ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ป.ป.ช. ขยายกรอบผู้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ลงลึกระดับเจ้าหน้าที่ ทุก 5 ปี ต้องตรวจสอบ 370,200 บัญชี!

ป.ป.ช. ขยายกรอบผู้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ลงลึกระดับเจ้าหน้าที่ ทุก 5 ปี ต้องตรวจสอบ 370,200 บัญชี!

29 เมษายน 2012


การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นข้อปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อสร้างความโปร่งใส และเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบของภาครัฐ

การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นหลักปฏิบัติสากลที่หลายประเทศในโลกใช้เพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับการปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐ ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สภาคองเกรสได้ตรากฎหมาย The Ethics in Government Act ขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ครอบคลุมทั้งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี สมาชิกรัฐสภา และผู้สมัครในตำแหน่งต่างๆ โดยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะชน หากไม่ยื่นบัญชีหรือยื่นบัญชีเป็นเท็จจะมีโทษทางแพ่งและอาญา

หรือกรณีประเทศฝรั่งเศส ที่มีกฎหมายว่าด้วยความโปร่งใสทางการเงินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (Commission pour la transparence financière de la vie politique) ที่ให้ประธานาธิบดี ครม. สมาชิกรัฐสภา ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากไม่ยื่นบัญชีหรือยื่นบัญชีเป็นเท็จ ก็จะมีบทลงโทษทั้งการตัดสิทธิ์ทางการเมืองและถูกดำเนินคดีทางอาญา

สำหรับประเทศไทย กฎหมายรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้กำหนดให้บุคคลที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จะต้องแสดงให้เห็นรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งในประเทศและต่างประเทศของผู้ที่ต้องยื่น คู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมไปถึงผู้อื่นหรือนอมินีที่ผู้ยื่นให้ครอบครองดูแลด้วย

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ข้าราชการการเมืองต่างๆ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลนคร ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ

กฎหมายได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหล่านี้ต้องยื่นบัญชีฯ 3 ครั้ง คือ กรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีการไม่ยื่น หรือยื่นบัญชีฯ เท็จนั้น ป.ป.ช. จะทำการไต่สวน และหาก ป.ป.ช. มีการชี้มูลความผิด เรื่องจะถูกส่งไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณา หากศาลฯ ตัดสินว่ามีความผิด จะมีบทลงโทษให้พ้นจากตำแหน่ง และเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันได้แก่ข้าราชการระดับสูงของรัฐ เช่น ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงอื่นๆ ตามมาตรา 39 ของ พ.ร.บ. และตามประกาศเพิ่มเติมของ ป.ป.ช. ที่กฎหมายให้อำนาจไว้

เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องยื่บัญชีฯ มากกว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือนอกจากจะยื่น 3 ครั้ง กรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่ง 1 ปี แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องยื่นบัญชีฯ ทุก 3 ปีที่อยู่ในตำแหน่งอีกด้วย และถ้าไม่ยื่นหรือยื่นเป็นเท็จ ก็จะมีความผิดในลักษณะเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ล่าสุด วันที่ 19 เมาษายน 2555 ป.ป.ช. ได้ประกาศเพิ่มตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องยื่นบัญชีฯ อีกกว่า 16 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการตำรวจระดับภาค ระดับจังหวัด เจ้าหน้าที่สรรพากรและเจ้าหน้าที่ศุลกากรระดับสูง รวมไปถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศ คิดเป็นบัญชีฯ ที่ต้องยื่นกว่า 400 บัญชี

เมื่อไล่ดูจำนวนตำแหน่งและบุคคลที่เข้าข่ายต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต่อ ป.ป.ช. แล้ว จะพบว่า ปัจจุบันมีประมาณการตัวเลขตำแหน่งกว่า 1,200 ตำแหน่ง และเมื่อคิดตามจำนวนคนที่อยู่ในตำแหน่งนั้นๆ จะพบว่ามีจำนวนกว่า 126,800 บัญชี

หากแยกตามหมวดต่างๆ แบ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในส่วนที่เป็นนักการเมืองในระดับประเทศ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมืองในพวกที่เป็นที่ปรึกษา หรือเลขานุการต่างๆ จะพบว่ามีประมาณ 800 ตำแหน่ง หรือกว่า 3,700 บัญชี

และในส่วนที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไป เทศบาลต่างๆ และในเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่างกรุงเทพฯ และพัทยา จะมีจำนวนตำแหน่งประมาณ 40 ตำแหน่ง และด้วยจำนวนผู้บริหารท้องถิ่นที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้แต่ละตำแหน่งมีคนที่ต้องยื่นบัญชีฯ เป็นจำนวนมาก ทำให้ในส่วนนี้มีจำนวนบัญชีฯ ของผู้บริหารท้องถิ่นที่ต้องยื่นประมาณ 118,000 บัญชี

เมื่อรวมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเข้าด้วยกันแล้ว จะมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีฯ ทั้งสิ้นกว่า 840 ตำแหน่ง มีจำนวนบัญชีฯ กว่า 121,700 บัญชี

ในส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต่างๆ ได้แก่ ข้าราชการระดับสูงของรัฐ เช่น ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงอื่นๆ ทั้งในภาครัฐและภาครัฐวิสาหกิจ มีจำนวนประมาณ 400 ตำแหน่ง คิดเป็นบัญชีฯ ที่ต้องยื่นกว่า 5,100 บัญชี และในอนาคตคาดว่า ป.ป.ช. จะประกาศเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งอื่นๆต้องยื่นบัญชีฯอีก

ทำให้ทุกๆ ช่วง 3 – 5 ปี เมื่อครบวาระทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีฯ ให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ 3 ครั้ง คือ กรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่ง 1 ปี จะต้องยื่นบัญชีฯ ทั้งหมดคิดเป็น 365,100 บัญชี (121,700 บัญชี ยื่น 3 ครั้ง) และเมื่อรวมกับบัญชีฯ เจ้าหน้าที่ของรัฐอีกกว่า 5,100 บัญชีเป็นอย่างน้อยจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชี ทุก 3 ปีที่อยู่ในตำแหน่ง ทำให้ปัจจุบันคาดว่าทุก 3–5 ปี ป.ป.ช. จะมีบัญชีฯ ที่ต้องตรวจสอบมากกว่า 370,000 บัญชี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต