ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “วิรุฬ เตชะไพบูลย์” สั่ง ศึกษา”ประกันสุขภาพข้าราชการอายุเกิน 50 ปี” เผย 5 โรคร้ายใช้เงินรักษา 3.3 แสนล./ปี

“วิรุฬ เตชะไพบูลย์” สั่ง ศึกษา”ประกันสุขภาพข้าราชการอายุเกิน 50 ปี” เผย 5 โรคร้ายใช้เงินรักษา 3.3 แสนล./ปี

12 เมษายน 2012


จากกรณีที่ข้าราชการเบิกค่ารักษาพยาบาลเกินกว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ทำให้กรมบัญชีกลางทยอยออกมาตรการควบคุมงบฯ รักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่คงที่ได้ในปีงบประมาณ 2554 โดยรัฐบาลตั้งงบฯ รักษาพยาบาล 62,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริง 61,844 ล้านบาท

ถึงแม้กรมบัญชีกลางจะควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้อยู่ในระดับคงที่ได้แล้ว แต่จากการที่รัฐบาลใช้นโยบายตรึงกำลังพลมานาน ทำให้มีจำนวนข้าราชการเข้าใหม่น้อยลง ขณะที่จำนวนข้าราชการและครอบครัวที่สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลเกือบ 5 ล้านคน กำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีข้าราชการและสมาชิกในครอบครัวที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปจำนวน 1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20% ของจำนวนข้าราชการและครอบครัวที่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในแต่ละปี รัฐบาลมีภาระต้องจัดสรรงบฯ มาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ข้าราชการกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วน 60% ของงบฯ ค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปี เช่น ในปีงบประมาณ 2554 ตั้งงบฯ ค่ารักษาพยาบาลเอาไว้ 62,000 ล้านบาท จ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการกลุ่มนี้ 37,200 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนข้าราชการที่กำลังจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ

ดังนั้น นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้สั่งให้กรมบัญชีกลางไปศึกษาและเตรียมแผนรองรับ ในเบื้องต้น กรมบัญชีกลางเสนอให้บริษัทประกันวินาศภัยเข้ามารับความเสี่ยง โดยออกกรมธรรม์ประกันสุขภาพให้กับข้าราชการและครอบครัวที่มีอายุเกิน 50 ปีจำนวน 1 ล้านคน คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ได้ภายในปีงบประมาณ 2556

“สาเหตุที่ทำให้งบฯ รักษาพยาบาลข้าราชการกลุ่มนี้มีสัดส่วนที่สูงถึง 60% ของวงเงินค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างเช่น โรคความคันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง, โรคไต และโรคเบาหวาน เป็นต้น ทำให้ต้องเตรียมแผนรับมือ ส่วนประเด็นที่ว่ารัฐบาลต้องจัดงบฯ มาจ่ายค่าเบี้ยให้กับบริษัทประกันปีละเท่าไหร่ ตอนนี้ยังไม่ทราบเพราะเพิ่งเริ่มศึกษา แต่โดยหลักการ งบฯ ที่จะนำมาจ่ายให้กับบริษัทประกันโดยรวมแล้ว ไม่ควรจะมีวงเงินสูงเกินกว่าค่ารักษาพยาบาลที่รัฐต้องจ่ายให้กับข้าราชการกลุ่มนี้ และที่สำคัญต้องได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิม เช่น เข้ารับการรักษาตัวได้ทุกโรงพยาบาล” แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวต่อไปอีกว่า ในแต่ละปี รัฐบาลต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับข้าราชการกลุ่มนี้เกือบ 40,000 ล้านบาท ถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก คงต้องเปิดให้บริษัทประกันชีวิตหลายๆ รายร่วมตัวกันเข้ามาเป็น POOL และคงต้องมีการกระจายความเสี่ยงทำประกันต่อไปยังต่างประเทศ หรือ “รีอินชัวรันซ์” ส่วนผลการดำเนินงานควบคุมค่ารักษาพยาบาลของกรมบัญชีกลางที่ผ่านมามีหลายมาตรการ เริ่มตั้งแต่การกำหนดวงเงินเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs : Diagnosis related groups), ควบคุมการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ อาทิ ยารักษาโรคไขข้อเสื่อม ยาลดไขมันในเลือด ยาป้องกันโรคกระดูกพรุน วิตามิน ,จัดทำระบบราคากลางหรือราคาอ้างอิงมาใช้ในการจัดซื้อยา และถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักต้องให้แพทย์เซ็นรับรอง

นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้จ้างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายค่ายาของโรงพยาบาล หากโรงพยาบาลแห่งใดเบิกค่ารักษาพยาบาลสูงผิดปกติ สวรส. จะเข้าไปตรวจสอบ และถ้าพบว่ามีการสั่งจ่ายยาไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือคิดราคายากับข้าราชการสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด สวรส. จะส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลางทำหนังสือเรียกเงินคืนจากโรงพยาบาล และถ้าสงสัยว่าจะมีการทุจริตจะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบเพิ่มเติม

นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (ซ้าย) - นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง (ขวา)
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (ซ้าย) - นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง (ขวา)

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้กรมบัญชีกลางมอบหมายให้บริษัททิพยประกันภัย และสมาคมประกันวินาศภัยเข้ามาศึกษาโครงการประกันสุขภาพให้กับข้าราชการที่เป็นผู้ป่วยนอก โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 45,000 บาทต่อปี ล่าสุดเพิ่งได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังให้ขยายผลการศึกษาไปยังกลุ่มข้าราชการที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังได้รับมอบหมายให้ไปทำการศึกษาร่วมกับสำนักงานประกันสังคมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรับปรุงระเบียบการเบิกจ่ายค่ารักษาโรคไตและโรคเอดส์ให้เป็นอัตราเดียวกัน

5 โรคที่คนเป็นเยอะสุดใช้เงินรักษา 3.3 แสนล้านต่อปี

จากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้นำเสนอในแผนยุทธศาสตร์สุขภาพวิถีชีวิตไทย ปี 2554-2563 ได้สรุปสถานการณ์ด้านสุขภาพของประเทศไทยดังนั้น

1. โรคเบาหวาน(Diabetes Mellitus)สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติคาดการณ์ว่า มีผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุ 20-79 ปี ทั่วโลก 285 ล้านคน ในปี 2553 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 438 ล้านคนใ นอีก 20 ปีข้างหน้า ในจำนวนนี้ 4 ใน 5 เป็นชาวเอเชีย เฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 58.7 ล้านคน เป็น 101 ล้านคน ในปี 2573

นอกจากนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี จำนวน 4.4 แสนคน จากทั่วโลกป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 (เบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินทุกวัน) และแต่ละปีมีเด็กมากกว่า 70,000 คน กำลังพัฒนาการสู่เบาหวานชนิดนี้ โดยพบในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด) สำหรับประเทศไทย ในช่วงปี 2546-2547 และปี 2551-2552 แนวโน้มของเบาหวาน คงเดิมร้อยละ 6.9 หรือประมาณ 3.5 ล้านคน เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

และจากการตรวจแบบคัดกรองคนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไปในจำนวน 21 ล้านคน พบผู้ป่วยเบาหวาน 1.4 ล้านคนและกลุ่มเสี่ยง 1.7 ล้านคน กลุ่มผู้ป่วยภาวะแทรกซ้อน 107,255 คน(ตา เท้า ไต) และคาดว่าประมาณปี 2568 จะพบผู้ป่วยถึง 4.7 ล้านคน เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 52,800 คน

2. โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตก องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงประมาณ 1,000 ล้านคนทั่วโลก ขณะนี้เครือข่ายความดันโลหิตสูง (World Hypertension League) พบว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลก ทั้งชายและหญิงมีภาวะความดันโลหิตสูง มีส่วนทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตปีละ 1.7 ล้านคน ไมใช่แค่ผู้สูงอายุแต่ได้รุกเข้าสู่วัยทำงานมากขึ้น

จากการสำรวจสภาวะสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่ามีความชุกของโรคความดันโลหิตสูงลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 22 ในปี 2546–2547 เป็นร้อยละ 21.4 (10.8 ล้านคน)ในปี 2551-2552 สัดส่วนผู้หญิงผู้ชายใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้จากการคัดกรองสุขภาพคนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไปทั่วประเทศปี 2552 ทั้งสิ้น 21.2 ล้านคน พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 2.2 ล้านคน และกลุ่มเสี่ยง 2.4 ล้านคน กลุ่มผู้ป้วยความดันโลหิตสูงมีภาวะแทรกซ้อน 93,144 คน (หัวใจ สมองและตา)

3. โรคมะเร็ง (Cencer) โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตร้อยละ 13 ของคนเสียชีวิตทั่วโลก มีผู้ป่วยโรคมะเร็งมากกว่า 18 ล้านคน และมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 9 ล้านคนในทุกปี ทุก ๆ 6 วินาที จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง และองค์การอนามัยโลกคาดว่าในปี 2563 ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกว่า 11 ล้านคน และจะเกิดในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 7 ล้านคน

โรคมะเร็งที่พบบ่อย 6 อันดับแรกของโลกได้แก่ มะเร็งปอด กระเพาะอาหาร เต้านม ลำไส้ใหญ่ ตับ และมดลูก ตามลำดับ

จากสถิติการเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในด้วยโรคมะเร็งปี 2548 – 2551 มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 1.2 เท่า ในอัตรา 505 คนต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ย 874 คน/วัน และอัตราการตายเพิ่มขึ้น 1.1 เท่า เป็น 88 คนต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ย 154 คน/วัน ในปี 2552

จากการคาดการณ์สถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2551 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 120,000 ราย และประมาณการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในช่วง 10 ปี ปัจจุบันพบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด เริ่มพบมากในสตรีอายุ 35 ปี และพบสูงสุดในอายุ 45 ปี โดยเกือบร้อยละ 50 อยู่ในระยะที่มีการกระจายในต่อมน้ำเหลืองแล้ว

4. โรคหัวใจ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้โรคหัวใจเป็นภัยร้ายแรงคร่าชีวิตคนทั่วโลก 792 คนต่อวัน หรือชั่วโมงละ 33 คน ในขณะที่ปี 2551-2552 คนไทยเสียชีวิตเฉลี่ย 50 คน/วัน และเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในเฉลี่ย 1,185 คน/วัน

จากการสำรวจปี 2548-2550 คนไทยอายุ 15-74 ปี พบความชุกของโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.1 (0.5ล้านคน)เป็นร้อยละ 1.5 (0.7ล้านคน) ทั้งนี้ผลสำรวจพฤติกรรมคนไทยล่าสุดพบว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูงร้อยละ 86 นิยมรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง

5. โรคหลอดเลือดสมอง(Cerebrovascular Disease) หรือโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการณ์ว่าทุกปีมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 15 ล้านคน ทั่วโลก โดยมีผู้ป่วยประมาณ 5 ล้านคนพิการถาวรและอีกกว่า 5 ล้านคนเสียชีวิต ซึ่ง 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

สำหรับประเทศไทยผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 150,000 ราย และในปี 2548-2550 พบคนไทยอายุ 15-74 ปี มีความชุกของโรคนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 (0.4 ล้านคน) เป็นร้อยละ 1.1 (0.5 ล้านคน)

หากประมาณการณ์คนไทยป่วยด้วย 5 โรคนี้ รวม 18.25 ล้านคนต่อปี ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลประมาณ 335,359 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 2.94 ของจีดีพี