ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปมร้อนโควตาหวย “ไอ้โม่ง” เดินเกมรุก เข็นสหภาพฯ กดดันปลดบอร์ดสลากกินแบ่งยกทีม

ปมร้อนโควตาหวย “ไอ้โม่ง” เดินเกมรุก เข็นสหภาพฯ กดดันปลดบอร์ดสลากกินแบ่งยกทีม

28 เมษายน 2012


ปมขัดแย้งผลประโยชน์การจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลยังเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ในขณะนี้ แม้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 เลิกจ้างนายสมชาติ วงศ์วัฒนศานต์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไปแล้ว แต่ความวุ่นวายในสำนักงานสลากฯ ยังไม่จบ หลังจากที่สหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกมาเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายสมชาติซึ่งถูกกล่าวหาว่า “ไม่มีวิสัยทัศน์และขาดภาวะผู้นำ” ได้ยกระดับความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ จนเก้าอี้ปลัดกระทรวงการคลังเริ่มสั่นคลอน

เก้าอี้ปลัดคลัง “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ร้อนมาโดยตลอดตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามา มีกระแสข่าวลือว่าจะมีการเปลี่ยนตัวปลัดคลังตั้งแต่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ แต่สุดท้ายก็ได้รับการยืนยันว่าไม่ปลด

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

จนกระทั่งปมร้อนเรื่องจัดสรรโควตาหวยของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ลงตัว ความขัดแย้งบานปลาย เพราะเม็ดเงินก้อนใหญ่จากการจัดสรรโควตาล่องหน ไม่รู้ไปอยู่ในกระเป๋าใคร ฝ่ายการเมืองที่ต้องการผลประโยชน์ก้อนนี้จึงกัดไม่ปล่อย ตามล่าผลประโยชน์ที่รู้ว่า “อยู่ที่ใคร” ส่งผลให้ “ธีระชัย” อดีต รมต.คลัง ถูกปลดออก

แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ เป็นปมร้อนจนทำให้เก้าอี้ปลัดคลังร้อนฉ่าขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง ในฐานะประธานกรรมกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2555 นายอำนวยพร เกิดพุ่ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมกับพนักงานสลากฯ กว่า 200 คน ไปยืนปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กดดันให้บอร์ดสลากฯ ต้องยื่นใบลาออกทั้งคณะ และขอให้ทบทวนคำสั่งเลิกจ้างนายสมชาติ เพราะเห็นว่าคำสั่งเลิกจ้างที่ออกโดยปลัดคลังไม่มีความเป็นธรรม ที่ผ่านมานายสมชาติปฎิบัติหน้าที่ตามคำสั่งบอร์ดอย่างเคร่งครัด และไม่มีความผิดใดๆ เหตุใดถึงถูกเลิกจ้าง

เบื้องลึกของความวุ่นวายในสำนักงานสลากฯ จริงๆ แล้วมาจากเรื่องการจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล 4 ล้านฉบับ ไม่ลงตัว ตามที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าเคยนำเสนอก่อนหน้านี้ (อ่าน “หวยล็อค “เด้ง” ผอ.สลากกินแบ่ง “สมชาติ วงศ์วัฒนศานต์” – เปิดใจเบื้องหลัง “ผมไม่มีภาวะผู้นำ””) มี “ไอ้โม่ง” ฉกเงินค่านายหน้า 500 ล้านบาท จากการนำโควตาสลากฯ ล็อตนี้ไปขายล่วงหน้า 2 ปี ให้กับยี่ปั้วภาคเหนือ หรือที่เรียกกันว่า “เทคอม” โดยที่คนในพรรคเพื่อไทยเองไม่มีใครทราบเรื่องนี้มาก่อน เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาไม่จบไม่สิ้น

เดิมโควตาสลาก 40,000 เล่ม หรือ 4 ล้านฉบับ เป็นของ 8 หน่วยงาน แต่ต่อมาถูกคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่บอร์ดแต่งตั้งขึ้นมาตรวจสอบพบว่ามีอยู่ 4 หน่วยงานผิดเงื่อนไขของสำนักงานสลากฯ ไม่ได้นำสลากฯ ไปขายเอง แต่ไปขายส่งให้ยี่ปั้ว จึงไม่ต่อสัญญาฯให้ จากนั้นวันที่ 14 ธ.ค. 2555 บอร์ดมีมติต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ให้ 4 หน่วยงาน ส่วนโควตาสลากของ 4 หน่วยงาน ที่ไม่ได้ต่อสัญญามีอยู่ 28,238 เล่ม ให้โอนโควตาไปให้มูลนิธิสำนักงานสลากฯ รวมแล้วมูลนิธิสำนักงานสลากฯ มีโควตาสลากอยู่ในมือ 39,022 เล่ม ถัดมาอีกไม่กี่วัน มูลนิธิสำนักงานสลากฯ นำโควตาสลากไปทำสัญญากับตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ภาคเหนือ

ตามปกติทั่วไปเมื่อบอร์ดมีมติออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ต้องทำเรื่องเสนอบอร์ดรับรองในการประชุมครั้งถัดไป แต่ปรากฏว่าเรื่องการต่อสัญญาฯ นี้ยังไม่ทันจะส่งให้บอร์ดรับรอง มูลนิธิสำนักงานสลากฯ กลับนำโควตาหวยที่ได้รับจากสำนักงานสลากฯ ไปทำสัญญากับยี่ปั๊วภาคเหนือ โดยมูลนิธิสำนักงานสลากจะได้รับส่วนแบ่ง 2% จากส่วนลด 9% ที่ตัวแทนจำหน่ายได้รับจากการขายหวย ทั้งนี้เพื่อนำเงินรายได้มาใช้เป็นสวัสดิการพนักงาน

จากนั้นได้มีการนำมติบอร์ดวันที่ 14 ธ.ค. 2554 ขอมติบอร์ดรับรองตามธรรมเนียมปฎิบัติ ปรากฏว่าไม่มีกรรมการคนใดยอมรับรองผลการประชุม เพราะไม่มีใครได้รับผลประโยชน์จากการต่อสัญญาโควตาสลากฯ ล็อตนี้ นอกจาก “ไอ้โม่ง” ที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง ตอนนั้นนางเบญจา หลุยเจริญ เป็นประธานคณะกรรมการสลากฯ ถูกกดดันอย่างหนักให้รับรองผลการประชุม แต่นางเบญจาไม่ยอมทำตาม จนในที่สุดก็ถูกปลดเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2554 และแต่งตั้งนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังเข้ามาทำหน้าที่แทน

แต่นายอารีพงศ์ยังไม่ทันจะทำอะไร ข่าวปมผลประโยชน์ขัดแย้งโควตาสลากก็กระฉ่อนไปถึงดูไบ วันที่ 18 ม.ค. 2555 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ครม. แต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ช่วงนั้นถ้าใครจำได้ก็จะมีกระแสข่าวปลดปลัดคลังดังกระหึ่มขึ้นมาอีกรอบ แต่สุดท้ายนายกิตติรัตน์ยืนยันว่าไม่ย้ายปลัดคลังไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ท่าทีของบอร์ดสลากฯ จึงเปลี่ยนไป โดยเริ่มมีความพยายามจะยกเลิกโควตาสลากฯ ที่ทำไว้กับเอเย่นต์ภาคเหนือ

สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของนายสมชาติเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2555 นายสมชาติระบุว่า “จะมาบีบให้ผมบอกเลิกสัญญากับตัวแทนจำหน่ายสลากฯ หากจะให้ผมทำก็ไม่ขัดข้อง แต่ต้องออกเป็นมติบอร์ด” ทั้งนี้ หากนายสมชาติสั่งให้มูลนิธิสำนักงานสลากฯ บอกเลิกสัญญากับยี่ปั๊วภาคเหนือโดยไม่มีความผิดใดๆ เกรงว่าจะถูกคู่สัญญาฟ้องเรียกค่าเสียหายไล่เบี้ยกันมาตั้งแต่มูลนิธิสำนักงานสลากฯ, ผู้อำนวยการ และสำนักงานสลากฯ

นายสมชาติ วงศ์วัฒนศานต์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
นายสมชาติ วงศ์วัฒนศานต์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

จากนั้น จึงมีการชงเรื่องการยกเลิกโควตาสลากเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2555 แต่เสียงส่วนใหญ่มีมติไม่รับรอง ช่วงนี้บอร์ดบางคนพยายามพูดเกลี้ยกล่อมนายสมชาติอย่างไม่เป็นทางการให้ยกเลิกโควตาสลากฯ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเกิดการประลองกำลังกันขึ้นในยกแรก ระหว่างสำนักงานสลากฯ กับบอร์ด โดยสำนักกฏหมายของสำนักงานสลากฯ ทำเรื่องรายงานบอร์ดวันที่ 6 มี.ค. 2555 ว่า “มติบอร์ดวันที่ 14 ธ.ค. 2554 มีผลบังคับใช้แล้ว ถึงแม้บอร์ดจะไม่มีการรับรองแต่สำนักงานสลากฯ ได้ทำสัญญาผูกพันไปแล้ว ต้องปฎิบัติตามสัญญา”

สรุป สำนักงานสลากฯ ไม่ยอมยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับยี่ปั๊วภาคเหนือ ยกที่ 1 จบลงด้วยการที่บอร์ดมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2555 ให้เลิกจ้างนายสมชาติ โดยปลัดคลังทำหนังสือมาบอกกล่าวนายสมชาติอย่างเป็นทางการวันที่ 11 เม.ย.2555 ซึ่งจะมีผลทำให้นายสมชาติต้องพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ภายใน 30 วัน นับจากที่ได้รับหนังสือ

ขึ้นยกที่ 2 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2555 ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 27 เม.ย. 2555 เป้าหมายคือให้มีการทบทวนคำสั่งเลิกจ้างนายสมชาติ และกดดันให้กรรมการลาออกยกบอร์ด ล้างไพ่กันใหม่ โดยสหภาพขีดเส้นตายวันที่ 1 พ.ค. 2555 ต้องได้รับคำตอบจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หากไม่ได้รับคำตอบจะเคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่หน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรี ซอยโยธินพัฒนา 3

งานนี้เป็นการประลองกำลังกันอีกครั้งระหว่างสำนักสลากฯ กับบอร์ดที่มีปลัดคลังเป็นประธานฯ นายอารีพงศ์จะผ่านยก 2 อย่างไร แต่ที่แน่ๆ “ไอ้โม่ง” ลอยนวลอีกตามเคย

ลำดับเหตุการณ์ปมขัดแย้ง จัดสรรโควตาหวยไม่ลงตัว

ถ้าลำดับเหตุการณ์ที่มาที่ไปของปมความขัดแย้ง เริ่มในสมัยที่นายวันชัย สุระกุล เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ประชุมบอร์ดสำนักงานสลากฯ มีมติให้จัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาล 4 หมื่นเล่ม หรือ 4 ล้านฉบับ ให้ 8 หน่วยงาน ไปขาย ได้แก่ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 15,000 เล่ม, สมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย 11,000 เล่ม, มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 10,784 เล่ม, มูลนิธิเวชศาสตร์เขตร้อน 2,000 เล่ม, มูลนิธิโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 478 เล่ม, สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย 190 เล่ม, มูลนิธิสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการ 310 เล่ม และมูลนิธิพันเอกจินดา ณ สงขลา 283 เล่ม

โดยให้สิทธิ 8 หน่วยงานรับสลากกินแบ่งรัฐบาลไปขาย ตั้งแต่งวดวันที่ 1 พ.ย. 2552 ถึงงวดวันที่ 18 ต.ค. 2554 โดยที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และสมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทยได้รับโควตาสลากฯ รวมกัน 26,000 เล่ม หรือเกินกว่า 50%

ก่อนที่สัญญาแต่งตั้ง 8 หน่วยงาน เป็นตัวแทนจำหน่ายสลากฯจะครบกำหนด 2 ปี (18 ต.ค.2554) ที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2554 มีมติต่ออายุสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากให้กับ 8 หน่วยงาน ออกไปอีก 2 ปี นับตั้งแต่งวดวันที่ 1 พ.ย. 2554 แต่ยังไม่ทันได้นำเรื่องนี้กลับมาเสนอให้บอร์ดเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กรรมการบอร์ดที่ได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยื่นใบลาออก

วันที่ 6 ก.ย. 2554 ครม.ยิ่งลักษณ์ ได้มีมติแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ 3 คน เข้าไปทำหน้าที่แทน ได้แก่ พล.ท.รุจรินท์ กิจวิทย์ แทน พล.ต.ท.สุรสีห์ สุนทรศารทูล, พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ แทนนายฐนนท์ศรณ์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล และนายวีรภัทร ศรีไชยา แทนนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์

เป็นที่ทราบกันดีว่า องค์กรส่วนใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรโควตาจากสำนักงานสลากฯนั้นไม่ได้นำสลากไปขายเอง แต่นำโควตาสลากฯ ที่ได้รับการจัดสรรไปขายล่วงหน้าให้กับยี่ปั๊วต่างๆ ไว้แล้ว หรือที่เรียกว่า “เทคอม” เพราะฉะนั้น หลังจากที่บอร์ดมีมติเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2554 ให้ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายอีก 2 ปี จึงมีการขายเทคอมกันไปหมดแล้ว ตอนนั้นเองที่มีข่าวกระแสลือในสำนักงานสลากฯ ว่ามีผู้รับผลประโยชน์จากการต่อสัญญาครั้งนั้น

วันที่ 19 ก.ย. 2554 คณะกรรมการชุดใหม่ประชุมเห็นชอบให้ตรวจสอบสถานะและคุณสมบัติการเป็นตัวแทนจำหน่าย 8 หน่วยงาน หลังจากที่ได้รับหนังสือร้องเรียนว่า องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและสมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทยปฎิบัติผิดเงื่อนไข ไม่ได้นำสลากไปขายเอง แต่นำสลากไปขายส่งให้กับบริษัทเอกชน

วันที่ 12 ต.ค. 2554 ที่ประชุมบอร์ดมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนดังกล่าว โดยมี พล.ท.รุจรินท์ กิจวิทย์ เป็นประธานฯ กรรมการประกอบด้วย พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์, นายวีรภัทร ศรีไชยา และหัวหน้าสำนักกฏหมาย สำนักงานสลากฯ ดังนั้นจึงมีการชะลอเรื่องการต่อสัญญาทั้ง 8 หน่วยงานเอาไว้ก่อน และในระหว่างยังไม่มีการต่อสัญญา บอร์ดมอบหมายให้มูลนิธิสำนักงานสลากฯ เป็นผู้จำหน่ายสลากฯ ชั่วคราวไปก่อน 2 งวด คือ งวดวันที่ 1 และ 16 พ.ย. 2554

วันที่ 11 พ.ย. 2554 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงรายงานผลการสอบต่อที่ประชุมบอร์ด เบื้องต้นพบว่า 2 หน่วยงาน ปฎิบัติผิดเงื่อนไขจริง ไม่ได้นำสลากฯ ไปขายโดยตรง แต่มอบให้สมาชิกหรือนำไปขายส่งให้กับบริษัทเอกชน บอร์ดจึงมีมติให้ชะลอการต่อสัญญาทั้ง 8 หน่วยงาน และให้ขยายผลการสอบสวนไปให้ครบทั้ง 8 หน่วยงาน และในระหว่างการตรวจสอบให้มูลนิธิสำนักงานสลากฯรับสลากฯทั้ง 40,000 เล่ม หรือ 4 ล้านฉบับ ไปขายในงวดวันที่ 30 ธ.ค. 2554 และงวดวันที่ 16 ม.ค. 2555

ปัญหาเกิดขึ้นตรงนี้ กล่าวคือ เมื่อบอร์ดมีมติสั่งชะลอการต่อสัญญาทั้ง 8 ราย ทำให้นายทุนซึ่งได้จ่ายเงินล่วงหน้าจากการเทคอมไปก่อนหน้านี้ พยายามทุกวิถีทางที่จะให้มีการต่อสัญญากับ 8 หน่วยงาน ขณะเดียวกันมีกลุ่มทุนอีกกลุ่ม หวังที่จะได้โควตาสลากฯ 4 ล้านฉบับ ล็อตนี้ไปขายเช่นกัน กลุ่มทุนทั้ง 2 กลุ่ม จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งกัน

นายสมชาติ วงศ์วัฒนศานต์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ
นายสมชาติ วงศ์วัฒนศานต์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ
วันที่ 22 พ.ย.2554 ครม. มีมติแต่งตั้งนายสมชาติ วงศ์วัฒนศานต์ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ

วันที่ 14 ธ.ค. 2554 ที่ประชุมบอร์ดมีมติให้ต่อสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ให้กับ 4 หน่วยงาน และไม่ต่อสัญญาฯ ให้กับอีก 4 หน่วยงานตามที่ฝ่ายบริหารของสำนักงานสลากฯ นำเสนอ
(ดูตารางด้านบน)

ทั้งนี้ มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ซึ่งได้รับการต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากฯ 10,784 เล่ม ส่วนโควตาสลากฯ รายที่ไม่ได้ต่อสัญญา 28,238 เล่ม บอร์ดได้มอบให้มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ไปขาย รวมแล้วมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ได้รับการจัดสรรสลากฯ ไปทั้งหมด 39,022 เล่ม โดยสัญญาตัวแทนจำหน่ายที่สำนักงานสลากทำไว้กับ 4 หน่วยงานที่ได้รับการต่อสัญญามีอายุ 2 ปี เริ่มจำหน่ายตั้งแต่งวดวันที่ 16 ม.ค. 2555 ถึงงวดวันที่ 30 ธ.ค. 2556 ทั้ง 4 หน่วยงานได้รับส่วนลด 9% เมื่อที่ประชุมบอร์ดมีมติออกมาเช่นนี้ จึงทำให้มีผู้ที่ไม่สมหวัง หรือนายทุนอีกลุ่มหนึ่งต้องเสียเงินก้อนใหญ่ไปฟรีๆ จึงมีความพยายามจะให้ยกเลิกมติวันที่ 14 ธ.ค. 2555

วันที่ 21 ธ.ค. 2554 นางเบญจา หลุยเจริญ ประธานคณะกรรมการสลากฯ ได้รับหนังสือจากกระทรวงการคลังลงนามโดยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังให้ยกเลิกการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสลากฯ และกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งนายอารีพงศ์ให้ทำหน้าที่ประธานฯแทนนางเบญจา

นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตประธานกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตประธานกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

หลังจากที่สำนักงานสลากฯ ไม่ต่อสัญญาให้กับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และสมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย ทั้ง 2 หน่วยงานจึงร้องขอความเป็นธรรมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น สั่งการให้สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากการกุศลเพิ่มขึ้นอีก 40,000 เล่ม ในงวดเดือน ก.พ.2555 สำนักงานสลากฯ นำโคตาสลากฯ ไปจัดสรรให้กับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 26,000 เล่ม ตามที่ได้ตกลงกันไว้

วันที่ 18 ม.ค. 2555 ครม. มีมติปรับนายธีระชัยออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2555 ที่ประชุมบอร์ดได้สอบถามความเห็นและมีการรับรองการมติประชุมวันที่ 14 ธ.ค. 2554 แต่ยกเว้นเรื่องการยกเลิกโควตาสลากฯ ซึ่งมีมติไม่รับรองโดยเสียงข้างมาก และมอบหมายให้สำนักงานฯ ไปดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรฐานทั่วไปแล้ว การประชุมจะถือว่ามีการบันทึกผลที่ได้มีมติไว้แล้ว ส่วนการรับรองเป็นเพียงการตรวจสอบข้อความหรือมีการแก้ไขบางส่วน แต่ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของมติที่ได้บันทึกผลกันไว้แล้ว

ต่อมา ที่ประชุมบอร์ดวันที่ 6 มีนาคม 2555 พิจารณาผลการดำเนินงานของสำนักงานสลากฯ ซึ่งสำนักงานกฏหมายของสำนักงานสลากฯ มีความเห็นว่ามติวันที่ 14 ธันวาคม 2554 มีผลสมบูรณ์แล้ว ถึงแม้ไม่มีการรับรองรายงานการประชุม และสำนักงานสลากฯ ได้ลงนามผูกพันไปแล้ว ต้องปฏิบัติตามสัญญา

ขณะที่บอร์ดเห็นว่าเป็นการดำเนินการก่อนมีมติไม่รับรองรายงานการประชุม ดังนั้น เมื่อกรรมการเสียงส่วนใหญ่มีมติไม่รับรอง จึงสั่งให้สำนักงานสลากฯ กลับไปศึกษาแล้วเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ดยังมีมติให้พิมพ์สลากบำรุงการกุศลโรงพยาบาลศิริราชเพิ่มอีกงวดละ 2 หมื่นเล่ม โดยจัดสรรให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นเวลา 1 ปี (24 งวด) นับตั้งแต่งวดวันที่ 1 เม.ย. 2555 ถึงงวดวันที่ 16 มี.ค. 2556

จนกระทั่งมาถึงวันที่ 4 เม.ย. 2555 ที่ประชุมบอร์ดมีมติให้เลิกจ้างผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นทางการ 30 วัน นับจากวันที่นายสมชาติได้รับหนังสือเลิกจ้างเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2555 จากนั้นในวันที่ 17 เม.ย. 2555 ที่ประชุมบอร์ดรับรองมติเลิกจ้างและจำกัดอำนาจนายสมชาติ ทำให้นายสมชาติไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานและอนุมัติการบริจาคเงินต่างๆ ของสำนักงานสลากฯ ได้ หากจะดำเนินการต้องส่งเรื่องให้บอร์ดพิจารณาทั้งหมด

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดได้แต่งตั้ง พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ พร้อมกับเปิดรับสมัครผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลคนใหม่