ThaiPublica > เกาะกระแส > น้ำท่วม ลูกหนี้ดี 3.75 ล้านราย รัฐบาลจัดเต็ม พักหนี้-ลดดอกเบี้ย 3% รับขวัญ 3 ปี

น้ำท่วม ลูกหนี้ดี 3.75 ล้านราย รัฐบาลจัดเต็ม พักหนี้-ลดดอกเบี้ย 3% รับขวัญ 3 ปี

25 เมษายน 2012


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมต.คลัง(กลาง) นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง (ขวา) และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง (ซ้าย) ร่วมกันแถลงข่าว “โครงการพักหนี้ประชาชน” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมต.คลัง (กลาง) นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง (ขวา) และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง (ซ้าย) ร่วมกันแถลงข่าว “โครงการพักหนี้ประชาชน” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวว่าหลังจากประเทศผ่านพ้นภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ช่วงปลายปี 2554 รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยได้จัดโครงการพักหนี้เป็นเวลา 3 ปี ให้เกษตรกรและประชาชนที่ไม่สามารถชำระหนี้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้ ซึ่งเฟสแรกได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการนี้ มีผู้มายื่นเข้าร่วมโครงการนี้ทั้งหมด 661,508 ราย ผ่านการอนุมัติ 428,384 ราย คิดเป็นมูลหนี้ที่ได้รับการดูแล 52,301.87 ล้านบาท

และเพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับกับประชาชนตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 มีมติเห็นชอบโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 5 แสนบาท เป็นเฟสที่ 2

นายกิตติรัตน์เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่เป็นหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท เพื่อเป็นการแก้ปํญหาหนี้สินให้กับประชาชน โดยให้ขยายความช่วยเหลือไปยังกลุ่มลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติ หรือลูกหนี้ดี ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่ง

ทั้งนี้ ลูกหนี้ปกติสามารถเลือกได้ 2 แนวทาง คือ 1. ขอพักชำระเงินต้นพร้อมกับลดดอกเบี้ย 3% ต่อปี หรือ 2. จะขอลดดอกเบี้ย 3% ต่อปี แต่ผ่อนชำระเงินต้นตามปกติเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2555 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2558 โดยมีเงื่อนไขดังนี้

1. เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่งก่อนวันที่ 24 เมษายน 2555 มีสถานะหนี้ปกติ มูลหนี้ไม่เกิน 500,000 บาท

2. ต้องไม่เป็นหนี้ประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อ/ลิสซิ่ง, สินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้ประจำ และไม่เป็นลูกหนี้ที่ได้รับการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ

3. มีสิทธิขอกู้เพิ่มใหม่ได้ ตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยคิดดอกเบี้ย ณ ปัจจุบันที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพิ่ม

4. หลังเข้าโครงการนี้ ลูกหนี้ต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ หากผิดนัดชำระหนี้ลูกหนี้จะถูกปรับออกจากโครงการทันที

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การขยายโครงการพักหนี้ไปยังกลุ่มลูกหนี้ดีครั้งนี้ กระทรวงการคลังจัดงบประมาณมาชดเชยค่าดอกเบี้ย 1.5% ให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้อีก 1.5% รวมแล้วลูกหนี้ดีได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 3% ต่อปี คาดว่าจะมีประชาชนรับประโยชน์จากโครงการนี้เพิ่มอีก 3,758,226 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 459,113.05 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 0.4-0.7% ต่อปี หรือ คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 44,000-47,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เอ็นพีแอลที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ โดยในเฟสแรก หากผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ จนกลับมาเป็นลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติได้ สามารถเปลี่ยนหรือย้ายมาเข้าโครงการพักหนี้เฟสที่ 2 ได้

“รัฐบาลได้พิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการขาดวินัยทางการเงิน หากภายหลังเข้าโครงการพักหนี้ใหม่แล้ว ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้จะถูกปรับออกจากโครงการทันที จากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่แนะนำ ติดตามการใช้เงินของลูกหนี้อย่างประหยัด นอกจากกระทรวงการคลังจะหางบฯ มาชดเชยดอกเบี้ยให้แบงก์รัฐ 1.5% แล้วยังหาแหล่งเงินต้นทุนต่ำ และเงินเพิ่มทุนมาช่วยบรรเทาภาระแบงก์รัฐด้วย รวมถึงแยกบันทึกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ เพื่อให้ประเมินผลงานแบงก์รัฐเป็นไปอย่างโปร่งใสต่อไป” นายกิตติรัตน์กล่าว

อนึ่ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้เฟสที่ 2 มี 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้ที่สนใจสามารถแสดงความจำนงผ่านสาขาของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 4 แห่ง ทั้งนี้เงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงินอาจจะแตกต่างกัน ซึ่งจะทยอยประกาศรายละเอียดตามมา

คลังจัดมาตรการพยุงเอสเอ็มอี รับมือขึ้นค่าแรง 300 บาท

ในวันเดียวกันนี้ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อพัฒนาผลิตภาพทางการผลิต สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และลดภาระต้นทุนจากนโยบายปรับค่าแรงงาน รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังนี้

1. มาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย

1.1 โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต โดยเอสเอ็มอีแบงก์เตรียมวงเงิน 20,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สำหรับสินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักรผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี และสินเชื่อพัฒนากระบวนการทำงานผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี โดยไม่ต้องมีหลักประกัน วงเงินกู้ยืมต่อรายสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท สินเชื่อทั้ง 2 ประเภท คิดอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก MLR ลบ 3% และปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ย MLR ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องต่อเอสเอ็มอีแบงก์ได้ภายใน 2 ปี นับจาก ครม. มีมติ

1.2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio guarantee scheme ระยะที่ 4 โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะค้ำประกันสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอ โดยจะทำในลักษณะ Portfolio มีวงเงินค้ำประกันรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 5 ปี วงเงินค้ำประกันสูงสุดต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่อปีอยู่ที่ 1.75% ของยอดค้ำประกันคงค้าง ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอต่อสถาบันการเงินภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555

1.3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio guarantee scheme สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่เพิ่งเริ่มเปิดกิจการไม่เกิน 2 ปี วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 7 ปี วงเงินสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อราย คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีละ 2.5% ของยอดค้ำประกันคงค้าง โดยรัฐบาลจะจ่ายชดเชยค่าธรรมเนียมปีแรก ยื่นคำขอต่อสถาบันการเงินได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555

1.4 กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ปล่อยกู้เอสเอ็มอีเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม คิดดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี วงเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 4.2 หมื่นบาทต่อราย ระยะเวลากู้ยืมสูงสุด 4 ปี ผู้ที่สนใจติดต่อกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้หรือหน่วยงานในสังกัดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555

1.5 โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ผ่านทางกองทุนประกันสังคม (สปส.) โดยให้สถาบันการเงินใช้แหล่งเงินทุนจาก สปส. เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง หรือเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตและรักษาการจ้างงานไว้ โครงการนี้มีวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท วงเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 4 ล้านบาทต่อราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนการจ้างงาน ผู้ประกอบการสามารถติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555

2. มาตรการภาษี ประกอบด้วย

2.1 มาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลส่วนที่เป็นเงินได้จากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ ส่วนต่าง หรือกำไรที่เกิดขึ้นได้รับการยกเว้นภาษี โดยมีระยะเวลาใช้สิทธิประโยชน์จากการขายเครื่องจักรได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 – 31 ธันวาคม 2555

2.2 มาตรการหักค่าเสื่อมเครื่องจักร โดยให้หักค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรใหม่ได้ 100% ในปีแรก จากเดิมให้หักค่าเสื่อมได้ปีละ 20% ภายใน 5 ปี เริ่มใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 – 31 ธันวาคม 2555

2.3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำ โดยให้ผู้ประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ยกตัวอย่าง เดิมจ่ายค่าแรงวันละ 215 บาท ปรับเพิ่มเป็น 300 บาท ส่วนต่าง 85 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า เริ่มใช้สิทธิประโยชน์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน -31 ธันวาคม 2555

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ทางมาตรการภาษีดังกล่าว ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี คาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ กรณีนิติบุคคลมีจำนวน 2 แสนราย และเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดาอีก 5 แสนราย