ThaiPublica > คอลัมน์ > คนไทยกินยาปีละ 47,000 ล้านเม็ด

คนไทยกินยาปีละ 47,000 ล้านเม็ด

19 มีนาคม 2012


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง

จากข่าว(อ่านเพิ่มเติม)เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2555 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายจากการใช้ยาเพิ่มขึ้นจาก 36,506 ล้านบาทในปี 2543 เป็น 98,375 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2551 โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 46.7 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วกว่า 2 เท่าตัว และมีแนวโน้มการนำยาเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นจากร้อยละ 46 เป็นร้อยละ 65 ในช่วงเดียวกัน และยังบอกอีกว่า จากการสำรวจของกรมการแพทย์ พบว่าในปี 2553 คนไทยกินยาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณปีละ 47,000 ล้านเม็ด หรือเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด

ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยสูงกว่าประเทศอื่นจริงหรือไม่

จากข้อมูลข้างต้นนี้ พบว่าค่ายาเป็นค่าใช้จ่ายมากถึง 46% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับข้อมูลเรื่องนี้ ผู้เขียนจะขอวิเคราะห์ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้น มีมูลค่ามากกว่ามูลค่าของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศไทย กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีมูลค่าเท่ากับประมาณ 8-10% ของรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยนั้นมีมูลค่าเพียงเท่ากับ 4% ของGDP (ดูที่ : www.worldbank.org)

ถ้าเราไปดูอัตราส่วนค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีมูลค่าเพียงครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายยาของประทศไทย ผู้เขียนขอวิเคราะห์ว่าอาจเป็นได้ เนื่องจากประเทศไทยมีค่า “จ้างแรงงานของบุคลากรทางการแพทย์” ต่ำมาก เมื่อเทียบกับของต่างประเทศ

นอกจากนั้น ประเทศไทยไม่ได้คิดราคาของอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือค่าอาคารสถานที่โรงพยาบาลต่างๆ ที่รัฐบาลต้องลงทุน เพื่อใช้ในการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เอามารวมไว้ในรายการค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพด้วย จึงอาจเป็นสาเหตุให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้านยาสูงมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เนื่องจากคิดค่าใช้จ่ายเพียงในด้านบุคลากรและค่ายาเท่านั้น ทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้นดังที่มีตัวเลขแสดงให้เห็นแล้ว

นอกจากนั้น ประเทศไทยได้จัดให้มีบริการตรวจรักษาโรคฟรีในกลุ่มประชาชน 48 ล้านคน ที่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไปโรงพยาบาลมากขึ้น และต้องการให้หมอสั่งยาให้เป็นจำนวนมากๆ เมื่อได้ยาไปแล้วก็อาจจะทำซองยาหายบ้าง กินยาไปแล้วเพียง 2-3 วัน รู้สึกว่าไม่ดีขึ้นก็เลิกกินแล้วไปหาหมอซึ่งอาจไม่ใช่หมอคนเดิม (เนื่องจากระบบโรงพยาบาลไทย ในโรงพยาบาลรัฐบาลมีแพทย์เปลี่ยนเวรกันมาตรวจผู้ป่วยทุกวัน และถึงแม้จะมีระบบนัดให้ผู้ป่วยมาติดตามดูอาการ ผู้ป่วยก็อาจไม่มาตามนัด) แล้วผู้ป่วยก็ขอยาใหม่ ยาเก่าก็เอาทิ้งไป (ไม่ได้เอามาคืน) เนื่องจากไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่ายา ทำให้ไม่ตระหนักในคุณค่าของเงินที่จะต้องใช้จ่ายเป็นค่ายา และทำให้จำนวน “เม็ดยา” ที่ใช้รักษามีมากโดยไม่ได้นำไป “กิน” จริงๆ อีกเป็นจำนวนเท่าไรก็ยังไม่ได้มีการสำรวจ

ส่วนประชาชนในระบบประกันสังคมหรือระบบสวัสดิการข้าราชการ เมื่อเจ็บป่วยก็ได้รับสิทธิการรักษาจากทั้ง 2 กองทุนนี้เช่นเดียวกัน อาจทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพได้เช่นกัน ซึ่งในกรณีที่กล่าวนี้ อาจทำให้มีการสูญเสียยาอย่างน่าเสียดาย และเป็นสาเหตุให้มีการสั่งใช้ยาเพิ่มมากขึ้น และมูลค่าของค่าใช้จ่ายค่ายาจึงเพิ่มมากขึ้นดังกล่าวแล้ว

ผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้มีการเจ็บป่วยมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากถึง 10% และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น (ประเทศไทยก้าวเช้าสู่สังคมผู้สูงอายุ )ในขณะที่มีการคุมกำเนิดเพิ่มขึ้น อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง ทำให้อัตราส่วนจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น และความเจริญทางการแพทย์ทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ซึ่งในวัยผู้สูงอายุนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดโรคภัยหรือความเจ็บป่วยจากปัญหาความ “เสื่อม” ของสังขาร ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัย “ยา” มากขึ้น

ประกอบกับในปัจจุบันนี้ ก็มียาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก ทำให้แพทย์สามารถรักษาโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง เอดส์ หัวใจ เบาหวาน ความดัน ได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่ยังมีอาการของโรคเรื้อรังที่ยังต้องกินยาควบคุมอาการมากขึ้น ฉะนั้น ปริมาณการใช้ยาจึงมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากโรคที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด ผู้ป่วยยังต้องพึ่งพาการกินยาไปจนตลอดชีวิต จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปริมาณยาที่ใช้ในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

การได้รับแจกยาฟรีๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่ตระหนักว่า “ต้องมีการจ่ายค่ายา”

อย่างไรก็ตาม ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม หรือสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ต่างก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการให้ประชาชนมีความรับผิดชอบในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มีแต่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาโรงพยาบาลเมื่อป่วยแล้วเท่านั้น ทำให้ประชาชนไม่เห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จึงทำให้อัตราป่วยของประชาชนเพิ่มมากขึ้น อัตราการไปโรงพยาบาลมากขึ้นทุกปี จากปีละ 120 ล้านครั้ง มาจนถึงปีละ 200 ล้านครั้งในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่อัตราการใช้ยาและค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาสุขภาพจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมากมายดังกล่าว

ประชาชนซื้อยากินเองได้อย่างเสรีทำให้ใช้ยาโดยไม่จำเป็น

จากข่าวข้างต้นที่กล่าวถึงว่า ประชาชนไทยซื้อยากินเองร้อยละ 15 ของผู้ป่วยทั้งหมด กินยาปฏิชีวนะมากถึง 20% ของยาทั้งหมด กินยาแก้ปวดทุกวันร้อยละ 2.3 กินยานอนหลับเป็นประจำร้อยละ 2.3 กินยาลูกกลอนเป็นประจำร้อยละ 2.1 กินยาลดความอ้วนร้อยละ 1.1

ผู้เขียนขอวิเคราะห์ว่า การที่คนไทยซื้อยากินเองถึงร้อยละ 15 นั้น ก็คงเนื่องจากประเทศไทยโดยองค์การอาหารและยา (อย.) แห่งกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ควบคุมการขายยาอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการขายยาอันตรายคือ ยาปฏิชีวนะ (ที่คนทั่วไปเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “ยาแก้อักเสบ”)

ฉะนั้น เมื่อประชาชนคิดว่าตนเองหรือลูกหลานในครอบครัวป่วย ก็ไปซื้อยา “แก้อักเสบ” ซึ่งก็คือยา “ปฏิชีวนะ” มากินเองได้โดยง่าย แล้วก็กินไม่ถูกขนาด (กินครั้งละมากเกินไปหรือน้อยไป) และก็กินไม่ครบเวลาที่ควรจะกินติดต่อกันไป (ครบระยะเวลาเช่น 5 วัน หรือ 7 วัน) เช่น พอเป็นหวัดรู้สึกเจ็บคอเล็กน้อย ก็คิดว่าตนเองมีคออักเสบ ก็ไปซื้อยาแก้อักเสบมากินเอง ทั้งๆ ที่ยาแก้อักเสบ (หรือยาปฏิชีวนะนั้น) ไม่จำเป็นในกรณีที่อาการเจ็บคอนั้นไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ฉะนั้น การกินยาปฏิชีวนะจึงไม่มีผลดีต่อการรักษาเลย กลับจะไปทำลายเชื้อแบคทีเรียปกติที่มีอยู่ในร่างกาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียตัวร้ายหรือเชื้อรามีพลังทำร้ายร่างกายได้มากขึ้น

หรือถ้าอาการเจ็บคอนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การกินยาปฏิชีวนะก็จะมีผลในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดเท่านั้น เมื่อผู้ป่วยกินยานี้ไป 1-2 วัน พอรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็หยุด ทั้งๆ ที่เชื้อแบคทีเรียนั้นยัง “ไม่ตาย” หมด ทำให้เชื้อเหล่านั้นสามารถลุกลามต่อไป และอาจมีภูมิต้านทานต่อฤทธิ์ยามากขึ้น ทำให้เชื้อดื้อยา และรักษาไม่หาย คราวนี้ก็ต้องไปหาหมอ และต้องเปลี่ยนยาใหม่ให้สามารถกำจัดแบคทีเรียตัวนี้ได้ ทำให้ต้องกินยามากกว่าที่สมควรกิน

ทั้งนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงการไปซื้อยาอื่นๆ รวมทั้งยา ”ลูกกลอน” ที่ไม่มีข้อมูลบอกว่าตัวยาที่ออกฤทธิ์ในการรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ นั้น มีตัวยาอะไรบ้าง มีตัวยาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพรวมอยู่ด้วยหรือไม่ เช่น มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ (steroid) ซึ่งถ้ากินไปนานๆ ก็จะมีอันตรายต่อร่างกายหลายๆ อย่าง ซึ่งประเด็นนี้ทาง อย. ได้มีมาตรการตรวจสอบและควบคุมการผลิตยาลูกกลอน หรือยาแผนไทย แผนจีน บ้างหรือไม่

การแก้ปัญหาการใช้ยามากเกินไป

จากการที่มีข่าวว่า 3 กองทุนเร่งควบคุมระบบการจ่ายยา (อ่านเพิ่มเติม )และควรให้ผู้บริหารกองทุนเป็นผู้กำหนด “รายการยาในบัญชียาหลัก” หรือไม่

โดยก่อนหน้านี้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า แพทย์นิยมสั่งยานอกยี่ห้อดังๆ ประเด็นนี้ต้องไปทบทวนว่า ยานอกนั้นมีคุณภาพดีกว่ายาในจริงหรือไม่ รวมทั้งการให้ผู้บริหารกองทุนกำหนด “กำหนดรายการยาในบัญชียาหลัก” ทั้งๆ ที่ผู้บริหารกองทุนเหล่านี้มิใช่ “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกโรค” จึงเท่ากับการ “ละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วย” ไม่ให้ได้รับยารักษาที่เหมาะสมที่สุด

และยังเป็นการ “ละเมิดสิทธิในการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระของแพทย์” ไม่ให้แพทย์ได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ในการใช้ดุลพินิจของตนเองสั่งยา หรือสั่ง “วิธีการรักษา “ที่เหมาะสมที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วยแห่งตน ทำให้ผู้ป่วยไม่หายจากอาการป่วยอย่างดีที่สุด

แพทยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพ และยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องเร่งให้มีการยุติการกระทำดังกล่าวนี้โดยด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน

ผู้เขียนในฐานะประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) และประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง ขอเสนอแนวทางแก้ไขการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมดังนี้

1.การควบคุมการขายยา

1.1โดยการกำหนดให้ยาแผนไทย ยาแผนจีน และยาในการแพทย์ทางเลือก ต้องมีฉลากกำกับยาเหมือนยาแผนปัจจุบัน

1.2.กำหนดให้มีเภสัชกรประจำร้านขายยาทุกแห่ง ไม่ใช่มีแต่ป้ายแขวนชื่อเภสัชเท่านั้น นอกจากนั้นควรกำหนดให้ยาปฏิชีวนะและยาอันตรายอื่นๆ จะขายได้ก็ต่อเมื่อมีใบสั่งยาจากแพทย์ และมีเภสัชกรเป็นผู้ควบคุมการขายเท่านั้น เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายในโลกนี้

จำนวนเภสัชการของเราก็มีจำนวนมากมายแล้ว การกำหนดให้มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านขายยาจึงน่าจะมีความเป็นไปได้สูง การมีเภสัชกรประจำร้านขายยา และการบังคับให้ขายยาอันตรายเมื่อมีคำสั่งแพทย์เท่านั้น จึงจะช่วยป้องกันการ “กินยา” ที่ไม่เหมาะสมได้

สำหรับในกรณีที่บอกว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะใช้ยาจากต่างประเทศมากขึ้นจากร้อยละ 46 เป็นร้อยละ 65 นั้น ผู้เขียนคิดว่า อาจจะมีสาเหตุมาจากในปัจจุบันนี้ มียาใหม่ๆ มากมายที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคต่างๆ ที่มีความร้ายแรงมากขึ้น และเมื่อก่อนนี้ยังไม่มียารักษาได้ เช่น ยารักษามะเร็ง รักษาเอดส์ ใช้ในกรณีไตวายได้แก่ Erythropoietin และยาอื่นๆ อีกมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ผลิตจากสารชีวภาพหรือชีววัตถุ (Biological) ซึ่งมีโมเลกุลซับซ้อนมากว่ายาเดิมๆ ทำให้ราคาของยาใหม่ๆ สูงขึ้น จึงทำให้มูลค่าของยาเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

แต่ถ้าจะมาเปรียบเทียบมูลค่าของยาที่ประเทศไทยนำเข้ามาจากต่างประเทศ จะพบว่า มูลค่ายาของประเทศไทยจะเทียบได้เป็นเพียง 0.25% ของมูลค่ายาทั้งโลกเท่านั้น และค่ายาต่อหัวประชากรของโลกเท่ากับ 126.27 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ค่ายาต่อหัวของคนไทย 43.98 เหรียญสหรัฐ

2. กำหนดให้ผู้ป่วยร่วม “จ่ายค่ายา” เพื่อให้ตระหนักถึง “ราคาที่ต้องจ่าย” เนื่องจากของที่ได้มาฟรีๆ มักจะทำให้ประชาชนลืมไปว่า ยาที่ได้มาฟรีๆ นั้นมันก็ต้องมีการจ่ายเงินเสมอ ในกรณีของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ต้องจ่ายจากเงินภาษีของประชาชนนั่นเอง ในต่างประเทศ เช่น แคนาดาหรือสหรัฐอเมริกา ประชาชนก็ต้องจ่ายค่ายา จะมากบ้างน้อยบ้างแต่ก็ต้องจ่าย อาจจะมียกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินบ้างก็เฉพาะผู้ที่ยากจนจริง ที่สมควรจะได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล ถ้าประเทศไทยจะให้ประชาชนที่ไม่ยากจนจ่ายเงินค่ายาบ้าง ก็คงจะช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าและราคาที่ต้องจ่ายไปเพื่อให้ได้ยามารักษาตัว และจะช่วย “ประหยัดเม็ดยา” ลงได้อีกมากมาย

อาจจะมีคนพูดว่า ไม่รู้ว่าจะแบ่งเขตความยากจนตรงไหน ผู้เขียนทราบว่า ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ได้ทำการศึกษาและพยายามแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน (เส้นความยากจนสัดส่วนและจำนวนคนจน)แม้ในประเทศที่ร่ำรวย เช่น ประเทศสหรัฐ ก็สามารถกำหนดได้ว่ารายได้แค่ไหนถือว่ายากจน

3. อย่าเอา ”จำนวนเงิน” มากำหนดมาตรฐานการสั่งยาหรือการรักษาผู้ป่วย

ในระบบประกันสุขภาพหรือประกันสังคมในสหรัฐเอง ก็มีข้อกำหนดว่า ให้ประชาชนที่มีสิทธิในการรักษาสุขภาพมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติด้วย เช่น ไปพบแพทย์ตามนัดเท่านั้น ยกเว้นการเจ็บป่วยฉุกเฉินจึงจะไปพบแพทย์โดยไม่นัดหมายได้ หรือต้องร่วมจ่ายค่าตรวจพิเศษ (เช่น การใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ) หรือต้องร่วมจ่ายค่ายาด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเรียกร้องการตรวจพิเศษที่ไม่จำเป็น

หรือในประเทศอังกฤษ ที่เป็นต้นแบบการทำหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย ก็กำหนดว่า ถ้าประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย ก็จะต้องจ่ายเงินในการเข้ารับการรักษาตัวด้วย

แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ยากจน และจะยากจนยิ่งขึ้นเนื่องจากต้องกู้เงินอีกหลายแสนล้านบาท (หรืออาจจะเป็นจำนวนหลายล้านล้านบาทแล้ว) ยังทำตัวเป็นยากจกใจบุญ ทุ่มทุนแจกไม่อั้นในระบบการแพทย์และสาธารณสุข แบบนี้ก็คงจะต้องล้มละลายในเร็ววัน

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็รู้ความจริงข้อนี้ดี จึงนำเอา “จำนวนเงิน” มาเป็นหลักในการสั่ง “ห้าม” ไม่ให้แพทย์จ่ายยานอกบัญชียาหลัก หรือสั่งห้ามแพทย์ไม่ให้รักษาผู้ป่วยตามความเห็นทางวิชาการแพทย์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน แต่ให้จ่ายยาเฉพาะในบัญชียาหลัก (ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค) และสั่งให้รักษาผู้ป่วยไตวายครั้งแรกด้วยการล้างไตทางช่องท้องทุกราย โดยแพทย์ไม่สามารถ “เลือกไปใช้วิธีอื่น” ที่เหมาะสมกว่าได้ ไม่เช่นนั้น สปสช. จะไม่จ่ายเงินค่ารักษา จนทำให้เกิดผลร้ายต่อผู้ป่วยเอง คือ “ตาย” มาก โดยผู้ป่วยที่ต้องล้างไตทางหน้าท้องตาม “ใบสั่ง” ของ สปสช. มีอัตราตายสูงมากเฉลี่ยอัตราตาย 40% แต่บางแห่งมีอัตราตายถึง 100% ซึ่งนายแพทย์ดำรัส โรจนเสถียร ได้เปิดเผยข้อมูลของ สปสช. เอง ต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภาแล้วเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2555 (กรรมาธิการสาธารณสุขแนะ สปสช. ทบทวนหลักเกณฑ์ล้างไตทางช่องท้อง ติงควรเคารพการวินิจฉัยของแพทย์)