ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “เดชา ศิริภัทร” ปราชญ์ชาวนา (3): การเมืองเรื่องข้าวกับผลประโยชน์ทับซ้อน

“เดชา ศิริภัทร” ปราชญ์ชาวนา (3): การเมืองเรื่องข้าวกับผลประโยชน์ทับซ้อน

28 พฤษภาคม 2012


ปัญหาชาวนาไทยที่ถูกล้างสมองจากสื่อโฆษณาของบริษัทขายปุ๋ยขายยาฆ่าแมลง คืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้การทำงานขยายเครือข่ายการทำนาที่ถูกวิธีของ อาจารย์ “เดชา ศิริภัทร” ซึ่งทำมากว่า 20 ปี ไม่สามารถขยายไปในวงกว้างได้ ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพเป็น “รากหญ้า” ที่อ่อนแอมากกว่าจะเป็น “กระดูกสันหลัง” ที่แข็งแรงของชาติ

อย่างไรก็ตาม การสอน การเผยแพร่ความรู้ เพื่อช่วยชาวนาให้มีฐานะดี มีสุขภาพดี และมีความมั่นคงยั่งยืนในอาชีพนี้ ผ่านมูลนิธิข้าวขวัญและโรงเรียนชาวนา แม้จะได้ผลลัพธ์ไม่มาก และเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่การทำงานของ “อาจารย์เดชา” มากกว่านั้น คือ พยายามผลักดันแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาชาวนาอย่างเป็นระบบ ไปสู่การทำงานระดับนโยบายของรัฐบาล ด้วยการทำวิจัย การเสนอออกกฎหมายห้ามโฆษณาปุ๋ย การเสนอให้เก็บภาษีนำเข้าปุ๋ย และการเสนอให้ตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยหวังว่าจะสามารถช่วยชาวนาได้อย่างทั่วถึง และกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

แต่แนวทางดังกล่าว จะดำเนินการได้สำเร็จต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐหรือรัฐบาล เพราะบางเรื่องต้องมีเงินทุนสนับสนุน บางเรื่องต้องผลักดันออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ แต่จากประสบการณ์ของอาจารย์เดชาพบว่า ทุกรัฐบาลไม่จริงจังและไม่จริงใจในการแก้ปัญหาชาวนาอย่างแท้จริง เพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างเช่น การทำ “วิจัย” เปรียบเทียบการทำนาที่ใช้เคมีกับปุ๋ยอินทรีย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวนาเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือเปลี่ยนวิธีคิดของชาวนาที่เสพติดปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง จนได้รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนวิจัย (สกว.) ในปี 2548 แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

นายเดชา ศิรภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ
นายเดชา ศิรภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ

อาจารย์เดชาเล่าว่า วิธีนั้น ถ้าทำได้จะทำให้ชาวนามีกระบวนทัศน์ที่ถูกต้อง ไม่ใช่กระบวนทัศน์ที่ถูกยัดเยียดแบบทุกวันนี้ และทำให้คิดแบบเชื่อมโยง ไม่คิดแยกส่วน นี่คือวิธีคิดที่ดี คือ ต้องคิดให้เป็น แต่วิธีนี้ไม่ง่ายเพราะต้องใช้คน ใช้เงิน และใช้เวลา

โดยกระบวนการทำวิจัยจะนำชาวนามาเข้าโรงเรียน เพื่อมาทดลองปลูกข้าวเปรียบเทียบระหว่างการใช้เคมีกับอินทรีย์ เสร็จแล้วมาดูว่าวิธีไหนดีกว่า การทำแบบนี้ชาวบ้านจะเรียนรู้เองโดยไม่ต้องสอน คือไม่ต้องบอกแต่ให้ทำและเปรียบเทียบกันเอง ด้วยการให้ชาวนาที่เข้าโครงการทำวิจัยเก็บตัวเลข และให้สังเกตอย่างเดียว พอเสร็จแล้วเอามารายงานกัน จากนั้นก็ถกเถียงกันเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

“ทุกอย่างเขาจะเรียนรู้กันเอง เราเพียงแต่จัดโปรแกรมให้เขาทำนั่นทำนี่ ให้เขาเรียนรู้จากที่เรารู้ สุดท้าย พอจบโปรแกรมเขาเปลี่ยนกระบวนทัศน์ได้เลย เพราะรู้จริงว่าแบบไหนไม่ดีจริง แบบไหนไม่ได้ และแบบไหนทำได้ดี เพราะเขาเก็บตัวเลข เปรียบเทียบตัวเลข ทำให้รู้จริง เพียงแต่ต้องมีคนมาทำกระบวนการให้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องใช้คน ใช้เวลา และใช้งบประมาณ แต่รัฐบาลไม่ลงทุน ให้รางวัลแล้วก็ไม่ทำตามหรอก เราพิมพ์เขียวไว้แล้วด้วยซ้ำ ที่ผ่านมาใช้งบของเรา ใช้ทุนของเราเอง”

หลักสูตรการเรียนรู้ดังกล่าวนั้น อาจารย์เดชากล่าวว่า ถ้าทำเป็นโครงการทดลองนำร่องต้องใช้คนประมาณ 200 คน และกว่าจะจบหลักสูตรต้องใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาท แต่เมื่อทำจริงๆ แล้วจะใช้งบประมาณเพียง 2-3 ล้านบาทก็พอ ถ้าทำตามหลักสูตรที่ว่าก็ไม่ต้องคิดหาวิธีใหม่และได้ผลแน่นอน คือสามารถปรับกระบวนทัศน์หรือความคิดของชาวนาได้ ชาวนาจะไม่ถูกล้างสมอง แต่รัฐไม่ยอมลงทุน เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

เพราะฉะนั้น แนวทางการทำวิจัยมีอันเป็นไป ต้องพับแผนเก็บไว้ก่อน อาจารย์เดชากล่าวว่าคงไม่เรียกร้องวิธีนี้แล้ว แต่มีข้อเสนออีกวิธีที่รัฐบาลทำได้แน่ๆ โดยไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเสียเวลาด้วย คือใช้มาตรการแบบ “บุหรี่” คือทำกับบุหรี่อย่างไร ก็ทำเรื่องปุ๋ย เรื่องยาฆ่าแลง ยาฆ่าหญ้าแบบนั้นเลย

ในอดีตมีค่านิยมผิดๆ ว่าสูบบุหรี่แล้วเท่และโก้ ใครไม่สูบบุหรี่จะกลายเป็นแกะดำ ค่านิยมตอนนั้นทำให้ไปที่ไหนก็เจอคนสูบบุหรี่ ที่ไหนก็สูบบุหรี่ได้ แต่พอรัฐบาลประกาศห้ามสูบบุหรี่ ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปครึ่งหนึ่งเลย และเมื่อเก็บภาษีบุหรี่ให้แพงขึ้น และห้ามสูบที่นั่นที่นี่ ยิ่งทำให้สถานการณ์การเลิกสูบบุหรี่ดีขึ้น

“กรณีปุ๋ยเคมี ปุ๋ยยา ก็ควรทำในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่ปล่อยโฆษณาปุ๋ยยายิ่งกว่าที่ไหนในประเทศทั่วโลก มีการส่งเสริมการแข่งขันการขายกันสูงมาก เช่น ถ้าทำยอดขายได้ตามเป้าจะได้ไปเที่ยวเกาหลี จีน ถ้าทำยอดได้ตลอดทั้งปีก็ได้เที่ยวทั้งปี เป็นต้น”

อาจารย์เดชากล่าวว่า แต่เดิมประเทศไทยเคยเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ในอัตราภาษีอย่างน้อย 30% ขึ้นไป แต่ประกาศยกเลิกเก็บภาษีนำเข้า ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ ตั้งแต่ปี 2534 และตอนนี้เรามีการนำเข้าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ประมาณ 90%

นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ที่มา: http://www.npc-se.co.th

ทั้งนี้ ในปี 2534 สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน หรือ “อานันท์ 1” ซึ่งเป็นยุคของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) อาจารย์เดชาตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่รัฐบาลอานันท์ 1 ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เป็นข้อเสนอมาจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในขณะนั้น คือ “นายอาชว์ เตาลานนท์” ซึ่งเป็นคนของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านการเกษตร

“ตอนนั้นเขาเสนอเสนอ 2 อย่าง คือ ยกเลิกภาษีกับเสนอตั้งสภาเกษตรแห่งชาติ แต่เราสู้ได้อย่างหนึ่ง คือ การตั้งสภาเกษตรแห่งชาติแต่ไม่มีเกษตรกรเป็นกรรมการ เขามีตัวแทนบริษัท ตัวแทนข้าราชการ และนักการเมืองมาเป็นกรรมการ แล้วแบ่งประเทศไทยเป็นเขตๆ หรือจัดโซนนิ่ง แล้วให้แต่ละเขตต้องเข้าอยู่ในวงจรของเขา ถ้าเป็นแบบนี้ ตาย เราก็ไม่เอา ชาวบ้านก็ไม่เอาด้วย สู้จนหยุดได้ แต่เรื่องยกเลิกภาษีปุ๋ย ยา ชาวบ้านชอบ คิดว่าดี เพราะคิดว่ามาตรการนี้ออกมาจะทำแล้วปุ๋ย ยา ราคาถูก เราก็เอาไม่อยู่”

อาจารย์เดชากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้ต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาชาวนาถูกล้างสมองมาตลอด โดยพยายามเสนอแนะรัฐบาล 3 เรื่อง คือ 1. เก็บภาษีนำเข้าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าเหมือนเดิม 2. ห้ามโฆษณาขายปุ๋ย ขายยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า และ 3. ตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่มีรูปแบบเหมือนกองทุนของ สสส.

อาจารย์เดชากล่าวว่า ทั้ง 3 เรื่องนี้ทำมาตั้งแต่ปี 2543 หรือสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” เข้ามาครั้งแรก เพราะว่าตอนนั้นพรรคไทยรักไทยกำลังหาเสียงว่าจะช่วยเหลือเกษตรกร เขาก็ส่งนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ มาคุยกับพวกเรา แล้วขอให้ช่วยร่างนโยบายเกษตรให้ด้วย เนื่องจากพรรคไทยรักไทยต้องการนโยบายเกษตรที่แก้ปัญหาได้จริง

“ผมถามว่าเอาจริงเหรอ เขาก็บอกว่าเอาจริง เราก็ร่างให้เลย คุณประพัฒน์ก็ถามว่าใช้ได้จริงเหรอ ก็บอกว่าจริงสิ ไปดูไหมล่ะ ชาวนาที่ทำแล้วได้ผล เขาก็เอาและไปดูที่อีสาน ก็เห็นดีจริง คุณประพัฒน์ก็เอา พอประชุมพรรคไทยรักไทยที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขาเชิญผมขึ้นเวทีให้พูดเรื่องนโยบายเกษตร พอพูดเสร็จเขาชวนเข้าพรรคเลย แต่ปฏิเสธไป เพราะจะเสียจุดยืน”

อาจารย์เดชาเล่าต่อว่า เมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล คุณประพัฒน์ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ เขาก็เห็นด้วยกับข้อเสนอขอเรา คือห้ามโฆษณา เก็บภาษีนำเข้า และตั้งกองทุนแบบเดียวกับ สสส. โดยคุณประพัฒน์ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อร่างนโยบายและพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เราก็เป็นกรรมการด้วย เมื่อร่างรายละเอียดต่างๆ เสร็จแล้ว ก็เรียกทำประชาพิจารณ์ และเพื่อไม่ให้เสียเวลาจึงไม่เรียกประชาชนมา แต่เรียกข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ มาทำ โดยให้เถียงกันเต็มที่ สุดท้ายก็ผ่านประชาพิจารณ์

“จากนั้นคุณประพัฒน์จะต้องเอาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่จะเข้าอยู่แล้ว ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ โดยคุณประพัฒน์ถูกโยกไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากร และเปลี่ยนเป็นคุณเนวิน (นายเนวิน ชิดชอบ) เข้ามาแทน เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่เราเสนอ ทำให้เรื่องที่เราเสนอถูกทิ้งไป”

ต่อมาสมัยรัฐบาล “พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์” ในยุคของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มาจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (นายธีระ สูตะบุตร) อาจารย์เดชาเล่าว่า “ผมก็เสนอแบบเดียวกันที่ทำในรัฐบาลก่อน คุณธีระก็เห็นด้วย และตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้โดยรัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และผมเป็นรองประธาน และให้ทำประชาพิจารณ์ก่อนนำเสนอ ครม. แต่ระหว่างทำประชาพิจารณ์มีคนของบริษัทที่เสียผลประโยชน์พาคนมาเดินขบวนหน้าห้องประชุมเพื่อคัดค้านแนวทางที่เราทำ”

อย่างไรก็ตาม การทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี พร้อมจะนำร่างนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสนอเข้า ครม. แต่ก่อนจะเสนอเข้า ครม. มีกำหนดขั้นตอนว่าต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาชุดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานก่อน เพื่อสรุปว่าการทำประชาพิจารณ์ผ่านมีรายละเอียดอะไรบ้าง เพื่อมอบหมายให้ประธานคณะกรรมการฯ นำเข้า ครม.

“แต่ปรากฏว่า ประธานฯ มาถึงก็พูดก่อนเลยว่า เสียใจด้วยนะ ที่เราทำมาตั้งหลายเดือนต้องยกเลิกแล้วล่ะ เพราะประชาพิจารณ์ที่เราทำมามีข้อเสนอบางข้อขัดกับนโยบายรัฐบาล คือรัฐบาลชั่วคราวจะไม่ตั้งกองทุน ซึ่งข้อเสนอของเรามีตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ด้วย จึงขัดนโยบายรัฐบาล เพราะฉะนั้นเสนอเข้า ครม. ไม่ได้ แต่ทางเราก็บอกว่าทำแบบนี้ได้อย่างไร ทำไมไม่บอกมาก่อนว่าห้ามตั้งกองทุน ถ้าบอกก่อนก็คงไม่ใส่เรื่องตั้งกองทุนเข้ามาด้วย มาหักหลังได้อย่างไร”

อาจารย์เดชาตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วตัดเรื่องกองทุนออกไปให้เหลือเฉพาะส่วนห้ามโฆษณาและเก็บภาษีก็เดินหน้าต่อได้ เพราะผ่านประชาพิจารณ์แล้ว แต่เมื่อมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องนี้จึงถูกสกัดไม่ได้นำเข้า ครม.

ต่อมา พอเป็นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจารย์เดชาก็เสนอไปใหม่ ก็มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายห้ามโฆษณาปุ๋ย เก็บภาษีปุ๋ยนำเข้า และตั้งกองทุนเกษตรอินทรีย์ โดยมีเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เป็นประธาน และอาจารย์เดชาเป็นกรรมการอีกครั้ง

อาจารย์เดชากล่าวว่า เรื่องห้ามโฆษณาปุ๋ย เก็บภาษีนำเข้า และตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ร่างกฎหมายให้ตายก็ไม่เสร็จสักที จนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไปแล้วก็ไม่เสร็จ เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” คณะกรรมการฯ ชุดนี้ก็ยังอยู่ แต่ไม่มีประชุมอีกเลย

“ปัจจุบันไม่มีประชุมเลย เขาก็จะเลี่ยงไปว่าชาวนาจน ก็เลยเอานโยบายจำนำให้ ใช้เงินเป็นแสนล้านช่วยอะไรไม่ได้หรอก ถ้าช่วยได้ก็ช่วยได้ไปนานแล้ว ถามว่าจำนำเป็นครั้งที่เท่าไรของประเทศไทย โรงสีที่ผมอยู่นี่จำนำจนเบื่อ ตอนนี้ก็จำนำอยู่ โรงสีชอบ เพราะจำนำก็ได้ค่าฝากและสีข้าว จะสีขายกี่รอบก็ได้ ได้เงินมากินสบายแล้ว รัฐจะเอาเมื่อไรก็ไปซื้อข้าวแย่ๆ มาขายคืน ดีไม่ดีไม่มีข้าวเลย เงินจะไปรั่วอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ชาวนาได้เงินไม่กี่บาท”

อาจารย์เดชายังเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการเมืองเพิ่มเติมอีกว่า “ครั้งหนึ่งตอนนั้นปี 2539 คุณบรรหาร (นายบรรหาร ศิลปอาชา) เล่นการเมืองเป็นครั้งแรก ได้ขอให้พี่ชายผมวางแผนให้ เพราะพี่ชายผมเป็นนักการเมืองท้องถิ่น คุณบรรหารต้องการได้คะแนนที่ 1 ของประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนสุพรรณมีไม่ถึงล้านคน น้อยกว่าคนอีสาน และคนสุพรรณไม่ค่อยลงคะแนนไม่เหมือนคนอีสาน แต่สุดท้ายคุณบรรหารชนะเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นที่ 1 ของประเทศไทย และได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ”

นายบรรหาร ศิลปอาชา
นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่มา: http://thailandtopleaders.com

อาจารย์เล่าต่อว่า “สาเหตุที่พี่ชายไปช่วยการเลือกตั้งเพราะคุณบรรหารบอกว่าจะช่วยชาวนา ดังนั้น เมื่อคุณบรรหารได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ทางพี่ชายก็เสนอวิธีจะช่วยชาวนา ซึ่งในตอนนั้นปุ๋ยมีราคาแพง เพราะปี 2519 ยังไม่ลดภาษีนำเข้า จึงเสนอว่าให้รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ ไปต่อรองให้บริษัทปุ๋ยลดราคาปุ๋ย และคิดกำไรแต่พอสมควร จะได้ทำให้ชาวนารู้ต้นทุน แต่บริษัทปุ๋ยฮั้วกันไม่ยอมลดราคา”

จากนั้นพี่ชายก็เสนอใหม่ว่า ขอให้ช่วยชาวนาแบบตรงๆ ก็คือ เลือกเฉพาะกลุ่มชาวนา หากเป็นรายเดียวไม่เอา แล้วให้ชาวนาแต่ละกลุ่มเสนอมาว่า ฤดูกาลนี้จะใช้ปุ๋ยเท่าไร ปุ๋ยชนิดอะไร แล้วให้รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ สั่งซื้อปุ๋ยเข้ามาตามอัตรานั้น แล้วคิดราคาทุน คือลงทุนเท่าไรก็ขายให้ชาวนาในราคาทุน รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินเลย เพราะเมื่อรัฐบาลสั่งซื้อปุ๋ยมาราคาทุนก็ขายให้ชาวนาราคาทุน วิธีการนี้รับรองชาวนาจะได้ปุ๋ยราคาถูกและคุณภาพดี

“คุณบรรหารชอบใจแนวทางที่พี่ชายเสนอ เพราะจะได้เสียงจากชาวนา โดยรัฐบาลไม่ต้องลงทุนสักบาท ก็อนุมัติ ทางพี่ชายก็ส่งข้อมูลความต้องการใช้ปุ๋ยของกลุ่มชาวนาแถวบ้านไปด้วย แต่รอแล้วรออีกก็ไม่เห็นปุ๋ยมาส่งสักที จนถึงเวลาจะใช้ปุ๋ยแล้วก็ยังไม่มา ไปสอบถามก็บอกว่ารอไปก่อนกำลังจะมาแล้ว แต่เราเป็นพ่อค้าก็รู้ว่าช้าแบบนี้ไม่ธรรมดา จึงไปสืบทางลับ ปรากฏว่ามีการซื้อปุ๋ยมาแล้ว และขายเอาเงินเข้ากระเป๋าเรียบร้อยแล้ว ชาวนาไม่ได้ประโยชน์อะไร ทำให้พี่ชายถอนตัวไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอีก”

อาจารย์เดชาสรุปสั้นๆ จากประสบการณ์ทำงานกับนักการเมืองว่า นักการเมือง “คบไม่ได้” และตั้งข้อสังเกตว่า ทุกรัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะมีตัวแทนของบริษัทเอกชนที่มีเอี่ยวเรื่องนี้เข้าไปแทรกซึมนั่งอยู่ในทุกรัฐบาล