ThaiPublica > คนในข่าว > “นก จิรศักดิ์ โย้จิ้ว” ผู้กำกับหน้าหนึ่งซิทคอมชื่อดัง เบื้องหลังความสำเร็จกับหลักคิดง่ายๆ

“นก จิรศักดิ์ โย้จิ้ว” ผู้กำกับหน้าหนึ่งซิทคอมชื่อดัง เบื้องหลังความสำเร็จกับหลักคิดง่ายๆ

20 พฤษภาคม 2012


แม้ภาพลักษณ์ที่หลายๆ คนมองจะขัดแย้งกับการปฏิบัติตัวจริง ในชีวิตประจำวัน แต่ผู้กำกับซิทคอมชื่อดัง “นก จิรศักดิ์ โย้จิ้ว” ที่มีซิทคอมยอดอิตของวัยรุ่นอย่าง เป็นต่อ, เฮง เฮง เฮง, บางรักซอย 9, รักแปดพันเก้า, นัดกับนัด และ เป็นข่าว และละครเวที 4 มิติ ที่เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ “เรื่องเล่าคืนเฝ้าผี” กลับไม่ได้ใส่ใจคำวิจารณ์หรือข้อครหาใดๆ ยังคงยืนยันว่าการทำงานคือหน้าที่ที่ต้องทำ

แต่ชีวิตประจำวัน “ธรรมะ” คือสิ่งที่สูงสุด ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ถึงแม้จะทำงานอย่างหนักทุกวัน และในชีวิตของการทำงานก็มีสิ่งล่อแหลม บวกกับกิเลสที่ดึงดูดใจอยู่มาก แต่ผู้กำกับคนเก่งยังคงปฏิบัติตัวเป็นบุคคลต้นแบบสำหรับน้องๆ ในวงการอีกหลายคนได้เป็นอย่างดีอยู่เสมอ

ใครจะรู้ว่า การทำงานในวงการบันเทิงที่หลายคนว่าเป็นสวยหรูหาเงินได้ง่ายนั้นยากกว่าที่เราคิด เส้นทางที่เราเห็นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาน แต่อาจโรยด้วยหนามกุหลาบด้วยซ้ำ ซึ่งแน่นอนว่า ทุกคนที่เข้ามาสัมผัสวงการนี้ต้องมีช่วงที่พบอุปสรรคในชีวิต ข่าวร้าย คำครหานินทา ที่ยากจะควบคุม ผู้กำกับไอดอลขวัญใจหนุ่มๆ คนนี้ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่พบเจอเรื่องลักษณะนี้ เคยผ่านชีวิตวัยรุ่นที่เกเร ข่าวฉาวเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิง ถึงขนาดได้รับฉายา “ผู้กำกับหน้าหนึ่ง” มาแล้ว ซึ่งแน่นอนแต่ละเรื่องไม่ใช่เรื่องที่น่าภาคภูมิใจนัก แต่เมื่อเรื่องราวความทุกข์ร้ายๆ รุมเร้าเข้ามามากมาย จนถึงจุดที่มนุษย์เราเกินจะรับไหว สิ่งใดที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ ชายคนนี้เขาได้ค้นพบกับธรรมะ ธรรมะที่เขานำมาใช้ในโลกที่วุ่นวายนี้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังครองตนเป็นบุคคลตัวอย่างที่ยึดถือธรรมะ เดินต้านลมพายุ ค่อยๆ เดินขึ้นไปบนภูเขา เพื่อชมวิวทิวทัศน์ในจุดที่สูง ดังคำที่เขาว่าไว้ ยิ่งอยู่บนที่สูงยิ่งมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้กว้างมากกว่าคนที่อยู่เบื้องล่าง ปัญหาที่เห็นก็จะมองเล็กลง จนเหลือแค่จุดดำๆ เท่านั้น

เรื่องราวในชีวิตผู้กำกับคนเก่งคนนี้ ยึดหลักธรรมะที่คนในสังคมเมืองสามารถยึดถือและปฏิบัติได้ไม่ยาก (ถ้ามีความตั้งใจจริง) อีกทั้งจุดเปลี่ยนในชีวิต ปัญหาที่เขาพบเจอ ก็ไม่ได้ต่างกับชีวิตคนในปัจจุบัน ดังซิทคอมที่เขาถ่ายทอดออกมา แต่เขายังทำได้ เชื่อเถอะว่าถ้าคุณได้อ่านเรื่องของเขา คุณก็ทำได้เช่นกัน

ผู้กำกับ นก จิรศักดิ์ โย้จิ้ว
ผู้กำกับ นก จิรศักดิ์ โย้จิ้ว

ไทยพับลิก้า : อยากให้เล่าถึงการเข้าวงการครั้งแรก

หลังจากออกจากบ้าน จ.นครศรีธรรมราช เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มทำงานที่ผับแห่งหนึ่ง แล้วมีงานเดินแบบบ้างนิดๆ หน่อยๆ จนวันหนึ่งได้ไปรู้จักพี่การ์ตูน ช่างแต่งหน้า ที่ผับ พี่การ์ตูนกำลังจะไปแต่งหน้าที่กองถ่ายหนังเรื่อง “กองร้อย 501 ริมแดง ภาค 2” และพี่การ์ตูนก็สนิทกับอาทองก้อน ศรีทับทิม ซึ่งเป็นผู้กำกับ จึงชวนผมไปเล่นเป็นทหารเกณฑ์ มีบทบ้างนิดหน่อย เป็นเรื่องแรก ซึ่งต่อมาก็ได้เล่นเป็นตัวประกอบหลักเรื่อง “ไม้ทีกับพู่กัน” อีก ก็เลยขออาทองก้อนตรงๆ ว่าอยากทำหนัง เพราะคิดว่ากลับไปทำงานผับอีกคงไม่รุ่ง อาทองก้อนจึงพามาฝากกับ พี่ติ่ง จิรเดช หาญสิริกานต์ ผู้กำกับฯ ละครบริษัทย่อยของมีเดียออฟมีเดียส์ พี่ติ่งเค้าถามผมว่าทำอะไรเป็นบ้าง ผมก็บอกว่าทำอะไรไม่เป็นเลย ผมไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ จบแค่ ปวช.การบัญชี ที่บ้านทีวีก็ไม่มีดู พี่ติ่งจึงพาไปห้องตัดต่อ งานแรกที่ผมได้ทำคือ เสิร์ชเทปหาฉากที่พี่เขาต้องการตัดต่อ เป็นเรื่องตื่นเต้นมากที่ผมมาเห็นขบวนการการทำละคร ช่วงนั้นใครให้ทำอะไรผมก็ทำหมด ทำไปเรียนรู้ไป โชคดีที่บริษัทพี่ติ่งเค้าเป็นบริษัทเล็กๆ ผมเลยได้ทำเกือบทุกอย่าง

มาวันหนึ่งพี่ติ่งก็ล้มป่วย เราจึงได้ต้องมากำกับฉากในละครของวันนั้นแทนพี่ติ่ง ต่อมาพี่ติ่งเสียชีวิต เราจึงได้รับงานครึ่งหลังของพี่ติ่งไป อายุตอนนั้นก็ประมาณ 24 ปี พอมาได้กำกับเรื่องสวรรค์บ้านทุ่ง ด้วยความที่เรื่องนี้ต้องมีผู้กำกับร่วมที่อาวุโสกว่า ทำให้มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทางผู้ใหญ่จึงบอกว่า ถ้ามีความคิดเป็นคนรุ่นใหม่แบบนี้ แนะนำให้ไปสมัครที่บริษัทเอ็กแซ็กท์ ที่นั่นมีคนรุ่นใหม่ไฟแรงเยอะ เราเลยมาสมัคร และได้มาทำงานที่เอ็กแซ็กท์ กำกับซิทคอม เฮง เฮง เฮง เป็นเรื่องแรก ตามมาด้วยบางรักซอย 9, รักแปดพันเก้า, เป็นต่อ, นัดกับนัด และเป็นข่าว ส่วนละครยาวก็เรื่อง เฮฮาคาเฟ่ และ รักในรอยแค้น ภาค 2

ไทยพับลิก้า : มีแนวคิดในการนำเสนอซิทคอมอย่างใร เพื่อไม่ให้คนดูเข้าใจผิดและปฏิบัติตามในสิ่งที่ไม่ดี

อย่างเรื่อง “เป็นต่อ” ด้วยความที่เนื้อเรื่องแสดงออกถึงความเจ้าชู้ ผู้ชายถึงชอบดูกันเยอะ แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่อง เราจะบอกเสมอว่าสิ่งไหนทำแล้วดี สิ่งไหนทำแล้วไม่ดีอย่างไร จะมีคำสอนขึ้นมาเสมอ สมมุติคุณเจอผู้หญิงในผับ แล้วคุณคิดแต่สนุกกับเขา แต่ไม่ได้คิดถึงว่าเขาอาจเป็นอาชญากร บางทีคุณอาจจะถูกปล้น เขาอาจจะเข้ามาทำลายชีวิตคุณก็ได้ หรือบางทีคุณเจอผู้หญิงที่คุณคิดจะเล่นๆ กับเขา แต่เขาเป็นคนดีกว่าที่คุณจะไปคิดทำร้ายเขาก็ได้

ธรรมชาติของมนุษย์ จะสามารถแยกแยะได้อยู่แล้วว่าอะไรดีไม่ดี ภายในจิตของมนุษย์ก็จะชอบทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ฉะนั้นในการแยกแยะทุกอย่างจะอยู่ในความคิดคุณเอง หรือถ้าเป็นเด็กผู้ปกครองก็เป็นคนชี้นำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งความคิดของคนเรา จะบอกว่าอยากจะทำหรือไม่ทำอย่างนั้น เพราะในเนื้อเรื่องก็จะสอดแทรกให้รู้อยู่แล้วว่าทำสิ่งใดแล้วได้รับผลดีไม่ดีอย่างไร ตัวละครก็มีทั้งตัวดีและตัวร้าย มันก็แล้วแต่มุมมองว่าใครจะชอบสิ่งไหน แต่ละบุคคลก็จะเลือกเสพละครตามจิตของคุณเองว่าใฝ่ดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย

ไทยพับลิก้า : ทราบมาว่าคุณนกสนใจธรรมะ มีจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้หันมาปฏิบัติอย่างจริงจังอย่างไร

ตอนนั้นพี่บอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) บวช แล้วชีวิตช่วงนั้นของผมก็ทุกข์เรื่องความรัก อีกทั้งเรื่องอื่นๆ ในชีวิตก็เป็นทุกข์ จนตัวเองรู้สึกไม่ค่อยอยากมีชีวิตอยู่บนโลกนี้แล้ว แต่พอได้พบกับพระอาจารย์ที่พี่บอยบวชเรียนด้วย ท่านแนะนำให้บวช พี่บอยก็สนับสนุน จึงตัดสินใจบวช และได้อยู่ในโลกที่เป็นธรรมะมากขึ้น เข้าใจในคำแต่ละคำของพระพุทธองค์มากขึ้น “อยากก็เป็นทุกข์ ไม่อยากก็เป็นทุกข์” คือทุกอย่างมันเป็นทุกข์หมด พอได้มานั่งทบทวนดูก็รู้ว่ามันจริงทุกอย่าง เป็นสัจธรรมของความทุกข์ ไม่มีมนุษย์คนไหนที่ไม่มีทุกข์ ทุกคนมีทุกข์หมด แล้วจะทำยังไงให้พ้นทุกข์ คือ ปฏิบัติธรรมแล้วจะพ้นทุกข์ ตามที่พระพุทธองค์บอก แค่กลับมานั่งดูที่ลมหายใจแล้วระลึกว่า วันหนึ่งถ้าเราไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกเราก็จะพ้นทุกข์ จึงตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง และพยายามตัดทุกอย่าง กิเลสที่เรามี ไปสัมผัสให้น้อยที่สุด และทำให้เกิดขึ้นกับตัวเองให้น้อยที่สุด ทำให้เราไม่ค่อยไปใส่ใจอะไรกับชีวิตมากมาย ตัดทุกอย่างและพยายามจะอยู่ตัวคนเดียวให้ได้มากที่สุด

อย่างเรื่องความรัก บางคนอาจจะมองว่าผมเป็นคนเจ้าชู้ เหมือนตัวละครเป็นต่อ แต่จริงๆ แล้วผมก็เป็นมนุษย์ที่หาใครซักคนที่รักเราจริง และคนนั้นก็ต้องทำให้เรารู้สึกว่าเราอยู่ด้วยแล้วเราสบายใจ ทำให้เมื่อเราเจอคนที่เรารู้สึกว่าไม่ใช่ หรือไปเจอคนที่เรารู้สึกว่าใช่ แต่เราก็ไม่ใช่สำหรับเขา สลับกันไปมาอยู่แบบนี้ ต่างคนก็ต่างเจ็บ เกิดเป็นความทุกข์ ที่เห็นคนอื่นเจ็บเพราะเรา เราเจ็บเพราะเขา จนสุดท้ายก็คิดว่าทำยังไงให้เราอยู่คนเดียวให้ได้โดยไม่ต้องหาใคร ฉะนั้นถ้าใครคิดว่าผมเป็นคนเจ้าชู้ ผมบอกเลยว่าไม่ใช่ “ถ้าคุณเจอใครซักคนที่เขารักคุณและคุณรักเขา ก็ให้อยู่กับเขาไปเถอะ มันจะเป็นความรักที่เกิดความสุขแน่นอน”

ทั้งนี้ การที่เรารู้สึกว่าไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องความรัก ทั้งเขารักเราและเรารักเขา ที่ยังหาไม่เจอ มันไม่ใช่แนวทางของความเจ้าชู้ มันเป็นแนวทางของความเจ็บปวดมากกว่า ซึ่งถ้าเราศึกษาพระพุทธศาสนาจริงๆ จะรู้ว่ามันเป็นกงกรรมกงเกวียนของเรา แม้จะมีตำราบอกวิธีแก้กรรมต่างๆ ไว้ แต่กรรมบางกรรมก็แก้ไม่ได้ กรรมที่แก้ได้คือแก้ที่ตัวเองเท่านั้น อย่างถ้าไม่อยากเจ็บปวดเรื่องความรักหรือทำร้ายใครอีก ก็ไม่ต้องนำใครเข้ามาในชีวิต แค่นั้น อีกอย่างผมมองว่าเวรกรรมเป็นสิ่งที่น่ากลัว ทำร้ายกันไปมาก็เจ็บ ไม่มีที่สิ้นสุดซักที

ไทยพับลิก้า : ดึงหลักธรรมะนำมาใช้กับงานในวงการบันเทิงได้อย่างไร

ได้เยอะมาก คือ หนึ่ง การใช้ชีวิตก่อน อย่างชีวิตส่วนตัว เรามาดูความรู้สึกของตัวเองว่าแต่ละวันเราคิดอะไรบ้าง อย่างในเรื่องความคิด ธรรมะบอกว่า การคิดไม่ดีกับคนอื่นเป็นจิตอกุศล แม้แต่คิดไม่ดี ไปตำหนิ หมู หมา กา ไก่ ก็บาปแล้ว เพราะถือเป็นจิตอกุศล ฉะนั้นแปลว่าเราจะมาหยุดคิดที่การกระทำของเรา แน่นอน ว่าไม่ควรคิดกับคนอื่นไม่ดี แต่มนุษย์เราจะมีกิเลส และจิตมักจะคิดในมุมที่ไม่ดี คิดเล็ก คิดน้อย คิดมาก ว่าคนนั้นไม่รัก คนนู้นรู้สึกแบบนั้นแบบนี้กับเรา ซึ่งความพอใจไม่พอใจในจิตมนุษย์จะเกิดขึ้นทุกวินาทีด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเรานำธรรมะมาขัดเกลาจิตใจตัวเอง จะทำให้เราคิดแต่ในมุมที่ดีมากขึ้น เมื่อเรารู้ตัวว่าเริ่มไม่ดี เราก็จะเอาความคิดนั้นออกไป และคิดในมุมที่ดีดีกว่า หรือแม้กระทั่งเวลาโกรธ ชอบไม่ชอบ หรือหลงรักก็ตาม ทุกอย่างนำมาตัดได้หมด ธรรมะจริงๆ ของพระพุทธองค์ไม่อยากให้คนเราติดอยู่กับอะไรก็แล้วแต่ “เพราะในธรรมะบอกว่า ทุกอย่างล้วนแต่สมมุติขึ้นมา แม้กระทั่งตัวเราเอง” ทำให้เมื่อเวลาตัวเรามี เราก็เอื้อเฟื้อผู้อื่นมากขึ้น รู้จักการให้มากขี้น รู้จักยอมฟังและเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น นี่คือหลักธรรมะที่มาใช้ในชีวิตประจำวัน

สำหรับธรรมะในชีวิตการทำงาน อย่างเมื่อก่อนผมจะเป็นคนขี้โมโหเวลาที่ลูกน้องทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ แต่เดี๋ยวนี้ก็จะไม่โมโห “เพราะโมโหไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา มันเป็นแค่จิตหนึ่งที่ทำตามอารมณ์เท่านั้น เพราะสุดท้ายเมื่อคุณหายโมโห คุณก็ต้องมานั่งแก้ปัญหาอยู่ดี” หรือแม้กระทั่งเวลาคิดมาก คิดไม่ตก คิดจนปวดหัว ก็อย่าเอาจิตไปผูกกับมัน ค่อยๆ วาง ก็จะสบายใจ ทุกอย่างการทำงานก็สบายขึ้นโดยไม่ต้องกังวลอะไร หรือแม้กระทังคำว่า “ตัวกู” ตามคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ตัวกูมีอะไรบ้าง อย่างอีโก้ ความมีศักดิ์ศรีสูง ใครมาพูดอะไรแบบนี้กับเราไม่ได้ เพราะเราตำแหน่งสูง พ่อเราใหญ่ นามสกุลดัง หรืออะไรต่างๆ นานา มันเกิดศักดิ์ศรีขึ้นมา ถ้าเราลองไม่มีดูล่ะ อะไรก็ไม่เป็นไร ก็ไม่ต้องเกิดการโมโห ลูกน้องก็สามารถเข้ามาคุยกับเราได้โดยเท่ากัน เราไม่จำเป็นต้องเอาความเป็นหัวหน้ามาคุยในบางเรื่อง แต่ถ้าเขาทำไม่ถูกแล้วเราอยากจะสอน ก็จะสอนด้วยความนุ่มนวลและทำให้เขาอยากฟังมากขึ้น แต่ถ้านำเอาตัวกูมาก่อนในการสั่งงานหรือพูดคุย ลูกน้องก็รู้สึกว่าอึกอัด รู้สึกเหมือนถูกสั่ง ไม่เหมือนกันพูดคุยกันดีๆ ซึ่งลูกน้องจะยอมรับในสิ่งที่เราบอกได้มากกว่า เพราะหัวหน้างานส่วนมากมักจะบ้าอำนวจกับลูกน้อง เพราะนั่นคือยึดใน “ตัวกู”

เมื่อก่อนเวลาหัวหน้าสั่งงานผม ด้วยความที่เราเป็นผู้กำกับ ก็จะปฏิเสธแนวทางที่เขาบอกเลย แล้วทำตามความคิดของเราแทน แต่เดี๋ยวเรารู้จักยอมรับที่จะทำให้ เมื่อผลออกมาดีไม่ดีอย่างไร ก็จะบอกเขา ทำให้มีความอะลุ้มอล่วย และความนุ่มนวลในการทำงานมากขึ้น

สำหรับการทำงานในวงการบันเทิง คนมองว่ากิเลสเยอะมาก ทั้งกิเลสของความหรูหรา กิเลสของความโก้หรู แต่ผมไม่ติดเลย เพราะเมื่อเราตัดคำว่า “ตัวกู” ออกได้แล้ว เราก็แค่คนคนหนึ่ง ยังกินข้าวแกงข้างถนนได้ปกติ ไม่จำเป็นว่าต้องกินอาหารที่หรูหราทุกมื้อ หรือแต่งตัวไฮโซ ขับรถราคาแพงๆ มันไม่เกี่ยวเลย เพราะค่าของคนมันไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต หรือคุณอยู่วงการไหน แต่มันอยู่ที่ว่าคุณมีจิตที่ดีหรือเปล่า จิตที่ดี นั่นแหละจะทำให้คนเรามีคุณค่า แต่ส่วนมากคนเราไปติดในภาพลักษณ์ เพราะเทคโนโลยีมันมีมาก ทำให้คนคิดว่าจะนับถือใครซักคน ก็ต่อเมื่อคนนั้นมีเงิน หรือคนคนนั้นมีตำแหน่งใหญ่โต มีหน้ามีตาในสังคม แต่สำหรับผมแล้วไม่ใช่ ผมจะนับถือใครสักกคนหนึ่งก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าคนคนนั้นจิตใจดีจริงๆ

ถ่ายภาพร่วมกับทีมงานซิทคอม บริษัทเอ็กแซ็กท์
ถ่ายภาพร่วมกับทีมงานซิทคอม บริษัทเอ็กแซ็กท์

ไทยพับลิก้า : แนะนำน้องๆ ในวงการบันเทิง ให้สนใจรรมะอย่างไรบ้าง

แนะนำไปเยอะแยะมากมาย เพราะเมื่อเราพบแล้วรู้ว่าธรรมะเป็นสิ่งที่ดี เราก็อยากบอกต่อ อย่างในซิทคอมเรื่อง “เป็นต่อ” ในความเป็นตัวละครเป็นต่อ จะมีความล่อแหลมในทักษะทางตา คือมีสิ่งล่อตาล่อใจเยอะ ฉะนั้น อย่างฉากเซ็กซี่ ความเป็นผู้ชายก็ต้องมอง เป็นเรื่องปกติ ตาคนเนี่ยชอบจับจ้องในสิ่งที่มันวับๆ แวบๆ แต่ว่าเมื่อเราศึกษาธรรมะแล้ว เราเลือกที่จะไม่มอง คือ ปิดทักษะตรงนั้นซะ เราก็ไม่ต้องมองให้เกิดกิเลส แล้วไปคิดต่อหรืออะไรต่ออีก ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ต้องค่อยๆ ฝึกฝนไป ยังไม่มีใครปฏิบัติได้ทั้งหมดทีเดียวหรอก เราปฏิบัติธรรมซักร้อยปีแล้วถึงรู้ว่าสิ่งที่เราปฏิบัติมันดียังไงก็ไม่เห็นจะสายเลย ไม่จำเป็นว่าต้องปฏิบัติเดือนเดียวแล้วเราจะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เพราะการที่เรายึดถือธรรมะและตั้งใจอยากที่จะปฏิบัติ ก็ดีกว่าคนที่ไม่คิดหรือทำอะไรเลยอยู่แล้ว หลักๆ ตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนคือเรื่องการดูลมหายใจ เพราะการดูลมหายใจเราไม่ต้องไปนั่งคิดร้ายกับคนอื่น อย่างเช่น เวลาคุณจะนินทาใคร คุณก็ไม่ต้องนินทาแล้วเอาใจไปจับไว้ที่ลมหายใจ ก็จบ

ไทยพับลิก้า : มองหลักธรรมะของคนสมัยนี้ ว่าเป็นยังไร

คนสมัยนี้อย่าว่าแต่ธรรมะเลย บางคนกับพ่อแม่ยังไม่เชื่อเลย แล้วเขาจะมาเชื่ออะไรในธรรมะ อย่างเด็กสมัยก่อนที่เชื่อธรรมะเพราะพ่อแม่ฝึกให้เข้าวัดตั้งแต่เด็กๆ แต่สมัยนี้ โดยเฉพาะในสังคมกรุงเทพฯ น้อยมาก ต้องอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่เห็นธรรมะเด็กถึงจะมีธรรมะ สมัยนี้พระห่างจากเด็กมาก แต่ก็จะมีคนรุ่นหลังบางส่วนที่สนใจ แล้วค่อยมานำสอนเอง ซึ่งธรรมะอาจจะกลับมาใหม่ได้

แต่จริงๆ แล้วสังคมสมัยนี้ทุกคนไปติดอยู่ที่วัตถุกันมาก ทั้งโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเล่นต่างๆ ที่เป็นวัตถุ ซึ่งตอนนี้ต่างชาติเขาเลิกติดวัตถุ เหมือนอิ่มตัวแล้ว หันกลับมาหาธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือธรรมะ ความเป็นจริงมากขึ้น

อย่างทุกวันนี้ เราอาจจะเห็นว่ามีคนเข้าวัดปฏิธรรมกันเยอะ ซึ่งดูแล้วเหมือนเป็นประเพณีค่านิยมมากกว่า เห็นคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมก็เข้าตาม หวังเพื่อสบายใจเวลารู้สึกว่าดวงไม่ดีหรือตัวเองมีความทุกข์ และขอในสิ่งที่เราต้องการให้สมหวัง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างตัวผมเอง บวชครั้งแรกตอนอายุ 21 ถามว่าได้อะไรจากการบวชครั้งนั้นไหม อยากบอกว่าได้น้อยมาก แต่การบวชครั้งหลังเข้าใจธรรมะมากกว่า แปลว่าการบวชแล้วเข้าใจธรรมะจะเป็นการขัดเกลาจิตใจเราได้มากกว่าการบวชโดยที่ไม่เข้าใจธรรมะ แสดงว่าเราควรเข้าหาวัดและธรรมะ เมื่อเราพร้อมและมีขั้นตอนในการอบรมขัดเกลาจิตใจแล้วถึงจะเข้าใจธรรมะอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นการเข้าวัดก็ไม่ต่างกับการเข้าห้างหรือเข้าโรงหนัง เข้าวัดไปกราบพระมาแล้วแต่กลับออกมาก็ยังผิดศีลทำตัวไม่ดีอยู่ แล้วมันจะดีได้ยังไง เพราะว่าสุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ตัวเรา

สำหรับบางคนที่ไม่ชอบเข้าวัด เพราะคิดอคติในตัวพระสงฆ์ และพุทธพาณิชย์ต่างๆ ที่เจอภายในวัด ตรงนั้นขอแนะนำว่าคงต้องมาย้อนดูที่ตัวเองก่อน ว่าตัวเองดีแล้วจริงหรือ ถึงไปว่าคนอื่น ผมเคยถามพระอาจารย์ท่านหนึ่งว่าเราคิดแบบนี้เป็นบาปไหม ซึ่งก็ได้คำตอบว่าเป็นบาป เพราะจริงๆ แล้ว แค่เราคิดไม่ดี คิดติเตียน หมู หมา กา ไก่ ก็ถือว่าเป็นจิตอกุศลแล้ว ซึ่งจิตอกุศลไม่พึงมีให้เกิดในจิตของผู้มีธรรมะ ฉะนั้นทุกอย่างก็อยู่ที่ตัวเรา

อย่างเวลาเราเห็นพระสงฆ์ไปเดินพันทิพย์ ทำไมเราต้องรู้สึกไม่ดีด้วย พระท่านอาจจะไปเดินหาซื้อคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เครื่องมืออะไร ที่มาพัฒนาวัด พัฒนาการสอนธรรมะให้เราก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้โลกกว้างใกล้มากขึ้น คนเราสามารถศึกษาธรรมะได้จากในอินเทอร์เน็ตเยอะแยะไป หรือต่อให้พระสงฆ์รูปนั้นทำไม่ดี ทำไมเราต้องไปคิดด้วย ทำไมไม่คิดว่าตัวเราเกิดจิตคิดติเตียน ซึ่งเป็นจิตไม่ดีที่มันเกิดขึ้นกับเรา แล้วเราควรจะดับมันยังไงมากกว่า ซึ่งจะเป็นการพัฒนาให้จิตเราสูงขึ้นด้วย

ไทยพับลิก้า : เป็นคนที่ทำงานเยอะมาก แล้วจัดสรรเวลาในการปฏิบัติธรรมะอย่างไร

จิตมนุษย์เรา สามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน หรือนอน อย่างเวลาเราทำงาน แล้วเกิดอารมณ์โมโห เรารู้ตัว มีสติ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้นเราก็จัดการดับมันลงซะ หรือแม้กระทั่งถ้าอยากฟังเทศน์ ขับรถไปเราก็สามารถเปิดซีดีธรรมะฟังในรถได้ กลับมาบ้านก็ไหว้พระสวดมนต์ ทำสมาธิ นอนสมาธิ ตื่นมาก็นั่งสมาธิก่อนไปทำงาน คือพยายามปฏิบัติให้เยอะที่สุด อย่าอ้างว่าไม่มีเวลา การทำสมาธิสวดมนต์ก็หมือนเป็นการพักผ่อน จิตเราสงบ ร่างกายเราก็ผ่อนคลาย แล้วแต่ใครแยกแยะแบบไหน คือต้องมีสติอยู่กับตัวตลอด ไม่ว่าเราจะทำอะไร จิตอาจจะแวบไปคิดเรื่องอื่นบ้าง ก็ดึงกลับมา อย่างการสวดมนต์ ถ้าไม่มีเวลาก็สวดแบบสั้นได้ แต่เราควรศึกษาคำแปลให้เข้าใจก่อน จะเป็นการเตือนสติและเข้าใจตลอดเวลาที่เรากำลังสวดมนต์ การฝึกปฏิบัติเราควรทำให้คุ้นชิน เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเลย

บางคนเลือกไปฝึกปฏิบัติในวัด ซึ่งวัดเป็นสถานที่เหมือนกับโรงเรียน เราไปเพื่อศึกษาเรียนรู้ แต่การฝึกเราก็ต้องนำกลับมาฝึกที่บ้านให้เป็นประจำ แต่ที่ให้ดีจริงๆ การเริ่มฝึกปฏิบัติควรเริ่มจากพ่อแม่ พ่อแม่ป้อนสิ่งไหนให้ลูกตั้งแต่เล็ก ลูกก็จะรับสิ่งนั้น เพราะสุดท้ายแล้ว เรื่องแบบนี้ต้องเริ่มฝังรากตั้งแต่ยังเล็กให้มั่นคง พ่อแม่นี่แหละสำคัญสุด

สำหรับธรรมะง่ายๆ ที่เราทุกคนสามารถฝึกปฏิบัติได้ คือ เริ่มจากตัวเอง เลิกมองเปรียบเทียบคนอื่น เลิกว่าคนอื่น “มนุษย์เราทุกคนเก่งมาก รู้เรื่องอย่างอื่นหมด เข้าใจทุกอย่างบนโลก แต่ไม่เคยรู้และเข้าใจตัวเองเลย ฉะนั้นควรหันมามองตัวเอง และดูว่าแต่ละวันตัวเองคิดอะไรบ้าง แล้วทำไมเราต้องคิดแบบนั้น ทำยังไงให้ตัวเองไม่ทุกข์และเหนื่อยเกินไป วิเคราะห์ วิจารณ์ตัวเองให้ได้ว่าทำไมเราถึงเป็นแบบนั้น”