ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ธีรยุทธ” วิพากษ์ “ทักษิณ” เป็นผู้นำการตลาดขายสินค้ารากหญ้า-รุกสลายอำนาจฝ่ายตรวจสอบ-ดึงกองทัพเป็นพวก

“ธีรยุทธ” วิพากษ์ “ทักษิณ” เป็นผู้นำการตลาดขายสินค้ารากหญ้า-รุกสลายอำนาจฝ่ายตรวจสอบ-ดึงกองทัพเป็นพวก

19 มีนาคม 2012


นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังจากที่เงียบหายไปนาน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดแถลงข่าว “การวิเคราะห์การเมืองไทย มองแนวโน้มของวิกฤติปัจจุบัน” พร้อมกับตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยในขณะนี้

นายธีรยุทธมองว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถขยายฐานรากหญ้า คนเสื้อแดง ระดมพลไปเลือกตั้งและชุมนุมประท้วงได้อย่างกว้างขวาง สะท้อนให้เห็นว่า ทักษิณกลายเป็น 1 ใน 3 ของผู้มีบารมีทางการเมือง ในช่วงหลัง พ.ศ. 2500 ที่มีบทบาทเปลี่ยนโฉมการเมืองไทย ซึ่งได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ทักษิณจะช่วยให้การเมืองไทยดีขึ้นหรือประเทศล่มจม ยังเป็นสิ่งต้องพิสูจน์อีกยาวนาน

“ผมอยากให้คุณทักษิณกลับเมืองไทย กลับมารับโทษ หาทางสู้คดีอย่างลูกผู้ชาย ยอมติดคุก เพื่อเป็นการรักษาระบบยุติธรรมของบ้านเรา ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นใจ และอยากให้มีนิรโทษกรรม” นายธีรยุทธกล่าว

วิกฤติการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นเพราะการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ที่รุนแรงที่สุดคือการไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของอีกฝ่าย เพราะมองว่าไม่ใช่ของจริง ไม่ต้องสนใจจริงจัง เช่น ฝ่ายอนุรักษ์มองว่าเสื้อแดงไม่มีตัวตน เพราะถูกจ้างมา โง่จึงถูกหลอกมา ไร้การศึกษา จึงถูกชักจูงโดยทักษิณ แต่ชาวรากหญ้าเสื้อแดงกลับมองว่า ทักษิณมีบุญคุณล้นเหลือ เป็นคนออกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนจนอย่างมาก

นอกจากแก้การเจ็บไข้ร่างกายแล้ว ชาวบ้านชอบความรวดเร็วและความเด็ดขาดเอาจริงเอาจังของทักษิณ โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามยาเสพติด ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ปัญหายาเสพติดกระทบโดยตรงต่อครอบครัวคนชั้นกลางล่าง ชั้นล่าง หรือคนจนในเขตเมืองมากกว่าที่คิด และปัญหาลดลงมากในช่วงรัฐบาลทักษิณ ขณะที่เสื้อแดงก็ไม่ยอมรับเสื้อเหลือง มองเป็นพวกไม่มีเหตุผล ไม่มีความคิด เพราะคลั่ง “ชาติ” คลั่ง “เจ้า”

รากเหง้าวิกฤตของปัญหาประเทศเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ทุกอย่างรวมศูนย์ที่รัฐ ทั้งอำนาจและทรัพยากร กระทั่งชนชั้นนำที่เข้ามามีอำนาจการเมืองล้วนหยิบฉวยใช้ประโยชน์จากรัฐทั้งสิ้น ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ คุณภาพชีวิต อำนาจในการใช้ทรัพยากรพื้นฐาน สุขอนามัย ประวัติศาสตร์ความภาคภูมิใจ ภาษาขนบธรรมเนียมท้องถิ่นหายไป ความต่างในค่านิยม ความคิดพื้นฐานระหว่างรากหญ้ากับชนชั้นนำที่แตกต่างกัน ตอกย้ำความไม่เข้าใจกันเพิ่มมากขึ้น

ปัญหาเมืองไทยตอนนี้ จึงมีทั้งประชาธิปไตยแบบกินได้ กับการวิจารณ์สถาบันอนุรักษ์นิยม วงจรอุบาทว์ขณะนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น เกิดการเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจ หรือ 2 ศูนย์กลางอำนาจ การเมืองไทยยุค 2 ก๊ก ก๊กคนเลว ”โจโฉ” อยากจะชนะก๊กคนดี “เล่าปี่ ขงเบ้ง” ประวัติศาสตร์เมืองไทยจะเป็นเช่นนี้หรือเปล่า

การเมืองไทยแบ่งเป็น “ศูนย์อำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม” กับ “ศูนย์อำนาจของรากหญ้า” แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ แต่ละฝ่ายมีที่มาของอำนาจแตกต่างกัน ฝ่ายอนุรักษนิยมควบคุมด้านความมั่นคง แต่กลุ่มรากหญ้าควบคุมอำนาจการบริหาร งบประมาณ การออกกฎหมาย รากหญ้าได้เปรียบในแง่ความชอบธรรม เพราะมาจากการเลือกตั้ง ฐานที่มั่นอีกฝ่ายมาจากกลุ่มคนในเมือง กับอีกฝ่ายมาจากกลุ่มคนในชนบทซึ่งมีเสื้อแดงเป็นฐาน ส่วนในเมืองก็มีทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง

แนวโน้มเสื้อแดงจะขยายตัวตามนโยบายประชานิยม คือมีทั้งกลุ่มโอทอป ประกันพืชผล และยังขยายกลุ่มประชานิยมออกไปได้เรื่อยๆ อย่างเช่น กลุ่มสตรี กลุ่มเด็ก ก็กำลังแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เด็กชนบทรู้สึกตื่นเต้นเพราะไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัส พอได้สัมัผสก็รู้สึกประทับใจ เราทำสำรวจเด็กภาคอิสาน 100 คน กว่า 90% อยากได้ไอโฟน ไอแพ็ด เด็กเขียนชัดเจนเลย แนวโน้มจะมีประชานิยมอย่างนี้ออกมาอีกเยอะ

กลุ่มเสื้อแดงหรือกลุ่มรากหญ้าได้เปรียบ กลุ่มอนุรักษ์นิยมเสียเปรียบ เพราะกลุ่มเสื้อแดงเป็นฝ่ายรุกตลอด ขณะที่วิสัยทัศน์ของเสื้อเหลืองมีจำกัด ตีบตัน ส่วนเสื้อแดงสามารถคิดอะไรต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะมีงบประมาณรองรับ ในที่สุดศูนย์กลางอำนาจจะเหลือ “ศูนย์เดียว” ส่วนจะเหลือศูนย์เดียวอย่างไร ผมไม่ขอให้คำตอบไว้

ยุทธศาสตร์ของทักษิณหรือเพื่อไทยจะมี 3 ขา คือ 1. ขยายฐานรากหญ้า 2. สลายอำนาจฝ่ายตรวจสอบ องค์กรอิสระ ศาลยุติธรรม และ 3. ดึงกองทัพเข้ามาเป็นพวก ส่วนจะทำได้แค่ไหน และจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าห่วง

“ผมคิดว่าฝ่ายอนุรักษ์ไม่มีทางออก ครั้นจะขยายฐานเสียงไปที่กลุ่มรากหญ้า ผมคิดว่าไม่มีทางสำเร็จ ไม่มีแม้กระทั้งวาทกรรมใหม่ๆ ได้แต่บอกให้ชาวบ้านอดทน อยู่ง่ายๆ สมถะ พอเพียง ชาวบ้านก็ไม่มีความหวัง ถ้าคุณเป็นคนจนมากๆ จะรู้สึกอย่างไรหากมีคนรวยมาบอกคุณว่าให้อดทนเข้าไว้ แทนที่จะแบ่งข้าวให้กิน คนจนจะโกรธเพราะเขารู้สึกว่าลำบาก นักคิดของฝ่ายอนุรักษ์มักจะพูดแต่เรื่องนามธรรมมาโดยตลอด แต่คนจนยังนิยมวัตถุ ส่วนคนรวย คนชั้นสูง ชอบเน้นนามธรรม ดังนั้นคนจนจึงขมขื่นมาก ผมมองไม่เห็นทางที่ฝ่ายอนุรักษ์จะขยายตัว มีแต่จะหดตัวไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการปรับความคิดใหม่”

บทสรุปคือ ไม่มีทางออกในระยะสั้น มีแต่สิ่งที่ต้องทำในระยะยาว คิดว่าไม่มีใครที่มีความสามารถมาพูดให้สังคมเกิดความสมานฉันท์ เพราะความขัดแย้งมันลงลึก เป็นปัญหาโครงสร้างและเป็นปัญหาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ความรู้สึก ที่ฝังกันมายาวนาน ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์หรือเสื้อเหลืองก็ยอมไม่ได้ หากไปแตะต้องสถาบันที่ตนเองเคารพ

ส่วนฝ่ายเสื้อแดงก็บอกว่าตนถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งการขยายตัวของรากหญ้าหรือระบอบทักษิณนี่เอง ที่ทำให้เกิดความแตกร้าวมากขึ้น อย่างเช่น ไพร่กับอำมาตย์ คนจนกับคนรวย คนต่ำต้อยกับคนชั้นสูง คนภาคใต้กับคนภาคเหนือ ยากที่จะหาหนทางแก้ไข และจะเกิดความเสียหายมากหากความขัดแย้งขยายตัวไปสู่สถาบันอย่างเช่นกองทัพหรือศาล และในที่สุดอาจจะเกิดความขัดแย้ง หรือเกิดรัฐประหารย่อยๆ เหมือนในละตินอเมริกา

“ผมคิดว่าทางออกของการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นไม่มี มีแต่ปูพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ผมคิดว่ามีแค่นั้น และคิดว่าปัญหาต่างๆ น่าจะผ่านไปได้ ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยไม่พยายามกดดันให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเหลือง-แดง และใช้เวลาแก้ไขความไม่ถูกต้อง โดยมุ่งในเชิงโครงสร้างและค่านิยมที่ถาวรมากกว่า”

สังคมจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ทั้งในเรื่องการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และองค์กรสำคัญของชาติทั้งหมด ควรมีการถกเถียงเรื่องรูปแบบการปกครองประเทศว่าควรเป็นอย่างไร ถัดมาเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ความขัดแย้งได้ลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวางพอสมควร

“ผมคิดว่านักวิชาการที่ใกล้ชิดราชสำนักอย่าง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ควรผลักดันให้มีการศึกษาค้นคว้าให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ควรดำรงอยู่ในระบบเสรี โลกาภิวัตน์ และยุคอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊กได้อย่างไร”

“แต่ผมไม่เห็นด้วยกับพวกอนุรักษ์สุดขั้ว ที่พยายามมายกย่องให้พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ หรือมีพระราชอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นการย้อนยุค ผมคิดว่าสถาบันกษัตริย์จะดำรงอยู่ในสังคมยุคข่าวสารได้อย่างยั่งยืน ต้องเป็นสถาบันที่มีสถานะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอย่างแท้จริง นอกจากจะมีหน้าที่ ภารกิจตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยกำหนดแล้ว ยังมีภารกิจตามขนบประเพณี ทางศาสนา วัฒนธรรม และที่สังคมคาดหวัง เช่น เป็นศูนย์รวมจิตใจ มีเกียรติยศ จริยธรรม คุณธรรม พิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น”

แม้ว่านโยบายประชานิยมจะมีส่วนดีในหลายด้าน แต่ในที่สุดอาจจะทำให้เกิดปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนและเงินเฟ้อที่รุนแรง ดังนั้น สังคมต้องช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย เพื่อที่จะกดดันเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินนโยบายนี้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง

สิ่งที่สังคมไทยต้องทำเพื่อหาทางออกในระยะยาวคือ ทุกฝ่ายต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น ขณะเดียวกันต้องเคารพสิทธิและกล้าใช้สิทธิของตัวเองด้วย โดยไม่ควรให้ฝ่ายใด ทำความรุนแรงเกินเหตุ อาทิ การยึดทำเนียบรัฐบาล การล้มประชุมระดับนานาชาติ การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ รวมไปถึงการยึดสี่แยกราชประสงค์ จนเกิดการปราบปรามและเผาราชประสงค์อีกต่อไป และแม้จะอ้างว่าทำด้วยเจตนาที่ดี แต่ถ้าเกิดผลเสียหายขึ้นแล้วก็ต้องมีคนรับผิดชอบ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเท่าเทียม ส่วนจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ สังคมต้องร่วมกันพิจารณา

ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าที่แท้จริง เห็นได้จากที่ผ่านมา ไม่เคยปราศรัยในประเด็นที่สร้างความยั่งยืนใดๆ มีแต่เพียงการอ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณถือว่าเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย มุ่งหวังเพียงให้รากหญ้ามาซื้อสินค้าของตนเองอย่างสม่ำเสมอมากกว่าจะทำให้รากหญ้าเป็นรากฐานของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

“ผมคิดว่าเราต้องยกระดับให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง (strong democracy) ที่ใช้ทั้งสิทธิและเสรีภาพและตามลักษณะที่เข้มแข็งทั้ง 3 ด้าน (strong right, strong freedom, strong responsibility) คือเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ขณะเดียวกันก็รักษาสิทธิของตน รับผิดชอบต่อสิทธิเสรีภาพของตนเต็มที่”


หลังจากที่นายธีรยุทธกล่าวบรรยายจบ ได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวได้ซักถาม ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ถามว่า จากกรณีที่มีกลุ่มบุคคลเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มองอย่างไร

นายธีรยุทธกล่าวว่า “ผมคงตอบได้ในหลักการกว้างๆ กล่าวคือ อยากให้นักคิดนักวิชาการทั้งหมด ที่มีความรู้ในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ควรจะมาถกเถียงกันถึงบทบาท อำนาจ หน้าที่ และภารกิจกันให้ชัดเจน คือ 1. เรื่องแก้ไขมาตรา 112 ผมมองเป็นปัญหาปลายเหตุ ก่อนอื่นเราต้องหาข้อสรุปหลักการใหญ่ๆ ให้ได้ก่อน 2. นักกฎหมายต้องมาช่วยกันกำหนดคำนิยามของคำว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” คืออะไรให้ได้ก่อน

ตอนนี้ต่างคนต่างพูดกันไปกันคนละความหมาย ตำรวจพูดอย่าง ศาลพูดอีกอย่าง นักวิชาการและชาวบ้านคิดไปอีกอย่าง ถ้านิยามยังตกลงกันไม่ได้ว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” คืออะไร เกรงว่าจะถูกตีความกันอย่างหลากหลาย ดังนั้นต้องทำให้ประเด็นนี้มีความชัดเจนก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง อย่างเช่น ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า อาจารย์คิดอย่างไรกับการเมืองในยุคนี้ใช้การตลาดเป็นตัวนำ นายธีรยุทธตอบว่า ก็น่าผิดหวังอยู่ คือรากหญ้าสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเพราะมีอำนาจเชิงบริหารและงบประมาณ หากใช้อำนาจเพื่อสร้างความตื่นตัวทางการเมือง การบริหารทรัพยากรของท้องถิ่น แบบนี้ถึงจะมีประโยชน์ แต่หากใช้เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หมายความว่าทำแล้วได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ติดตลาดบ้าง ไม่ติดตลาดบ้าง ในที่สุดจะเกิดผลเสีย เหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์วิจารณ์การขาดวินัยการคลัง

“ผมชอบดูคุณยิ่งลักษณ์ลงพื้นที่ไปเยี่ยมชาวบ้านบ่อยมาก หน้าที่นี้สำคัญ ผมคิดว่าคนต่างจังหวัดชอบ ท่านแต่งตัวสวย ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกกรัฐมนตรีและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองหนุ่มหล่อสาวสวยที่มีการศึกษาดีทั้งคู่ คุณยิ่งลักษณ์แต่งตัวดี สมาร์ท ผมขอทำนายว่าภายในสิ้นปีนี้คุณยิ่งลักษณ์จะติดอันดับ 1 ของผู้นำสตรีที่แต่งตัวดีที่สุดในโลก เวลาท่านลงพื้นที่ ชาวบ้านชื่นชมท่านมาก ขอให้แต่งตัวดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ชาวบ้านรัก ภาษาอังกฤษเรียก ยิ่งลักษณ์โฟโต้เจนิค ท่านถ่ายรูปขึ้น ส่วนท่านอภิสิทธิ์ ผมพยายามตั้งฉายาหลายรอบ “มาร์คเมาอู้” เหมือน “คุณเฉลิมเมารัก” ท่านอภิสิทธิ์ก็พูดไปเรื่อยๆ ทุกวัน ท่านควรจะเจาะประเด็นลึกๆ มากกว่า ผมแนะนำให้เขียนบทความมากกว่าให้สัมภาษณ์ ตอนนี้เราต้องการคนที่มีพลังความคิดที่จะบอกว่าสังคมไปทางไหน มากกว่าจะมาพูดปลีกย่อยของอีกฝ่าย” นายธีรยุทธกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ถ้าตกลงกันไม่ได้จะนำไปสู่การนองเลือดหรือไม่ นายธีรยุทธ์กล่าวว่า “ผมกลัวว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ และเกิดปัญหาขึ้นเป็นระลอกๆ หากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญและผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาได้ภายในปลายปีนี้ ผมคาดว่าจะมีอีกฝ่ายไม่ยอมร่วมลงประชามติด้วย และอาจจะมีรวมตัวกันชุมนุมประท้วง แต่ผมคิดว่าจำนวนคนที่มาประท้วงคงจะไม่มากนัก เพราะผู้ชุมนุมเหนื่อยล้ากับวิกฤตการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ผมขอร้องอย่าผลักดันมวลชนออกมาเคลื่อนไหว ผมเกรงว่ามันจะไม่หยุด และจะมีต่อเนื่อง ท้ายสุดแล้วอาจจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นรัฐประหาร ผมขอบอกเลย ถ้ามีรัฐประหาร ประเทศไทยเสียหายแน่นอน อย่าคิดทำเลย”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า คิดอย่างไรกับบทบาทของสื่อกระแสหลักที่มีการแบ่งขั่วการเมืองกันอย่างชัดเจน นายธีรยุทธ์กล่าวว่า ประชาธิปไตยในต่างประเทศเขาลงทุนกันอย่างจริงจัง ภาคธุรกิจ และภาคสังคมเป็นฝ่ายลงทุน สวนสาธารณะ ห้องสมุด หอศิลป์ สนามกีฬา ภาคเอกชนเป็นลงทุน กรณีประเทศไทย ภาคเอกชนจะรู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่ ปล่อยให้รัฐรับผิดชอบฝ่ายเดียว จึงไม่มีส่วนร่วมในการกระจายความสวยงาม ความสุข และไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกหวงแหนสื่อสาธารณะ มันมีช่องว่างเยอะมาก

“ผมอยากเสนอให้พวกกลุ่มธุรกิจร่วมกันทำสื่อกระแสรองให้ดี เผยแพร่ในสิ่งที่เป็นข่าว เป็นความรู้ เพื่อไปถ่วงดุลกับสื่อกระแสหลักในบ้านเราด้วย สื่อกระแสหลักผมคิดว่ามีความเอียงน่ะ แต่ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมอาจารย์คิดว่าระยะสั้นปรองดองกันไม่ได้ นายธีรยุทธ์กล่าวว่า ถ้าจะให้มีการปรองดอง โดยเสนอให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดในคดีความต่างๆ ของ คตส. ทั้งหมด ก็จะมีอีกกลุ่มลุกขึ้นมาคัดค้าน และมีพลังพอสมควร ซึ่งจะกระทบ 2 ส่วน คือ 1. ระบบศาลยุติธรรม เหมือนจะไปล้มล้างสิ่งที่ศาลตัดสิน อาจจะเกิดปัญหาได้ และ 2. เครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์ที่ใช้ในการแก้ปัญหาการเมืองตัวสุดท้าย คือ การทำรัฐประหาร หากอนาคตใช้เครื่องมือตัวนี้แล้ว ต่อมามีผลเป็นโมฆะทั้งหมด ผมคิดว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมคงไม่ยอมแน่นอน แต่ผมไม่ได้เห็นด้วยกันการทำรัฐประหารนะ