ThaiPublica > เกาะกระแส > เอดีบีมั่นใจเศรษฐกิจเอเชีย-ไทยรับความเสี่ยงได้ ห่วงช่องว่างคนจน-คนรวยกว้างขึ้นเรื่อยๆ

เอดีบีมั่นใจเศรษฐกิจเอเชีย-ไทยรับความเสี่ยงได้ ห่วงช่องว่างคนจน-คนรวยกว้างขึ้นเรื่อยๆ

12 เมษายน 2012


ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกร เอดีบี สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย
ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกร เอดีบี สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย

ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ( Asian Development Bank: ADB ) รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มทางเศรษฐกิจเอเชียประจำปี 2555 (Asian Development Outlook 2012: ADB 2012) เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2555

โดย ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกร เอดีบี สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย แถลงรายงานเอดีบีว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียในปีนี้และปีหน้าชะลอลงเนื่องจากอุปสงค์โลกอ่อนแอ แต่ยังดำเนินการต่อไปได้อย่างสม่ำเสมอโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน

รายงานเอดีบีคาดการณ์ว่า จีดีพีของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวในอัตรา 6.9% ในปี 2555 และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7.3% ในปี 2556 จากเมื่อปี 2554 ขยายตัว 7.2% และ 9.1% ในปี 2553 โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจเอเชีย คือ ปัญหาหนี้ในยุโรป หากลุกลามจะกระทบเศรษฐกิจโลก แต่มั่นใจว่าประเทศในเอเชียสามารถบริหารจัดการได้

ส่วนอัตราเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เอดีบีคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับที่ดูแลได้ โดยคาดว่าจะขยายตัว 4.6% และในปี 2556 ขยายตัว 4.4% อย่างไรก็ดี ปัจจัยความเสี่ยงเงินเฟ้อที่สำคัญจะมาจากราคาน้ำมัน ซึ่งมีสาเหตุจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในตะวันออกกลาง

“แม้เศรษฐกิจโลกจะเปาะบางและน่าเป็นห่วง แต่ไม่เห็นประเทศใดในเอเชียกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้มาตรการการคลัง สะท้อนว่าประเทศในเอเชียยังบริหารจัดการได้ และส่วนต่างระหว่างกำลังการผลิตที่สามารถผลิตได้กับที่ผลิตได้จริง (output gap) ไม่ห่างกันมากนักเมื่อเทียบกับปี 2009 ตอนนี้แต่ละประเทศบริหารได้ดีแล้ว” ดร.ลัษมณกล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทย เอดีบีคาดการณ์ว่า ในปี 2555 จะเติบโต 5.5% และในปี 2556 จะขยายตัว 5.5% ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะลดลงอยู่ที 3.4% ในปีนี้ และ 3.3% ในปีหน้า โดยเหตุผลหลักของการเติบโตมาจากการฟื้นฟูหลังประสบอุทกภัยของภาครัฐและภาคเอกชน หรืออุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ

ดร.ลัษมณระบุว่า เอดีบีประเมินปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 2 ปีข้างหน้าคือ เศรษฐกิจยูโรโซน ยังเป็นปัญหาที่ต้องจับตามองใกล้ชิด และน้ำมันก็มีความเสี่ยงจะพุ่งสูงขึ้นจากสถานการณ์ความตรึงเครียดในตะวันออกกลาง และสิ่งที่ลืมไม่ได้คือ ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และภัยอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีก

“นโยบายการเงินการคลังของไทยขณะนี้ถือว่าเหมาะสมแล้ว คือ นโยบายการคลังไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเพิ่มขึ้นอีก และนโยบายการเงินน่าจะทรงตัวระดับนี้ได้ เพราะเงินเฟ้อไม่น่ากังวล แม้จะมีความเสี่ยงจากราน้ำมันสูงขึ้น” เศรษฐกรเอดีบี สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทยกล่าว

จากภาพรวมเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจไทย จะเห็นว่าเอดีบีค่อนข้างมั่นใจว่า แม้การเติบโตชะลอลงบ้าง แต่สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องและแข็งแกร่ง ที่สำคัญเชื่อว่าทุกประเทศสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน และปัญหาเงินเฟ้อไม่น่าห่วง

ดังนั้น ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและเงินเฟ้อจึงไม่ใช่ความท้าทาย หรือเป็นภัยคุกคามที่ทำให้เศรษฐกิจในเอเชียสั่นคลอน แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำกำลังเป็นภัยเงียบบั่นทอนเศรษฐกิจเอเชีย

โดยรายงานในเอดีบีระบุว่า ความท้าทายของประเทศในเอเชียในขณะนี้และระยะต่อไปคือ ปัญหาความไม่เสมอภาค หรือความเหลือมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศในเอเชีย เนื่องจากเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของภูมิภาคเอเชียกำลังทิ้งประชาชนหลายล้านคนอยู่ข้างหลัง และเป็นสาเหตุให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ดร.ลัษมณระบุว่า ผลการวิเคราะห์สถานการณ์ความเหลื่อล้ำของประเทศในภูมิเอเชียของเอดีบีพบว่า กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียทำได้ดีในเรื่องการลดความยากจนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

แม้ประเทศในภูมิภาคเอเชียจะทำได้ดีในเรื่องการลดความยากจน แต่ความไม่เสมอภาคหรือช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนกลับกว้างมากขึ้น โดย 11 ประเทศในเอเชียมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น หรือรวมแล้วประมาณ 80% ของประชาชนในเอเชียตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า อยู่ในภาวะไม่เสมอภาคหรืออยู่ในสถานการณ์มีความเหลื่อมล้ำ

ดร.ลัษมณกล่าวว่า หากดูค่าสัมประสิทธ์ของความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) หรือดัชนีวัดความเหลื่อมล้ำของประเทศในภูมิภาคเอเชีย พบว่าเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะใน 3 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย

โดยนับจากต้นทศวรรษที่ 1990s ถึงปี พ.ศ. 2553 พบว่า ค่าสัมประสิทธ์ของความไม่เสมอภาคของจีนสูงเพิ่มขึ้นจาก 33 เป็น 43 อินเดียสูงเพิ่มขึ้นจาก 33 เป็น 37 และอินโดนีเซียสูงเพิ่มขึ้นจาก 29 เป็น 39 และหากมองในภาพโดยรวมช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าค่าสัมประสิทธ์ของความไม่เสมอภาคของภูมิภาคเอเชียเพิ่มสูงขึ้นจาก 39 เป็น 46

ในรายงานของเอดีบียังพบว่า ช่องว่างคนจนกับคนรวยในเอเชียสูงขึ้นหรือกว้างขึ้น โดย 1% ของครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุดในเอเชียมีรายได้รวมกัน 6-8% ของรายได้โดยรวมของภูมิภาค และเกือบ 20% ของรายได้โดยรวมเป็นของคนที่มีฐานะมั่งคั่งที่สุดที่มีสัดส่วน 5% ในประเทศเอเชียส่วนใหญ่ ในรายงานยังระบุว่า ส่วนแบ่งรายได้ที่พอกพูดขึ้นของครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดได้เพิ่มสูงขึ้นตามเวลาด้วย

ทั้งนี้ เอดีบีมองเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็น 2 ระดับ ระดับแรกคือ ความเหลื่อมล้ำของประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเอง เนื่องจากประเทศต่างๆ จะมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เช่น ประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมามีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วมาก ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเร็วด้วย เมื่อเทียบกับประเทศหลายประเทศที่เศรษฐกิจโตช้ากว่าและรายได้ต่อหัวต่ำกว่า จะทำให้ประเทศจีนกับประเทศอื่นมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่

ความเหลื่อมล้ำระดับที่สอง คือ ระดับภายในประเทศ ที่ประชากรในประเทศนั้นๆ มีรายได้แตกต่างกันมาก หรือมีช่องว่างรายได้คนจนกับคนรวยสูง ซึ่งเอดีบีให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากกว่าระดับแรก โดยในรายงานเอดีบีระบุว่า 2 ใน 3 ของประเทศในเอเชียมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ

ในรายงานของเอดีบีระบุว่า ความเหลื่อมล้ำระดับประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเองมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 22.6% ในปี 1996 เป็น 29.6% ในปี 2008 ขณะที่ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 70.4% ในปี 1996 เป็น 77% ในปี 2008

ในรายงานเอดีบีระบุว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถ้าหากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ขยายวงกว้างมากขึ้นดังเช่นที่เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนอีก 240 ล้านคนจะไม่ตกอยู่ในภายใต้ความยากจน

สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ดร.ลัษมณกล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่น โดยสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มปรับลดลง แต่ถ้าดูตัวเลขดัชนีวัดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 42 ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย

ทั้งนี้ จากข้อมูลค่าสัมประสิทธ์ของความไม่เสมอภาคที่เอดีบีรวบรวมพบว่า หากพิจารณาประเทศในเอเชียเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลางรวม 26 ประเทศ (ไม่นับรวมประเทศในกลุ่มหมู่เกาะแปซิฟิก 8 ประเทศ) ปรากฏว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากทีสุดคือ มาเลเซีย รองลงมาคือ จีน ฟิลิปปินส์ ไทย และ อินโดนีเซีย โดยมีค่าสัมประสิทธ์ของความไม่เสมอภาคอยู่ที่ระดับประมาณ 46, 43.4, 43, 42 และ 39 ตามลำดับ

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่รายงานความเหลื่อล้ำของสังคมไทยในปี 2553 ปรากฏว่า กลุ่มคนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของรายได้ถึงประมาณ 40% หรือ 38.41% ขณะที่กลุ่มคนจนที่สุด 10% ถือครองเพียง 1.69% ของรายได้ทั้งหมด

จากข้อมูลดังกล่าว ดร.ลัษมณมีความเห็นว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยถือว่า “ค่อนข้างรุนแรง” โดยการลดแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยที่ทำได้ช้า น่าจะเป็นผลของการดำเนินมาตรการของภาครัฐที่ส่วนมากจะเป็นมาตรการที่มีผลทั่วไป ไม่ได้มุ่งเน้นแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย จึงทำให้ผลที่เกิดขึ้นไม่ตรงวัตถุประสงค์เท่าไรนัก

ส่วนการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ ดร.ลัษมณมีความเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำลงได้ เพราะยังมีแรงงานนอกระบบ และเกษตรกรที่เป็นผู้มีรายได้น้อยไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ และจากที่คุยกับกระทรวงการคลัง มาตรการนี้ไม่ได้มีเป้าหมายลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ต้องการยกระดับรายได้ของแรงงานให้สอดคล้องกับผลิตภาพการผลิตที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ รายงานของเอดีบียังระบุว่า ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจได้นำไปสู่วงจรอุบาทว์ โดยโอกาสที่ไม่เทียมกันได้ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคทางรายได้ ซึ่งไปนำสู่ความแตกต่างทางโอกาสในอนาคตสำหรับครอบครัวต่างๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน

ดร.ลัษมณกล่าวว่า รายงานของเอดีบีพบว่า การจัดสรรเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้นในการผลิต กระแสโลกาภิวัตน์ เรื่องการเปิดเสรี เรื่องเศรษฐกิจที่พึ่งพากลไกตลาด ทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียดีขึ้น ความยากจนลดลง แต่การใช้เครื่องจักร ใช้เทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับเงินทุนมากกว่าใช้แรงงาน หมายความว่า รายได้แรงงานลดลง และใช้แรงงานทักษะมากกว่าแรงงานไม่มีทักษะ

เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงคือผู้มีรายได้ต่ำเพิ่มขึ้น และเนื่องจากประเทศในเอเชียส่วนใหญ่พึ่งพิงการส่งออกไปต่างประเทศ จึงมักเน้นพัฒนาเมือง ลงทุนสร้างท่าเรือ สร้างสนามบิน ส่งผลให้พื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่เมืองถูกละเลยไป จึงเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำ

รายงานในเอดีบีจึงเสนอว่า และผู้กำหนดนโยบายสามารถลดความเหลื่อมล้ำในประเทศได้โดยใช้นโยบายการคลังแบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนด้านการศึกษา ด้านสุขอนามัย การขยายกลไกป้องกันทางสังคม เช่น เรื่องประกันสังคม ระบบบำเหน็จบำนาญ ต้องยกระดับหรือหากกลไกให้ทุกคนมีรายได้หลังเกษียณสูงกว่าเส้นความยากจน

นอกจากนี้ถ้ามีการพัฒนาเมืองมากกว่าชนบท ก็ต้องใช้นโยบายเฉพาะเจาะจงลงไปในภูมิภาคมากขึ้นจะช่วยได้ และการทำให้เศรษฐกิจเติบโตดี จะช่วยด้านการจ้างงานมากขึ้น ทำให้แรงงานมีรายได้มากขึ้นด้วย