ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ชี้แรงกดดัน “เศรษฐกิจไทยในบริบทอาเซี่ยน” – ไทยเป็น “เด็ก” มากในเวทีนี้

“โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ชี้แรงกดดัน “เศรษฐกิจไทยในบริบทอาเซี่ยน” – ไทยเป็น “เด็ก” มากในเวทีนี้

10 มีนาคม 2012


ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี จัดสัมมนา “การเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทย – อาเซี่ยน”

ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้บรรยายในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยในบริบทอาเซี่ยน” โดยให้มุมมองว่า ที่ผ่านมาบทบาทการส่งออกของไทยไปอาเซี่ยนเพิ่มขึ้นตามลำดับ และอาเซี่ยนเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของไทยมากกว่ายุโรปและอเมริการวมกัน

กลุ่มอาเซี่ยนมี 10 ประเทศ แต่ถ้าหากเจาะเฉพาะการค้ากับเพื่อนบ้าน CLMV คือ เขมร ลาว พม่า เวียดนาม การส่งออกไทยไป 4 ประเทศนี้ ไม่ใช่การค้าชายแดนอีกต่อไป โดยมองว่า 4 ประเทศนี้ เป็นตลาดเกิดใหม่สำหรับประเทศไทย การส่งออกของไทยไป 4 ประเทศนี้ปี 2554 เพิ่มขึ้น 30 % จากปี 2553 เป็นอัตราเพิ่มที่สูงมาก และเป็นอัตราเพิ่มที่เหนือกว่าการส่งออกไทยไปอาเซี่ยนโดยเฉลี่ย

“ใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นที่เข้าใจได้ว่าสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษคือประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศ ที่ไทยส่งออกไปประมาณ 470,000 ล้านบาท เป็นมูลค่าครึ่งหนึ่งของไทยที่ส่งออกไปประเทศจีน”

ขณะที่ปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน หมายความว่ากลุ่มประเทศอาเซี่ยนมีความเชื่อมโยงในระดับที่สูงขึ้นในทุกๆด้าน แต่ ณ เวลานี้ ปี 2555 กลุ่มอาเซี่ยน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระหว่าง 2 ประเทศเกิดใหม่ คืออินเดียกับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่สำคัญที่สุดในโลก เพราะประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอ่อนแอและอ่อนกำลังลงเป็นอย่างมาก ไม่ใช่ประเทศที่มีศักยภาพ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างเข้มแข็งเหมือนกับ 10 ปีที่แล้ว

กลุ่มประเทศที่จะมีโอกาสเข้ามาขับเคลื่อนแทนตะวันตก คือเอเชีย โดยเฉพาะประเทศอินเดียกับจีน อย่างที่จีนประกาศว่าปีนี้จะโต 7.9 % อินเดีย 7% อาเซี่ยน 5.5% ดังนั้นอาเซี่ยนจะขนาบด้วยประเทศใหญ่ที่โตเร็ว นี่คือปัจจุบันของอาเซี่ยน และอาเซี่ยนจึงเป็นที่จับตามองของนานาประเทศ

ในกลุ่มอาเซี่ยน 10 ประเทศ ถ้านับจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน คิดเป็นประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของจีน และครึ่งหนึ่งของอินเดีย แม้อาเซี่ยนจะมีศักยภาพในการเติบโต แต่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตุว่าใน 10 ประเทศนี้ มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ได้แก่ รายได้ต่อหัวต่างกันมาก อาทิ พม่ารายได้ต่อหัวต่อปี 1,300 เหรียญ ขณะที่สิงคโปร์เกือบ 60,000 เหรียญ

“ดังนั้นหากพูดว่าอาเซี่ยนเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่ จริงๆอาเซี่ยนประกอบด้วยประเทศที่มีความหลากหลาย แตกต่างกันค่อนข้างสูงมาก และมีศักยภาพในการพัฒนาที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นใครก็ตามเห็นศักยภาพของอาเซี่ยน จะต้องเข้าใจว่าอาเซี่ยนมีองค์ประกอบที่หลากหลาย หากไม่ทำความเข้าใจให้ชัดเจน ก็จะไม่สามารถเข้าใจอาเซี่ยนได้”

นอกจากนี้สิ่งที่ต่างกันมากอีกเรื่องคือโครงสร้างประชากร ดร.โฆสิตย้ำว่าประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะโครงสร้างประชากรประเทศไทยมีอายุเกิน 60 ปี 11% แสดงว่าเป็นประเทศที่แก่ ถามว่าแก่มากน้อยแค่ไหน แก่เป็นอันดับสองในอาเซี่ยน รองจากสิงคโปร์มี 16 % แต่ต้องเข้าใจว่าสิงคโปร์เขารวยก่อนแก่ แต่ไทยแก่แล้วแต่ไม่ได้รวยเลย

นอกจากนี้ประเทศในอาเซี่ยนมีประเทศเด็ก อย่าง อินโดนีเซีย ประชากรเด็กอายุ 0-14 ปี สัดส่วนสูงมากถึง 26% เวลาเขาโฆษณาประเทศ เขาบอกว่าเป็น young country เพราะประชากรครึ่งหนึ่งของอินโดนีเซีย อายุไม่ถึง 30 ปี แสดงถึงศักยภาพของเขา ขณะที่ของไทยนับวันมีแต่คนแก่มากขึ้น และมีประเทศที่เป็นเด็กและมีกำลังเข้มแข็ง อย่าง ฟิลลิปปินส์ มีประชาชนวัยเด็กถึง 33% ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในภายภาคหน้า เป็นจำนวนแรงงานที่สำคัญมาก เพราะเป็นทรัพยากรที่สำคัญ

นี่คือภาพอาเซี่ยนในปัจจุบันที่มีศักยภาพเยอะมาก แต่มีความแตกต่างกันเยอะมากเช่นกัน ทั้งในแง่รายได้ โครงสร้างอายุ การบริหารประเทศ การแข่งขันในตลาด วัฒนธรรม ดังนั้นต้องเข้าใจอาเซี่ยนว่าแต่ละประเทศเป็นอย่างไรในทุกๆด้าน

“แต่ถ้าพูดประเทศไทยในบริบทอาเซี่ยนในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ความเห็นของผม ตัวสำคัญที่สุดที่จะชี้ให้เห็นว่าไทยและเพื่อนๆในอาเซี่ยน จะมีความสมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร คงต้องเอาเรื่องประชากรมาวิเคราะห์เชื่อมโยง การที่ไทยเป็นประเทศแก่อันดับสองในอาเซี่ยน มีผลสืบเนื่องต่อกันในอนาคตอย่างไร กล่าวคือในปี 2553 สัดส่วนประชากรในวัยทำงานของไทยมีจำนวน 67.4% แต่ต่อไปสัดส่วนนี้ของไทยกำลังลดลง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจำนวนแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง”

นอกจากนี้นับจากปี 2558 เป็นต้นไป จำนวนประชากรไทยจะไม่เพิ่มมากนัก และจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2563 ทั้งหมดมีความหมายในเชิงธุรกิจ เพราะนั่นความหมายว่าประเทศไทยปริมาณแรงงานจะไม่เพิ่ม และมีทิศทางจะลดลง ขณะที่ปริมาณผู้บริโภค นอกจากไม่เพิ่มแล้ว ก็จะมีทิศทางลดลงเช่นกัน เพราะฉะนั้นนักธุรกิจที่จะต้องพึ่งตลาดในประเทศ หากประชากรไม่เพิ่ม ผู้บริโภคไม่เพิ่ม แรงงานไม่เพิ่ม และแรงงานก็จะหายากมากขึ้นก็จะเป็นปัญหา

“ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซี่ยน อย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มีจำนวนพลเมืองสูงกว่าไทย แม้ตอนนี้จะรายได้น้อย ประชากรเยอะ ประเด็นนี้ก็คงจะมองออกว่าในเชิงของตลาด ขนาดของตลาดของเราจะเป็นอย่างไร เมื่อคูณจำนวนหัวเข้าไป เศรษฐกิจเขาใหญ่กว่าเรา”

นอกจากนี้จากประมาณการของธนาคารโลก ที่คาดการอำนาจซื้อของชนชั้นกลาง ปรากฏว่าจากปี 2552-2557 อินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้น 100 ล้านคน แต่ชนชั้นกลางไทยจะเพิ่มอัตราที่น้อยลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้โครงสร้างประชากรจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นในอนาคตไทยไม่ใช่แหล่งอำนาจซื้อที่สำคัญ รวมทั้งขนาดของตลาดด้วย นี่คือภาพใน 10 ปีข้างหน้า

“แรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานลดลงทุกปี แรงงานจึงหายากแน่นอน เป็นข้ออธิบายว่าทำไมเราต้องใช้แรงงานต่างด้าว 2,500,000 คน ทำให้ค่าแรงของไทยไม่ได้สูงเหมือนจีน มาเลเซีย และเราใช้แรงงานค่าแรงต่ำ ไร้ฝีมือ แต่จากนี้เป็นต้นไป ความยากลำบากในการหาแรงงานจะหนักขึ้นไปอีก เมื่อเราอยู่ในปัญหานี้ ขณะที่เพื่อนอาเซี่ยน เราไม่ใช่ ถ้าสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้น ความต้องการแรงงานต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน เพื่อนบ้านค่าแรงงานเพิ่มขึ้น เขาจะกลับประเทศของเขา ก็จะมองเห็นว่าไทยจะเป็นอย่างไร”

นี่คือแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากขนาดตลาดที่เล็ก โตช้า และแรงกดดันจากแรงงานหายาก และมีแนวโน้มที่จะมีค่าแรงสูงขึ้น เป็นสิ่งที่ไทยเผชิญอยู่

และด้วยเหตุนี้ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่มองประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรง ที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้ นักลงทุนต่างชาติมองไม่ได้มองอย่างนั้นแล้ว เขาไปมองประเทศอื่นๆ ที่ตลาดใหญ่กว่า มีแรงงานมากกว่า ราคาถูกกว่า

“ปัจจุบันเงินทุนต่างประเทศ สมมติใน 100 บาท ไปอินโดนีเซีย 21 บาท ขณะที่ของไทยที่เคยได้ 17 บาท ตอนนี้เหลือ 6 บาทแล้ว ดังนั้นการหวังว่าไทยจะกลับไปเหมือนเดิม ที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนจากการลงทุนโดยตรง การส่งออก ผมว่าน่าจะยาก และถือว่าเป็นสัญญาณสำคัญ ที่คนข้างนอกมองอาเซี่ยน เขามีตัวเลือกที่ตลาดกว้างกว่า แรงงานมากกว่า แรงงานถูกกว่า นี่คือสิ่งที่จะบอก”

ดังนั้นในอนาคต นักธุรกิจมีแรงกดดันตามที่กล่าวมา จำเป็นต้องหาทางจัดการ วิธีการคือ การไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ เขาได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมานานแล้ว เพื่อไปใกล้ชิดกับตลาด ไปเอาวัตถุดิบ ไปใช้แรงงาน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอาเซี่ยน

“ถามว่าไทยเข้ากระบวนการนี้หรือยัง ทำอะไรไปบ้าง ก็กล่าวได้ว่าก้ำกึ่ง บริษัทใหญ่ก็เริ่มพลิกตัวแล้ว แต่การที่ไปลงทุนต่างประเทศ มันไม่ใช่เรื่องงาย มันเสมือนหนึ่งว่า เราไปแข่งในสนามที่เราไม่รู้จัก ไปแข่งกับคู่ต่อสู้ที่เราไม่เข้าใจ ขณะนี้เราใช้วิธีการส่งออก แต่ประเทศที่ล่วงหน้าไปก่อนเรา ระลอกแรกส่งออก ระลอกสองตามไปลงทุน ไปใกล้ชิดตลาด ไปใกล้ชิดสภาพการแข่งขัน วงการนี้ไทยยังเป็นเด็ก ขีดเส้นใต้คำว่าเด็ก ซึ่งต้องเรียนรู้อีกมาก เราต้องเริ่มคิดเรียนรู้เรื่องพวกนี้ ต้องคิดเรื่องพวกนี้ เพราะอาเซี่ยนเป็นที่สนใจของทั่วโลก ถ้าหากเราไม่ไป คนอื่นเขาก็ไป และไปกันแล้ว และตั้งหลักปักฐานได้ ทีนี้ถ้าเราอยากไป ก็ไปไม่ได้ แต่การไปก็ผลีผลามไม่ได้ เพราะคูแข่งขันมีความสามารถสูงกว่า ไม่ว่าจะไปไหนจะต้องแข่งขันกับจีน”

ดร.โฆสิตกล่าวว่าถ้าดูตัวเลข ปี 2550 ขีดความสามารถในการแข่งขัน ไทยอยู่ที่อันดับที่ 39 จีนอยู่ที่ 26 เรายิ่งสาย คนอื่นยิ่งเก่งกว่า เพราะจีนเขาขึ้นมาที่ 26 แต่เขามาจากอันดับ 34 แต่ไทยมาจากอันดับที่ 28 แล้วลงมาอยู่ที่ 39 เรื่องนี้เราต้องเข้าใจว่าไม่ง่าย การที่ราจะเข้าสู่สนามใหม่ๆ เราต้องเตรียมตัว ต้องใช้ความได้เปรียบของเรา ก่อนที่จะไปจริงๆเราต้องพร้อม และจะมีตลาดในประเทศจำนวนหนึ่ง ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องยากและเหนื่อย

“วันนี้มีแรงกดดันมากแล้ว เราต้องเขาใจความยากของมัน ต้องปรับตัวเองให้เข้มแข็ง ปรับความพร้อมให้เพียงพอ ปัจจุบันโอกาสเราต่ำลงๆ นี่คือไทยในบริบทอาเซี่ยน ต้องแก้ไขตลาดที่แคบ แรงงานที่ขาด วัตถุดิบไม่พอ ทางออกนั้นคืออาเซี่ยน แต่ต้องมีการเตรียมตัวและมีศักยภาพ”