ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > พระสุบิน ปณีโต สร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคม ใช้ “วัด-พระ” เชื่อมใจชุมชน สร้างกำไรให้ “คนแตก-สังคมแตก”

พระสุบิน ปณีโต สร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคม ใช้ “วัด-พระ” เชื่อมใจชุมชน สร้างกำไรให้ “คนแตก-สังคมแตก”

20 มีนาคม 2012


พระสุบิน ปณีโต ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต จังหวัดตราด
พระสุบิน ปณีโต ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต จังหวัดตราด

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 โครงการ SEC-SEA (Social Enterprise Corner เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “Soul >/ $ell from Passion to Impact ใช้ใจ…สร้างกำไร…ให้สังคม” โดยเชิญวิทยากรผู้ประกอบการเพื่อสังคมมาถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งทุกกรณีมีประเด็นที่น่าสนใจแตกต่างกันไป อาทิ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ หรือ “เภสัชกรยิปซี” ผู้พัฒนาสูตรยาป้องกันการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก และยาต้านเอดส์ชนิดอื่นๆ อีก 5 ชนิด จิมมี แฟม ผู้ปฎิวัติรูปแบบการประกอบกิจการเพื่อสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านแนวคิด “รู้แล้ว สอนต่อ” ที่เวียดนาม เป็นต้น (ดูรายละเอียดที่www.gsvc-sea.org )

และหนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นเวทีในวันนั้นคือ พระสุบิน ปณีโต ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต จังหวัดตราด

ตามปกติ วัดจะเป็นศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว เป็นการมารวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมายเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาตามแต่ศรัทธาของแต่ละบุคคล

“วัด” จึงเป็นศูนย์รวมในการทำบุญทำทานและบริจาค จึงเป็นแหล่งรวมของ “เงิน” หรือทรัพยากร “ทุน” ที่เป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุด เพราะไม่ว่าคนจนคนรวยต่างใช้วัดเป็นที่ “สละออก” ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแม้จะมีการ”สละออก” มากมายแค่ไหน แต่ทุกข์ของคนก็ยังไม่ถูกปลดปล่อย ยังคงเป็นปัญหาสังคมและนับวันจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น

กว่า 21 ปี ที่พระสุบินยังคงทำให้ “วัด”เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ มีการสืบทอดพระศาสนาอย่างจับต้องได้ อย่างรู้เท่าทันโลกและทันสถานการณ์อย่างแท้จริง

พระสุบินก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพราะต้องการเติมเต็มให้แก่สังคม เติมเต็มสิ่งที่ขาดแคลนโดยเข้าใจ “ราก” ของสังคมอย่างทะลุปรุโปร่ง

พระสุบินได้ถอดกระบวนการคิด “การเงินเพื่อชุมชน” โดยใช้ “วัด–พระ” เป็นศูนย์กลาง เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง สร้างสังคมอยู่ดีมีสุข โดยใช้คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ธรรม” ที่ทำให้โลกรอดได้คือ “เมตตาธรรม” ที่เปี่ยมไปด้วยจิตที่เมตตากรุณาต่อบุคคลคนอื่นและสัตว์โลก

ดังนั้น เมื่อปัญหาของสังคมคือคนส่วนใหญ่ที่เป็นฐานราก หากจะใช้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทาง เป็นวิธีการที่จะเกิดการเชื่อมประสานสังคมที่แตกแยก ต้องอาศัยความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พระสุบินเปรียบว่า แจกันที่แตกก็ยังมีกาวจับ ขณะที่ หิน ปูน ทราย ก็มีน้ำเป็นตัวเชื่อมทำให้ติดกัน

แต่ “คนแตก” ด้วยความคิด การศึกษา ฐานะ ยศ บริวาร อำนาจ และชนชั้นวรรณะ ซึ่งพระสุบินมองว่าปัญหานี้มีมานานแล้วในสังคม และเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด พระพุทธเจ้าบอกว่าหากเราใช้หลักเมตตา หลักความเป็นจริง ไม่มีใครเก่งกว่าใครและเราอยู่ภายใต้การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครเอาชนะเรื่องนี้ได้ ดังนั้นต้องนึกถึงความจริงนี้ แล้วเราก็จะมีจิตใจที่อ่อนโอน มีจิตใจที่อ่อนน้อมและเป็นธรรม

ดังนั้น ในฐานะที่เป็น “พระ” พระสุบินจึงใช้ขบวนการทางศาสนาเป็นตัวแปร เอาความเป็นพระและเอาความปรารถนาดีมา แล้วเอาพื้นฐานบุญกุศลเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ในการก่อตั้ง “กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์” ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดสนและความยากไร้ในชุมชน โดยมองเห็นว่า

คนไทยยังตกอยู่ภายใต้อำนาจพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ มีการทำบุญทำทาน ทั้งงานบวช งานแต่ง งานตาย ตลอดจนงานทอดกฐิน ผ้าป่า มีการบริจาคกันตลอด แต่ยามที่คนขัดสน ความยากจนกำลังรุกรานมาตามลำดับกลับไม่มีใครช่วยเหลือใคร

เพราะปัจจุบันหลักธรรมะกำลังเสื่อมลง แม้แต่พี่น้องที่ต้องจุนเจือช่วยเหลือกันก็พึ่งพากันไม่ได้ หรือความเป็นคนในชุมชนก็พึ่งพากันไม่ได้ ในยามเดือดร้อน ป่วยไข้ อุบัติเหตุ นี่เป็นความเสื่อมทางสังคม จึงคิดว่าหากมี “ทุน” มาช่วยกันในยามเดือดร้อนก็จะช่วยแก้ปัญหาได้

โดยมองว่า ความยากจนเป็นทุกข์ในโลกและรุกรานคนจนมากขึ้น ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาความขัดสนยากจนให้เขาด้วยการหาเงินหาทองไปให้ ก็คงไม่ใช่แน่นอน เขาต้องใช้ทุนรอนของเขาเอง เพราะตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน โดยปกติคนเราทุกคนต้องการหายใจเอง ไม่ต้องการให้เอาออกซิเจนมาเสียบให้ หรือถามว่า เราจะทานข้าวเองหรือเอาสลิงก์มาฉีดให้ เดินเองหรือต้องการนั่งรถเข็น ถ้าให้เลือก ทุกคนก็เลือกเอาหนทางที่พึ่งพาตนเอง

เมื่อทุกคนบอกว่าตนเป็นที่พึ่งของตนระดับหนึ่ง ก็ต้องลุกขึ้นมาช่วยตัวเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม รวมถึงประเทศเราเอง การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากพื้นฐานของเราก่อน เมื่อมีทุนน้อย ก็ค่อยๆ ใช้วิธีการเจือจานจากความฟุ่มเฟือย จากการกินเหล้า เล่นการพนัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขายากจน ขัดสน จึงขอแบ่งเศษจากที่เขาใช้อย่างฟุ่มเฟือย เอาทุนส่วนนี้มาสัก 10 บาท ไม่เกิน 100 บาท ต่อเดือน มาทดลองเรียนรู้

จากนั้น กระบวนการเริ่มจากคนที่เข้าวัดทุกวันพระ ก็เทศน์ให้เขาฟัง เริ่มจากคนเหล่านี้ซึ่งเป็นคนใจบุญก่อน มีคนเห็นด้วยในวันแรกจำนวนเท่าไหร่ ก็ให้เขาร่วมกันสะสมเงิน

พระสุบินเล่าว่า “เงิน” จะช่วยแก้ปัญหาชนชั้นวรรณะ ความขัดแย้ง ความแตกแยก ต่างคนต่างอยู่ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งกลไกเหล่านี้จะเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดขบวนการพึ่งพากันได้

ดังนั้นเราในฐานะที่เป็นพระ จะชักชวนให้คนทำบุญ เพียงแต่สร้างวัดอย่างเดียวคงไม่ใช่ วัดสวย วัดงาม วัดดี วัดมีเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่าง แต่คนรอบวัดอยู่ไม่ได้ อยู่ไม่ดี อยู่ไม่รอด วัดนั้นจะมีความสุขได้อย่างไร จึงต้องหันย้อนกลับไปสู่สังคม คนที่ใส่บาตร คนที่ดูแลวัด หากเขากำลังจะถูกยึดที่ ยึดบ้าน ไม่มีทุนรอนประกอบอาชีพ เขาจะอยู่อย่างไร

นี่คือปัญหาที่เราเห็นและกำลังเป็นปัญหาอยู่ จึงบอกกับคนที่เข้าวัดว่า ต่อไปนี้เราต้องแผ่เมตตาด้วยการสงเคราะห์กันเถอะ เอาบุญมารวมกัน โดยการเงินทุนมารวมกัน ให้คนที่เดือดร้อน ป่วยไข้ มีภาระหนี้สินนอกระบบ ไม่มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือ ก็ให้ยืมกันก่อน ส่วนใครจำเป็นมาก จำเป็นน้อย ก็ผลัดกันไป ก็ปล่อยให้เงินก้อนนี้หมุนไป เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ขัดสน ผลกำไรที่เกิดขึ้นจากเงินของเขาเอง เอามาจัดสรรเป็นปันผล เป็นสวัสดิการของเขากันเอง

นี่คือที่มาของสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต จังหวัดตราด กว่า 21 ปี มีสมาชิกเกือบ 6 หมื่นราย มีวงเงิน 1,000 ล้านบาท

สะท้อนศักยภาพจากที่ไม่เคยออม ไม่เคยจัดการ ไม่เคยบริหาร ไม่มีสวัสดิการ ไม่เคยพึ่งพาตัวเอง ก็สามารถพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เป็นนักการจัดการมากขึ้น จากคนที่ถูกยึดที่ จากคนที่ไม่มีที่อยู่ ไม่มีสวัสดิการของตัวเอง คนที่ป่วยไข้ไม่มีเงินรักษา ไม่ต้องขายที่ขายทาง อาจจะเอาไปฝากไว้กับกลุ่ม เมื่อลูกหลานมีเงินก็มาไถ่ถอนออกไป ก็ค่อยๆ พัฒนาให้เขามีที่อยู่อาศัย คนที่ป่วยไข้ ก็จุนเจือรักษาดูแล

“เรามองเห็นสวัสดิการของเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องจำเป็น เราแค่ชี้ทางให้เขา ทุนไม่ใช่ตัวหลักในการทำเงินเพื่อเงิน อาตมามองว่าการทำเงินที่ไม่ใช่หวังกำไรที่เงิน แต่หวังกำไรคือสังคมเป็นสุข สังคมสามัคคี สังคมจุนเจือ เอือเฟื้อ เผื่อแผ่ ทำให้สังคมมีความปรารถนาดีที่จะช่วยส่วนตัว ส่วนรวม ทั้งวันนี้และวันหน้า”

ฉะนั้น ความขัดสนทำให้ฐานรากขาดโอกาสหลายๆ อย่าง หลายๆ ด้าน “การเงินชุมชน” จึงเป็นตัวที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง เพื่อจุดประกายให้คนที่มีจิตแข็งแรง ที่มีความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ทำสิ่งที่ดีแก่ตัวเองและสังคมหน้าที่

“พระ” ต้องปลดเปลื้องความทุกข์ผู้อุปการะต่อวัด ถ้าคนรอบวัดอยู่ได้ วัดก็อยู่ได้

นี่คือบทบาทของพระ-วัดในโลกยุคโลกาภิวัตน์ แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่วัดก็ยังเป็นศูนย์กลางของชุมชน ตราบใดที่แก่นของคุณธรรม เมตตาธรรม ยังค้ำจุนโลก

พระสุบิน ปณีโต
พระสุบิน ปณีโต

จากการบรรยายข้างต้น พระสุบิน ปณีโต ได้ตอบคำถามอื่นๆ เพิ่มเติมว่า

คำถาม : อยากให้พระอาจารย์เล่ากระบวนการให้ชาวบ้านออมอย่างมีวินัยอย่างจริงจัง อย่างที่เขาสามารถทำได้

สังคมการออมในวัฒนธรรมเด็กๆ เราบอกว่าการออมในเด็ก ออมแล้วขาดทุน ใส่กระปุก ออมแล้วไม่เกิดประโยชน์ บางทีพ่อแม่ก็ไปแคะกระปุก แต่หลักพุทธ เน้นให้ออมอย่างเกิดประโยชน์ การออมเป็นสิ่งดีอยู่แล้ว แต่การออมแบบใส่กระปุกอย่างนี้ไม่ทันยุคทันสมัย เพราะเป็นเงินตาย เราออมใส่กระปุกวันบาทละ 1 บาท ในหมู่บ้านมี 100 คน เงินจะตายวันละ 100 บาท เดือนละ 3,000 บาท ปีละ 36,000 บาท อยู่ในกระปุกเฉยๆ แต่เงินเฟ้อ 3-4% ฉะนั้นเราขาดทุน กว่าเราจะแคะกระปุกไปฝากสถาบันการเงินได้ร้อยละ 0.75 แล้วไปกู้มาร้อยละ 9 ร้อยละ 10 ขาดทุนทั้งขึ้นทั้งล่อง ทำไมเราไม่คิดเชิงบริหารบ้าง ถามว่าพ่อแม่เป็นหนี้ไหม ถ้าเป็น ทำไมไม่เอาเงินลูกหลานมาหมุนล่ะ มีกำไรก็ปันผลให้ลูกหลานไปเลย หรือยามป่วยไข้ก็เอาเงินนี้มาดูแลตัวเรา ลูกหลานเรา ต้องลุกขึ้นมาทำเลย ชุมชนเขาก็เห็นด้วย ก็เริ่มออมกันแบบนี้

คำถาม : แนวคิดสัจจะสะสมทรัพย์ ทำไมสามารถขยายได้หลายจังหวัด ทั่วประเทศมีสมาชิกกว่า 6 หมื่นราย

เราชักชวนพระที่เห็นด้วย เราชักชวนพระที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน บอกว่าในอนาคตวัดจะลำบาก ถ้าวัดอยู่รอดแต่คนรอบวัดอยู่ไม่รอด วันหนึ่งวัดก็ไม่รอด ฉะนั้นต้องลุกขึ้นมาช่วยให้ชุมชนอยู่รอดให้ได้ ถ้าวัดอยู่ได้แต่ชุมชนอยู่ไม่ได้ ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นแล้ว คือบริษัทซื้อที่รอบวัดหมดเลย ไม่มีบ้านเหลือสักหลังเดียว แล้ววันนี้พระสอนคนก็ไม่ได้ คนเข้าวัดก็ไม่มี แล้ววัดนี้จะมีประโยชน์อะไร ฉะนั้นวัดจะอยู่ได้ก็ต้องทำให้คนรอบวัดอยู่ได้ ถ้าคนรอบวัดอยู่ได้วัดก็อยู่ได้ หน้าที่ของพระต้องปลดเปลื้องความทุกข์ของคนรอบวัดที่อุปการะต่อวัดหรือมีบุญคุณต่อเรา เราก็ต้องกตัญญูตอบแทนต่อเขา ต้องชี้ทางออกให้เขา พระจึงออกไปกระจายแนวคิดนี้ ไปสู่ชุมชนอื่นประมาณ 40 จังหวัด

คำถาม : ขบวนการขยายเครือข่าย

การขยายมันก็มีอยู่ 2-3 ทาง วิธีคือ 1. การไปพูดให้เขาฟัง 2. ชุมชนหรือหน่วยงานที่เข้ามาดูงาน 3. สื่อต่างๆ

วิธีการคือพูดให้ฟัง พาไปดู เรียกกลับมาเรียนรู้ใหม่ ติดตาม บางทีทำไปก็ติดขัด คนทำก็ไม่รู้จะบริหารจัดการอย่างไร เราต้องตามไปแนะ เราทำหน้าที่ชี้แนะ เราไม่ได้ตัดสิน ให้เขาตัดสินกันเอง เช่น การทำโรงผลิตยาง โรงอบยางพารา ปัจจุบันมีโรงอบยางพาราที่ร้างทั่วทั้งจังหวัด ก็หาทุนมาทำ อันไหนไปได้ก็ทำไป ตอนนี้ก็ก้าวไประดับหนึ่ง เพราะถ้าไม่ทำโรงอบยาง ผลผลิตชาวบ้านก็ทำยางถ้วย คุณภาพต่ำ ขายได้ราคาไม่ดี หากทำโรงยาง ผลผลิตก็มีมูลค่าเพิ่มได้ ขายได้ราคาดีกว่า เราคิดว่าโรงร้างๆ มีหลายโรง น่าจะนำมาปรับปรุงได้

คำถาม : ถ้ามีเอกชนมาช่วยได้ไหม

ได้ ถ้าเอกชนเขาต้องการสนับสนุน เราจะได้เอากำไรมาช่วยชุมชน กำไรคืนให้สังคม ดูแลสังคม หากเราไม่เป็นตัวจักร คิดเพื่อสังคม ช่วยขับเคลื่อนให้คนด้อยโอกาส มีโอกาสได้เรียนรู้ เขาก็เสียเปรียบอยู่อย่างนี้

ดังนั้น หากใครมีจิตที่จะช่วยให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง โดยไม่ต้องช่วยเขาตลอด ก็ช่วยกลุ่มที่เขาอยากทำ แต่หากกลุ่มไหนที่ไม่อยากกินข้าว เอาข้าวไปยื่นให้ก็ไม่มีประโยชน์ ข้าวก็เสีย และเสียทั้งเวลา เสียทั้งทุน เสียทั้งความรู้สึก แต่กลุ่มไหนที่กำลังหิวข้าวก็ยื่นข้าวให้เขาไป อย่างนี้จะไปได้เร็ว และเอาจุดนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ ใครอยากจะได้ก็ไปดู ตอนนี้ก็ขยับไปหลายชุมชนแล้ว

คำถาม : ระหว่างทาง 20 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

ทำไปเรื่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อย เพราะไม่มีสูตรสำเร็จรูป เหมือนทำกับข้าว ไม่มีสูตรสำเร็จ แล้วแต่ใครปรุง อร่อยหรือไม่อร่อยก็ว่ากันไป ต้องปรับตามสภาพของผู้บริโภค อันนี้ก็เหมือนกัน ต้องปรับสภาพตามชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วม เราไม่ได้ทำ ชุมชนเป็นคนทำ ประโยชน์เป็นของเขา เราแค่ชี้จุดอ่อนของเขา อันนี้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม กำไรเพื่อสังคม กระจายไปยังฐานราก ฐานรากต้องแข็งแรง เจือจานกัน จุนเจือกันไป

เอกชนรายใด ใครที่คิดว่าจะช่วย ก็เท่ากับเป็นการสร้างโรงเรียนอาชีพแบบพึ่งพาตัวเองสู่ความมั่นคง ให้คนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงโอกาส

คำถาม : ในเมื่อวัดเป็นศูนย์กลาง จะเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งอย่างไร

เรื่องค่อนข้างจะยาก เพราะระบบบริหารของคณะสงฆ์ยังไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ พระองค์ไหนที่เห็นด้วย ผู้บริหารท่านใดที่เห็นด้วย ก็ชักชวนกันมาทำ ค่อยๆ ชวน ใครเห็นด้วยก็ชวนมา หากเราไปเสียเวลากับคนที่ไม่เห็นด้วยเหมือนครูไปจับเด็กที่หนีเรียน ก็เสียทั้งเวลา เสียทั้งอุปกรณ์ ฉะนั้นเอาเวลามาสอนเด็กที่เรียนดีกว่า

ตอนนี้กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ก็เคลื่อนไปเยอะแล้ว มีคนมาดูงานที่นี่เยอะแล้ว ชุมชนไหนมาก็ให้พยายามเอาพระมาด้วย ก็จะเชื่อมกันได้ ให้โยมกับพระมาด้วยกัน

คำถาม : การสร้างคนรุ่นหลัง

เอาคนรุ่นหลังมาฝึกหัด มาเสริมคนเก่า หากชุมชนเอาด้วย ก็พาลูกพาหลานมาช่วย

คำถาม : พระอาจารย์เดินทางไปบรรยายจังหวัดอื่นบ่อยไหม

จังหวัดอื่นจะไปน้อย ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดตัวเอง จังหวัดอื่นก็ให้พระในจังหวัดนั้นไป เพราะจะเสียเวลากับการเดินทางเยอะมาก สมมติมาที่นี่ (งานสัมมนา) ก็เดินทางไปกลับ 6 ชั่วโมง แต่พูด 30 นาที คนฟังก็ไม่รู้ว่าเนื้อหาสาระแท้จริงเป็นอย่างไร ทำไปได้แค่ไหน และคนฟังบางทีก็ไม่ได้เป็นคนที่ทำงานเรื่องนี้ ก็เอาไปต่อยอดไม่ได้อีก และชุมชนที่คิดจะเอาไปทำต่อ แต่ถ้าชุมชนไม่เอื้อก็ทำไม่ได้อีก อาตมาจึงไม่ค่อยได้รับงานเท่าไหร่ เพราะไปพูดแล้วไม่ค่อยเกิดเป็นรูปเป็นร่าง ยิ่งหน่วยงานถูกบังคับให้มาฟังก็ยิ่งไม่ได้ผล ไปกันใหญ่เลย

ดังนั้นต้องดูว่า ไปพูดแล้วจะได้ประโยชน์มากน้อยเท่าไหร่ ถ้าหากไปแล้วได้ไม่มากมันเหนื่อยเปล่า เสียเวลาเปล่าๆ เพราะเราผ่านเวทีมาพอสมควร เห็นคนฐานรากที่ถูกปั่น ถูกปลุกขึ้นมา พอเป็นผู้นำ มีชื่อเสียง มีคนเชิญไปบรรยายที่นั่นที่นี่ พอกลับมา ฐานรากที่ตัวเองทำเอาไว้ก็ไม่เหลือแล้ว ได้แต่ขายประสบการณ์เก่ากิน แต่เราบอกไม่เอา ไปทำอย่างนั้นประโยชน์มันน้อย สู้อยู่กับชุมชนไม่ได้ เพราะที่ไปพูดให้เขาฟัง หากเขาไม่ได้ทำก็ไม่มีประโยชน์ พอกลับมาฐานรากก็ล้มเหลวหมด อาตมาว่าสู้อยู่กับชุมชนไม่ได้ อยู่ตรงนี้มั่นคงกว่า ช่วยต่อยอดกัน ส่วนใครสนใจจริงก็มาดูงานสิ ไม่ใช่ฟังอย่างเดียว ไม่เห็นภาพ เพราะคนมาดูแสดงว่ามีความสนใจ

ดังนั้น ถ้าชุมชนไหนอยากทำเราจะไปช่วย แต่ถ้าไม่สนใจไปช่วยก็เสียเวลาเปล่า หรือที่ไปช่วยแล้วเมื่อแข็งแรงก็ถอยออก จะยืมจมูกเขาหายใจตลอดคงไม่ได้ คงไม่มีใครแบกถังออกซิเจนไปช่วยตลอด

คำถาม : กังวลเรื่องใดของสังคมไทย

ถามว่ากังวลไหม เราไม่ได้กังวล รู้ว่าแต่ว่าสังคมแย่ลง ระบบฐานรากอ่อนแอมาก ดังนั้น การออมในชุมชน หมุนกันในชุมชน บริหารในชุมชน เงินทองเหลือซื้อที่ไว้ในชุมชน จะปลูกยาง ปลูกอะไรไปจิปาถะ ใครไม่มีที่อยู่จัดสรรให้กัน อาศัยทุน อาศัยที่ดิน อาศัยคน อาศัยชุมชน ลุกขึ้นช่วยกัน

ตอนนี้มีที่ที่ธนาคารยึดไป เราก็ซื้อกลับ นายทุนซื้อไปเราก็ไถ่ถอนมาจัดสรร หากไม่ทำอย่างนี้คนก็เร่ร่อนไป อาจจะค้ายาเสพติดหรือไปโค่นป่าเพื่อยังชีพ ต่างคนต่างอยู่ คุมกันไม่ได้ แล้วสังคมจะยั่งยืนแข็งแรงได้อย่างไร เราก็ไปพยุงให้เขาลุกขึ้นเดินให้ได้ แล้วก็เป็นศูนย์เรียนรู้ของสังคม

คำถาม : กฎของชุมชนต้องมีกติกาอย่างไร

เหมือนบ้านของเรา จะอยู่กันแบบไหนอย่างไรต้องมีกติกา เช่น เรื่องการเงิน วางเกณฑ์ว่าคนหนึ่งให้มีสิทธิกู้ได้เท่าไหร่ มีสิทธิค้ำประกันได้เท่าไหร่ และถ้าจะเกินไปกว่านี้ต้องมีคุณสมบัติอะไร เช่น จะได้ดอกเบี้ยต่ำต้องมีคุณสมบัติอะไร ถ้าต้องการดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต้องมีการทำบัญชีครัวเรือน ไม่ขี้เมา เลิกบุหรี่ เพื่อให้เกิดสุขภาพดี หากครอบครัวไม่ดี ก็ไม่มีใครค้ำประกันให้ นี่คือตัวอย่าง