ThaiPublica > คนในข่าว > “พรรณี สถาวโรดม” ปธ.แบงก์ออมสินตั้งกรรมการสอบ ผอ.ออมสิน ยันไม่มีใบสั่งปลด “เลอศักดิ์ จุลเทศ”

“พรรณี สถาวโรดม” ปธ.แบงก์ออมสินตั้งกรรมการสอบ ผอ.ออมสิน ยันไม่มีใบสั่งปลด “เลอศักดิ์ จุลเทศ”

25 มีนาคม 2012


นางพรรณี สถาวโรดม ประธานกรรมการธนาคารออมสิน
นางพรรณี สถาวโรดม ประธานกรรมการธนาคารออมสิน

กรณีข่าวปมความขัดแย้งที่เกิดภายในกระทรวงการคลัง หลังจากที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล พ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ไม่นาน จากนั้นก็มีกระแสข่าวว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังคนใหม่ มีคำสั่งปรับเปลี่ยนกรรมการในรัฐวิสาหกิจและธนาคารเฉพาะกิจทุกแห่ง

โดยเฉพาะที่ออมสินสมัยนายธีระชัยได้แต่งตั้ง “พรรณี สถาวโรดม” ซึ่งเคยเป็นลูกน้องเก่าของนายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตประธานกรรมการออมสิน เข้าไปนั่งเป็นประธานกรรมการธนาคารออมสินได้ไม่ถึง 3 เดือน ในระหว่างนั้น นางพรรณีได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหลายชุด กรณีนายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ทำให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังและธนาคารออมสินพยายามหาปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยตั้งข้อสังเกตุว่า อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่ธนาคารออมสินดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายนายนิพัทธกว่า 500 ล้านบาท ในประเด็นสั่งการให้ออมสินซื้อหุ้นบีบีซีจนได้รับความเสียหายหรือไม่ จึงเป็นปมขัดแย้งระหว่างประธานกรรมการกับผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (อ่าน “ชื่อนี้ฮอต “นิพัทธ พุกกะณะสุต” ถึงเวลาชำระคดี “ออมสิน-ธนารักษ์” ความเสียหาย 1,500 ล้าน”)

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในธนาคารออมสินมีข้อเท็จจริงประการใด ในเรื่องนี้ นางพรรณีได้ชี้แจงว่า

ไทยพับลิก้า : มารับตำแหน่งประธานกรรมการออมสินครั้งนี้มีใบสั่งให้มาจัดการใครหรือไม่

(ยิ้มเล็กน้อย) ไม่ได้รับใบสั่งให้มาจัดการใครทั้งสิ้น วัตถุประสงค์ของการมาครั้งนี้ ต้องการพัฒนาออมสินให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีธรรมาภิบาล ก่อนมารับตำแหน่งที่นี่ ได้รับทราบข้อมูลจากกระทรวงการคลังว่าออมสินโตอย่างก้าวกระโดด และเร่งขยายสินเชื่อรายใหญ่แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์เอกชน ตัวเลข ณ สิ้นปี 2554 ออมสินมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.3 ล้านล้านบาท หากเกิดปัญหาหนี้เสียสัก 10% ทางกระทรวงการคลังเกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับผู้ฝากเงินรายย่อย

พอเข้ามาเป็นประธานกรรมการที่ออมสิน ฝ่ายบริหารเอาตัวเลขผลประกอบการมานำเสนอ ตอนแรกตนยังไม่ทราบว่ามันดีหรือไม่ดี สอดคล้องกับนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังหรือเปล่า จึงขอดูคู่มือกรรมการ เพื่อที่จะได้ทราบว่าการบริหารงานเป็นไปตามระเบียบกติกาที่คณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) กำหนดหรือไม่

เพราะบอร์ดมีหน้าที่กำหนดกติกาในการทำงาน และควบคุมดูแลการทำงานของฝ่ายบริหารให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ ตอนที่มานั่งเป็นบอร์ดใหม่ๆ โดยมารยาทแล้ว ฝ่ายจัดการต้องเอาระเบียบมาให้ดู ช่วงแรกขอดูก็ไม่ให้ เขาบอกว่าไม่ต้องกังวล ที่นี่วางระบบไว้ดี แต่สุดท้ายฝ่ายจัดการก็เอามาให้ พอเริ่มศึกษาระเบียบจากคู่มือ ก็เริ่มมองเห็นความผิดปกติ

ระเบียบกติกาที่กำหนดไว้ในคู่มือบอร์ด มีหลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล เช่น

1. การแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน คณะกรรมการมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการออมสิน สั่งย้ายพนักงานที่ไม่ทำตามคำสั่งได้ภายใน 24 ชั่วโมง ขณะที่รัฐวิสาหกิจอื่นมีการกำหนดขอบเขตอำนาจเอาไว้ หากเป็นผู้บริหารระดับสูงต้องเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด แต่ที่ออมสินผู้อำนวยการมีอำนาจเต็ม 100%

2. เรื่องการมอบอำนาจในการออนุมัติสินเชื่อ คณะกรรมการมอบอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อไปให้คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารก็ไปมอบอำนาจต่อให้กับผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการก็มอบอำนาจต่อไปให้คณะกรรมการสินเชื่อ กล่าวคือเป็นการมอบอำนาจต่อกันไปเป็นช่วงๆ จนถึงระดับล่าง ซึ่งจริงๆ แล้วควรกำหนดวงเงินและผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนกันไปเลย

3. เรื่องการตัดหนี้สูญ ไม่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งธนาคารออมสิน แต่เพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์กร จึงอาศัยมติที่ประชุมกรรมการธนาคาร เป็นผู้อนุมัติให้มีการตัดหนี้สูญโดยไม่จำกัดวงเงิน แต่ต่อมาประธานกรรมการออมสินคนก่อนมอบอำนาจดังกล่าวนี้ ให้ผู้อำนวยการออมสินสามารถตัดหนี้สูญได้ 100% โดยไม่ต้องรายงานบอร์ด

4. เรื่องการเปิดสาขาหหรือยุบสาขา เดิมกฏหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ แต่ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ดังนั้น คณะกรรมการชุดที่ผ่านมา จึงมีมติมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสามารถเปิดสาขาหรือยุบสาขาได้

5. เรื่องโอนงบประมาณ ถ้าอยู่ในหมวดค่าตอบแทนสามารถโอนกันได้ กรณีมีเงินเหลือ ถ้าอยู่ในหมวดงบลงทุนต้องมีการกำหนดเพดาน แต่ที่ออมสินมีลักษณะพิเศษ คือ ตั้งเงินสำรองเอาไว้เป็นกองกลาง เช่น งบกลาง งบคุรุภัณฑ์

ไทยพับลิก้า : กรณีที่มีข่าวว่าคุณนิพัทธส่งคุณพรรณีมารื้อออมสินจริงหรือไม่

คุณนิพัทธเป็นนายเก่าก็จริง แต่ไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน ว่าตนได้รับการทาบทามจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้มาเป็นประธานกรรมการออมสิน เพราะ สคร. บอกเป็นเรื่องลับมาก อย่าไปบอกใครจนกว่า ครม. มีมติแต่งตั้งแล้ว และหลังจากที่ ครม. มีมติแต่งตั้งตนเป็นประธานเรียบร้อยแล้ว ถึงจะไปเรียนให้คุณนิพัทธทราบในภายหลัง ท่านบอกว่าก็ดีจะได้ไปช่วยงานออมสิน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอโทษท่านด้วยเหมือนกัน การที่ตนมานั่งเป็นประธานกรรมการธนาคารออมสินแล้วทำให้คุณนิพัทธเดือดร้อน ต้องเสียชื่อเสียง

ไทยพับลิก้า : ก่อนหน้านี้ คุณธีระชัยเคยไปชักชวนหรือทาบทามให้มานั่งที่นี่หรือไม่

ไม่ คุณธีระชัยไม่ได้มาทาบทามหรือมาติดต่อ แต่เป็นผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจโทรมาบอก และขอให้เก็บไว้เป็นความลับ จนกว่า ครม. จะมีมติ

ไทยพับลิก้า : พบสิ่งผิดปกติอะไรบ้าง ถึงจำเป็นต้องแต่งตั้งกรรมการมาสอบคุณเลอศักดิ์

ที่มาของการแต่งตั้งกรรมการสอบคุณเลอศักดิ์ เริ่มต้นที่สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เรียกตนไปฟังสรุปภาพรวมของออมสิน จากนั้น สศค. ก็ทำหนังสือมาสอบถามในประเด็นต่างๆ เพิ่มเติม และต้องมีคำตอบส่งไปให้กระทรวงกการคลังภายในกำหนดเวลาด้วย เมื่อเข้าไปค้นหาคำตอบต่างๆ ส่งให้กระทรวงการคลัง ก็พบประเด็นผิดปกติหลายประเด็น ตนในฐานะตัวแทนจากกระทรวงการคลังจึงต้องทำตามหน้าที่ เพราะกระทรวงการคลังสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาขึ้นมาก่อน จากนั้นตนได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเพิ่มอีก 1 ชุด สอบทุกประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งข้อสังเกต

หลังจากที่ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ ได้กำหนดให้ ธปท. ทำหน้าที่ตรวจสอบฐานะการเงินของแบงก์รัฐและให้รายงานกระทรวงการคลัง จากนั้นประมาณปี 2553 ธปท. เริ่มทำรายงานส่งมาที่กระทรวงการคลัง และปี 2554 ก็มีรายงานออกมาอีก แต่ตอนเข้ามาทำงานที่นี่ ก็ไม่เคยเห็นรายงาน ธปท. เลย แต่สนใจ จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2554 คณะกรรมการถึงได้รับรายงานผลการตรวจสอบของ ธปท. เมื่ออ่านดูแล้วเห็นประเด็นความผิดปกติ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ

ไทยพับลิก้า : แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดกี่ชุด

ตั้งแต่เข้ามานั่งเป็นประธานกรรมการออมสินแต่งตั้งไป 2 ชุด คือ 1. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อตามข้อเสนอแนะของ ธปท. โดยมีคุณวิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธานฯ 2. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงตามที่กระทรวงการคลังมีคำสั่ง

ไทยพับลิก้า : การแต่งตั้งคุณวิจิตรเป็นประธานสอบข้อเท็จจริง เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

สาเหตุที่แต่งตั้งคุณวิจิตร มองว่าท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นอดีตผู้ว่าการ ธปท. มีความเหมาะสมที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อเสนอแนะของ ธปท. จึงแต่งตั้งท่านเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ กรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ไทยพับลิก้า : อดีตผู้ว่าการ ธปท. เก่งๆ มีหลายท่าน ทำไมถึงตัดสินใจเลือกคุณวิจิตร

ตอนนั้นตนมองที่ความสามารถของคณวิจิตรเพียงอย่างเดียว ชื่อของคุณวิจิตรมันแว้บขึ้นมา และวันนั้นรีบเสนอบอร์ดด้วย จึงไม่มีเวลาที่จะไปมองอะไรที่มันลึกซึ้งถึงขนาดนั้น ซึ่งบอร์ดก็ไม่ได้ท้วงติงอะไร คณะกรรมการชุดนี้คุณวิจิตรทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม แต่ตัวคนที่จะชี้นำคดีคืออัยการกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และมีเจ้าหน้าที่ของออมสินเป็นเลขานุการ ตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เป็นกลุ่มตั้งแต่ 8 รายขึ้นไป ตอนนั้นมองที่คุณสมบัติของคุณวิจิตรเพียงอย่างเดียว

ไทยพับลิก้า : การตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่

ไม่รู้ เพราะไม่ได้เป็นกรรมการสอบด้วย คงต้องรอผลการสอบสวนของคณะกรรมการแต่ละชุด ตอนนี้ไม่มีใครคาดการณ์อะไรได้

“ยืนยันว่าไม่มีอะไร ไม่ได้คิดจะไปกลั่นแกล้งใคร ไม่ได้เป็นพวกใคร มาปฎิบัติตามภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ให้ดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการธนาคารออมสิน และผู้ฝากเงินให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ถือว่ามาทำตามหน้าที่”