ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “นิพนธ์ พัวพงศกร” วิพากษ์จำนำข้าว ชี้หนทางสู่วิกฤต

“นิพนธ์ พัวพงศกร” วิพากษ์จำนำข้าว ชี้หนทางสู่วิกฤต

30 เมษายน 2012


นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยถูกนักวิชาการคัดค้านและตั้งคำถามมากมาย เนื่องจากไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิ ตั้งแต่เรื่องการใช้เงิน การป้องกันทุจริต การระบายสต็อคข้าว จนถึงแข่งขันส่งออก แต่รัฐบาลไม่สนสิ่งที่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะใดๆ ทั้งสิ้น โดยเดินหน้าเปิดโครงการรับจำนำข้าวตามที่ได้หาเสียงไว้ และผลการดำเนินงานโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลก็ไม่ผิดไปจากที่นักวิชาการคาดการณ์กันไว้

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว และเป็นนักวิชาการแถวหน้าที่คัดค้าน และตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวมาตลอด ล่าสุดได้วิเคราะห์สถานการณ์ข้าวไทยหลังโครงการรับจำนำข้าวนาปีในฤดูการผลิต 2554/55 ซึ่งปิดโครงการไปแล้วว่า เริ่มเห็นชัดว่าเรื่องรัฐบาลมีปัญหาการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าว

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ

เนื่องจากการรับจำนำข้าวรอบนี้ใช้เม็ดเงินไปแล้วประมาณ 120,000 ล้านบาท (ข้อมูลล่าสุดจนถึง 30 มีนาคม 2555) โดยรัฐบาลใช้เงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นจำนวน 90,000 ล้านบาท ที่เหลือกู้เงินจากธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทยอีกประมาณ 30,000 ล้านบาท

แต่ขณะนี้ รัฐบาลกำลังเดินหน้าโครงรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังต่อไปอีก ถ้าชาวนาแห่นำข้าวมาเข้าโครงการจำนำ จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายก็ต้องกู้เพิ่มจากสถาบันการเงิน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะต้องกู้เพิ่มอีกที่เท่าไร และหากรัฐบาลไม่ระบายข้าวที่รับจำนำไปในฤดูการผลิตที่ผ่านมาออกมาขาย ก็จะมีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะไม่มีเงินมาดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนาปีในฤดูการผลิตต่อไป ทางออกหนีไม่พ้นคือรัฐบาลก็ต้องกู้เงินมาทำโครงการจำนำข้าว

“ช่วงนี้รัฐบาลกู้เงินจำนวนมากมาแก้ปัญหาน้ำท่วมและทำโครงการต่างๆ มากมายรวมทั้งโครงการรับจำนำข้าว การกู้เงินจำนวนมากนี้จะทำให้หนี้สาธารณะเริ่มพุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การซ่อนหนี้ เพราะฉะนั้นต้องระวังในเรื่องนี้”

ดร.นิพนธ์ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวนั้น ทันทีที่ตั้งราคาสูงก็ผิดแล้ว ยิ่งสูงยิ่งตาย เพราะข้าวจะไหลเข้ามือรัฐบาล จะไม่มีใครขายให้เอกชน เมื่อข้าวเข้าโครงการจำนำมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจะเอาที่ไหนจัดเก็บ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มระบายข้าวออกมา แต่ปัญหาตามมาคือ อาจทำให้ราคาข้าวตกต่ำ

ที่สำคัญ รัฐบาลจะระบายข้าวอย่างไร ขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายระบายข้าวว่าจะระบายอย่างไร ระบายขายให้ใคร ที่เป็นห่วงคือ ถ้าระบายขายให้ธุรกิจที่มีเส้นสายทางการเมืองเพียงไม่กี่ราย ก็เท่ากับรัฐบาลกำลังสนับสนุนธุรกิจผูกขาด แต่ทำลายธุรกิจข้าวที่เขาค้าขายตามปกติและมีความสามารถในการแข่งขัน ระบบการระบายต้องทำตลาดกลาง ไม่ใช่เล่นพวกหาเงิน ถ้าเล่นพวกหาเงินก็แสดงว่าอาจกำลังส่อทุจริต

อย่างไรก็ตาม กรณีสมมติว่าถ้ารัฐบาลยังไม่ระบายข้าว โดยสามารถยืดระยะเวลาการระบายออกไปอีก เพื่อไม่ให้ไปกระทบจนทำให้ราคาข้าวในตลาดลดลง แต่ข้าวสารในตลาดจะแพงขึ้น เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่เอาข้าวมาจำนำกับรัฐบาลหรือขายให้รัฐบาลเกือบทั้งหมด ดังนั้นถ้ารัฐบาลไม่ระบายข้าวออกมาเลย จะกดดันให้ราคาข้าวสารในประเทศสูงขึ้น เพราะพ่อค้า โรงสี ไม่มีข้าวในสต็อคปล่อยออกมา ทั้งนี้การบริโภคข้าวในประเทศของไทยแต่ละเดือนอยู่ที่ประมาณเกือบ 300,000 ตันข้าวสาร

“ปัญหาในปีนี้คือ ถ้ารัฐบาลไม่ระบายข้าว แต่การซื้อข้าวของรัฐบาลก็ต้องใช้เงิน ใช้สต็อค ใช้พื้นที่มากขึ้น ราคาข้าวในประเทศก็จะสูงขึ้น และถ้าไม่มีนโยบายระบายข้าวที่ดี อาจเกิดการขาดแคลนข้าวในประเทศไทย ทั้งๆ ที่มีข้าวอยู่ในสต็อกรัฐบาลเต็มไปหมด”

ทั้งนี้ ดร.นิพนธ์ระบุว่า ครัวเรือนปลูกข้าวในประเทศไทยมีประมาณ 4 ล้านครัวเรือน แต่ชาวนารวยสุดกว่า 1 ล้านครัวเรือนปลูกข้าวมีเหลือขาย 55.6% ของข้าวทั้งหมดที่ขายตลาดในประเทศ ขณะที่มีชาวนาจนที่สุดประมาณ 2.59 ล้านครัวเรือนที่ผลิตข้าวแล้วไม่พอขายจะไม่ได้ประโยชน์เลย แต่นโยบายนี้ช่วยทั้งชาวนาทุกคนทั้งจนและรวย แต่รวยได้มากกว่า ส่วนชาวนาที่ซื้อข้าวกินไม่ได้ประโยชน์ และยังมีคนจนที่เดือดร้อนอีกเกือบ 2 ล้านคนต้องซื้อข้าวกิน

นั่นคือปัญหาในประเทศ ส่วนปัญหาต่างประเทศ ดร.นิพนธ์ประเมินว่า ถ้ารัฐบาลเก็บสต็อคข้าวไว้ต่อไป ไม่ระบายออกเพื่อส่งออก เท่ากับกำลังเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยชาวนาและผู้ส่งออกต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย ที่ขายข้าวได้ราคาถูกกว่าของไทย จนทำให้ไทยเสียแชมป์การส่งออกได้

ขณะนี้เห็นแล้วว่าตัวเลขส่งออกของไทยถดถอยลง เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายระบายที่ชัดเจน แต่ว่ารัฐบาลมีเป้าหมายจะขาย เดิมตั้งเป้าหมายจะขายตันละประมาณ 800 ดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้ราคาตกมาอยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐก็ยังขายไม่ได้ เพราะราคาตลาดอยู่ที่ตันละประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีประเทศอื่นที่ขายข้าวได้

ทั้งนี้ สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา มีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า กระทรวงเกษตรของสหรัฐได้ปรับประมาณการส่งออกข้าวไทยปี 2555 ลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยคาดว่าปีนี้จะส่งออกได้ 6.5-7 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ไทยเสียแชมป์การส่งออกข้าวให้กับอินเดีย เพราะคาดว่าอินเดียจะส่งออกข้าวปีนี้ได้ถึง 7 ล้านตัน โดยรัฐบาลอินเดียจะไม่ชะลอการส่งออก เพราะผลผลิตข้าวออกมาดี และมีสต็อคกว่า 30 ล้านตัน จึงต้องเร่งโละสต็อคเก่าออกให้หมด

การปรับประมาณการณ์ใหม่ของสหรัฐฯ สอดคล้องกับที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกข้าวของภาคเอกชนไทยทั้งปี 2555 จะมีประมาณ 6.5 ล้านตัน ยังไม่รวมกับการส่งออกแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เพราะเป็นผลจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในราคาสูงมาก ทำให้ผู้ส่งออกต้องขายในราคาสูงมาก และในบางตลาดไม่สามารถแข่งขันกับข้าวราคาต่ำกว่าของอินเดียและเวียดนามได้ ส่งผลให้ผู้นำเข้าหันไปนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศแทน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าปีนี้จะส่งออกข้าวได้ 9.5 ล้านตัน มูลค่า 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประธานทีดีอาร์ไอยกตัวอย่างว่า การแทรกแซงสินค้าเกษตรมีบทเรียนจากทั่วโลกแล้วว่า ถ้ารัฐบาลมาแทรกแซงเมื่อไร “เจ๊ง” ทุกที่ โดยกรณีที่คลาสสิคที่สุดคือรัสเซีย หรือสหภาพโซเวียต ซึ่งเข้ามาควบคุมสินค้าเกษตร ผลที่เกิดขึ้นคือ ระบบสินค้าเกษตรพังก่อน จนทำให้รัสเซียเปลี่ยนจากผู้ผลิตข้าวสาลีส่งออกมาเป็นผู้ซื้อข้าวสาลีจากสหรัฐอเมริกา แล้วในที่สุดระบบคอมมิวนิสต์รัสเซียล่มสลาย

นอกจากนี้ ในทุกประเทศที่พัฒนาแล้วที่แทรกแซงราคาสินค้าเกษตรจะเลิกก็ต่อเมื่อเกิดวิกฤตการคลัง เมื่อเกิดวิกฤตการคลังแล้วจะเริ่มปฏิรูปนโยบายการเกษตรจริงจัง ประเทศไทยกำลังเดินไปทางนั้น เหมือนออสเตรเลีย มีนโยบายแทรกแซงขนแกะ และซื้อเข้าสต็อคไว้จนเต็ม ส่วนอเมริกาและยุโรปก็เหมือนกัน ซื้อสินค้าเกษตรเข้ามาเก็บไว้จำนวนมาก เพราะต้องการให้ราคาสูงก็ต้องไม่ขาย แต่การซื้อสินค้าเกษตรเข้ามาเก็บไว้ต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงนำไปสู่วิกฤตการคลัง

ดร.นิพนธ์ชี้ว่า ปัญหาของไทยก็เช่นกัน คือ เราไม่สามารถเอาเงินมาถลุงแจกชาวนาทุกคนได้ การใช้นโยบายนี้เป็นการหาคะแนนเสียงและทำแบบไม่ฉลาด อาจต้องรอวิกฤตก่อนถึงจะมีการปฏิรูปจริงจัง แต่ไม่อยากรอให้เกิดวิกฤตแล้วให้คนอื่นมาบอกว่าเราโง่ทั้งที่รู้ว่าจะนำไปสู่จุดจบอย่างไร

ภาคเกษตรเป็นภาคที่มีคนหรือเกษตรกรอยู่เป็นจำนวนมาก แม้แต่พ่อค้า โรงสี และผู้ส่งออกก็มีจำนวนเยอะมาก เขาแข่งกันรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นใครดีใครอยู่ ระบบมันเป็นแบบนี้ ชาวนาคนไหนผลิตข้าวได้ดีก็อยู่ โรงสีโรงไหนมีประสิทธิภาพก็อยู่ได้ ใครไม่มีประสิทธิภาพก็อยู่ไม่ได้ ทุกระบบของเราขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลก เพราะเราใช้เวลาเป็นร้อยปีสร้างระบบขึ้นมาเป็นระบบแข่งขัน แล้วอยากจะทำลายให้เป็นระบบผูกขาดที่ขาดประสิทธิภาพด้วยการเข้าแทรกแซง

ประเด็นดังกล่าว ดร.นิพนธ์ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลกำลังทำอะไรที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐบาลกำลังทำทุกอย่างโดยเอาเงินรัฐบาลไปทำแทน ทั้งๆ ที่ธุรกิจข้าวนี้เดิมเป็นธุรกิจเอกชนที่เขาค้าขายปกติและมีการแข่งขันกันสูง แต่รัฐบาลกลับเข้าไปยุ่ง แล้วเอาคนบางกลุ่มที่เป็นพรรคพวกตัวเองมาทำ เพียงเพราะว่าต้องการให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้น

“ผมหวังว่าวันหนึ่งชาวนาจะเข้าใจ พ่อค้าจะเข้าใจ โรงสีที่ดีๆ จะเข้าใจ ร่วมมือกันต่อต้านนโยบายแบบนี้ เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้โดยเร่งด่วน และผมก็หวังว่าจะเห็นนักการเมืองที่เห็นแก่ประเทศชาติในพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นมาในพรรคเพื่อไทย เพราะปัญหานี้ต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่ได้แก้ด้วยนักวิชาการ นักวิชาการทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้านักการเมืองไม่เปลี่่ยนแปลงและยังเดินหน้าทำนโยบายประชานิยม ไม่สนใจผลกระทบระยะยาวอาจนำไปสู่ยุคมืด ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก”