ThaiPublica > เกาะกระแส > 8 ปีความขัดแย้ง กระบวนการสันติธานี วิถีวัฒนธรรมสู่ทางออกชายแดนใต้ ต้องรื้อโครงสร้าง “เสื้อตัวเดียวแต่ใส่กันทั้งประเทศ”

8 ปีความขัดแย้ง กระบวนการสันติธานี วิถีวัฒนธรรมสู่ทางออกชายแดนใต้ ต้องรื้อโครงสร้าง “เสื้อตัวเดียวแต่ใส่กันทั้งประเทศ”

16 พฤษภาคม 2012


เสวนา "สันติธานี : วิถีวัฒนธรรมสู่ทางออกชายแดนใต้"
เสวนา "สันติธานี : วิถีวัฒนธรรมสู่ทางออกชายแดนใต้"

เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว สำหรับความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง เพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีโดยการทำความเข้าใจกับวิถี-วัฒนธรรม สันติวิธีและธรรมภิบาล สถาบันพระปกเกล้าจึงจัดสัมมนา “สันติธานี: วิถีวัฒนธรรมสู่ทางออกชายแดนใต้?” เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

จากมุมมองของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” (4ส) รุ่นที่ 2 ทั้ง 6 คน ผลัดกันถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมา และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาในชายแดนใต้

เริ่มต้นจากวีดีทัศน์ที่สะท้อนให้เห็นว่า จากความสงบสุขที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ร่วมกันด้วยความสัมพันธ์อันดีมาอย่างช้านาน สู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ดังเช่นเหตุการณ์ที่ตากใบ กรือเซะ นั่นเพราะรูปแบบการเมืองการปกครองจากส่วนกลางที่แผ่ขยายลงมาอย่างรวดเร็ว และไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ จากความไม่เข้าใจกันจึงนำมาสู่ความขัดแย้งที่ยาวนานเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตเขต 15 กระทรวงสาธารณสุข ได้เล่าถึงประวัติครอบครัวตนเองที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่า คุณปู่ของเธอนามว่า หะยีสุหลง ซึ่งไปเรียนด้านศาสนาที่เมกกะตั้งแต่อายุ 2 ปี ได้เดินทางกลับมาอยู่ปัตตานีกับย่าของเธอ และตั้งโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นเป็นแห่งแรกของจังหวัด กว่า 20 ปีที่สอนนั้น ได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้านมากมาย จนกระทั่งเป็นที่เพ่งเล็งของรัฐบาล และถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน ในข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาลในปี พ.ศ. 2490 เนื่องจากได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล 7 ข้อ ในการบริหารดูแลพื้นที่ของตนเองภายใต้กฎหมายของราชอาณาจักรไทย และพ้นโทษก่อนครบกำหนดประมาณ 2 เดือนกว่าในปีพ.ศ.2495 ต่อมาอีก 2 ปีให้หลัง หะยีสุหลงได้ถูกรัฐบาลเรียกตัวไปสอบสวน พร้อมกับลูกชายคนโตที่ไปเป็นล่ามให้ หลังจากนั้นก็หายตัวไป และถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน

จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 64 ปีแล้วที่พวกเขาเรียกร้องตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตัวเองมีส่วนร่วมในการปกครองดูแลประชากรในพื้นที่ และรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตนเอง ไม่ใช่เพื่อแบ่งแยกดินแดน

“แม้ว่าประเทศไทยจะบอกว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่วิธีการแก้ไขและจัดการปัญหาก็ยังคงเป็นแบบเดิมๆ ดังนั้นจึงคิดว่าสันติธานีน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าว”

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ อดีตนายกเทศมนตรีนครยะลา ได้ให้ข้อมูลจากมุมมองของชาวไทยพุทธที่อาศัยอยู่ท่ากลางชาวมุสลิมว่า ชุมชนที่เขาอยู่ที่ยะลานั้น กว่า 90% เป็นชาวมุสลิม ในยามทุกข์ สุข เจ็บป่วย เขาและเพื่อนบ้านก็ไม่เคยทิ้งกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันท์ครอบครัวมาโดยตลอด แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 4 มกราคม 2547 ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้สูญเสียชีวิตไปมากมายไม่เว้นแม้แต่เด็ก ผู้หญิง ดาโต๊ะ (ครูสอนศาสนาอิสลาม) ถูกกระทำอย่างทารุณ พระสงฆ์ถูกฆ่า ฯลฯ

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

ในตอนนั้น คนในพื้นที่คิดไว้ว่าเหตุการณ์นี้จะจบลงภายใน 2-3 เดือน แต่นี้ผ่านมา 8 ปีแล้ว ทุกอย่างก็ยังไม่คลี่คลาย ความสูญเสียทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องจดจำได้ แต่เราก็ยังคงคิดถึงความสัมพันธ์อันดีดั้งเดิมเสมอ และเชื่อมั่นว่า “สันติธานี” จะทำได้สำเร็จ

ในขณะที่นายสมปอง อินทร์ทอง รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวว่า ความรุนแรงในชายแดนใต้ยังคงอยู่ แม้ว่ารัฐบาลและหลายหน่วยงานจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ดังนั้นนักศึกษา “4 ส” จึงต้องลงหาข้อมูลในพื้นที่ พูดคุยกับคนในชุมชน รวมถึงเปิดเวทีพูดคุยกันถึงปัญหาและความต้องการของชุมชนทุกเพศทุกวัย สามารถสรุปได้ว่า

“สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือ การใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ซึ่งเป็นอัตลักษณ์หรือรากเหง้าของเขา ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน”

ดังนั้น เขาจึงต้องการได้รับการดูแลจากรัฐในแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่เขาพึงมี เช่น การบริการที่จะได้รับจากโรงพยาบาล โรงเรียนและโรงพัก ที่เท่าเทียมกัน และจากการสำรวจพบว่า คนในพื้นที่ยินดีที่จะให้เรานำหลักดังกล่าวเข้าไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ของเขา จึงคิดว่า “สันติธานี” จะช่วยลดความรุนแรงได้

นายสมปอง อินทร์ทอง
นายสมปอง อินทร์ทอง

ทั้งนี้ ข้อเสนอของสันติธานีมีเรื่องหลักๆ อยู่ 4 เรื่องด้วยกันคือ

“โรงพยาบาลสร้างสุข” โดย พญ.เพชรดาวอธิบายว่า โรงพยาบาลในพื้นที่ชายใต้ยังมีปัญหาเรื่องการบริการอยู่ และเพื่อให้โรงพยาบาลมีการบริการที่ชาวมุสลิมสามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่เกิดจนตาย ควรมีสิ่งต่อไปนี้

อย่างแรกเลยคือ ป้ายต่างๆ ในโรงพยาบาลต้องมีภาษามลายูหรือยาวีควบคู่กับภาษาไทย เพราะเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่และคนที่ไม่รู้ภาษาไทยใช้สื่อสาร เพื่อให้ ชาวมุสลิมมีความสะดวกมากขึ้นในการรับบริการ เช่นเดียวกับบุคลากรในโรงพยาบาลควรจะพูดภาษาดังกล่าวได้ด้วย หรือมีล่ามที่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขช่วยแปลการสื่อสารด้วย

สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ต้องการแพทย์หญิงมาดูแลรักษามากกว่าผู้ชาย เพราะมีความสบายใจในการพูดคุยถึงอาการต่างๆ มากกว่า ยามเจ็บป่วยต้องนอนที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลควรจัดเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับศาสนา เช่น จัดเตียงนอนให้หันไปทางทิศสำหรับการละหมาด หากเป็นเดือนรอมฎอน ก็ควรมีน้ำและอินทผลัมให้ผู้ป่วยมุสลิมด้วย และมีโรงครัวทำอาหารฮาลาลแยกออกมาเฉพาะ และเมื่อชาวมุสลิมตาย บุคลากรในโรงพยาบาลควรเข้าใจศาสนาอิสลามว่า ต้องจัดการศพให้รวดเร็วและปฏิบัติเสมือนกับยังมีชีวิตอยู่ ที่สำคัญคือ การได้ฟังคัมภีร์อัลกุรอ่านก่อนตาย

ทั้งหมดนี้คือการจัดการบริการด้านสาธารณสุขที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตอย่างที่ชาวมุสลิมต้องการ

นายไพศาล อาแซ
นายไพศาล อาแซ

ต่อมา “การศึกษา” อาจารย์ไพศาล อาแซ ผู้อำนวยการโรงเรียนดาราวิทย์ (โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) กล่าวว่า การศึกษาที่ชาวมุสลิมต้องการไม่ใช่ความเป็นเลิศด้านวิชาการ แต่คือการศึกษาที่รักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย ที่คือสาเหตุหลักที่ชาวมุสลิมไม่อยากให้บุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ เพราะมองว่ารัฐยังไม่เข้าใจการศึกษาที่แท้จริงของชาวมุสลิม เช่น ใช้แบบเรียนที่ไม่สอดคล้องกับท้องถิ่นของเขา หรือป้ายโรงเรียนที่แต่ภาษาไทย

ความต้องการด้านการศึกษาของพวกเขาคือ อยากเห็นการสอนภาษามลายู ยาวี อย่างจริงจังในโรงเรียนของรัฐ ดังที่ประกาศว่าประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ข้อต่อมาคือ ผู้นำทางการศึกษาในพื้นที่ควรปรึกษามีผู้นำทางศาสนาควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สอนการจากทั้ง 2 ฝ่ายมีความเข้าใจต่อกัน สุดท้ายคือ รัฐบาลควรหันมาพัฒนาโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ให้มีคุณภาพ แม้ว่าในสามจังหวัดชายแดนใต้มีจำนวนโรงเรียนมากมาย แต่ส่วนใหญ่ก็ไร้คุณภาพ

“ความยุติธรรม” นางสาวนารี เจริญผลพิริยะ ประธานคณะทำงานสันติอาสาสักขีพยาน กล่าวว่า โรงพักคือจุดเริ่มต้นของความยุติธรรม โดยมีการไม่เลือกปฏิบัติและเข้าใจในความต่างเป็นหลักสำคัญของโรงพัก “สันติธานี”

หลักนิติธรรมคือ การใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ แต่หลายๆ คดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ถูกละเลยหลักข้อนี้ไป เห็นได้จากการสถิติคดีของคดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2554 มีคดีเรื่องความมั่นคง 8,247 คดี มากถึง 6,301 คดี หรือ 76.4% ระบุตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ เนื่องจากมีหลักฐานไม่เพียงพอจึงงดการสอบสวนคดี ทำไมคดีที่เจ้าที่ของรัฐได้รับความเสียหายจึงสามารถปิดคดีได้ ในขณะที่คดีที่ชาวบ้านสูญเสียไม่ต่างกัน กลับงดการสอบสวน

นางสาวนารี เจริญผลพิริยะ
นางสาวนารี เจริญผลพิริยะ

เรื่องอื่นๆ เช่น ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับตำรวจโดยการเป็นอาสาช่วยตรวจค้น มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบ ไม่เอาเปรียบประชาชนอย่างที่ทุกโรงพักของไทยพึงมี และสิ่งสำคัญสำหรับตำรวจในพื้นที่คือ เข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อลดความเป็นปรปักษ์กับชาวบ้าน เช่น เจ้าหน้าที่สามารถพูดมลายู ยาวี หรือมีล่ามเพื่อให้สื่อสารกับชาวบ้านได้ เจ้าหน้าที่หญิงต้องมีเครื่องแบบของตนตามศาสนาอิสลาม และผู้ต้องขังหญิงสามารถใส่ฮิญาบได้

ในเรื่องของ “เศรษฐกิจวิถีวัฒนธรรมชุมชน” นั้น ว่าที่ร้อยตรีสมโภชน์ สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของชาวมุสลิมนั้น เน้นการใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่มีภายในชุมชน ซึ่งแตกต่างกับระบบทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง การอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่นั้นเป็นแบบพึ่งพาอาศัยกันในชุมชน ได้พบปะแลกเปลี่ยนพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มจากของตนเอง และเมื่อสามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาในระดับชุมชน สังคม สู่การแก้ไขความขัดแย้ง และป้องกันตัวเองได้ ไม่ใช่มุ่งแสวงหากำไรที่เป็น “เงิน”

ปิดท้าย นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน คือ ความสูญเสียทั้งในแง่ของชีวิตและทรัพย์สิน ในระดับโครงสร้าง คือ ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน รัฐบาล ปัจจุบันโครงสร้างเชิงเดี่ยว เปรียบเสมือน “เสื้อตัวเดียวแต่ใส่กันทั้งประเทศ” ในระดับวัฒนธรรม คือ เจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่ขาดความเข้าใจในวิถีชีวิต อัตลักษณ์ วัฒนธรรมของคนท้องถิ่น จึงนำมาซึ่งความระแวงต่อกัน

ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมที่ลงสู่ฐานล่างสุดอย่างแท้จริง จะสามารถขจัดหรือลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ โดยการบอกข่าวสารให้รับรู้และรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน โดยเฉพาะการเลือกตัวแทนประชาชนขึ้นมาบริหารชุมชน รัฐบาลต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าพวกเขาคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

ร้อยตรีสมโภชน์ สุวรรณรัตน์
ร้อยตรีสมโภชน์ สุวรรณรัตน์

จะเห็นได้ว่า ฝ่ายของสันติธานีเน้นการใช้วิถีวัฒนธรรมที่เข้าใจซึ่งกันและกันเข้าจัดการกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะจากรัฐบาล

หันมาที่ฝ่ายรัฐบาล ผู้มีหน้าที่ดูแลและจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้โดยตรง ได้วิพากษ์ข้อเสนอของสันติธานี และทิศทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีในระยะต่อไปกันบ้าง

นายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้และชนต่างวัฒนธรรม สรุปไว้ว่า ข้อเสนอทั้งหมดของสันติธานีนั้นสอดคล้องกับแผนพัฒนาสามจังหวัดชายใต้ของรัฐบาลอยู่แล้ว อีกทั้งการปฏิบัติก็มุ่งสู่เรื่องเดียวกัน คือ เพื่อความสงบสุขและยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งจากข้อเสนอที่สันติธานีเสนอนั้น เน้นไปที่คนและความรู้สึกของคน ดังนั้นน่าจะสามารถปฎิบัติได้ทันทีและใช้งบประมาณดำเนินการน้อย

ด้านพลตรีนักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า ปัญหาหลักๆ ในชายแดนใต้คือเรื่องเชื้อชาติและอัตลักษณ์ หน้าที่ของ กอ.รมน. นั้นเป็นได้ทั้งพระเอกและผู้ร้าย ขึ้นอยู่ที่ว่าใครมอง การทำงานตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนรัฐบาลทั้งหมด 6 ครั้ง ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ต่อเนื่องกันเนื่องจากนโยบายของรัฐ

จากสถานการณ์ใน พ.ศ. 2547 ขณะนั้นเรามองแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จนวันนี้สถานการณ์นับว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นได้จากสถิติคนเจ็บ-ตายที่ลดน้อยลง และคนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น ไม่มีทางที่เราจะขจัดความขัดแย้งให้หมดไป แต่เราต้องหาทางออกที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ ส่วนเรื่องอัตลักษณ์เราให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้นแล้ว สำหรับกำลังทหารที่อยู่ในพื้นที่กว่า 6,000 คน เป็นทหารแค่ 3,000 คน ที่เหลือคือตำรวจและพลเรือน

สำหรับข้อเสนอของสันติธานี คาดว่าน่าจะขับเคลื่อนให้เกิดความสำเร็จได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาสังคมด้วยว่ามีความเข้มแข็งมากแค่ไหน ถ้าหากมากพอจนสร้างความปลอดภัยให้กับพื้นที่ได้ การถอนกำลังทหารออกก็ไม่มีปัญหา

ที่ผ่านมาคนมักมองว่า กอ.รมน. ดูแลแต่ความมั่นคงของรัฐมากกว่าความมั่นคงของชีวิตประชาชน ซึ่ง กอ.รมน. มียุทธศาสตร์อยู่ 6 ข้อ โดยข้อที่ 1 ระบุว่าชัดว่าเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในพื้นที่ชายแดนใต้นั้นมีเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน. อยู่จำนวนน้อย และก็คัดเลือกคนดีลงไปประจำพื้นที่ทั้งหมด ก่อนไปก็จัดอบรมร่วม 3 เดือน

“ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนพูดกันไปเองมากกว่าจะเป็นข้อเท็จจริง”

ในขณะที่นายปิยะ กิจถาวร ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งข้อสังเกตกับข้อเสนอของสันติธานีว่า แน่นอนว่าอัตลักษณ์คือรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง แล้วข้อเสนอต่างๆ ของสันติธานีนั้นเป็นไปเพื่อการดูแลแต่คนในครอบครัวหรือไม่ การดำเนินงานเช่นเรื่อง “โรงพยาบาลสร้างสุข” เป็นแผนงานที่ทำอย่างจริงจังเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างหรือเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์เท่านั้น อีกทั้งในแง่ของวัฒนธรรม เรายอมรับได้หรือยังว่าคนในสามจังหวัดชายแดนใต้คือเพื่อนของเราอย่างแท้จริง และสันติธานีต้องพิจารณาให้ดีว่าข้อเสนอต่างๆ ที่จะทำนั้นมีปัจจัยดังต่อไปนี้หรือไม่

1. ความรู้ ข้อมูล ที่ได้จากการสำรวจนั้นจริงเท็จแค่ไหน และมีความหนักแน่นชัดเจนมากพอที่จะลงมือปฏิบัติหรือไม่

2. คนในพื้นที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังหรือไม่ และ

3. สัดส่วนของคนในพื้นที่ที่ยอมรับข้อเสนอของสันติธานีนั้นมากน้อยเพียงใด

สำหรับความคิดเห็นของภาคประชาสังคมนั้น นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า ปัญหาของงานวิจัยคือ จะทำอย่างไรให้มีการนำไปใช้แก้ไขปัญหา เพราะปัจจุบันมีงานวิจัยอยู่มากมายในขณะที่งานวิจัยที่ได้ปฏิบัติจริงมีน้อยมาก หากข้อเสนอของสันติธานีสามารถทำได้จริง เงื่อนไขของความหวาดระแวงก็จะหมดไป ทั้งเรื่องของโรงพยาบาล โรงเรียนและโรงพัก เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับชุมชนมาก

วิธีคิดแก้ไขปัญหาชายแดนที่ผ่านมา ทุกฝ่ายคุยกันแบบคนดีและให้เกียรติกันเกินไป เราต้องยอมรับความจริงว่า ปัญหาเรื่องดินแดนเราสู้รบกันมายาวนานแล้วตั้งแต่สมัยปกครองกันแบบเมือง โดยการนำทัพของบรรดาเจ้าฯ ทั้งหลาย ส่วนเรื่องผู้นำศาสนาในประเทศไทยนั้นเพิ่งมามีเมื่อไม่กี่สิบปีเอง เราไม่ยอมที่พูดคุยกันเรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2547 เป็นเพียงการปะทุความรุนแรงของกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนซึ่งมีมานานแล้วเท่านั้น ถ้าจะแก้ปัญหาให้หมดไปต้องทำ 2 อย่าง คือ การเมืองต้องลดเงื่อนไข และบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มที่ใช้อาวุธฆ่าผู้บริสุทธิ์

แม้ว่าคนที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนจะเป็นเพียงคนส่วนน้อย แต่รัฐบาลก็ต้องจัดการให้กลุ่มดังกล่าวเปลี่ยนความคิด และชักนำคนส่วนใหญ่ให้มีความคิดเบนออกจากกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน อย่าปล่อยให้อีกฝ่ายมีคนเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วกลุ่มดังกล่าวก็จะหมดไปเอง

“การต่อสู้ทางความคิดเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ไม่มีรัฐบาลไหนเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เหมือนกับชายแดนใต้เป็นมะเร็ง แต่รัฐบาลมัวแต่รักษาโรคเล็กๆ น้อยๆ อย่างอื่นแทน จะแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว รัฐบาลต้องมุ่งตรงสู่ประเด็น ควบคู่กับสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เราจะรักษาโรคโดยที่ไม่เจ็บเลยไม่ได้!!”

โดยสรุปแล้ว นายดนัยเห็นว่า เรื่องที่สันติธานีเสนอนั้นอยู่ในแผนของรัฐบาลหมดแล้ว พร้อมสู่การปฏิบัติจริง อีกทั้งยังเป็นเรื่องของวัฒนธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งที่สุดเพราะเต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ที่สามารถทำได้ง่าย แต่ก็ต้องทำให้คนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจกัน

ด้านพลตรีนักรบบอกว่า กอ.รมน. มีหน้าที่ป้องปราม ป้องกันและแก้ไข เพื่อไม่ให้คนดีกลายเป็นโจร กฎหมายพิเศษต่างๆ ที่ประกาศออกใช้ไม่ได้มากมายอย่างที่หลายคนเข้าใจ และนำมาใช้กับคนที่กระทำผิดเท่านั้น ทั้งยังบังคับเพียงบางพื้นที่เพื่อมาเสริมการใช้กฎหมายเดิมของตำรวจให้ปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น ทาง กอ.รมน. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี แต่สันติธานีจะสำเร็จได้ต้องอาศัยการทำงานของหน่วยงานอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย

ส่วนนายปิยะกล่าวเสริมสั้นๆ ว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไข “นำประชาชนมาแก้ไขปัญหาของเขาเอง” โดยเรายื่นมือไปหาเขาแล้วมาตกลงร่วมกัน เพราะปัญหาใหญ่คือ วิธีคิด “ใช้สันติวิธี เน้นคนในพื้นที่เป็นหลัก”

ปิดท้ายที่นายประสิทธิ์ ตัวแทนภาคประชาสังคม ชื่นชมสันติธานีว่า เป็นแบบในการแก้ไขปัญหาที่ดี และต้องลงมือปฏิบัติให้เร็วที่สุด ไม่มีอะไรที่ยากจนเปลี่ยนไม่ได้ มีแต่ยากเพราะไม่ยอมเปลี่ยน ปัญหาที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนั้นต้องวิเคราะห์ให้ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

“ผมว่ารัฐทำให้ประชาชนไม่ไปเข้าร่วมกับกลุ่มต้องการแบ่งแยกดินแดน เบนความคิดไปในทางสันติภาพเพื่อความสมานฉันท์ แล้วกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงจะหมดไป”

ความหวาดระแวงซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาเกิดจากความไม่ชัดเจน เพราะเราไม่ยอมรับความจริงกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ในวันนี้มีคนตายเพราะเหตุการณ์ดังกล่าวไปแล้ว 151 ราย

ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา อันเป็นเอกลักษณ์ของชายแดนใต้ นำมาซึ่งความต้องการรักษาอัตลักษณ์นั้นไว้ แต่แปรเปลี่ยนเป็นความไม่เข้าใจ นำสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงในที่สุด แต่ด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริงซึ่งความแตกต่างนั้น จะสามารถนำความสันติสุขคืนมาได้ดังเดิม

สถานการณ์โดยรวมในชายแดนใต้

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ อดีตนายกเทศมนตรีนครยะลา ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงสถานการณ์โดยรวมในชายแดนใต้ตอนนี้ว่า

1. ใช้การเมืองนำการทหาร

2. ทิศทางการทำงานของรัฐมีแนวโน้มดีขึ้น สามารถเข้าสู่หัวใจของปัญหาและประชาชนได้มากขึ้น

3. หน่วยงานในการจัดการแก้ไขปัญหามีเอกภาพในการตัดสินใจแก้ไขปัญหามากขึ้น และได้ผลสำเร็จที่ดี

4. เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาจากต้นทุนเดิมหรือข้อได้เปรียบที่กลุ่มก่อความไม่สงบมีอยู่ เพื่อสร้างเงื่อนไขให้รัฐบาลเข้ามาจัดการในแบบที่เขาต้องการ นั่นก็คือตอบโต้ด้วยความรุนแรง ซึ่งจะกลายเป็นฉนวนของความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น และนำมาสู่ความแตกหักในที่สุด

แม้ว่าดูจากสถิติแล้วจำนวนความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินจะน้อยลง แต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อครั้งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ ณ ตอนนี้รัฐบาลก็ยังคงนิ่งๆ ปล่อยให้การดำเนินคดีเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ใช้วิธีการตอบโต้ที่รุนแรงแต่อย่างใด เพราะความยุติธรรมที่เกิดขึ้นจะสามารถลดเงื่อนไขที่ก่อให้ก่อความรุนแรงได้

ขณะที่การอยู่รวมกันของคนในชุมชนคนในพื้นที่ยังมีความหวาดระแวงอยู่มาก โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสุดท้ายที่เกิดที่หาดใหญ่ ทำให้ชาวไทยพุทธ ส่วนใหญ่อพยพมาอาศัยอยู่ในตัวเมือง เพราะมีปลอดภัยจากเหตุการณ์ความรุนแรงสูงกว่า เนื่องจากชาวไทยพุทธที่อยู่นอกเขตเมืองนั้นมักเป็นเป้าหมายของกลุ่มที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ด้วยสิ่งแวดล้อมและบรรยายภายในเมืองที่ไม่ค่อยเกิดความรุนแรงนั้นช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของกลุ่มที่อพยพมาได้บ้าง แต่หน่วยงานในท้องถิ่นก็จัดกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้คนในตัวเมืองได้พบปะพูดคุยกันในวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช้ต่างคนต่างอยู่ เพื่อสร้างความรู้สึกของชุมชนให้กลับคืนมา

ด้านหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ทำความเข้าใจกับคนในชุมชนมากขึ้น ตระหนักถึงสาเหตุของปัญหาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมาจากกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ไม่ได้มีเรื่องของศาสนาเป็นสาเหตุ

ด้านคนในชุมชนก็ให้ความร่วมมือกับองค์กรของทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น การศึกษา หลักสูตรต่างๆ ก็ปรับให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ อย่างเรื่องประชาธิปไตยก็ควรมีหลักสูตรที่สอนให้เปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง เข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรมีอยู่ในการศึกษาให้มากเพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

สำหรับการดูแลช่วยเหลือของภาครัฐที่มีในพื้นที่ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหน่วยงานของท้องถิ่นมากกว่าที่จัดการบริหารกันเอง เนื่องจากโครงสร้างการทำงานที่ผ่านมานั้นแบ่งแยกกัน ต่างคนต่างทำระหว่างส่วนท้องถิ่นและภูมิภาค แต่ในวันนี้ ทาง ศอ.บต. เริ่มเห็นความสำคัญของหน่วยงานในท้องที่และท้องถิ่นมากขึ้นในการเข้าไปจัดการกับปัญหา เพราะหน่วยงานในท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับชาวบ้านและเข้าใจในปัญหาต่างๆ มากกว่า จึงนำเอาพลังที่หน่วยท้องถิ่นมีนี้ผลักดันการแก้ไขปัญหา ส่วนรัฐบาลเองก็ให้งบประมาณในการสนับสนุนแกองค์กรท้องถิ่นมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งเรื่องของอนุมัติโครงการต่างๆ ที่ได้เสนอไป และการจัดกิจกรรมร่วมกัน

ด้านความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่นั้น ในความรู้สึกของชาวบ้านก็ยังคงหวาดระแวงกับทหาร ตำรวจ อยู่ เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีผลกระทบเยอะต่อความรู้สึกสูญเสียของพวกเขาโดยตรง แต่หากในส่วนของหน่วยงานปกครองต่างๆ ความสัมพันธ์ยังถือว่าเป็นไปได้ดี เพราะการทำงานมีความใกล้ชิดกับประชาชนสูง ชาวบ้านจึงค่อนข้างไว้เนื้อเชื่อใจ