ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สนพ.ติวเข้มสูตรคำนวณต้นทุนเอ็นจีวี กิโลกรัมละ 15.96 บาท ยันไม่มีหมกเม็ด

สนพ.ติวเข้มสูตรคำนวณต้นทุนเอ็นจีวี กิโลกรัมละ 15.96 บาท ยันไม่มีหมกเม็ด

2 เมษายน 2012


ด้วยนโยบายรัฐบาลแต่ละยุค ทำให้โครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศที่บิดเบี้ยวมาเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาหลายประการ อาทิ ปัญหาความไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำมัน,ปัญหาการใช้พลังงานผิดประเภท ส่งผลให้รัฐต้องจ่ายเงินชดเชยข้ามกลุ่ม,เจ้าของรถยนต์นำรถไปติดแก๊ส,กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีจ่ายเงินชดเชยเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 25 มีนาคม 2555 ฐานะเงินกองทุนติดลบไปแล้วกว่า 22,000 ล้านบาท และเกิดปัญหาการลักลอบส่งออกแอลพีจีตามแนวตะเข็บชายแดน

ดังนั้น เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 รัฐบาลตัดสินใจทยอยปรับขึ้นราคาพลังงานทั้งระบบ ให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 แต่เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมาตรึงราคาพลังงานมาเป็นเวลานาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการภาคขนส่งลุกขึ้นมาชุมนุมต่อต้านนโยบายลอยตัวราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีครั้งนี้ โดยตั้งข้อสังเกตุว่าข้อมูลต้นทุนราคาเนื้อก๊าซเอ็นจีวีที่บริษัท ปตท.หยิบยกเป็นข้ออ้างขอปรับขึ้นราคาก๊าซเป็นข้อมูลที่ขาดความน่าเชื่อถือ

และเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดการยอมรับ กระทรวงพลังงานแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับตัวแทนผู้ประกอบการ 3 ชุด ทบทวนการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี พร้อมกับว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคนกลางศึกษาราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวี และก่อนที่สถาบันวิจัยพลังงานฯจะส่งการบ้าน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2555 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดให้ความรู้ผู้สื่อข่าวในหัวข้อ “นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน” โดยดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียม สำนักนโยบายปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สนพ. ผู้เชี่ยวชาญด้านต้นทุนของเนื้อก๊าซเอ็นจีวี เป็นผู้บรรยาย “โครงสร้างราคาเอ็นจีวี”

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียม สำนักนโยบายปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สนพ.
ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียม สำนักนโยบายปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สนพ.

ดร.วีรพัฒน์ กล่าวว่า ก๊าซเอ็นจีวีเริ่มมีการนำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนปี 2545 แต่ในช่วงนั้นเป็นช่วงสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้เอ็นจีวี จึงไม่มีการพูดถึงสูตรโครงสร้างของราคาเนื้อ จนกระทั่งปี 2546 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดเพดานราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีไว้ไม่เกิน 50% ของราคาน้ำมันดีเซล โดยให้เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่ปี 2546-2549

ปี 2550 มีการปรับปรุงเพดานราคาขายปลีกเอ็นจีวีใหม่อีกครั้ง โดยกำหนดไม่เกิน 50% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91 ขณะที่ราคาต้นทุนเอ็นจีวีที่แท้จริง ตอนนั้นอยู่ที่ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม แต่เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี รัฐบาลจึงสั่งให้ตรึงราคาเอ็นจีวีไว้ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2550-2551 และให้ทยอยปรับราคาขึ้นเป็นขั้นบันได เริ่มตั้งแต่ปี 2552 ปรับราคาเป็น 10.34 บาทต่อกิโลกรัม ปี 2553 ปรับเป็น 12 บาทต่อกิโลกรัม

แต่พอถึงปี 2552 ครม.ก็มีมติให้ตรึงราคาเอ็นจีวีไว้ที่ 8.50 บาทต่อไป โดยรัฐบาลจะนำเงินมาชดเชยให้บริษัทปตท.กิโลกรัมละ 2 บาท จากนั้นเอ็นจีวีก็ถูกตรึงราคามาโดยตลอด ไม่มีรัฐบาลชุดใดกล้าปรับราคาให้ลอยตัว จนกระทั่งมาถึงปลายปี 2554 รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติ โดยปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีเดือนละ 0.50 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ไปจนถึงสิ้นปี 2555

ก่อนที่ราคาเอ็นจีวีจะถูกปรับขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการภาคขนส่ง รวมตัวประท้วงกันที่หน้าตึกบริษัทปตท. และที่ลานพระบรมรูปทรงม้า คัดค้านการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี เพราะไม่เชื่อข้อมูลราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวีที่ปตท.ใช้เป็นข้ออ้างขอขึ้นราคา โดยผู้ประกอบการมองว่าราคาที่ปตท.นำมาแสดงต่อสาธารณะนั้น ไม่ใช่ต้นทุนที่แท้จริง มีการหมกเม็ดข้อมูล

ทั้งนี้สูตรคำนวณโครงสร้างราคาขายปลีกเอ็นจีวี เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2550 โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติกำหนดสูตรในการกำหนดราคาขายปลีกเอ็นจีวีคือ P = WH POOL2+M+T+ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดย “Wh pool gas 2” คือราคาเฉลี่ยต้นทุนเนื้อก๊าซที่ซื้อมาจากพม่าและอ่าวไทย M คือ ค่าจัดหา กำหนดเพดานเอาไว้ไม่เกิน 1.75% ของราคาเฉลี่ยต้นทุนเนื้อก๊าซ และ T เป็นค่าผ่านท่อก๊าซ บวกค่าใช้จ่ายในการขนส่งก๊าซไปยังสถานีบริการ กลายเป็นราคาขายปลีกเอ็นจีวี

ต่อมาเมื่อปี 2554 ครม.มีมติเห็นชอบสูตรในการกำหนดราคาขายปลีกเอ็นจีวีใหม่ ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 โดยเปลี่ยนจาก M เป็น S คือ อัตราค่าบริการสำหรับจัดหาก๊าซจากอ่าวไทย พม่า และนำเข้า LNG โดยการนำก๊าซเอ็นจีวีทั้ง 3 แหล่งมาคำนวณราคาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก กลายเป็นราคา“Pool gas” ขายให้กับโรงงานผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

กรณีที่ผู้ชุมนุมตั้งคำถามว่า ทำไมปตท.ถึงไม่กล้านำสัญญาซื้อ-ขายก๊าซแต่ละหลุมออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ดร.วีรพัฒน์ ชี้แจงว่าสูตรราคาซื้อ-ขายก๊าซที่ปากหลุม จะใช้สูตรเดียวกันเหมือนกันทั้งหมด แต่ที่เอามาเปิดเผยไม่ได้เพราะถือเป็นความลับของคู่สัญญา ซึ่งจะมีผลต่อการเปิดประมูลครั้งต่อไป สูตรในการกำหนดราคาหน้าปากหลุมจะอ้างอิงกับราคาน้ำมันเตา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจากันระหว่างผู้ให้สัมปทานกับผู้รับสัมปทานว่าจะจัดน้ำหนักของราคาน้ำมันเตามากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ยังมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น-ลดลง ตามอัตราเงินเฟ้อ,อัตราแลกเปลี่ยน,ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้จัดหาก๊าซและน้ำมันในอเมริกาอีกด้วย นี่คือสูตรที่ใช้ในการกำหนดราคาซื้อ-ขายที่ปากหลุม ซึ่งค่อนข้างจะเป็นสากล

ทั้งนี้ราคาต้นทุนที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อ-ขายก๊าซแต่ละหลุมมีราคาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความง่ายและความยากในการค้นหาหรือขุดเจาะ เช่น ก๊าซที่มาจากอ่าวไทยกว่าจะสูบขึ้นมาใช้ได้วันละ 2,000-3,000 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน ต้องขุดเจาะถึง 500 หลุ่ม ขณะที่พม่า หรือมาเลเซีย เจาะเพียง 5 หลุม ก็มีปริมาณเท่ากับก๊าซอ่าวไทย

สำหรับคุณสมบัติของก๊าซที่ได้มาจากอ่าวไทยจะเป็นก๊าซเปียก(Wet gas) ต้องผ่านโรงแยก เพื่อแยกเอาก๊าซเปียกออกก่อน โดยก๊าซที่แยกได้คือ C1 หรือ เอ็นจีวีเป็นก๊าซแห้ง (Dry gas) ส่วน C2 เริ่มเปียก ส่วน C5 เริ่มมีสถานะเป็นของเหลว ซึ่งตัวก๊าซ C3,C4 จะนำไปใช้ในการผลิตก๊าซแอลพีจี ส่วน C5 ป้อนเข้าโรงงานปิโตรเคมี

ส่วนก๊าซพม่าเป็นก๊าซที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการแยกก๊าซ เพราะมีสถานะเป็นก๊าซแห้งอยู่ หากลงทุนก่อสร้างโรงแยกก๊าซ คงไม่คุ้มค่า เพราะได้ก๊าซเปียกน้อยมาก นอกจากก๊าซที่ได้มาจากพม่าและอ่าวไทยแล้ว ปตท.ยังต้องมีการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาเสริม เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งก๊าซแอลเอ็นจี คือเอ็นจีวีที่ถูกแปรสภาพเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ –160 องศาเซลเซียส เพื่อให้ง่ายต่อการขนส่ง ดังนั้นราคา”Pool gas ของเอ็นจีวี” คือราคาต้นทุนก๊าซจากอ่าวไทย พม่า และแอลเอ็นจี นั่นเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมปตท.ไม่ใช้ราคาซื้อ-ขายก๊าซในตลาดโลก อย่างที่ตลาดเฮนรี่ฮั[เปิดซื้อ-ขายก๊าซกันที่ราคาแค่ 3 เหรียญต่อล้านบีทียู ดร.วีรพัฒน์ อธิบายว่า “ก๊าซเอ็นจีวีมีสถานะเป็นก๊าซ ระบบการขนส่งก๊าซที่มีราคาถูกที่สุดต้องขนส่งผ่านระบบท่อก๊าซ ตลาดซื้อ-ขายก๊าซในยุโรปราคาหนึ่ง อเมริกาอีกราคาหนึ่ง ทำไมยุโรปไม่ใช้ราคาเฮนรี่ฮับ เพราะเฮนรี่ฮับเป็นราคาที่ซื้อขายกันในรัฐหลุยเซียน่าเท่านั้น ในอเมริกกามีหลายรัฐ แต่ละแห่งกำหนดดราคาซื้อ-ขายก๊าซไม่เท่ากัน โซนใคร โซนมัน แต่ถ้าจะไปนำเข้าก๊าซมาจากเฮนรี่ฮับมาใช้ ราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ ก็จะไม่ใช่แค่ 2-3 เหรียญต่อล้านบีทียู เพราะต้องเอาก๊าซมาเข้ากระบวนการทำก๊าซให้กลายเป็นของเหลว มีค่าขนส่งทางเรือ กว่าจะมาถึงประเทศไทยต้องแปรสภาพจากของเหลวกลับมาเป็นก๊าซก่อนที่จะนำไปใช้ ดังนั้น หากนำเข้าก๊าซเอ็นจีวีจากเฮนรี่ฮับมาใช้ราคาต้นทุนน่าจะแพงกว่าก๊าซอ่าวไทย เพราะที่ยุโรปและอเมริกาเขาขนส่งก๊าซผ่านระบบท่อก๊าซ”

นอกจากนี้แหล่งซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติอีกตัวหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ คือ ก๊าซแอลเอ็นจี ซึ่งมีการซื้อ-ขายเหมือนน้ำมันมีการทำสัญญาซื้อ-ขายทั้งระยะสั้น 10 ปี ระยะยาว 20 ปี ตลาดซื้อ-ขายแอลเอ็นจีในแต่ละภูมิภาคมีราคาไม่เท่ากัน ในเอเชียจะอ้างอิงราคาซื้อ-ขายที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นใช้แอลเอ็นจีมากเป็นอันดับ 1 ส่วนสูตรในการกำหนดราคาแอลเอ็นจีที่ญี่ปุ่นจะนำไปผูกกับราคาน้ำมันดิบ ตอนนี้ ปัจจุบันราคาจะอยู่ที่ 15-16 เหรียญต่อล้านบีทียู ช่วงที่เกิดสึนามิราคาขยับขึ้นไปถึง 18 เหรียญต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีอ่าวไทยอยู่ที่ 6-7 เหรียญต่อล้านบีทียู

ปัจจุบัน กฏหมายไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นปตท.เท่านั้นที่มีสิทธิ์นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ใครก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ค้า ตามมาตรา 7 ส่วนราคาก๊าซแอลเอ็นจี ก็จะปรับขึ้น-ลงตามราคาน้ำมันดิบ บวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้า อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ค่าระวางเรือ สมมติว่าเดือนนี้ปตท.สั่งแอลเอ็นจีเข้ามา 3 ลำเรือ แต่ละเที่ยวที่สั่งเข้ามาจะมีต้นทุนไม่เท่ากัน ก็เอาต้นทุนมาเฉลี่ย จากนั้นต้องนำมาแปรสภาพ จากของเหลวมาเป็นก๊าซ (Lng receiving terminal)

โรงงานแปรสภาพก๊าซแอลเอ็นจี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (Lng receiving terminal)
โรงงานแปรสภาพก๊าซแอลเอ็นจี (Lng receiving terminal)

ส่วนการคิดอัตราค่าบริการในการแปรสภาพของเหลวเป็นก๊าซ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องมาจ่ายค่าบริการในการแปรสภาพ 2 อัตรา คือค่าบริการแบบต้นทุนคงที่ ปัจจุบันเก็บอยู่ที่อัตรา 31.6859 บาทต่อล้านบีทียู และค่าบริการแบบต้นทุนแปรผัน คิดที่อัตรา 1.7050 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งต้นทุนการนำเข้าผลิตแอลเอ็นจีจะถูกนำไปรวมคำนวณกับราคาต้นทุนก๊าซที่มาจากพม่า และอ่าวไทย ทั้งหมดเรียก “ราคาพูลก๊าซ”

เส้นสีแดงเป็นราคาพูลก๊าซ หรือ ราคาเนื้อก๊าซเอ็นจีวีที่ยังไม่รวมค่าขนส่ง และค่าดำเนินการที่สถานีซึ่งแปลงหน่วยมาเป็นบาทต่อกิโลกรัมทั้งหมดแล้ว ส่วนเส้นสีน้ำเงินคือราคาเอ็นจีวีที่ถูกตรึงไว้ที่ 8.50 บาทมาตั้งแต่ปี 2548 แต่พอถึงสิ้นปี 2554 ราคาพูลก๊าซขยับขึ้นไปสูงถึง 250 บาทต่อล้านบีทียู หรือ ประมาณ 8.90 บาทต่อกิโลกรัม นี่คือราคาก๊าซที่รวมค่าผ่านท่อก๊าซเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนค่าผ่านท่อก๊าซปัจจุบันจะเก็บค่าบริการอยู่ 2 อัตรา คือ ค่าบริการส่งก๊าซในส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่ กับค่าบริการในส่วนที่เป็นต้นทุนแปรผัน ทำไมรัฐบาลจึงกำหนดค่าตอนแทนให้กับปตท.เอาไว้สูงถึง 18% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ปตท.ลงทุน คำตอบคือตอนนั้นไม่มีใครอยากลงทุนก่อสร้างท่อส่งก๊าซ เพราะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีผู้ซื้อ รัฐบาลขณะนั้นจึงขอให้ปตท.เข้าไปลงทุน โครงการนี้มีความเสี่ยงสูงมาก จึงกำหนดค่าตอบแทนเอาไว้สูงถึง 18% ต่อมาภายหลังปี 2550 ตลาดผู้ใช้เอ็นจีวีเริ่มมีดีมานส์เพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงลดลง รัฐบาลจึงปรับลดค่าบริการลงเหลือ 12.5%

ดังนั้นผู้ที่มาลงทุนก่อสร้างท่อก๊าซ หลังจากนี้จะคิดค่าบริการได้ไม่เกิน 12.5% เท่านั้น ส่วนท่อเก่าให้เก็บค่าบริการที่ 18% ไปจนกว่าท่อส่งก๊าซจะหมดอายุการใช้งาน เมื่อนำอัตราค่าบริการทั้งท่อเก่าและท่อใหม่มาคำนวณจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14% นี่คือค่าผ่านท่อแบบต้นทุนคงที่

ส่วนค่าผ่านท่อที่เป็นต้นทุนผันแปร คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนิการของระบบส่งท่อก๊าซ เช่น ค่าไฟฟ้าในการเดินเครื่องคอมเพรสเซอร์ โดยจะมีการคำนวณต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในปีแรกเท่านั้น จากนั้นก็จะใช้สูตรคำนวณ โดยการนำอัตราเงินเฟ้อตั้งลบด้วยค่าดัชนีแสดงประสิทธิภาพ หรือ ค่า X ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 2% ต่อปี

เมื่อมีการนำตัวแปรตามที่กล่าวมาทั้งหมดเข้าไปคำนวณตามสูตรหาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวี ปี 2554 ราคาพูลก๊าซจะอยู่ที่ 221.95 บาทต่อล้านบีทียู หรือประมาณ 8.05 บาทต่อกิโลกรัม รวมกับค่าจัดหาก๊าซ และค่าผ่านท่อ ต้นทุนราคาเนื้อก๊าซเอ็นจีวีจริงๆจะอยู่ที่ 247.62 บาทต่อล้านบีทียู หรือประมาณ 8.90 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ยังไม่นับรวมค่าดำเนินการในการจัดส่งก๊าซไปยังสถานี

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลขต้นทุนเนื้อก๊าซ ปัจจุบันอยู่ที่ 8.90 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ก็ต้องมาดูเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน คือต้นทุนค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายของสถานีแม่ สถานีตามแนวท่อก๊าซและสถานีลูก สนพ.ได้ไปว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งชาติมาคำนวณหาต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แท้จริง โดยการตั้งสมมติฐานว่าปตท.จะมีแผนขยายการลงทุนเท่าไหร่,สัดส่วนประเภทสถานีบริการ,ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน บำรุงรักษา,โครงสร้างเงินลงทุน สัดส่วนการเข้าร่วมทุนของภาคเอกชน ทุกอย่างเอามาคำนวณเป็นต้นทุนทั้งหมดเลย ส่วนผลตอบแทนการลงทุน หรือกำไรเท่าไหร่ ทางสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตัดทิ้งทั้งหมด เอาแต่ค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว

ผลการศึกษาของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ค่าใช้จ่ายดำเนินการมีต้นทุนอยู่ที่ 5.56 บาทต่อกิโลกรัม ประกอบด้วยต้นทุนที่สถานีแม่ส่งไปให้สถานีลูกเฉลี่ยอยู่ที่ 7.10 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต้นทุนของสถานีที่อยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซจะอยู่ที่ 2.43 บาทต่อกิโลกรัม สาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่ายจากสถานีแม่ส่งก๊าซไปให้สถานีลูกมีต้นทุนสูงถึง 7 บาทต่อกิโลกรัม เพราะแต่ละสถานีต้องใช้รถเทรลเลอร์ขนก๊าซไปส่งสถานีลูก 2-3 คันต่อวัน แต่ถ้าอยู่ไกล เช่น เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ต้องใช้รถเทรลเลอร์ 5-6 คัน ทั้งนี้รถเทรลเลอร์ 1 คันสามารถบรรทุกก๊าซได้ 3 ตัน กว่าจะขับไปถึงเชียงใหม่มีรถบรรทุกรอคิวเติมก๊าซยาวเหยียด รถเทรลเลอร์ขนก๊าซมาถึง เติมเดี๋ยวเดียวก็หมด

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

“จะเห็นได้ว่าสถานีที่อยู่ตามแนวท่อมีต้นทุนอยู่ที่ 2.43 บาท สถานีลูกมีต้นทุนอยู่ที่ 7 บาท ถ้าอยากจะทำให้เอ็นจีวีมีต้นทุนถูกลงกว่านี้ ปตท.ก็ต้องหาวิธีโปรโมทให้ประชาชนกันไปเติมก๊าซที่ตามแนวท่อให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันผู้ใช้รถยนต์มักจะไปเติมก๊าซที่สถานีลูกกันมาก เนื่องจากสถานีที่อยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซไม่ได้อยู่ในโซนพื้นที่จูงใจให้คนขับรถไปเติมก๊าซ และมีจำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีน้อยมาก”

การจำหน่ายก๊าซของสถานีที่อยู่ตามแนวท่อจึงมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับ 40-50% เท่านั้นเอง ถือว่ายังใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ และเมื่อนำราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวีที่ 8.90 บาทต่อกิโลกรัม มารวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 5.56 บาท ราคาขายปลีกเอ็นจีวีจะอยู่ที่ 14.46 บาทต่อกิโลกรัม รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% จะทำให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 15.96 บาท ต่อกิโลกรัม นี่คือราคาต้นทุนเอ็นจีวีที่แท้จริง ซึ่งจัดทำโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

และเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจและเกิดการยอมรับ สนพ.ยังได้ไปว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาทำการศึกษาตรวจทานกันอีกชั้นหนึ่ง คาดว่าจะทำการศึกษาเสร็จประมาณวันที่ 10 เมษายน 255

ทั้งนี้ดร.วีรพัฒน์ ยืนยันได้อย่างเต็มปากว่างานนี้ไม่มีรายการหมกเม็ด อย่างถูกกล่าวหา