ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเทศเอเชียแห่ปรับค่าแรง ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มกำลังซื้อ หรือเสริมฐานการเมือง?

ประเทศเอเชียแห่ปรับค่าแรง ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มกำลังซื้อ หรือเสริมฐานการเมือง?

3 พฤษภาคม 2012


ฤดูเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้าทำให้นายกรัฐมนตีนาจิบ ราซัก ของมาเลเซียต้องเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นการใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อดึงคะแนนเสียงจากชาวมาเลเซียให้มาสนับสนุนเขาและพรรคให้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

“มาเลเซีย” กลายเป็นประเทศล่าสุดในเอเชียที่มีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำสำหรับภาคเอกชน โดยในกรณีนี้ถือเป็นการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำครั้งแรกของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 900 ริงกิต หรือประมาณ 9,166 บาทต่อเดือน สำหรับแรงงานในเขตคาบสมุทรมาเลเซีย ขณะที่แรงงานในพื้นที่อื่นๆ ของมาเลเซีย จะได้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 800 ริงกิตต่อเดือน หรือประมาณ 8,148 บาท ซึ่งนโยบายนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป และคาดว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อคนงานรายได้น้อยจำนวนกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำของมาเลเซียนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนเศรษฐกิจระยะยาวของรัฐบาล ที่จะผลักดันให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศรายได้สูง ทั้งนี้ นับตั้งแต่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว รายได้ต่อหัวของประชากรมาเลเซียเพิ่มจาก 6,700 เป็น 9,700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนบาท และมาเลเซียหวังว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ต่อหัวที่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ภายในปี 2563

ที่ผ่านมา ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตั้งแต่เมืองไทยเรื่อยไปจนถึงไต้หวัน ต่างได้ปรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในภาวะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

สำหรับ “เมืองไทย” นั้น รัฐบาลได้ประกาศปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนในอีก 70 จังหวัดที่เหลือ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเป็นการปรับขึ้นค่าแรงประมาณ 40% ทั่วประเทศ และความเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็เป็นไปตามนโยบายที่พรรครัฐบาลหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ในเดือนพฤษภาคมนี้ “เวียดนาม” ได้ปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับข้าราชการอีกประมาณ 27% เป็น 1.05 ล้านดอง หรือประมาณ 1,554 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ รัฐบาลก็ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดถึง 69% สำหรับภาคเอกชนตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยแรงงานในเขตฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ได้รับค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดคือ 2 ล้านดอง หรือประมาณ 2,962 บาท ส่วนแรงงานในเขต 2 เช่น เขตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ในเมืองบินห์เดือง (Binh Duong) ดงไน่ (Dong Nai) และบ่าเหรียะ หวงต่าว (Ba Ria-Vung Tau) ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 1.78 ล้านดอง หรือประมาณ 2,636 บาทต่อเดือน ส่วนแรงงานในเขต 3 ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 1.55 ล้านดอง หรือราว 2,295 บาทต่อเดือน และแรงงานในเขต 4 มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 1.4 ล้านดอง หรือประมาณ 2,073 บาทต่อเดือน

ด้าน “ไต้หวัน” ก็ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไป 5% เป็น 18,780 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 19,835 บาทต่อเดือน ซึ่งช่วยให้ประธานาธิบดีคนปัจจุบันสามารถครองตำแหน่งได้เป็นสมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

วอลล์สตรีต เจอร์นัล วิเคราะห์ว่า ในบางกรณี รัฐบาลของประเทศเอเชียจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรง เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายในสังคมและการลุกฮือขึ้นมาประท้วงของประชาชนที่ทำให้ผู้นำของประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศต้องหลุดจากอำนาจมาแล้ว นอกจากนี้ก็ยังหวังว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ทดแทนแรงซื้อจากประเทศตะวันตกที่เศรษฐกิจกำลังซบเซา และบ้างก็กำลังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงการปรับขึ้นค่าแรงแล้ว ประเทศที่ดำเนินนโยบายนี้แล้วส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดโลกมากที่สุดคงจะเป็น “จีน” ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก นิตยสาร ดิอีโคโนมิสต์ ระบุว่า ปัจจุบัน การผลิตในจีนคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของการผลิตทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาจีนได้อาศัยจุดเด่น ได้แก่ แรงงานจำนวนมาก และค่าแรงถูก เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติทั่วโลกหันมาใช้จีนเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดทั่วโลก แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า ยุคค่าแรงถูกของจีนได้มาถึงบทอวสานแล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา นายเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนได้ออกมาย้ำหลายครั้งว่า จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก และหันมาผลักดันให้การผลิตของจีนอยู่ในห่วงโซ่การผลิตโลกในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า จะต้องผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และแน่นอนว่า ค่าแรงของจีนก็ต้องปรับขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ “การปรับขึ้นค่าแรง” เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเท่าเทียมในสังคม และแผนเศรษฐกิจระยะ 5 ปีของจีนก็ได้ตั้งเป้าว่า จะต้องปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราเฉลี่ย 15% ต่อปี ขณะที่สื่อของทางการจีนรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา มณฑล เขตปกครองตนเอง และเทศบาลจำนวน 21 แห่งในจีนได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนเกือบ 22%

สำนักข่าวซินหัวระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 8.6% เป็น 1,260 หยวน หรือประมาณ 6,185 บาทต่อเดือน และในเดือนกุมภาพันธ์ เมืองเสิ่นเจิ้นก็ได้ปรับขึ้นค่าแรงภาคบังคับเกือบ 14% เป็น 1,500 หยวนต่อเดือน หรือประมาณ 7,300 บาทต่อเดือน และเมืองเทียนจิน (Tianjin) ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเกือบ 13% เป็น 1,310 หยวนต่อเดือน หรือประมาณ 6,420 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา

แนวโน้มค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในจีนทำให้บริษัทต่างชาติจำนวนหนึ่งกำลังพิจารณาย้ายการผลิตบางส่วนออกจากจีน แต่บางส่วนก็ยังเดินหน้าธุรกิจในจีนต่อไป เพราะยังมองว่าจีนมีแรงงานฝีมือจำนวนมาก และเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ อ้างผลสำรวจของหอการค้าสหรัฐในเซี่ยงไฮ้เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าสมาชิกประมาณ 91% มองว่า ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดสำหรับการทำธุรกิจในจีน แซงหน้าปัจจัยเรื่องคอร์รัปชั่นและการละเมิดลิขสิทธิ์

“โรแลนด์ เบอร์เกอร์” ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ระบุว่า ในช่วงปี 2545-2552 ต้นทุนค่าจ้างรวมทั้งสวัสดิการสำหรับแรงงานระดับล่างในมณฑลกวางตุ้งเพิ่มขึ้น 12% ต่อปีหากเทียบเป็นดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในนครเซี่ยงไฮ้ ต้นทุนส่วนนี้เพิ่มขึ้น 14% ต่อปี ขณะที่ต้นทุนค่าจ้างในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเพียง 8% ต่อปี

ขณะที่ตัวแทนของหอการค้าสหภาพยุโรปในจีนประเมินว่า ต้นทุนสำหรับบริษัทผู้ผลิตในจีนจะพุ่งขึ้น 2 เท่าตัว หรืออาจมากถึง 3 เท่าภายในปี 2563 และบริษัทที่ปรึกษา “อลิกซ์พาร์ทเนอร์ส” มองว่า หากค่าเงินหยวนและต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี และค่าจ้างปรับขึ้นปีละ 30% ก็เชื่อว่าภายในปี 2558 การผลิตสินค้าในอเมริกาเหนือจะมีต้นทุนถูกกว่าผลิตในจีนและส่งไปขายในอเมริกาเหนือ

ส่วน “อินโดนีเซีย” ที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งหนึ่งของอาเซียน เว็บไซต์จาการ์ต้า โกลบ ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แรงงานในบางพื้นที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% ขณะที่กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการย้ายถิ่นฐานของอินโดนีเซียให้ข้อมูลว่า ในปีนี้ค่าแรงขั้นต่ำระดับจังหวัดทั่วอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.27% ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ย 8.69% ในปีที่ผ่านมา และบอกว่า การปรับขึ้นค่าจ้างปีนี้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยรัฐบาลท้องถิ่นบางแห่ง เช่น เมืองซิคารัง (Cikarang) ในจังหวัดชวาตะวันตก ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานจาก 1.29 ล้านรูเปียห์ เป็น 1.49 ล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 4,990 บาทต่อเดือน (ดูข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำในอินโดนีเซียเพิ่มเติมได้ที่)

แน่นอนว่า กระแสการขึ้นค่าแรงในประเทศต่างๆ ย่อมได้รับทั้งเสียงสนับสนุนและกระแสต่อต้าน และประเด็นที่ว่า “เพิ่มค่าแรง เพิ่มกำลังซื้อ?” ก็ยังเป็นคำถามที่หลายคนยังไม่มั่นใจในคำตอบ

สำหรับเรื่องนี้ วอลล์สตรีทเจอร์นัล อ้างความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในบางประเทศ เช่น ไทย จะทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งกลับไปสู่จุดที่พวกเขาเคยอยู่เมื่อทศวรรษก่อน เมื่อมีปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน นักธุรกิจชั้นนำบางคนของมาเลเซียบอกว่า พวกเขายอมรับการขึ้นค่าแรงได้ แต่ไม่ใช่มากถึงระดับที่รัฐบาลต้องการ โดย “ไมเคิล กัง” รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กของมาเลเซีย บอกว่า หากต้องการให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศรายได้สูง ก็จำเป็นต้องมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ไม่ควรจะปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดจากอัตราปัจจุบัน 500-600 ริงกิตต่อเดือน ที่ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากจ่ายลูกจ้างอยู่ตอนนี้ ขณะที่สมาพันธ์นายจ้างมาเลเซียบอกว่า ในที่สุดแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงอาจทำให้บริษัทต้องปลดพนักงาน หรืออาจเป็นแรงกดดันให้บริษัทต้องปิดกิจการ หรือหันไปหาแรงงงานราคาถูกที่อื่น หากไม่สามารถรับมือกับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้

สำหรับในฝั่งของอินโดนีเซียนั้น “จอห์น เรียดี้” อาจารย์จากโรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยเพลิตา ฮาราปัน แสดงความคิดเห็นผ่านบทความในจาการ์ต้า โพสต์ว่า การขึ้นค่าแรงไม่ใช่เรื่องผิด หากผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่หากค่าแรงเพิ่ม แต่ผลิตภาพไม่เพิ่มตามไปด้วย ก็จะนำไปสู่การว่างงานเพิ่มในระยะยาว

ที่มา: รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์รอยเตอร์, วอลล์สตรีต เจอร์นัล, จาการ์ต้า โกลบ,จาการ์ต้า โพสต์, บีบีซี, ดิ อีโคโนมิสต์, สำนักข่าวซินหัว,หอการค้าสหรัฐในเวียดนาม

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับค่าแรงในประเทศต่างๆ ในเอเชีย

จีน

-ในปี 2554 มณฑล เขตปกครองตนเอง และเทศบาลจำนวน 21 แห่ง ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนเกือบ 22%

-ตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 กรุงปักกิ่งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 8.6% เมืองเสิ่นเจิ้นปรับขึ้นค่าแรงภาคบังคับเกือบ 14% และเมืองเทียนจินขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเกือบ 13%

เมียนมาร์

-กฎหมายใหม่เปิดโอกาสให้ลูกจ้างรวมกลุ่มเป็นสหภาพ และสามารถนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มได้

-รัฐบาลเมียนมาร์ประกาศปรับขึ้นสวัสดิการค่าครองชีพของข้าราชการและทหารเป็น 30,000 จ๊าต หรือประมาณ 38 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (1,123 บาท) และปรับขึ้นค่าจ้างรายวันสำหรับลูกจ้างของรัฐที่ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันจาก 1,100 จ๊าต เป็น 2,100 จ๊าต หรือประมาณ 79 บาท โดยมีผลตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้

-เมียนมาร์ปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 1,500 บาท เป็น 3,000 บาทต่อเดือน มีผลตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้

เวียดนาม

-ทางการเวียดนามอนุมัติปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับข้าราชการ พนักงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ อีก 26.5% เป็น 1.05 ล้านด่อง หรือประมาณ 1,567 บาทต่อเดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมปีนี้

-ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับภาคเอกชนสูงสุดถึง 69% มีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554

กัมพูชา

-แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอเรียกร้องขอค่าแรงเพิ่ม

-ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทออยู่ที่ 61 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แต่หากรวมค่าสวัสดิการ ลูกจ้างจะมีรายได้มากกว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

-Asia Floor Wage Alliance กลุ่มสหภาพที่เรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรมระบุว่า รายได้ที่เหมาะสมสำหรับแรงงานภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอกัมพูชาอยู่ที่ 281 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือมากกว่ารายได้ปัจจุบันประมาณ 4 เท่า

อินโดนีเซีย

-แรงงานในบางพื้นที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

-ค่าแรงขั้นต่ำระดับจังหวัดทั่วอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.27% ในปีนี้

ฟิลิปปินส์

-ในวันแรงงานปี 2555 ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คัดค้านแผนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศอีก 125 เปโซฟิลิปปินส์ แต่ให้สัญญาว่าจะจัดสรรงบประมาณ 11,200 ล้านเปโซ เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษา และงบประมาณอีก 1,100 ล้านเปโซ เพื่อพัฒนาทักษะของข้าราชการและพนักงานของรัฐ

-ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำของฟิลิปปินส์ที่ระดับ 9-10 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันในกัมพูชา หรือค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 2.4-3.21 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันในเวียดนาม และค่าแรงขั้นต่ำของอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ที่ 3.05-5.27 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

ที่มา : รวบรวมจาก เว็บไซต์รอยเตอร์, วอลล์สตรีต เจอร์นัล, จาการ์ต้าโกลบ,จาการ์ต้าโพสต์, บีบีซี, ดิอีโคโนมิสต์, สำนักข่าวซินหัว, หอการค้าสหรัฐในเวียดนาม, www.inquirer.net