรงงาน

18 พฤษภาคม 2012


โรงเรียนมาบชลูด
โรงเรียนมาบชลูด

เหตุระเบิดที่โรงงานบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด (BST: บีเอสที) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเอสซีจีกรุ๊ป โดยแจ้งว่าถังเก็บสารโทลูอีนระเบิดตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 ได้สอบถามประชาชนในพื้นที่ซึ่งให้ข้อมูลว่าทางบริษัทยังไม่ได้ออกมาขอโทษประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด และไม่มีการชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเป็นระยะๆ ตั้งแต่หลังเกิดเหตุแต่อย่างใด ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ต่างคาดเดาเหตุการณ์ระเบิดและผลกระทบที่เกิดขึ้นเอง

“กรณีโรงงานบีเอสทีระเบิด หลังเกิดเหตุ 40 นาที จึงมีเอสเอ็มเอสแจ้งประชาชน และข้อมูลที่เข้ามาในมือถือบอกแค่ว่ามีการระเบิด แต่ไม่มีข้อมูลเรื่องสารพิษหรืออะไรเลย” ชาวบ้านที่มาร่วมวงเสวนาการสื่อสารความเสี่ยงที่วัดหนองแฟบกล่าว

ขณะที่บริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเกิดสารคลอรีนรั่วเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2555 ได้ออกมาขอโทษประชาชนในพื้นที่ แต่ไม่ได้มีการแจ้งความคืบหน้าการในแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องอย่างไรเช่นกัน

ทั้งนี้ เหตุที่เกิดขึ้นทั้ง 2 กรณี ในส่วน BST เคยเกิดสารเคมีรั่วที่ท่าเรือจากการขนถ่ายสารเคมีมาส่งที่โรงงานในปี 2552 ขณะที่บริษัทอดิตยาฯ เคยเกิดสารคลอรีนรั่วมาแล้วในปี 2553 ซึ่งในครั้งนั้นทางศูนย์ประสานงานพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้นสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้สรุปเหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลของบริษัทอดิตยาฯ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2553 ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง (อ่านในล้อมกรอบ) แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีการวางระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีแต่อย่างใด

สำหรับการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล นักวิชาการ ได้ร่วมเสวนาด้วย และให้ความเห็นว่าถ้าเทียบกับต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น หากมีอุบัติภัยสาธารณภัยเกิดขึ้น บริษัทจะออกมาขอโทษประชาชน และมีการชี้แจงรายละเอียดของอุบัติภัย หลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะที่ปรึกษาขึ้นมาชุดหนึ่งในการตรวจสอบข้อมูลและรายงานความคืบหน้าครั้งที่ 1-2-3 อย่างต่อเนื่อง จนกว่าผลการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ ซึ่งต่างจากของไทย โดยเฉพาะอุบัติภัยสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด เมื่อเกิดเหตุประชาชนไม่ทราบว่าเกิดขึ้นที่โรงงานไหน และโรงงานนั้นมีสารอะไรบ้าง มีมาตรการป้องกันหลังเกิดเหตุอย่างไรบ้าง ถึงเวลาแล้วที่โรงงานและหน่วยงานราชการจะต้องสื่อสารความเสี่ยงด้วยข้อมูลอย่างแท้จริง

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่สะท้อนให้ฟังว่าประชาชน/ชุมชน ไม่ทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงอะไรบ้าง เพราะไม่มีข้อมูลของโรงงานที่อยู่ในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง อย่างชาวบ้านวัดหนองแฟบที่อยู่ในวงล้อมของโรงงานในเครือ ปตท. หลายโรงและบริษัทในเครือเอสซีจี โดยมีเพียงแค่ถนน 2 เลนกั้นเท่านั้น

โรงเรียนวัดหนองแฟบ
โรงเรียนวัดหนองแฟบ

ป้ายของบริษัทเอกชนจะเห็นได้เกือบทุกจุดในโรงเรีบนวัดหนองแฟบ
ป้ายของบริษัทเอกชนจะเห็นได้เกือบทุกจุดในโรงเรีบนวัดหนองแฟบ

จากการสอบถาม คุณครูโรงเรียนวัดหนองแฟบซึ่งตั้งอยู่ในวัดหนองแฟบได้กล่าวว่า อุบัติภัยสาธารณภัยในพื้นที่มาบตาพุดเกิดขึ้นอย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว และแต่ละครั้งที่เกิดเหตุจะไม่ทราบว่าเป็นโรงงานใด มีสารเคมีอะไรบ้าง ชาวบ้านต้องสอบถามข้อมูลกันเอง ต้องเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดเอง ต้องสืบเสาะหาข่าวกันเอง เรียนรู้เกี่ยวกับสารเคมีเอง และต่างคนต่างอพยพ โดยดูทิศทางลมเป็นหลัก ทั้งนี้ต้องพยายามหนีไปอยู่เหนือลม


“ชาวบ้านที่นี่อยู่กันด้วยความหวาดกลัว คนพื้นที่จริงๆ จะย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ไม่ได้เพราะไม่มีเงิน คนที่มีที่ดินไม่ถึงไร่ขายแล้วจะได้เงินแค่ไหน –ไม่ถึงล้าน แล้วจะไปทำอะไรได้ ก็ต้องทนอยู่ต่อไป จะว่าไปแล้วตอนนี้คนที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ เหลือน้อยมาก ใครที่มีที่ดินเยอะๆ ก็ขายทิ้ง ย้ายออกนอกพื้นที่หมดแล้ว เหลือแต่คนจนๆ ที่ไปไหนไม่ได้ อย่างที่โรงเรียนวัดหนองแฟบ หากมีอุบัติภัยสาธารณภัยเกิดขึ้นก็คงหนีไม่ทันเพราะมีเด็กๆ เยอะ รถครูที่มีอยู่ไม่กี่คันขนไม่หมดหรอก นอกจากว่าให้เด็กไปอยู่ในห้องเดียวกัน ถ้าตายก็ตายหมู่ ในแง่จังหวัดเองก็ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือใดๆ แม้กระทั่งการทำความเข้าใจในทุกเรื่องที่เป็นความเสี่ยง”

คุณครูรายเดิมกล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคเอกชน การช่วยเหลือที่มีมาก็อยู่ในรูปการให้ทุน ปีหนึ่ง 10 ทุน ขณะที่มีเด็กๆ เป็นร้อยคน หรือมาร่วมทำบุญทอดกฐิน นานๆ ครั้งจะเอาหมอพยาบาลมาตรวจรักษา ขณะที่ชาวบ้านเขาต้องไปทำมาหากิน ไม่ค่อยได้มาใช้บริการ

ผู้สื่อข่าวได้สำรวจโรงเรียนวัดหนองแฟบและโรงเรียนมาบชลูด พบว่าภายในบริเวณโรงเรียนจะมีป้ายของภาคเอกชนติดไปทุกที่ อาทิ สนามเด็กเล่นสนับสนุนโดยใคร ห้องสมุด อาคารเรียน มีการปักป้ายเพื่อประกาศแสดงความรับผิดชอบของภาคเอกชน ขณะที่ประชาชนในพื้นที่บอกเล่าว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการจากโรงงานคือข้อมูล การให้ข้อเท็จจริง ให้ชุมชนรู้ความเสี่ยงของตนเอง รู้ว่ารายรอบชุมชนนั้นมีโรงงานที่ใช้สารเคมีอะไรบ้าง แต่ประชาชนไม่เคยได้รับข้อมูลเหล่านี้เลย แม้จะร้องขอมานานเป็นสิบปีแล้วก็ตาม


“ชาวบ้านในพื้นที่เองต้องการอยู่ร่วมกับโรงงานให้ได้ และไม่ได้ต้องการการช่วยเหลือแบบนั้น เพราะเราอยู่ด้วยความเสี่ยง เราต้องการความจริงและมาตรฐานของโรงงานที่ดี ทำอย่างไรให้โรงงานกับชาวบ้านมาหารือกันว่าจะอยู่ร่วมกันได้มากกว่า” คุณครูรายหนึ่งในพื้นที่ให้ความคิดเห็น

ต่อเรื่องนี้ นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (เฉพาะกาล) ได้เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้าก่อนหน้านี้ว่า ในเรื่องการรายงานข้อมูลนั้น โรงงานต่างๆ จะต้องรายงานว่าใช้สารเคมีประเภทใดบ้าง จำนวนเท่าใด และเมื่อใช้แล้วเหลือเป็นขยะเท่าไหร่ ต้องรายงานให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทราบทุกเดือน แต่ กนอ. ไม่เคยเปิดข้อมูลนี้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบแต่อย่างใด แม้จะมีการร้องขอเรื่องนี้มาโดยตลอดก็ตาม

หากย้อนกลับไปดูการประเมินความเสี่ยงของโรงงานกรุงเทพซินธิติกส์ ขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อนหน้านี้ นายศุภกิจกล่าวว่า ในรายงานไม่มีการประเมินความเสี่ยงอันตรายร้ายแรงของถังเก็บโทลูอีนที่ไฟไหม้และเกิดระเบิดรอบนี้ ตนพยายามกลับไปดูรายงานเอกสารการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไม่มีการประเมินถังเก็บโทลูอีน เพราะในรายงาน EHIA จะต้องประเมินทุกจุดเสี่ยง ว่าถ้าเกิดเหตุจะมีความรุนแรงแค่ไหน จะไกลกี่เมตร ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง เท่าที่ตรวจสอบ ไม่มีการประเมินเรื่องเก็บถังโทลูอีน มันโหว่ไป

ทั้งนี้ ในรายงาน EHIA ของโรงงาน BST เขาตรวจโทลูอีนในน้ำเสียของเขาด้วย นั่นแสดงว่าโทลูอีนย่อมสามารถปนเปื้อนและเป็นมลพิษในน้ำได้แน่ โรงงานจึงมีระบบตรวจโทลูอีนในน้ำเสียของเขา ดังนั้น การที่บอกว่าโทลูอีนไม่ละลายน้ำ ไม่ต้องตรวจ ข้อมูลคงจะไม่ครบ

และที่โรงงานนี้ขอเน้นว่าไม่ใช่มีแค่โทลูอีนตัวเดียว แต่มีสารเคมีอื่นๆ อีก โดยเฉพาะประเด็นสารก่อมะเร็ง และโทลูอีนไม่ใช่สารก่อมะเร็งในมนุษย์โดยตรง แต่ว่าการพิสูจน์ว่าเป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่มันคือการพัฒนาความรู้ วิจัยไปเรื่อยๆ เมื่อชัดเจนก็ประกาศออกมา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นตอนนี้แล้วจะไม่เป็นตลอดไป แต่ว่าที่โรงงานนี้มีสารเคมีหลายชนิด และมีสารเคมีที่ก่อมะเร็งในมนุษย์แน่ๆ ชัดๆ คือสาร 1,3 บิวทาไดอีน ซึ่งมีในโรงงานและเป็นประเด็นที่มาบตาพุดว่า ในหลายปีที่ผ่านมา เมื่อตรวจวัดสารตัวนี้ พบว่ามีค่าเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ในมาบตาพุด ล่าสุด กันยายน 2554 มี 4 จุดที่เกินค่ามาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง

“สาร 1,3 บิวทาไดอีนเป็นประเด็นแน่ สารเคมีตัวนี้มีในโรงงานและเกิดระเบิดแรงขนาดนี้ เกิดไฟไหม้ใหญ่โต ดังนั้นสารที่ออกมาจากอุบัติภัยครั้งนี้มีแต่โทลูอีนอย่างเดียวจริงไหม นั่นยังไม่ชัดเจน ตกลงมันออกมาจริงไหม แต่ในแง่ความเสี่ยงมันเสี่ยงแน่ เพราะโรงงานนี้มีสารอื่น และสารอื่นออกมาจริงไหม การตอบต้องไม่ใช่แค่การยืนยัน ต้องมีการตรวจวัด มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส หากไม่มีการตรวจวัดจะมายืนยันได้อย่างไรว่าสารอื่นไม่ออกมา เพราะสาร 1,3 บิวทาไดอีนเป็นโจทย์ในพื้นที่ แต่ไม่แน่ว่าพอยิ่งมีสารก่อมะเร็งเยอะๆ เขายิ่งปิด ถ้ามีข้อมูลว่าแม้ 1,3 บิวทาไดอีนจะออกมาบ้าง ก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ที่มันเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ นายศุภกิจให้ข้อมูลว่าบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ได้ขอขยายโรงงานในพื้นที่เดิมเมื่อไม่นานนี้เอง เป็นโครงการขอขยายโรงงานอีก ซึ่งมาตรา 67 มี 3 กลไก ที่ต้องผ่าน คือ 1. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผ่านคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) เมื่อกรกฎาคม 2554 2. องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพิ่งให้ความเห็นเมื่อพฤศจิกายน 2554 และ 3. หน่วยงานอนุมัติอนุญาต คือ การนิคมอุตสาหกรรมเพิ่งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อ 9 มีนาคม 2555

ตอนที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นก็ต้องลงพื้นที่ดูโรงงาน เราดูทั้งส่วนปัจจุบันและส่วนที่โรงงานจะขยาย จึงมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ในรายงานองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เน้นประเด็นเกี่ยวกับระเบิด คือ ครึ่งหนึ่งของกรรมการให้ข้อคิดเห็นว่าไม่ควรอนุมัติอนุญาตให้มีการขยายโรงงานด้วยหลายเหตุผล

1. เนื่องจากสารอินทรีย์ระเหยง่ายหรือ VOC ในพื้นที่ โดยเฉพาะสาร 1,3 บิวทาไดอีนในพื้นที่ยังเกินค่ามาตรฐานอยู่ และมีความเสี่ยงที่อาจจะเพิ่มออกมามากขึ้น

2. ระบบรองรับอุบัติภัยที่ยังมีช่องว่าง ยังเป็นปัญหา ยังเชื่อมั่นไม่ได้

3. การประเมินอันตรายร้ายแรงยังไม่ครบทุกความเสี่ยง ยังไม่มีมาตรการรองรับทุกความเสี่ยง และที่รายละเอียดกว่านั้น แม้แต่มาตรการรองรับก็ยังมีช่องว่าง เช่น โรงงานมีเซ็นเซอร์ตรวจสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่รั้วโรงงาน แต่ตั้งค่าที่เซ็นเซอร์ตรวจเจอสูงเกินไปหากเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานนานาชาติ จึงมีข้อคิดเห็นว่า กรณีสารอินทรีย์ระเหยง่ายก่อมะเร็ง ควรตั้งค่าเซ็นเซอร์ให้ต่ำกว่านี้ตามมาตรฐานนานาชาติ

ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเมื่อปี2553

กรณีสารเคมีรั่วไหลจากโรงงานของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่าฯ ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อ 7 มิถุนายน 2553 ได้สร้างผลกระทบต่อชุมชนและมีผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนหลายร้อยคน จึงมีข้อเสนอดังนี้

1. การแบ่งระดับของเหตุฉุกเฉินและการแจ้งเหตุกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นปัญหาในปัจจุบัน

– ในแต่ละโรงงานมีการแบ่งระดับของเหตุฉุกเฉินและขั้นตอนในการสื่อสารกับการนิคมฯ ไม่เหมือนกัน และยังแตกต่างจากการนิคมฯ และหน่วยงานอื่นๆ

– หากเป็นเหตุฉุกเฉินระดับ 1 โรงงานจะไม่แจ้งกับหน่วยงานใดเลย ต้องร้ายแรงระดับ 2 และ 3 จึงจะมีการแจ้งการนิคมฯ ทำให้เกิดปัญหาที่โรงงานไม่สามารถแจ้งเหตุและรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุง

– พัฒนาระบบการแบ่งระดับเหตุฉุกเฉินให้สอดคล้องกันทุกโรงงานและทุกหน่วยงาน

– กำหนดให้ต้องแจ้งไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีเหตุฉุกเฉินในทุกระดับ โดยระดับ 1 อาจแจ้งบางหน่วยงาน แต่ต้องไม่จำกัดพาะการนิคมฯ ควรรวมถึงหน่วยงานสาธารณสุข (สายด่วน 1669) และป้องกันภัยจังหวัด ส่วนระดับ 2 และ 3 ต้องแจ้งหน่วยงานและชุมชนทันที

2. การเผชิญเหตุของทางโรงงาน

ประเด็นปัญหาในปัจจุบัน

– ไม่มีการตรวจวัดค่าความเข้มข้นของมลพิษในอากาศในบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปที่ควรดำเนินการเพื่อเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับฝ่ายต่างๆ เช่น โรงพยาบาล และหน่วยเผชิญภัย เป็นต้น

ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุง

– กำหนดมาตรการและขั้นตอนในการเผชิญเหตุ การระงับ และการแก้ไขให้ครบถ้วนและชัดเจน โดยต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังและมีการลงโทษที่เหมาะสม

3. การประกาศฉุกเฉินของหน่วยราชการ

ประเด็นปัญหาในปัจจุบัน

– สาธารณสุขจังหวัดระยองมีการประกาศเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลมาบตาพุด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้วย ในขณะที่ทางจังหวัดระยองมีการแก้ไขปัญหา แต่มีการประกาศเหตุฉุกเฉิน จึงเกิดอุปสรรค เช่น บุคลากรสาธารณสุขต้องไปจัดการจราจรแทนตำรวจจราจรที่ต้องทำหน้าที่ตามประกาศเหตุฉุกเฉิน

ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุง

– จังหวัดต้องตัดสินใจประกาศเหตุฉุกเฉินให้เหมาะสมกับสถานการณ์อุบัติภัย เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ออกมาทำหน้าที่อย่างเป็นทางการและเป็นระบบโดยมีการประสานงานที่ดี

4.การเยียวยาและความรับผิด

ประเด็นปัญหาในปัจจุบัน

– การตรวจสอบสาเหตุของอุบัติภัยที่เกิดขึ้นและแนวทางการแก้ไขปรับปรุงดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งรับค่าจ้างจากบริษัท อดิตยา เบอร์ล่าฯ ซึ่งเป็นต้นเหตุ จึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อถือได้และความโปร่งใสของการตรวจสอบ

– การรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้บาดเจ็บเป็นระยะเวลา 7 วันของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่าฯ มีเพียงแนวทางกว้างๆ แต่ยังไม่ชัดเจนถึงขอบเขตความรับผิดชอบและผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น คนงานและชาวบ้านยังไม่ทราบหรือยังสับสน จึงยังไม่ได้ไปโรงพยาบาล

– การเยียวยาและความรับผิดชอบอื่นๆ ของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่าฯ ยังไม่ชัดเจน เช่น ค่าชดเชยการเจ็บป่วย ผลกระทบและความเสียหายต่อพืชและการประกอบอาชีพของชาวบ้าน ความรับผิดทางอาญา และความรับผิดทางแพ่งอื่นๆ

ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุง

– การสืบสวนกรณีเกิดอุบัติภัย (After Incident Investigation) ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ต้องไม่รับจ้างและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงงานต้นเหตุ และต้องสืบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ล่าช้าเกินไป รวมทั้งเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ

– บริษัท อดิตยา เบอร์ล่าฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยให้มีการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางแพ่ง ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ค่าชดเชยการเจ็บป่วย ค่าความเสียหายต่อพืชและการประกอบอาชีพของชาวบ้าน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความรับผิดทางอาญา