ThaiPublica > คอลัมน์ > นักอนุรักษ์ไม่ใช่ศัตรู

นักอนุรักษ์ไม่ใช่ศัตรู

30 เมษายน 2012


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

ระยะนี้มีข่าวเร่งเครื่องโครงการพัฒนาแบบทำลายธรรมชาติขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ยักษ์แทบทุกอาทิตย์

ไม่ว่าจะกระเช้าภูกระดึง เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น ท่าเรือปากบารา ถมทะเลสร้างเมืองใหม่ปากน้ำเจ้าพระยา ฯลฯ เป็นต้น

โครงการทั้งหมดอ้างการพัฒนาเพื่อช่วยเหลือประชาชน ให้ลืมตาอ้าปากบ้าง สร้างเศรษฐกิจแบบอเมริกันดรีมบ้าง ป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมบ้าง ทั้งๆ ที่โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการปลุกผีดิบโบราณผิดยุคผิดสมัย ไม่ได้มาจากการไตร่ตรองแก้ปัญหาจัดการน้ำภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน และโครงการที่เหลือเป็นเมกะโปรเจ็คชิ้นจิ๊กซอว์ที่น่าสงสัยว่า ผู้มีอิทธิพลในประเทศไทยจะต้องการสร้างขึ้นมาเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายเส้นทางขนส่ง เพื่อให้ตัวเองได้เป็นเจ้าพ่อควบคุมการขนส่งในระดับภูมิภาค

จังหวะการปล่อยข่าวไฟเขียวโครงการต่างๆ ก็เหมือนจะคำนวณให้เป็นชุดระเบิด เพื่อกระจายกำลังนักอนุรักษ์ที่เขารู้อยู่แล้วว่าต้องค้านแน่ๆ ให้มันหมดแรงต่อต้าน ให้มันทำงานไม่ไหว เป็นกลยุทธเก่าแก่ ถ่อยๆ เชยๆ แต่มีประสิทธิภาพ

โปรดสังเกตว่าหลายโครงการมีความสามารถแปรพันธุ์บิดเบือนเหตุผลของตนเองไปได้เรื่อยๆ และทุกครั้งที่ถูกทักท้วงด้วยเหตุผลที่แน่นกว่า ก็จะสามารถแถเหตุผลใหม่ขึ้นมาได้

ยกตัวอย่างเขื่อนแม่วงก์ ครม. ที่ไม่เคารพกฎหมายของเรา พากันอนุมัติโครงการทั้งๆ ที่อีไอเอหรือการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่าน โดยอ้างเหตุผลยอดฮิตว่าแก้ปัญหาน้ำท่วม เสมือนเป็นคาถาสามัญแสนศักดิ์สิทธิ์ประจำชาติ การประชาสัมพันธ์โครงการก็มั่วนิ่มเอาแพะมาชนแกะ ผสมภาพและตัวเลขลุ่มน้ำแม่วงก์ซึ่งเป็นน้ำสายย่อยกับลุ่มน้ำสะแกกรังทั้งระบบให้มันงงสับสนเล่น งุงิ งุงิ

หรือแสดงข้อมูลน้ำท่าท้ายน้ำบริเวณที่น้ำสบกันให้ดูเผินๆ เหมือนเป็นข้อมูลต้นน้ำบริเวณหัวเขื่อน นักอนุรักษ์ก็ต้องมานั่งแยกแยะข้อมูลที่ปนเปเหล่านี้ เหมือนแกะขดเส้นด้ายไหมพรมที่พันกันรุงรัง จนเคาะออกมาได้ว่า แม้เขื่อนแม่วงก์จะมีศักยภาพกันน้ำท่วมอำเภอลาดยาวที่ตั้งห่างจากเขื่อนไป 50 กิโลเมตร ได้ราว 30 เปอร์เซ็นต์ แต่แทบไม่มีผลต่อการป้องกันน้ำท่วมในลุ่มน้ำสะแกกรังและลุ่มน้ำเจ้าพระยาดังที่อ้างเลย

ฝ่ายอยากได้เขื่อนก็เลยแถต่อว่าไม่ได้จะสร้างมาป้องกันน้ำท่วม จะสร้างเพื่อการชลประทานพื้นที่เกษตรกรรมต่างหาก เป็นเรื่องแลกป่า 2 เปอร์เซ็นต์ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กับเศรษฐกิจชุมชน 3 อำเภอ เสียป่านิดหน่อยเท่านั้นเอง บิดให้นักอนุรักษ์เป็นปฎิปักษ์กับเกษตรกรท้องถิ่น นัยว่าไอ้พวกนี้มันคิดถึงแต่สัตว์ป่า มันไม่แคร์ชาวบ้านเหมือนพวกเราข้าราชการและนักการเมือง กลยุทธจับคู่ศัตรูแบบนี้ก็เป็นเทคนิคเก่าๆ เดิมๆ ที่น่าเบื่อมาก

ความพยายามติดป้ายให้นักอนุรักษ์นั่งอยู่คนละขั้วกับการพัฒนาและการช่วยเหลือปากท้องของชาวบ้าน เป็นการกระทำที่ไม่น่ารักและไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

พื้นที่ป่าริมน้ำที่จะถูกเขื่อนท่วมเป็นลักษณะระบบนิเวศที่มีเหลืออยู่น้อยมากในประเทศไทย และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ซึ่งการปลูกป่าชดใช้จะไม่สามารถทดแทนได้เลย เพราะป่าไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยต้นไม้จิ้มๆ ลงดินเท่านั้น ขออนุญาตยกข้อเขียนของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ที่อธิบายถึงป่าแห่งนี้ในเฟซบุ๊กมาขยายความ

“การสูญเสียพื้นที่ป่า 18 ตร.กม. หรือ “เพียง” 2% ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อาจดูไม่ใหญ่โต แต่หากเปรียบกับการสูญเสียอวัยวะ 2% ที่ว่านี้เป็นส่วนของหัวใจเลยทีเดียว ไม่ใช่นิ้วก้อยหรือไส้ติ่ง ที่จะตัดทิ้งไปได้

ป่าแต่ละส่วนมีระบบนิเวศที่แตกต่างกัน มีความสำคํญต่อการดำรงอยู่ของป่าทั้งระบบแตกต่างกัน หากสร้างเขื่อนแม่วงก์ ป่าริมน้ำและป่าที่ราบต่ำกว่า 200 เมตรจากระดับน้ำทะเลจะจมอยู่ใต้น้ำ ป่าที่ราบต่ำริมน้ำนี้เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญที่สุดของสัตว์ป่าขนาดใหญ่หลายชนิด เช่น ช้าง เสือ มันไม่ได้กระจายตัวด้วยความหนาแน่นอย่างเท่าๆ กันไปหมดทั้งผืนป่าเหมือนที่นักการเมืองหลายคนเข้าใจไล่นกยูงไปอยู่บนภูเขา
….สัตว์ป่าเป็นลมหายใจและชีพจรของป่า ไม่มีพวกมัน กลไกการดำเนินระบบนิเวศป่าทั้งหมดก็พังครืน”

ผืนป่าตะวันตกในบริเวณนี้ เป็นพื้นที่แห่งสุดท้ายที่ยังคงเหลือในประเทศไทย ที่สัตว์ป่าขนาดใหญ่จะสามารถฟื้นฟูประชากรใช้เป็นบ้านอาศัยอยู่ได้ เราได้อะไรกับการไปหั่นมันออกมา

การจัดการน้ำท่วมและพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ยังมีทางเลือกมากมายหลายทางที่เราสามารถเลือกได้ ทำไมต้องเจาะจงจะสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทำไมเราไม่เลือกแนวทางพัฒนาที่ไม่ต้องมีผู้แพ้ ผู้เสียสละ ผู้เสียชีวิต มันไม่ใช่สิ่งสุดวิสัยถ้าเราตั้งใจกันจริงๆ

ที่สำคัญ การแก้ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำแล้งผิดปกติ ปัญหาดินพัง ต่างๆ นานาเหล่านี้ จะต้องมีมาตรการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าธรรมชาติทั้งในพื้นที่ต้นน้ำและริมทางน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ขาดไม่ได้เลย เพราะความสมดุลของระบบนิเวศเป็นฐานรากของความมั่นคงของเกษตรกรรมตลอดจนชีวิตในเมือง

คุณสืบ นาคะเสถียร พูดไว้ก่อนตายว่า

“ในความรู้สึกของผม เราไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงกันหรอกว่าเราจะใช้ป่าอย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้ จึงควรจะรักษาส่วนนี้เอาไว้ เพื่อให้เราได้ประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ทางอ้อม”

ด้วยความเคารพ ขอเถียงคุณสืบว่าเราไม่น่าเรียกมันว่าประโยชน์ทางอ้อม เพราะการดูแลวงจรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพนั้นเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ที่ตรงที่สุดแล้ว จะมีประโยชน์อะไรที่จะตรงไปกว่าอากาศหายใจ น้ำดื่มน้ำใช้ หรือดินดีที่ผลิตอาหารให้เรากินล่ะ

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีชีวิตป่านับล้านๆ ชนิดเป็นผู้ดูแลรักษาทั้งนั้น หรือต้องระลึกกันได้เมื่อนอนในห้องไอซียูต่อท่อออกซิเจน

ทุกครั้งที่มีโครงการ “พัฒนา” เราอ้างเสมอว่าเสียป่าแค่ 1 เปอร์เซ็นต์บ้าง 10 เปอร์เซ็นต์บ้าง ก็กัดป่ากันเข้าไปทีละคำสองคำ เผลอแผล็บเดียวเราแทบไม่มีป่าเหลือ เพราะฉะนั้น เราต้องเลิกคิดกัดป่ากินด้วยตัวเลขบ้าๆ แบบนี้แล้ว และหวนมาคิดพัฒนาในลักษณะที่คำนึงถึงธรรมชาติ ดึงเอาความรู้ของทุกวิชาชีพมาหลอมรวมกันเพื่อหาทางออก

โปรดเลิกมองนักอนุรักษ์เป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญ นั่นมันนิยายน้ำเน่าที่ควรเลิกเล่นได้แล้ว

อยากตัดกำลัง อยากรังแก แกล้งนักอนุรักษ์ให้หมดแรงมันไม่ยากหรอก ง่ายนิดเดียว แค่เล่นกลยุทธ์บั่นทอนที่เล่นกันอยู่เป็นประจำนั่นแหละ สำเร็จแน่นอน สารภาพเลยว่า วันก่อนผู้เขียนเกิดอาการหมดแรง สิ้นหวังชั่วขณะ นั่งเฉยๆ ก็น้ำตาไหลริน

พวกคุณอยากชนะก็คงได้ชนะแน่ๆ แต่อยากบอกว่า อันที่จริงความรู้ของนักอนุรักษ์ก็มีประโยชน์แก่การพัฒนาสังคม และต่อการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่กำลังมาแรงในเวทีโลก จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เหล่าช่างวิศวกรและรัฐบาลไม่พยายามดึงความรู้และศักยภาพของนักอนุรักษ์ธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์กว่านี้ หันมาช่วยกันแก้โจทย์ด้วยทางออกใหม่ๆ เพราะเราเองก็เบื่อกับการทุ่มพลังคัดค้านการทำลายป่าจำเจอยู่เช่นนี้นับสิบๆ ปี อยากเดินไปข้างหน้าสู่การพัฒนายั่งยืน อยากคิดอะไรใหม่ๆ ทำอะไรใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์กันมากกว่านี้ใจจะขาดอยู่แล้ว

แต่เราเดินไปข้างหน้าไม่ได้จนกว่าประเทศไทยจะเข้าใจว่าการรักษาธรรมชาติและป่าต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ