ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” แจงกรอบธนาคารกลางในอาเซียน เชื่่อมภาคการเงินเออีซี เผยไม่มีแนวคิดใช้เงินสกุลเดียว

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” แจงกรอบธนาคารกลางในอาเซียน เชื่่อมภาคการเงินเออีซี เผยไม่มีแนวคิดใช้เงินสกุลเดียว

13 เมษายน 2012


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งมีการประชุมทุกปี พร้อมกับการประชุมระดับ Deputies ของกลุ่มประเทศอาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2555 ประเด็นที่ประชุมกันส่วนใหญ่เป็นเรื่อง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ Asean Economics Community (AEC) ที่จะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2558

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ได้เล่าให้ฟังถึงการเตรียมตัวของธนาคารกลางของประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ในส่วนของภาคกรเงิน ที่เตรียมพร้อมรับ AEC แต่ก่อนจะไปถึงภาคการเเงิน ได้เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า

เรื่องนี้ทราบกันดีว่าความพยายามอยากให้มีการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค ก่อนจะขยายความร่วมมือเป็นอาเซียน + 3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) และขยายเพิ่มอีก + 3 (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย) เป็นอาเซียนก + 6 นั้น จุดเริ่มต้นมาจากการค้าขาย

หลายคนเน้นเรื่องการ “เชื่อมตลาด” ด้วยซ้ำไป แต่ความจริงเรื่องการเชื่อมตลาดมีมาก่อนหน้านั้น ตั้งแต่มีเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ซึ่งมีความพยายามจะลดภาษี และกำแพงภาษีนำเข้าของประเทศต่างๆ ตามลำดับ ดังนั้นเรื่องการเชื่อมโยงตลาดไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่ที่น่าสนใจคือ การ “เชื่อมฐานการผลิต” ซึ่ง ดร.ประสารมีความเห็นว่าสำคัญมาก เพราะแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนมีข้อจำกัดเรื่องปัจจัยการผลิตไม่เหมือนกัน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือ กรณีบริษัทน้ำตาลขอนแก่น ได้สัมปทานทำอุตสาหกรรมน้ำตาลในกัมพูชา เนื่องจากระยะหลังประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องที่ดินเพาะปลูกมากขึ้น และข้อจำกัดเรื่องแรงงานก็มีมากขึ้น แต่เมื่อได้สัมปทานก็ลดข้อจำกัดที่เรามีคือที่ดิน และแรงงาน เป็นต้น

“พอเราเชื่อมปัจจัยการผลิตได้ ก็เท่ากับว่าเราลดข้อจำกัดได้ กับอีกด้านถ้าเชื่อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็จะช่วยจัดสรรทรัพยากรเรื่องปัจจัยการผลิต คนน่าจะมีความกล้ามากขึ้นไปสู่จุดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ดร.ประสารยกตัวอย่างในเมืองไทยที่ขณะนี้เป็นเรื่องถกเถียงกันมาก คือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า ถ้าจะทำให้ดีแปลว่า เราต้องจัดสรรปัจจัยการผลิตที่มีจำกัด เช่น จัดสรรแรงงานไปสู่จุดที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ดีขึ้น หรืออีกความหมายหนึ่งคือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากๆ เขาก็อยากจะได้ความคล่องตัว ที่จะสามารถโยกย้ายการผลิตไปสู่ที่ที่มีปัจจัยการผลิตด้านแรงงานให้เขา เช่น ไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก และค่าแรงไม่แพง เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ถ้า AEC บริหารจัดการไปสู่จุดนั้นได้ ก็จะทำให้มีการจัดสรรทรัพยากร ปัจจัยการผลิตของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับเรื่อง “การเงิน” ภายใต้ AEC ดร.ประสารมองว่า ภาคการเงินเป็นตัวสนับสนุนมากกว่าไปนำในการเชื่อมโยงตลาดกับเชื่อมฐานการผลิต

เพราะถ้าสามารถเชื่อมตลาด และเชื่อมฐานการผลิตได้ แปลว่า ต้องมีความต้องการภาคการเงินตามไปด้วย เพื่อจะได้ทำธุรกิจได้สะดวกสบาย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ธปท. และกระทรวงคลัง จะเชื่อมต่อกัน และอาจมีหน่วยงานอื่นด้วย เพื่อให้ระบบการเงินไปด้วยกันตามวัตถุประสงค์การเชื่อมตลาด กับเชื่อมฐานการผลิต

สำหรับโจทย์ภาคการเงินที่ธนาคารกลางในอาเซียนในกำลังดูอยู่นั้น ผู้ว่าการธปท. ระบุว่า เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ จึงแบ่งเรื่องสำคัญออกเป็น 4 ด้านใหญ่

เรื่องแรกคือ ระบบการชำระเงิน ที่เปรียบเสมือนถนนที่ข้ามจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง โดยหากเปรียบเสมือนการเชื่อมประเทศ เรื่องแรกที่อยากได้คือ ถนน ที่เดินทางไปมาหาสู่สะดวกระหว่างประเทศ ในทางการเงิน ถนนที่เดินทางสะดวกคือ ระบบการชำระเงิน ถ้าธุรกิจเขาไปกัมพูชา เขาก็อยากได้ระบบการชำระเงินระหว่างไทยกับกัมพูชาที่สะดวกสบาย

เรื่องที่สอง การเคลื่อนย้ายเงินทุน จะพยายามลดข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายเงินทุน เปรียบได้กับคนเดินทางบนถนนมาถึงชายแดน ปกติจะมีจุดตรวจ ถ้าเชื่อมกันอย่างดีก็จะลดจุดตรวจนี้ลง ไม่ใช่ต้องเสียเวลาตรวจ ไม่ใช่มาถึงต้องเสียเวลา 2-3 วัน จุดตรวจตรงนี้ทางการเงินคือเรื่องของการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน

เรื่องที่สาม คือ การให้บริการทางการเงิน เพราะเมื่อมีถนนแล้ว ลดจุดตรวจแล้ว เงินทุนก็เคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนไปได้ แต่เมื่อข้ามไปถึงแล้วก็คาดหวังจะมีผู้ชี้แนะ หรือผู้นำทัศนาจร ผู้ชี้แนะที่จะนำท่องเที่ยวในเมืองตรงนี้ ในแง่การเงินเปรียบเสมือนผู้ให้บริการทางการเงิน หรือสถาบันการเงินนั่นเอง

“ทั้งสามเรื่องนี้ถ้าทำได้ ท้ายที่สุด ระยะยาวเราจะยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง คือการเชื่อมระหว่างเงินออมกับเงินลงทุนที่ใช้กันในภูมิภาค ลดการพึ่งพาแหล่งอื่นๆ นี่คือกาเรื่องของตลาดทุน ถ้าเราพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียน หรืออาเซียนบวก 6 ได้ ก็จะทำให้มีความยั่งยืน”

เรื่องที่สี่ คือ การพัฒนาตลาดทุนเชื่อมโยงเงินออมกับเงินลงทุน ซึ่งมีความสำคัญ และเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ตรงที่ว่า หลายปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียมีเงินออมค่อนข้างมาก และมีความต้องการลงทุนค่อนข้างสูง เช่น การลงทุนสร้างเขื่อน แต่จะเห็นว่า ตลาดทุนของเรายังไม่เอื้อภาระกิจนี้

คือการสร้างเขื่อนการลงทุนกว่าจะคุ้มทุนได้กำไร (payback) ต้องใช้เวลาถึง 10 ปี จะหวังให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามารับผิดชอบด้านเงินอย่างเดียวไม่ได้ เพราะแหล่งเงินของธนาคารพาณิชย์คือ เงินฝากประชาชน และส่วนใหญ่เป็นเงินฝากระยะสั้น แต่การนำเงินมาลงโครงการสร้างเขื่อนกว่าจะ payback มีกำไรต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี และกว่าจะมีสภาพคล่องอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี อย่างนี้เป็นต้น จึงต้องอาศัยตลาดทุน

“ที่ผ่านมาอาศัยตลาดทุนในนิวยอร์ค ในลอนดอน ในยุโรป และอาศัยวานิชธนกรของพวกยุโรป อเมริกา เราก็ตั้งความหวัง เอเชียด้านหนึ่งมีเงินออมเยอะ อีกด้านหนึ่งมีความจำเป็นลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานะระยะยาวเพื่อการพัฒนาประเทศ สิ่งที่สำคัญมากคือ ถ้าพัฒนาตลาทุนได้ก็เชื่อมเงินออมกับเงินลงทุนได้”

เพราะฉะนั้นเชิงยุทธศาสตร์ ดร.ประสารกล่าวว่า ธนาคารกลางในอาเซียนต้องทำ 4 เรื่องนี้ บางเรื่องง่าย บางเรื่องยาก เรื่องที่ถกเถียงไม่มากนัก คือ ระบบการชำระเงิน แต่จะออกไปทางเทคนิค เช่น มาตรฐานจะเป็นอย่างไร แต่ละประเทศใช้ระบบอิเลคทรอนิกส์หรือไม่ ถ้าใช้กระดาษจะเชื่อมต่อลำบาก เป็นต้น

มาโจทย์ที่สอง ในอดีตแต่ละประเทศค่อนข้างเป็นห่วง เพราะดุลบัญชีชำระเงินแต่ละประเทศส่วนใหญ่อยู่ในชั้นที่ต้องระมัดระวังสูงมาก ระยะหลังฐานะดีขึ้น การปกปิดก็ไปในทางผ่อนคลายขึ้น แต่ว่าจะทำในระดับที่เหมาะสมอย่างไรต้องพิจารณากันอีก

เรื่องที่สาม อาจมีการถกเถียงกันมากหน่อย เพราะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสถาบันการเงิน ซึ่งแต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาแตกต่างกันไป ก็ห่วงว่าถ้าปล่อยเข้ามามากไปอาจกระทบสถาบันการเงินที่มีอยู่แล้ว ประเด็นนี้จึงอาจจะช้าหน่อย

ส่วนเรื่องที่สี่ ถ้าทำในระดับค่อนข้างผิวเผินไม่อยาก เช่น เอาหุ้น 30 ตัวของแต่ละประเทศมารวมกันแล้วสร้างดัชนีราคา ล่อให้ผู้สนใจลงทุนใหญ่มาลงทุน อย่างนี้ไม่อยากทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ทำได้

แต่หาคนที่คิดจะเอาเงินออม หรือทำให้คนในอาเซียน หรือ เอเชีย มาซื้อพันธบัตรของเขื่อนที่ใช้เวลาก่อสร้างจะเสร็จต้อง 3-4 ปี แล้วกว่าจะมีกำไรคุ้มทุน 10 ปี แบบนี้จะทำได้อย่างไร เพราะการสร้างโครงสร้างหาแหล่งเงินให้โครงการแบบนั้นแล้ว ซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน มีความเสี่ยงว่าน้ำจะพอใหม หรือความเสี่ยงอะไรต่างๆ เหล่านี้ ราคาไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากในการพัฒนาตลาดทุน

“จะเห็นว่าเรื่องที่สาม กับ เรื่องทีสี่ ไม่น่าจะเร็วเหมือนเรื่องที่หนึ่ง กับ เรื่องที่สอง ซึ่งคาดว่จะใช้เวลาไม่นาน ส่วนเรื่องที่สาม กับเรื่องที่สี่ก็มีทิศทางแต่ต้องใช้เวลา” ดร.ประสารกล่าว

สำหรับกรอบเวลาของภาคการเงินนั้น ผู้ว่าการธปท. ระบุว่า เรื่องการเงิน เป็นเรื่องสนับสนุน เขาผ่อนปรนให้ เช่น เรื่องบริการทางการเงิน กำหนดระยะเวลาไว้ภายใน 2020 ไม่ใช่ 2015 และยังใช้สูตรอาเซียนลบ คือใครไม่พร้อมก็ให้ยกเว้นไปก่อน ดังนั้น ในภาคการเงินไม่ถึงกับไป “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” เป็นลักษณะค่อนข้างจะ “รอมชอม” มากกว่า

อย่างไรก็ดี ประเทศอาเซียน 5 (สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์) จะผลักดันมากหน่อย เช่น เรื่องการบริการทางการเงิน ปีที่แล้วประชุมที่บาหลีมีโจทย์บอกว่า เราจะเริ่มต้นที่การคัด หรือสร้างเกณฑ์ขั้นต่ำ แล้วคัดธนาคารของประเทศสมาชิกที่เข้าเกณฑ์ขั้นต่ำ หรือเหนือกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็จะเปิดโอกาสให้ทำธุรกิจเสรีมากขึ้นเอาไหม
โดยเป้าหมายสุดท้ายให้มีธนาคารจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า Qualified ASEAN Bank ( QAB) หรือ ธนาคารที่มีคุณสมบัติเข้า QAB แล้วขอให้คณะทำงานพยายามกำหนดหลักเกณฑ์ออกมาภายในปีนี้ คือภายในปีนี้ออกหลักเกณฑ์มาให้เป็นเกณฑ์คุณสมบัติว่าอย่างไรเรียก QAB แต่ ณ ขณะนี้บางประเทศเห็นด้วย บางประเทศไม่เห็นด้วยนั้น ซึ่งการประชุมที่พนมเปญครั้งนี้ไม่ได้พูดชัด แต่กำหนดเวลาคือภายในปีนี้

“ครั้งต่อไปจะประชุมที่มินิลาก็คงมี 4 เรื่องนี้รายงาน แต่ดูแล้วไม่ได้ง่ายเห็นชัดเจน แต่เรื่องระบบการชำระเงินตรงนี้ก็เชื่อมกันบ้างแล้วอย่าง ITMX ก็ไปเชื่อมกับมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว ในลักษณะเป็นทวิภาคี และหากมีการจับคู่ต่อกันไปเรื่องๆก็ จะเป็นพหุพาคีได้ เหมือนเป็นเส้นสปาเก็ตตี้ เชื่อมโยงถึงกันหมด”

สำหรับแนวคิดเรื่องเงินสกุลหลักภายใต้ AEC นั้น ดร.ประสาร ระบุว่า เวลานี้ AEC ไม่เคยมีเป้าหมายไปใช้สกุลเงินรวม หรือไม่เคยมีแนวคิดจะไปในลักษณะที่สหภาพยุโร หรืออียูดำเนินการ

ดร.ประสารอธิบายเพิ่มเติมว่า อียูตอนนั้นมีความทะเยอทะยานพอสมควร ที่จะทำ currency union หรือ การใช้เงินตราสกุลเดียวกัน ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จ คือ ใช้สกุลเงินยูโร แต่ว่ามีคนมาดูก็มาเตือนตั้งแต่ต้อนนั้นว่า จะทำ currency union ได้ ต้องทำ fiscal union ด้วย คือมีระบบภาษี ระบบการคลังรวมกันด้วย ไม่งั้นไปด้วยกันไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ก็ฟ้องออกมาอย่างแล้วในกรณีวิกฤตหนี้ของกรีซ หรือที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ แต่มีคนคิดลึกไปอีกว่า จะทำ fiscal union ได้ต้องทำ political union ด้วย คือ การเมืองต้องรวมกันด้วย นี่ยิ่งยากใหญ่

ผู้ว่าการธปท. แนะนำว่า ถ้ามีเวลาให้ค้นหาข้อมูลในกลูเกิล โดยพิมพ์คำว่า “อเล็กซานเดอร์ แฮมมิลตัน” รัฐมนตรีคลังคนแรกของอเมริกา ซึ่งมีประวัติน่าสนใจมากโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการทำให้อเมริกา 13 รัฐมี currency union, fiscal union และ political union

“อาเซียนรู้ว่า อเล็กซานเดอร์ แฮมมิลต้น ทำอย่างไร รู้ว่ายุโรปเกิดปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นเราไม่เคยคิดจะผูกสกุลเงินกันเป็น currency union”

แต่ถ้าพัฒนาการไปสู่จุดที่ว่า อาจมีสกุลหนึ่งใดโดดเด่นขึ้นมาในเอเชียแล้วสกุลเงินอื่นๆไปอิง ไม่ใช่ไปผูก แนวทางนี้ ดร.ประสารบอกว่า เป็นอีกเรื่อง และคิดว่าเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ เหมือนมีเรือลำใหญ่ และมีเรือลำเล็กๆ แต่เรือลำเล็กโยงกับเรือลำใหญ่ด้วยเชือกที่เรือลำเล็กเคลื่อนขึ้นลงได้ตามลำดับน้ำ ไม่ใช่มาผูกกันด้วยท่อนไม้ หรือดามกันด้วยเหล็ก หรือเหมือนสามก๊ก ตอนโจโฉถูกเผาเรือ ย่างนั้นไม่ใช่ เพราะว่าเป็นการฝืน ในขณะที่เรือลำเล็กต้องเตี้ยลงกลับต้องลอยสูงตามเรือลำใหญ่ อยางนี้ไม่รอด

ผู้ว่าการธปท. อธิบายว่า สมมติถ้าอิงกันด้วยเส้นเชือก เพราะรู้ว่าเราอิงอยู่ในห่วงโซการผลิต (supply chain) เดียวกัน เช่น ไทยค้าขายในเอเชีย มากกว่า 50% ค้าขายในอาเซียนมากกว่า 23% เรารู้ว่าเราอยู่ใน supply chian เดียวกัน เวลาดูอัตราแลกเปลี่ยนก็อย่าให้เสียเปรียบกัน เรื่องนี้ก็เล็งๆ กันอยู่ ซึ่งแต่ละประเทศมีฐานะการคลัง ฐานะเศรษฐกิจไม่เหมือนกันก็ ควรปล่อยให้ขึ้นลงได้บ้าง ไม่ใช่ดามกันด้วยไม้ หรือดามด้วยเหล็กมันก็จะเป็นแบบกรีซ สเปน อิตาลี เพราะผลิตภาพของกรีซกับเยอรมันคนละเรื่อง

“เพราะฉะนั้นเราไม่เคยคิดจะใช้สกุลเงินหนึ่งเดียวหรือใช้กันตลอดในภูมิภาคอาเซียน หรือใน AEC แต่ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าเงินที่เป็นของเศรษฐกิจใหญ่ เช่น หยวน เกิดผงาดขึ้นมา เป็นที่นิยม เพราะเขาค้าขายกับทุกประเทศ ก็อาจเป็นเรือลำใหญ่ ที่เรือลำเล็กอย่าง เงินบาท เงินริงกิต เงินรูเปี๊ย และเงินเปโซ ก็อาจจะเล็งๆ เวลาขึ้นลงเอาไว้ แต่อนุญาตให้ขึ้นลงได้ตามแต่สภาพของแต่ละประเทศ”