ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “สาธิต รังคสิริ” เสนอ 4 แพคเก็จ รื้อภาษีสรรพากรทั้งระบบ

“สาธิต รังคสิริ” เสนอ 4 แพคเก็จ รื้อภาษีสรรพากรทั้งระบบ

24 เมษายน 2012


นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร

ในการประชุมใหญ่กลางปีของกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555 ถือเป็นการระดมสมอง “ขุนพล” กรมสรรพากร เนื่องจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ระดับซี 9 ขึ้นไป โดยในการประชุมมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพากรทั้งระบบ, นโยบายเร่งด่วนของปีงบประมาณ 2555, ความท้าทายในปี 2555, โอกาสของประเทศไทย และผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรก

เสนอ 4 แพคเก็จรื้อภาษีสรรพากร

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร แถลงภายหลังการประชุมว่า นโยบายเร่งด่วนของปีงบประมาณ 2555 ที่ดำเนินการได้แก่เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างภาษี ซึ่งจะนำเสนอกระทรวงการคลังมี 4 แพคเก็จ ได้แก่

1. “นโยบายปรับโครงสร้างภาษี” โดยกรมสรรพากรมั่นใจว่า ภายในเดือนเมษายนนี้ จะเสนอการแก้ไขให้สามี-ภรรยาแยกยื่นแบบภาษีเงินได้ทุกรายการ แต่กระบวนการจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีผลบังคับใช้เมื่อไรเป็นการตัดสินใจของกระทรวงการคลัง ส่วนเรื่องของปรับขั้นอัตราภาษีเงินได้ ทางกรมสรรพากรก็พร้อมแล้ว รอนำเสนอให้รัฐมนตรีคลังพิจารณา

“เรื่องของการแยกยื่นภาษีของสามี-ภรรยา แม้จะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ไปบ้าง 2,000-3,000 ล้านบาท แต่เป็นหลักการที่ถูกต้อง ก็ต้องทำ”

2. “การขยายฐานภาษี” เป็นแพคเก็จที่กรมสรรพากรจะเสนอต่อไป โดยจะเน้นเรื่องของคณะบุคคล ซึ่งเป็นช่องโหว่ใหญ่ของกฎหมาย (Loophole) ที่มีการหลีกเลี่ยงในรูปคณะบุคคลเป็นจำนวนมาก และจะมีการทบทวนเงินได้ยกเว้น ว่าควรจะทบทวนใหม่หรือยัง

นอกจากนั้น เรื่องของบางมาตราที่ยังเป็นช่องโหว่ของกฎหมายอยู่ เช่น รายได้ที่เกิดขึ้นจากแหล่งต่างประเทศจะเสียภาษีต่อเมื่อนำเข้ามาในปีเดียวกัน และอยู่ในประเทศไทย 180 วัน จะพิจารณาทบทวนว่าล้าสมัยหรือยัง

3. เกี่ยวกับ “ตลาดทุน” มีเรื่องการควบรวมกิจการ เรื่องเงินสำรอง เรื่องเงินปันผล เรื่องผลประโยชน์ต่างๆ และ เรื่องของตัวกลางต่างๆ

4. “ภาษีระหว่างประเทศ” เป็นเรื่องของ thin capitalization (มาตรการป้องกันการตั้งทุนต่ำ) เรื่องการ transfer pricing (กฎหมายภาษีอากรเกี่ยวกับการกำหนดราคาโอน) เรื่องของ treaty shopping (มาตรการปกป้องกันหลีกเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ) เป็นต้น

ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากรอธิบายหลักของ thin capitalization กว้างๆ ว่า ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน ต่างใช้ระบบนี้

โดยกำหนดว่าใครจะทำธุรกิจได้ต้องมีทุนอย่างน้อยเท่าไร ไม่ใช่กู้อย่างเดียว เช่น ต้องมีทุน 3 ต่อ 1 คือ กู้ได้ 3 ส่วนทุน 1 ส่วน แต่ถ้ากู้มากกว่านั้น “ดอกเบี้ย” ไม่ให้เป็นรายจ่าย ไม่เช่นนั้นผู้ลงทุนจะไม่มีความรับผิดชอบต่อบริษัทเลย เป็นหนี้ใครก็ไม่ต้องใช้ เพราะว่าทุนมีแค่นี้ รับผิดชอบเฉพาะทุนจดทะเบียนที่ยังชำระไม่หมดเท่านั้น แม้เป็นหนี้ภาษีก็ไม่ต้องจ่ายเพราะทุนมีแค่นี้ เจ้าหนี้ก็ไม่ได้เงิน หลายๆ ประเทศจึงมีระบบนี้ ซึ่งระบบนี้ เช่น บางคนจดทะเบียนบริษัทแค่ 100,000 บาท แต่เป็นหนี้ภาษีสรรพากร 100 ล้านบาท

“ไต้หวันใช้ระบบนี้ จึงเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีปัญหาตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งตอนนั้นเรากู้เยอะมาก เมื่อค่าเงินเปลี่ยนเราก็เจ๊งทั้งประเทศ แต่ไต้หวันไม่มีปัญหา เพราะใช้ทุนตัวเองส่วนหนึ่ง กู้ส่วนหนึ่งจึงไม่เป็นปัญหา”

อย่างไรก็ตาม เรื่อง thin capitalization นั้น อธิบดีกรมสรรพากรระบุว่า ไม่ใช่มีแค่นั้นยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีก เช่น กำหนดสัดส่วนเงินกู้เท่าไร ธุรกิจประเภทไหนบ้าง แต่ละธุรกิจจะมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเท่ากันหรือไม่ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องคุยกันต่อไป

ปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพากร

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า แพคเก็จทั้งหมดนี้ ได้นำเสนอโดยสรุปให้รัฐมนตรีคลังฟังทั้งหมดแล้ว

นโยบายเร่งด่วนปี 2555

นอกจากเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างภาษีแล้ว อธิบดีกรมสรรพากรระบุว่า ส่วนที่ต้องทำเร่งด่วนต่อไปคือ นโยบายเกี่ยวกับ E-commerce หรือผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจซื้อขาย หรือให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต โดยได้สั่งการให้ที่ปรึกษากรมสรรพากรจัดทำโมเดลการจัดเก็บภาษี E-commerce เพื่อทุกพื้นที่มีโมเดลดำเนินการเหมือนกัน

แต่โดยหลักการ กรมสรรพากรไม่อยากให้ผู้ค้าทางอินเทอร์เน็ตต้องล้มหายตายจาก เพราะเชื่อว่าธุรกิจนี้จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการขยายระบบการค้าไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) อีก 9 ประเทศ และเป็นทิศทางการค้าขายของกระแสโลกที่ไปในทางนี้ด้วย

“ถ้าผู้ประกอบการ E-commerce เร่งเข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยเสียย้อนหลังให้กรมสรรพากรสัก 1 ปี กรมสรรพากรพร้อมจะเดินหน้าไปกับท่าน แต่ถ้าผมไปดึงมาเองผมสั่งการไปแล้วว่าไม่ลดทั้งสิ้น เอาเต็มๆ และย้อนหลังเต็มที่ เพราะเปิดช่องเปิดโอกาสให้แล้ว จึงฝากบอกว่าเราเอาจริงกับผู้ค้าทางอินเตอร์เน็ตที่ยังไม่เข้าระบบ รีบมาติดต่อเจ้าหน้าที่และเข้าระบบโดยด่วน”

นอกจากนั้น นโยบายเร่งด่วนยังมีเรื่องการให้ผู้ประกอบการยื่นบัญชีสรุปการซื้อขาย และการบริหารงานจัดเก็บภาษีอากรแบบใหม่ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะมีการคุยกันเรื่องการบริหารภาษีแนวใหม่ของโลกว่ามีทิศทางไปทางไหน และการบริหารภาษีแนวใหม่ของไทยจะเดินไปอย่างไร

รวมถึงได้ให้นโยบายสลาก 2 ตัว และ 3 ตัว ที่เป็นปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตามทางกรมสรรพากรได้มีหนังสือส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังแล้วว่า ยกเว้นการเก็บภาษีสลากพิเศษ 2 ตัว และ 3 ตัว ขณะนี้ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังจะว่าอย่างไร

“เรื่องนี้ถือว่าตอนที่เขาซื้อ ผู้ซื้อนั้นบริสุทธิ์ใจ เพราะซื้อโดยเข้าใจว่าไม่มีภาษี ต่อมาเมื่อเปลี่ยนยุคสมัยจะให้เขาเสียภาษี จะไปลงโทษเขาก็คงไม่เหมาะ”

นโยบายเร่งด่วนกรมสรรพากร 2555

ความท้าทายในปี 2555

นายสาธิตระบุว่า ในปี 2555 มีความท้าทายกรมสรรพากรหลายด้าน เช่น เรื่องของการมี “นโยบายประชานิยม” ได้แก่ บ้านหลังแรก การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เรื่อง “วิกฤตน้ำท่วม” ที่คลอบคลุม 63 จังหวัดและได้สร้างความเสียหายของนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง และ “ปัจจัยต่างประเทศ” ได้แก่ เรื่องของการที่เตรียมตัวเข้า AEC เรื่องความท้าทายวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปถ้ามีปัญหา กรมสรรพากรต้องเตรียมพร้อมรับสิ่งเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม วิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านกระทบลูกค้ากรมสรรพากรบางส่วน แต่บางส่วนก็ไม่กระทบ ดังนั้น ทางกรมสรรพากรจึงมีนโยบายว่า กลุ่มลูกค้ากรมสรรพากรที่มีประสบปัญหาแท้จริงก็ว่าตามจริง อย่าให้เขาเดือนร้อนมากกว่าเดิม ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหรือได้ผลบวกจากน้ำท่วมก็ต้องเสียภาษีตามจริง

ทั้งนี้ เดือนพฤษภาคมจะเป็นฤดูกาลยื่นภาษีนิติบุคคล ซึ่งรอบนี้ยังใช้อัตราของปี 2554 คือ 30% อธิบดีกรมสรรพากรระบุว่า จะต้องดูให้สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่าให้มีคนอ้างฉวยโอกาสน้ำท่วมหลีกเลี่ยงการเสียภาษีทั้งที่ไม่ถูกกระทบเลย ซึ่งก็มีไม่น้อย โดยนิติบุคคลที่มีเกือบ 400,000 ราย มีรายใหญ่ประมาณ 4,00 ราย ซึ่งรายใหญ่นั้นครอบคลุมภาษีประมาณครึ่งหนึ่ง นั่นหมายความว่าการให้ความรู้ และการดูแลลูกค้ารายใหญ่นั้นสำคัญ

“ได้ให้นโยบายเรื่องนี้ไปว่า ระวังประเภทสวมรอย บางที่หลายบริษัทมีฐานะเป็นบวก มาสวมรอยว่าน้ำท่วม แล้วไปลดภาษีนิติบุคคลลง จึงสั่งให้สรรพากรพื้นที่ตรวจดูตามความเป็นจริงว่าใครดีขึ้น ใครแย่ลง ใครเสมอตัว”

อย่างไรก็ตาม จัดเก็บภาษีตั้งแต่ตุลาคม 2554 – ถึงมีนาคม 2555 ผลการจัดเก็บได้ 601,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.06% จากระยะเดียวกันปีก่อน นายสาธิตกล่าวว่า เป็นระดับที่น่าพอใจ และมีแนวโน้มจะดีต่อไปใน 6 เดือนหลัง เพราะภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก จากการบริโภคที่มากขึ้น ยอดจำหน่ายรถยนต์ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ภาคเกษตรกรรมที่ติดลบก็พลิกเป็นบวกแล้ว เนื่องจากยาง อ้อย ปาล์ม ราคาค่อนข้างข้างดี เพราะฉะนั้น 6 เดือนหลังไม่น่ากังวลมาก

“แต่ส่งที่กังวลคือที่ท้าทายต่อตัวเองว่า อยากเห็นตัวเลขจัดเก็บรายได้ปีนี้สูงกว่าปีก่อนคือไม่น้อยกว่า 20% อันนี้เป็นความท้าทายส่วนตัว ส่วนเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีนั้นไม่ห่วง”

ทั้งนี้ กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2554 ได้ทั้งหมด 1.51 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นได้มากกว่าปีก่อน 19.83% หรือประมาณ 20% สำหรับเป้าหมายการจัดเก็บภาษีปีงบประมาณ 2555 ของกรมสรรพากรอยู่ที่ 1.62 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นส่วนของ VAT ประมาณ 800,000 ล้านบาท ภาษีนิติบุคคลประมาณ 599,800 ล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณกว่า 300,000 ล้านบาท

“AEC” โอกาสประเทศไทย

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ได้พูดถึงเรื่อง AEC ที่จะขยายลูกค้าจาก 67 ล้านคน เป็น 600 ล้านคน โดย อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า เรื่องนี้ได้พูดถึงโอกาสของผู้ประกอบการในการหาวัตถุดิบในประเทศเป็นใน 10 ประเทศ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรมสรรพกร หามาตรการส่งเสริมให้คนไทยออกไปหาตลาดข้างนอกให้ได้เต็มที่ในโอกาสที่มี และส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่าที่สุดจาก 10 ประเทศ และส่งเสริมเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์

“มาตรการทั้งหมดนี้ เป็นนโยบายที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรมสรรพากร ดำเนินการแล้วเสนอต่อกรมสรรพากรต่อไป”

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสรรพากรระบุว่า ในกรณีที่บริษัทไทยไปลงทุนในอาเซียน จะไม่เสียภาษซ้ำซ้อน เนื่องจากประเทศไทยมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับเกือบทุกประเทศ ตอนนี้เหลือเพียงประเทศเดียวคือ กัมพูชา ซึ่งกรมสรรพากรกำลังเจรจาอยู่ แต่ทางกัมพูชาบอกเขายังไม่เจรจากับใครเลย

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีประชากร 66.9 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 584 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที AEC มีประชากร 590 ล้านคน มีจีดีพี 3,092 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ยุโรป มีประชากร 501.1 ล้านคน มีจีดีพี 15,170 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสหรัฐอเมริกามีประชากร 312.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีจีดีพี 14,657 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ