ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “รพ.-แพทย์” สังกัดกระทรวงสาธารณสุขขึ้นป้าย เรียกร้องเลือกเลขาสปสช.คนใหม่ 11 เมษา “ไม่เอาคนมีปัญหา”

“รพ.-แพทย์” สังกัดกระทรวงสาธารณสุขขึ้นป้าย เรียกร้องเลือกเลขาสปสช.คนใหม่ 11 เมษา “ไม่เอาคนมีปัญหา”

10 เมษายน 2012


โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นป้ายเรียกร้องเลือกเลขาสปสช.คนใหม่ "ไม่เอาคนมีปัญหา" ซึ่งจะมีการคัดเลือกวันที่ 11 เมษายน 2555นี้
โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นป้ายเรียกร้อง"วิทยา บูรณะศิริ" รมต.สาธารณสุข เลือกเลขาสปสช.คนใหม่ "ไม่เอาคนมีปัญหา" ซึ่งจะมีการคัดเลือกวันที่ 11 เมษายน 2555 นี้

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นวันจักรีและเป็นหยุดราชการ แต่มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาเพื่อคัดเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรากฏว่ามี 3 คนที่ผ่านการคัดเลือกได้แก่ 1. นพ.วินัย สวัสดิวร(อดีตเลขาสปสช.คนล่าสุด) 2.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล 3.นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ล่าสุดนายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ระบุว่าจะมีการคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 คน ในวันที่ 11 เมษายน 2555 นี้

ก่อนและหลังจากที่มีข่าวนี้ออกมาทางกลุ่มสมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท. และกลุ่มประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิ์พลเมืองได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึงนายวิทยา บูรณศิริ เพื่อให้มีการคัดเลือกเลขาสปสช.คนใหม่ อย่างรอบคอบ เลือกคนดี มีจริยธรรม คุณธรรมและมีคุณภาพ อย่าเลือกคนที่ทุจริตคดโกง และไร้คุณธรรม เพราะเลขาสปสช.เป็นผู้บริหารเงินกองทุนสปสช.กว่า 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามหนังสือร้องเรียนดังกล่าวได้มีข้อท้วงติงในหลายประเด็นสำหรับผู้สมัครเลขาธิการสปสช. โดยเฉพาะกรณีนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาสปสช.ที่เพิ่งหมดวาระไป ซึ่งถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้สรุปการตรวจสอบประเมินผลสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2554 ระบุจากผลการตรวจสอบการใช้งบบริหารของสปสช.เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 พบว่าการบริหารจัดการยังไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมในหลายประเด็นได้แก่

1.การใช้จ่ายงบบริหารไม่ถูกต้องและไม่ประหยัด

2.การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนด

3.การนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้เป็นเงินสวัสดิการเป็นการไม่เหมาะสม

4.การจัดส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งงานไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545

5.ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง

6.การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพ.ร.บ.หลักประกันสุภาพแห่งชาติ และ

7.การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด(อ่านเพิ่มเติม สตง.ตรวจสอบการดำเนินงานสปสช.ระบุไม่โปร่งใส ใช้งบสุขภาพถ้วนหน้า เหมาจ่ายรายหัวผิดประเภทเกือบ 100 ล้าน)

จากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้ติดตามเรื่องนี้ทางเลขาธิการสปสช.ได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังสตง.แล้วและได้เดินทางไปหารือกับผู้อำนวยการสตง.( อ่านเพิ่มเติม)แต่ในกระบวนการสอบสวนของหัวหน้างานโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่ายังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินพ.ศ.2542 มาตรา 46

ทั้งนี้ทางพญ. ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./ รพท. แห่งประเทศไทยกล่าวถึงสาเหตุที่ออกมาร้องคัดค้านเรื่องนี้ว่า “เราไม่ต้องการคนมีปัญหามาเป็นเลขาฯ สปสช.” และประโยคนี้จะถูกขึ้นป้ายหน้าโรงพยาบาลทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 10 เมษายน 2555 นี้ เพราะนี่คือสิ่งที่ผู้ให้การรักษาคนไข้ ทั้งกระทรวงสาธารณสุขเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ และต้องการให้ท่านประธาน(รมต.สาธารณสุข)และกรรมการ สปสช.ได้ทราบและพิจารณาให้รอบคอบ โปร่งใส เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครทั้ง 3และให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถือบัตรทอง และผู้ให้การรักษาทั้งประเทศ เพราะพวกเราต้องรับผลจากการกระทำของเลขาฯ แต่ละคนถึง 4 ปี จึงขอร้องคณะกรรมการ โปรดให้ความเป็นธรรมพวกเราด้วย กรุณาเลือกเลขาฯ สปสช. อย่างรอบคอบ ไม่รีบร้อน เพราะการรีบร้อนอาจจจะพลาด มีปัญหายืดเยื้อเรื้อรังในอนาคตได้”

ส่วนพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.) ได้ทำหนังสือถึงนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกฉบับ โดยระบุว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่าคณะกรรมการสปสช.มีการตั้งกรรมการสรรหาเลขาธิการสปสช.คนใหม่ จำนวน 5 คน ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 31 ซึ่งกรรมการสรรหาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 32(1) (3) (4) (5) (6) (9) (10) (11) (12) นั้น

จากการตรวจสอบรายชื่อกรรมการสรรหา พบว่ามีกรรมการสรรหา 1 คน คือนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ น่าจะมีคุณสมบัติขัดแย้งกับมาตรา 32 (12) กล่าวคือนายนิมิตร์ เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและอาจเป็นคู่สัญญากับสปสช. โดยการได้รับเงินสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิ หรือมีประโยชน์ได้เสียกับสปสช. อันอาจเข้าข่ายเป็นกรรมการสรรหาที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการได้รับเงินสนับสนุนจากสปสช. หรือเป็นคู่สัญญากับสปสช. ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาคัดเลือกเลขาธิการสปสช. เป็นการพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง และก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาและผู้สมัครเป็นเลขาธิการสปสช.ที่ไม่ได้รับการคัดเลือก อาจนำผลการคัดเลือกนี้ไปฟ้องร้องศาลปกครอง เพื่อให้ยกเลิกเพิกถอนมติกรรมการสรรหาได้ ตามคดีตัวอย่างดังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.20/2545 หมายเลขแดงที่ อ.4/2546 ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาระหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเกิดความล่าช้าต่อการทำงานบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อประชาชนและโรงพยาบาลที่ต้องรักษาประชาชนต่อไป

จึงขอให้ประธานและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของนายนิมิตร์ เทียนอุดม ว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 32(12) หรือไม่/อย่างไร และรีบชี้แจงความจริงให้กระจ่างโดยเร็ว เพื่อความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม ในการดำเนินการสรรหาเลขาธิการสปสช.ต่อไป

แหล่งข่าวจากรรมการสปสช.กล่าวว่าต่อเรื่องนี้ทางนายวิทยาได้สั่งการให้ฝ่ายกฏหมายตรวจสอบข้อมูลแล้ว ซึ่งฝ่ายกฎมายได้แจ้งว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามูลนิธิเข้าถึงเอดส์ไม่ได้ทำสัญญาใดๆกับสปสช.

“จากข้อมูลที่ทราบกันในสปสช.ว่ามูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้รับการสนับสนุนเงินจากสปสช.มาต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ทางกรรมการสปสช.ไม่สามารถขอดูเอกสารหรือข้อมูลใดๆจากเจ้าหน้าที่สปสช.ได้เลย หากจะให้ดูก็ไม่มีรายละเอียดตามที่ขอ และมีข้ออ้างมากมาย โดยเฉพาะตัวเลขการใช้จ่ายต่างๆ กรณีของนายนิมิตร์ก็เช่นเดียวกัน เพราะเป็นที่ทราบกันดีกว่ามูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ที่นายนิมิตร์เป็นผู้อำนวยการอยู่นั้นได้รับการสนับสนุนจากสปสช. ทางผู้ท้วงติงจึงมองว่าน่าจะขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการสรรหาตามมาตรา32(12)”แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ในหนังสือดังกล่าวยังกล่าวถึงกระแสข่าวลือที่ว่านายวิทยาได้รับการเสนอเงินจำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อเลือกคนที่มีปัญหาการบริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาเป็นเลขาธิการอีกวาระหนึ่ง

นอกจากนี้หนังสือร้องเรียนดังกล่าวได้ระบุถึงรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขและรายงานจากการสัมมนาของกรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภาเมื่อวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2554 ได้ระบุว่าโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ได้แก่

1.ขาดแคลนงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขประสบภาวะขาดทุนมากกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมด และมีอีกหลายโรงพยาบาลที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนไม่มีเครดิตพอที่บริษัทยาจะยอมส่งยามาให้ใช้ในการรักษาประชาชน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข แทบจะไม่ได้รับงบประมาณในการพัฒนาอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ยกตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ ผู้ป่วยต้องตระเวนหาเตียงนอนในโรงพยาบาลต่างๆจนเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ

2.ขาดกำลังคนในทุกสาขาวิชาชีพในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ขาดบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย จนทำให้เกิดปัญหาในโรงพยาบาลระดับศูนย์การแพทย์/รพ.ทั่วไป/รพ.ชุมชน กล่าวคือจำนวนบุคลากรที่มีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วย ทำให้บุคลากรต้องทำงานหนัก จนเกิดความท้อถอยและลาออกไปหางานอื่นที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ส่งผลให้ภาระงานของบุคลากรที่เหลืออยู่ทำงานรับใช้ประชาชนยิ่งหนักหน่วงยิ่งขึ้นจนส่งผลให้บุลากรต้องทำงานมากเกินกำลัง เช่น พยาบาลทำงานติดต่อกัน 16 ชั่วโมง แพทย์ทำงานติดต่อกัน 24-32 ชั่วโมงจึงจะได้พัก ก่อให้เกิดความเหนื่อยล้า ความเครียด และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และความเสียหายต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากรเอง

3..ขาดงบประมาณในการพัฒนาอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ยกตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ ผู้ป่วยต้องตระเวนไปตามโรงพยาบาลต่างๆ เนื่องจากโรงพยาบาลหลายๆแห่ง มีผู้ป่วยนอนเต็มจนล้นเตียง ต้องนอนเตียงเสริม เตียงแทรก ปูเสื่อนอนตามหน้าบันได ที่ระเบียง หน้าห้องส้วม เป็นที่น่าอนาถยิ่งนัก

นี่คือข้อมูลต่างๆที่นำเสนอเพื่อให้นายวิทยา บูรณศิริ พิจารณาก่อนตัดสินเลขาธิการสปสช.คนใหม่

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ทางสปสช.ได้จัดงานครบรอบ 10 ปีสปสช.และการก้าวสู่ทศวรรษที่สอง ได้จัดให้มีการสัมมนา 2 วัน ในหัวข้อสัมมนา“หนึ่งทศวรรษหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: คนไทยได้อะไร” นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ รองเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) ได้เปิดเผยข้อมูลว่าจากการบริหารจัดการของสปสช.ที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ และหวั่นเกรงว่าจะนำไปสู่ความอ่อนแอของระบบบริการสาธารณสุขไทยในอนาคต เพราะโรงพยาบาลไม่มีเงินสร้างตึกใหม่ ซื้ออุปกรณ์ใหม่ รวมทั้งโรงเรียนแพทย์เองขาดการพัฒนาเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยี่ใหม่ๆทางการแพทย์ รวมทั้งการเข้าถึงยาใหม่ๆด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)