ThaiPublica > เกาะกระแส > แผน 5 ปีกรมควมคุมมลพิษ ปรับการบริหารจัดการมลพิษใหม่ ลุยพื้นที่เสี่ยง-ยกคุณภาพแม่น้ำสายหลัก – ผู้ก่อสารพิษต้องจ่าย

แผน 5 ปีกรมควมคุมมลพิษ ปรับการบริหารจัดการมลพิษใหม่ ลุยพื้นที่เสี่ยง-ยกคุณภาพแม่น้ำสายหลัก – ผู้ก่อสารพิษต้องจ่าย

21 เมษายน 2012


กรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ในการดูแลรักษาคุณภาพและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

ย้อนกลับไปในปี 2535 กรมควบคุมมลพิษได้ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ฉบับที่ 6 ที่ได้ยุบสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และปรับปรุงเป็นส่วนราชการใหม่ 3 กรม คือ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

แต่หลังจากปี 2545 เมื่อมีการออกพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ส่งผลให้กรมควบคุมมลพิษเปลี่ยนแปลงไปสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแทน

จากวันนั้น จนถึงวันนี้ในปี 2555 กรมควบคุมมลพิษจึงมีอายุครบ 20 ปีพอดี และในปีนี้เป็นปีที่แผนจัดการมลพิษฉบับเก่า คือ ฉบับ พ.ศ. 2554–2550 ได้สิ้นสุดลง กรมควบคุมมลพิษได้เสนอแผนจัดการมลพิษฉบับใหม่ คือ ฉบับ พ.ศ. 2555–2559 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งหลังจากพิจารณาแล้วคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ทำให้แผนจัดการมลพิษ ฉบับ พ.ศ. 2555–2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2555 เป็นต้นมา

นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้เปิดเผยถึงกรอบแนวคิดและทิศทางการจัดการมลพิษของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า ให้มีความเชื่อมโยงกับแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2555-2559 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นและอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ในแผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2555–2559 ได้กำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญและมาตรฐานในด้านต่างๆ คือ ด้านคุณภาพน้ำ ด้านคุณภาพอากาศและเสียง และสุดท้ายคือ ด้านขยะมูลฝอยและสารอันตราย

ตาราแสดงคุณภาพน้ำ แม่น้ำสำคัญ 48 สาย และแหล่งน้ำนิ่ง 4 แห่ง ปี 2553 (ที่มา: กรมควบคุมมพิษ)
ตาราแสดงคุณภาพน้ำ แม่น้ำสำคัญ 48 สาย และแหล่งน้ำนิ่ง 4 แห่ง ปี 2553 (ที่มา: กรมควบคุมมพิษ)

ด้านคุณภาพน้ำ

ปัจจุบัน คุณภาพน้ำโดยรวมของแม่น้ำสายหลักในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ช่วงสิบปีที่ผ่านมามีคุณภาพเสื่อมโทรมลง จำนวนแหล่งน้ำผิวดินที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีและพอใช้มีจำนวนลดลง เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง แม่น้ำนครนายก แม่น้ำเพชรบุรีตอนล่าง แม่น้ำนครนายก เป็นต้น โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2554 พบว่า คุณภาพน้ำผิวดินทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี 30% พอใช้ 42% และเสื่อมโทรม 28% สาเหตุสำคัญของปัญหาคุณภาพน้ำมาจากการจัดการน้ำเสียจากแหล่งชุมชนที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสียดำเนินการไม่ทั่วถึง

ในแผนจัดการมลพิษฉบับใหม่ จึงมีเป้าหมายให้สัดส่วนของจำนวนแหล่งน้ำผิวดินที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์พอใช้ขึ้นไปมีไม่น้อยกว่า 80% จากปัจจุบันที่มี 72% และคุณภาพน้ำชายฝั่งมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์พอใช้ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 95% จากปัจจุบันที่มีอยู่ 89%

PM10 เฉลี่ยรายปีของประเทศไทย ปี 2549 -2553 (ที่มา: กรมควบคุมมพิษ)
PM10 เฉลี่ยรายปีของประเทศไทย ปี 2549 -2553 (ที่มา: กรมควบคุมมพิษ)

ด้านคุณภาพอากาศและเสียง

คุณภาพอากาศโดยรวมของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ในหลายจังหวัด ยังคงมีปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และก๊าซโอโซนที่เกิดจากยานพาหนะที่ระบายมลพิษเกินมาตรฐาน การจราจรที่หนาแน่น อุตสาหกรรม การก่อสร้าง และการเผาในที่โล่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในช่วงเดือน มกราคม–มีนาคม ของทุกปี

ในแผนจัดการมลพิษฉบับใหม่ ได้มีการตั้งเป้าให้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) อย่างน้อย 98% จำนวนวันที่ก๊าซโอโซนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างน้อย 99% และจำนวนวันที่ระดับเสียงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างน้อย 81%

ปริมาณการใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี 2546-2553 (ที่มา: กรมควบคุมมพิษ)
ปริมาณการใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี 2546-2553 (ที่มา: กรมควบคุมมพิษ)

ด้านการจัดการน้ำเสีย ขยะมูลฝอย และสารอันตราย

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2553 มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นทั่วประเทศ 15.16 ล้านตัน ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 38% ของปริมาณทั้งหมด คิดเป็น 5.8 ล้านตันต่อปี มีการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ 26% ของปริมาณทั้งหมด คิดเป็น 3.91 ล้านตันต่อปี

ส่วนของเสียอันตรายนั้น ในปี 2553 ประเทศไทยมีของเสียอันตรายเกิดขึ้น 3.09 ล้านตัน โดยมีที่มาจากอุตสาหกรรมและชุมชนที่อยู่อาศัย และสารอันตรายนั้น ประเทศไทยมีการนำสารอันตรายมาใช้ในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเฉลี่ยปีละ 30 ล้านตัน ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ในปี 2553 มีการตรวจพบผู้ปวยจากการได้รับสารอันตราย 2,015 ราย โดย 90% ของผู้ป่วยได้รับสารอันตรายจากการเกษตร ที่เหลือได้รับสารอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม

ในแผนจัดการมลพิษฉบับใหม่ ได้มีการตั้งเป้าให้มีการเพิ่มความสามารถในการบำบัดน้ำเสียชุมชนอย่างถูกหลักวิชาการต่อปริมาณน้ำเสียทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30% มีการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ (recycle) ไม่น้อยกว่า 30% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ และอัตราการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกหลักวิชาการเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50%

กลไกที่สำคัญสำหรับแผนจัดการมลพิษฉบับใหม่นี้ จะเน้นไปที่การควบคุมมลพิษจากชุมชน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ยานพาหนะ และการคมนาคมขนส่ง โดยให้มีการจัดการมลพิษตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง จนถึงปลายทาง และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ และมีการจัดการมลพิษตามลำดับความสำคัญของพื้นที่ เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำในกลุ่มจังหวัดที่ประสบปัญหาหมอกควัน พื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ พื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในแผนใหม่ยังสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีบทบาทมากขึ้นในการดำเนินงานจัดการน้ำเสีย ขยะมูลฝอย มูลฝอยติดเชื้อ และของเสียอันตรายชุมชน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการจัดการขยะอันตรายและสารอันตรายอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

และมีการประยุกต์ใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย การวางหลักประกันและการชดเชยค่าเสียหายจากการแพร่กระจายมลพิษ การนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และสังคมเป็นแรงจูงใจทางบวกเพื่อส่งเสริมการลดมลพิษ หรือปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ปราศจากมลพิษ การสนับสนุนการผลิตและการบริการ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย