ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > คปก. คัดค้านใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ตั้งกองทุนสตรี ชี้ช่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลปกครองพิจารณา ระงับขบวนการสังคมสงเคราะห์

คปก. คัดค้านใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ตั้งกองทุนสตรี ชี้ช่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลปกครองพิจารณา ระงับขบวนการสังคมสงเคราะห์

8 มีนาคม 2012


หลังจากมีเสียงคัดค้านถึงความไม่เหมาะสม ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีด้วยการออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี (อ่านเพิ่มเติม “เปิดข้อพิรุธตั้งกองทุนพัฒนาสตรี จัดเต็มงบ 7.7 พันล้านบาท กำหนดนิยาม “เอื้อ” – หละหลวม ไม่โปร่งใส”) และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ทำหนังสือแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 ส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อทบทวนยกเลิกการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว และเสนอให้ดำเนินการออกเป็นพระราชบัญญัติ (อ่านเพิ่มเติม “คณิต ณ นคร” เสนอ “ยิ่งลักษณ์” ทบทวนระเบียบสำนักนายกฯ ใช้งบ 7,700 ล้าน ตั้งกองทุนสตรีไม่เหมาะสม” )

ผลของการคัดค้านดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีการขยายระยะเวลาการรับสมัครสมาชิกกองทุนออกไปถึงวันที่ 31 มีนาคม 2555 จากเดิมปิดรับในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยให้เหตุว่าต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากที่สุด และยังชะลอการอนุมัติเงินงบประมาณจ่ายให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีออกไป จากเดิมที่เร่งเพื่อให้ทันวันที่ 8 มีนาคมนี้ หรือ “วันสตรีสากล” เนื่องจากต้องขอหารือเพิ่มเติมกับกลุ่มสตรีเครือข่ายต่างๆ ก่อน ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธว่า ไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าสมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

แม้ท่าทีของรัฐบาลดูเหมือนจะรับฟังมากขึ้น แต่ยังยืนยันจะเดินหน้ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรี 4 ภาค ออกมาคัดค้าน จี้ให้รัฐบาลทบทวนระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

ที่มา : http://www.posttoday.com/media/content/2012/03/06/7FF705C3B1AF4602B3F460CAD12A8816.jpg
ที่มา : http://www.posttoday.com/media/content/2012/03/06/7FF705C3B1AF4602B3F460CAD12A8816.jpg

โดยเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อนหญิง และ เครือข่ายสตรี 4 ภาค ได้ร่างข้อเสนอเครือข่ายสตรี 4 ภาค กับการเข้าถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นผู้รับมอบแทน โดยข้อเสนอมีดังนี้

1. ให้หยุดการรับสมัครสมาชิกกองทุน เนื่องจากกองทุนนี้เป็นเงินภาษีประชาชน จึงเป็นสิทธิของผู้หญิงทุกคนโดยอัตโนมัติไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก

2. ให้ตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานมาช่วยงานในคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนตามความเหมาะสม

3. ให้ทบทวนวัตถุประสงค์การเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ย โดยแบ่งสัดส่วนการใช้เงินเป็น 70:30%

4. ต้องจัดการให้มีผู้แทนองค์กรสตรีและภาคประชาชนเป็นกรรมการในสัดส่วนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง การได้มาโดยตำแหน่งใดๆ ของข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ จะต้องมีบทบาทเพียงแค่ที่ปรึกษา ไม่มีสิทธิออกเสียง

5. การของบประมาณ ให้เสนอโดยตรงต่อคณะกรรมการจัดการกองทุนในพื้นที่ ไม่ต้องผ่านหน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับชาติและในพื้นที่

6. รัฐบาลต้องเร่งรัดให้เป็น พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีภายใน 90 วัน นับจากได้ประกาศจัดตั้ง และ

7. ขอให้จัดเวทีสาธารณะระดับจังหวัดทำความเข้าใจเรื่องกองทุน

ขณะที่ คปก. ไม่ได้หยุดแค่การแสดงความคิดเห็นในครั้งแรกเท่านั้น ยังคงเดินหน้าผลักดันให้รัฐบาลทบทวนในเรื่องนี้ โดยขณะนี้กำลังเก็บรวบรมข้อมูลเพื่อทำหนังสือยืนยันความเห็นของ คปก. เกี่ยวกับระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีส่งให้นายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาลทบทวนยกเลิกระเรียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว

รศ.วิระดา สมสวัสดิ์
รศ.วิระดา สมสวัสดิ์

โดย รองศาสตราจารย์ (รศ.) วิระดา สมสวัสดิ์ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ คปก. กล่าวว่า คปก. กำลังรวบรวมหลักฐานจากการรายงานข้อมูลและข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการรับสมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่ไม่เป็นไปตามหลักการความโปรงใส และไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น และมีการเรียกเก็บเงินสมัครเป็นสมาชิกในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลบางส่วนรายงานเข้ามาบางส่วนแล้ว

อาทิ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา มีรายงานว่า มีแกนนำพรรคการเมืองเรียกเก็บเงินสมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีคนละ 1,500 บาท เพื่อแลกกับการได้เงินกู้ 50,000-80,000 บาท โดยไม่ต้องชำระคืน เหมือนเป็นเงินให้เปล่า ส่วนที่เทศบาลนครเชียงใหม่ มีรายงานว่า ในการประชุมเวทีสารธารณะเพื่อระดมความคิดเห็น มีการแจ้งให้ชุมชนทราบกะทันหัน ส่งผลให้บางคนไปไม่ได้ หรือคนที่ไปร่วมประชุมได้ก็พบว่า มีหัวคะแนนพรรคการเมืองมาปรากฏในที่ประชุมจำนวนมาก และอีกตัวอย่างคือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า เจ้าหน้าที่จัดประชุมไม่เปิดโอกาสให้มีการซักถาม และในบางกรณี หากผู้ที่ซักถามไม่ใช่หัวคะแนนเสียงก็ปิดประชุมไปเลย เป็นต้น

รศ.วิระดา บอกอีกว่า นอกจากการรวบรวมรายงานข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว คปก. ยังให้นักกฎหมายของ คปก. ศึกษาทางข้อกฎหมายว่า การดำเนินการของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขัดกับรัฐธรรมนูญ และแนวนโยบายการบริหารประเทศหรือไม่ เพราะไม่เปิดโอกาสให้สตรีทุกคนเข้าถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีด้วยความเสมอภาค โดยจำกัดการเข้าถึงกองทุนฯ ด้วยการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นสมาชิกกองทุนฯ เท่านั้น ถือเป็นการจำกัดการเข้าถึงกองทุนฯ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นนโยบายสาธารณะ ควรให้สตรีทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน และยังทำให้เกิดความลักลั่น ไม่โปรงใส

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และการดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลปกครองระงับการดำเนินการนั้น รศ.วิระดากล่าวว่า ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของ คปก. เพราะ คปก. เป็นเพียงหน่วยงานทำหน้าที่แสดงความคิดเห็นเท่านั้น ต้องให้หน่วยงานหรือองค์กรเครือข่าย หรือกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เป็นผู้ดำเนินการ โดยนำข้อมูลของของ คปก. ไปใช้ดำเนินการได้

“เมื่อรวบรวมรายงานข้อมูลและข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้ครบแล้ว และได้ผลการศึกษาของนักกฎหมายแล้ว จะดำเนินการสรุปความคิดเห็นและทำหนังสือเพิ่มเติม ยืนยันตามข้อเสนอแนะครั้งแรกส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้” รศ.วิระดากล่าว

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างหรือทำลาย “พลังสตรี”

สโลแกน “สร้างสรรค์พลังสตรี ให้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ” คือวิสัยทัศน์ของ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

แต่จะเป็นจริงดังคำโฆษณาของรัฐบาลหรือไม่ “รศ.วิระดา สมสวัสดิ์” ผู้ซึ่งคร่ำวอดในแวดวงสตรีมายาวนาน ในฐานะหัวหน้าศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานมูลนิธิผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาชนบท ฟันธงว่า หากปล่อยให้รัฐบาลดำเนินการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นการทำลายให้สตรีอ่อนแอ เกิดความแตกแยก และต้องพึ่งพารัฐตลอดไป

เพราะแนวทางดำเนินการมีลักษณะเป็นนโยบาย “ประชานิยม” ล้วนๆ เห็นได้จากวัตถุประสงค์ที่กำหนดว่า “เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย”

นอกจากนี้ งบประมาณที่จะทุ่มลงไปจังหวัดละ 100 ล้านบาท รวม 77 จังหวัด จะเป็นเงินจำนวนมากถึง 7,700 ล้านบาท กำหนดว่า 80% ของเงินดังกล่าวจะให้กู้ยืมอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือไม่คิดดอกเบี้ย วิธีการแบบนี้ ดร.วิระดา เรียกว่า “สังคมสงเคราะห์” ไม่ได้ทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ครบวงจรอย่างแท้จริง แต่เน้นแจกเงินแบบให้เปล่า ซึ่งมีข้อมูลปรากฏในบางพื้นที่มีการโฆษณาในลักษณะดังกล่าว และเป็นการให้เฉพาะคนบางกลุ่มที่เป็นพวกพ้องด้วย

“ดังนั้น นโยบายแบบนี้ ถือว่าไม่ได้เสริมสร้างพลังและเพิ่มศักยภาพสตรีแต่อย่างไร ตรงข้าม กลับทำลายความเข้มแข็งและทำให้เกิดความอ่อนแอ และไม่ยั่งยืน” รศ.วิระดากล่าว

นอกจากนี้ การรีบเร่งจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีด้วยการออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แทนที่จะยืนยันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพสตรี 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตสตรีแห่งชาติ พ.ศ. …” และ “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ (ฉบับประชาชน) พ.ศ. …” แต่กลับปล่อยให้ร่างกฎหมายตกไปนั้น รศ.วิระดาระบุว่า รัฐบาลมีเจตนาให้เป็นเช่นนั้น เพราะต้องการทำนโยบายประชานิยม

หากรัฐบาลมีความจริงใจในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจริง ควรเร่งพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับอย่างจริงจัง เพราะได้ประโยชน์ในแง่มีองค์กรและคณะกรรมการมารองรับการใช้จ่ายเงิน 7,700 ล้านบาท อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่ควรแจกจ่ายเงินออกไปโดยไม่มีผู้รับผิดชอบกองทุนฯ อย่างชัดเจน

ขณะที่ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว มีรายละเอียดของการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาผู้หญิงให้ครบวงจรทุกด้านอยู่แล้ว ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ผ่านการระดมความเห็นและกลั่นกรองจากตัวแทนประชาชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ผู้ทรงคุณวุฒิทั่วประเทศ ที่สำคัญคือ มีกระบวนการดำเนินการโปรงใสและตรวจสอบได้

“หากรัฐบาลมีเจตนาที่ดีในการยกระดับพัฒนาศักยภาพสตรีให้มีความเข้มแข็ง ควรพิจารณายืนยันร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ดังกล่าว หรือนำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มาปรับปรุงให้เหมาะสมเหลือเป็นฉบับเดียวก็ได้ และดำเนินการออกเป็นพระราชบัญญัติ เพราะเรื่องนี้ไม่จำเป็นเร่งด่วนต้องออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ” รศ.วิระดา กล่าว