ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โรงงานผลิตยางสังเคราะห์ BST ที่มาบตาพุดระเบิด แต่มีสารพิษอะไรบ้างยังไม่ชัดเจน

โรงงานผลิตยางสังเคราะห์ BST ที่มาบตาพุดระเบิด แต่มีสารพิษอะไรบ้างยังไม่ชัดเจน

5 พฤษภาคม 2012


ที่มาภาพ: http://www.rawangpai.com
ที่มาภาพ: http://www.rawangpai.com

ข่าวแจกจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ

มูลนิธิบูรณะนิเวศได้รายงานข่าวกรณีเหตุโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ ของบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ระเบิดที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเวลา 15.30 น. และควบคุมเพลิงได้ประมาณเวลา 18.00 น. ล่าสุด (เวลา 23.00 น.) มีผู้บาดเจ็บ 95 ราย มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และมีคำสั่งอพยพ 18 ชุมชนโดยรอบและทิศใต้ลมของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ทั้งนี้ในช่วงเวลา 18.30 น. แม้ผู้ว่าราชการจะประกาศควบคุมเพลิงได้แล้ว และประกาศให้รอบนิคมเป็นเขตภัยพิบัติ แต่ยังไม่มีการให้ข้อมูลแก่สาธารณะอย่างชัดเจนว่าสารพิษที่รั่วไหลและฟุ้งกระจายไปกับกลุ่มควันในการระเบิดครั้งนี้เป็นสารอะไรบ้าง เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า ทั้งภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยังบกพร่องในการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเรื่องสารพิษจากโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีการผลิตและการใช้หรือปลดปล่อยสารพิษจำนวนมาก เช่น ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ตลอดเวลาและโดยง่าย เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเหตุโรงงานระเบิดครั้งนี้ได้

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสารพิษซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและอันตรายระยะยาว ที่อาจมีการใช้หรือเกิดในกระบวนการผลิตของโรงงานบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ที่มาบตาพุด เช่น BTEX (Benzene เบนซีน, Toluene โทลูอีน, ethylbenzene เอธิลเบนซีน, Xylene ไซลีน), Hexane เฮกเซน รวมถึงอาจมีการใช้ 1,2-Dichloroethane และ 1,3-Butadiene ซึ่งเป็นสารที่อันตรายทั้งเฉียบพลันและระยะยาวในกระบวนการผลิตด้วย ส่วนการเผาไหม้ของยางรถยนตร์สามารถทำให้เกิด PAHs (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ซึ่งสารในกลุ่มนี้หลายตัวจัดเป็นสารก่อมะเร็งด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างข้อมูลเกี่ยวกับอันตราย ความเป็นพิษ และความปลอดภัย ของสารเคมีที่กล่าวถึง Benzene (ดูเพิ่มเติม) 1,2 Dichloroethane (ดูเพิ่มเติม) 1,3-Butadiene(ดูเพิ่มเติม) Toluene (ดูเพิ่มเติม)และ(ดูที่นี่) Hexane
(ดูเพิ่มเติม) และXylene (ดูเพิ่มเติม)

อ่านวิเคราะห์กรณีระเบิด และเพลิงไหม้โรงงาน BST นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดย ผศ.กิติกร จามรดุสิต ดูที่นี่

ทั้งนี้บริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ หรือ Bangkok Synthetics Co., Ltd. (http://www.bst.co.th/) ผลิต Mix C4 รายแรกของไทยและส่งออกรายใหญ่ที่สุดใจภูมิภาค และโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ S-SBR (Solution Polymerization Styrene-Butadiene Rubber) แห่งแรกในประเทศไทย และร่วมทุนกับ JSR ของญี่ปุ่น (ทำสัญญาเมื่อ มีนาคม 2554) และอยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโรงงานผลิต NB Latex ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตถุงมือทางการแพทย์ (ดูเพิ่มเติม)

ทะเบียนโรงงาน น.42 (1)-15/2537-ญนพ. ระบุว่าผลิต Mixed C4 (MTBE,BUTANE-1,BUTADIEN) เป็นโรงงานประเภท 4201 (การทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี) ซึ่งไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าโรงที่ผลิตยางรถยนตร์และ Latex สังเคราะห์ จดทะเบียนเดียวกันหรือจดทะเบียนแยก

ล่าสุด ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้สัมภาษณ์สดรายการข่าว 3 มิติว่า ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจวัดสารพิษแล้ว ไม่มีมลพิษจากสารพิษ ที่เราเป็นห่วงคือสารระเหยง่ายประเภท VOC ซึ่งจากการตรวจวัดไม่เกินค่ามาตรฐาน อาจจะได้กลิ่นบ้างหากอากาศแพร่กระจายไป ให้ชุมชนระมัดระวัง ถ้าได้กลิ่นแรงต้องใช้ผ้าชุบน้ำหรือผ้ากันจมูก หรือถ้ากลิ่นเข้าไปในบ้านก็ใช้พัดลมไล่ให้ฟุ้งกระจาย สำหรับสารพิษที่เกิดขึ้นอยู่ในอากาศไม่นาน ทั้งนี้ช่วงที่เกิดระเบิดโชคดีที่่ฝนตก ขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษได้ติดตามเรื่องนี้ต่อเนื่อง อาทิ น้ำที่ดับเพลิงจะต้องจัดการอย่างถูกต้อง เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนชาวบ้านที่อพยพได้กลับมาเกือบหมดแล้ว