ThaiPublica > เกาะกระแส > อิหร่านขู่ปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” เส้นเลือดใหญ่น้ำมันโลก จุดเปราะบางภูมิศาสตร์การเมือง จะกดดันชาติตะวันตกได้จริงหรือ

อิหร่านขู่ปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” เส้นเลือดใหญ่น้ำมันโลก จุดเปราะบางภูมิศาสตร์การเมือง จะกดดันชาติตะวันตกได้จริงหรือ

1 มีนาคม 2012


“ช่องแคบฮอร์มุซ” เส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญของโลก ที่มาภาพ : http://www.eia.gov/
“ช่องแคบฮอร์มุซ” เส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญของโลก ที่มาภาพ : http://www.eia.gov/

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงแกว่งตัวอยู่ในระดับสูงในช่วงนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างพากันบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แนวโน้มราคาน้ำมันยังเผชิญกับแรงกดดันขาขึ้นอยู่ โดยมีปัจจัยหนุนหลัก 2 ประการ คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตก อิหร่านเองได้ออกโรงขู่หลายครั้งแล้วว่า อาจตัดสินใจปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” เส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญของโลก เป็นการตอบโต้หลังจากชาติตะวันตกเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เพื่อกดดันให้ชาติอาหรับแห่งนี้ยุติการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอิหร่านยืนยันมาตลอดว่าเป็นการพัฒนาเพื่อใช้ด้านพลังงานเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญในวงการน้ำมันบอกว่า หากอิหร่านตัดสินใจปิดช่องแคบฮอร์มุซจริง การหันไปใช้เส้นทางอื่นเพื่อขนส่งน้ำมันดิบออกจากตะวันออกกลาง อาจไม่สามารถทดแทนปริมาณส่งออกน้ำมันที่สูญเสียจากการปิดช่องแคบฮอร์มุซได้ ซึ่งหมายความว่า น้ำมันดิบอาจถูกส่งเข้ามายังตลาดล่าช้ากว่ากำหนด หรืออาจมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของตลาด ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งถึงกับทำนายว่า หากช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด อาจดันราคาน้ำมันดิบโลกให้พุ่งขึ้นไปถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเลยทีเดียว

นายปีเตอร์ แซนด์ หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านชิปปิ้งของ The Baltic and International Maritime Council บอกว่า การเลือกเส้นทางขนส่งที่ยาวกว่าเดิมจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการขนส่ง

ปัจจุบันหลายประเทศในตะวันออกกลาง ได้แก่ คูเวต อิหร่าน อิรัก กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก หรือประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกทั้งหมดต่างก็ต้องใช้เส้นทางนี้เพื่อส่งออกน้ำมันดิบไปยังตลาดโลก หรือประมาณ 17 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 20% ของการซื้อขายน้ำมันทั่วโลก

ขณะเดียวกัน สำนักงานข้อมูลสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ หรือ EIA ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2554 ช่องแคบแห่งนี้ยังถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ 70 ล้านเมตริกตัน ด้วย

ด้านนายพอล ดอมแจน ที่ปรึกษาของ Securing America’s Future Energy หรือ SAFE หน่วยงานเพื่อการพึ่งพาตัวเองด้านน้ำมันของสหรัฐ บอกว่า แม้ในความเป็นจริง ในสถานการณ์ที่ดีที่สุดจะสามารถขนส่งน้ำมันผ่านท่อประมาณ 4.5-5 ล้านบาร์เรลได้ แต่ก็ยังเหลือน้ำมันอีกประมาณ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่ไม่สามารถลำเลียงออกจากตะวันออกกลางได้ ซึ่งยังไม่รวมก๊าซธรรมชาติจากซาอุดิอาระเบียและกาตาร์ที่ยังต้องตกค้างอยู่ในฐานการผลิตด้วย

แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะเชื่อว่า หากมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซจริง อิหร่านก็ไม่น่าจะปิดนานนัก เพราะมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่านเอง และอาจทำให้เกิดผลพวงด้านการเมืองตามมาอีก แต่การปิดช่องแคบฮอร์มุซในช่วงสั้นๆ ก็คงทำให้การขนส่งน้ำมันเกิดหยุดชะงัก และกดดันให้ประเทศในตะวันออกกลางต้องหาเส้นทางอื่นไว้ใช้

แต่เส้นทางเลือกที่มีอยู่ก็แฝงไปด้วยอุปสรรคบางประการเช่นกัน โดยบาร์เคลย์ส แคปิตอล วิเคราะห์ว่า แม้จะมีเส้นทางขนส่งอื่น แต่ก็มีข้อจำกัดในแง่ของศักยภาพ และบางเส้นทางก็ไม่ได้เปิดใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเส้นทางเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น และจะมีปัญหาด้านโลจิสติกส์อีกต่างหาก

ท่อส่งน้ำมันที่น่าจะถูกนำมาใช้มากที่สุดหากมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซจริงคือ ท่อส่งน้ำมันตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งทอดผ่านซาอุดิอาระเบียไปสู่ทะเลแดง ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ระบุว่า ปัจจุบันท่อส่งน้ำมันสายนี้ยังใช้ไม่เต็มศักยภาพ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นจึงยังมีความสามารถที่จะรองรับการขนส่งได้อีก ส่วนในแง่ของก๊าซธรรมชาติ ก็อาจใช้บริการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แอ๊บเค้ก-ยันบู (Abqaiq-Yanbu) ที่มีกำลังขนส่งก๊าซ 290,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับการขนส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่อาจตกค้างหากช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด

นอกจากนี้ ยังมีท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกจำนวนหนึ่งที่อาจต้องเปิดกลับมาใช้ใหม่ เช่น ท่อส่งอิรัก-ตุรกีไปยังท่าเรือเจย์ฮาน (Ceyhan) บริเวณทะเลเมดิเตอริเนียน ท่อส่งอิรักที่ทอดผ่านซาอุดิอาระเบีย และท่อส่งแท็บไลน์ไปยังเลบานอน และท่อส่งอาบูดาบี

แต่ซิตี้แบงก์ก็ได้วิเคราะห์ว่า การใช้ท่อส่งอิรัก-ตุรกีเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ทั้งในแง่ปฏิบัติและเชิงการเมือง โดยเฉพาะเมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีความจำเป็นต้องซ่อมแซมท่อส่งที่เชื่อมภาคเหนือและภาคใต้ของอิรักใหม่อีก แถมยังมีอีกหนึ่งปัญหาคือ หลังจากท่อส่งมาสิ้นสุดที่ท่าเรือยันบู (Yanbu) ในทะเลแดง ก็จะต้องขนน้ำมันดิบต่อไปผ่านเส้นทางคลองสุเอซที่มีการจราจรคับคั่งอยู่แล้ว หรือไม่ก็ต้องส่งผ่านไปทางอ่าวเอเดน (Aden) ซึ่งเป็นจุดที่มีปัญหาโจรสลัดมากที่สุดของแอฟริกา ทำให้มีต้นทุนมหาศาลในการรักษาความปลอดภัยในการขนส่งน้ำมันผ่านเส้นทางนี้

นอกจากเส้นทางสำรองเพื่อขนส่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติข้างต้นแล้ว หากอิหร่านตัดสินใจเดินเกมเติบโตแบบแข็งกร้าว สื่อต่างชาติก็วิเคราะห์ว่า นานาชาติอาจต้องเดินหน้ามาตรการบางอย่างเพื่อกดให้ราคาน้ำมันดิบลดลง เช่น สหรัฐจะต้องไขก๊อกน้ำมันจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ประมาณ 700 ล้านบาร์เรลออกมา ขณะที่สำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA ก็เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว โดยบอกว่าพร้อมจะปล่อยน้ำมันมากถึง 14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกสู่ตลาดหากมีการปิดเส้นทางสำคัญนี้จริงๆ ส่วนซาอุดิอาระเบียที่ยังเหลือกำลังการผลิตเหลืออยู่อย่างน้อย 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็อาจต้องผลิตน้ำมันชดเชยปริมาณที่หายไปด้วย

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น จนถึงตอนนี้ หลายฝ่ายก็หวังว่า อิหร่านจะไม่ปิดช่องแคบฮอร์มุซเหมือนที่ขู่ไว้ เพราะการทำเช่นนั้นถือเป็นการฆ่าตัวตายทางเศรษฐกิจเลยก็ว่าได้ เพราะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีสัดส่วนคิดเป็น 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีของอิหร่าน และคิดเป็น 80% ของมูลค่าการส่งออก และ 70% ของรายได้รัฐบาลเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา อิหร่านได้ออกมาขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซแล้วหลายรอบ และเคยพยายามปิดช่องแคบบางส่วนไปเหมือนกันเพื่อตอบโต้อิรักและประเทศอาหรับที่สนับสนุนอิรักในการทำสงครามกับอิหร่านในปี 2530-2531 แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบมากเหมือนที่อิหร่านคาดหวังไว้ ทว่ากลับทำให้สหรัฐตัดสินใจเข้ามาแทรกแซง จนกลายเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับอิหร่านในยุคนั้น

“ช่องแคบฮอร์มุซ” เส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญที่สุดของโลก

สำนักงานข้อมูลสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ หรือ EIA ให้ข้อมูลว่า ในปี 2554 การผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 88 ล้านบาร์เรลต่อวัน กว่าครึ่งหนึ่งถูกขนส่งด้วยเรือบรรทุกน้ำมันผ่านเส้นทางขนส่งทางทะเล และหากวัดจากปริมาณการขนส่งน้ำมันแล้ว “ช่องแคบฮอร์มุซ” เส้นทางขนส่งน้ำมันออกจากอ่าวเปอร์เซีย และ “ช่องแคบมะละกา” ที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก คือช่องแคบที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ (chokepoint) มากที่สุดของโลก

และแน่นอนว่า เมื่อตลาดพลังงานของโลกต้องพึ่งพาเส้นทางขนส่งที่ไว้วางใจได้ ดังนั้นการปิดจุด chokepoint จุดใดจุดหนึ่งเพียงชั่วคราว ก็สามารถส่งผลให้ต้นทุนพลังงานโดยรวมปรับสูงขึ้น

คราวนี้ลองมารู้จักช่องแคบฮอร์มุซให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นบ้าง ช่องแคบแห่งนี้มีทำเลที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศโอมานและอิหร่าน และเป็นจุดเชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมานและทะเลอาราเบียน และหากประเมินจากปริมาณการขนส่งน้ำมันดิบผ่านจุดนี้ EIA ฟันธงว่า ช่องแคบฮอร์มุซคือช่องแคบที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์มากที่สุดของโลก ด้วยปริมาณการขนส่งน้ำมันดิบผ่านช่องแคบนี้สูงเกือบ 17 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 15.5-16.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงปี 2552-2553

ทั้งนี้ การขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซคิดเป็นประมาณ 35% ของน้ำมันดิบที่ขนส่งทางทะเลทั้งหมด หรือเกือบ 20% ของน้ำมันดิบที่ซื้อขายทั่วโลก และโดยเฉลี่ยแล้ว ในปีที่ผ่านมา แต่ละวันจะมีเรือบรรทุกน้ำมันประมาณ 14 ลำแล่นผ่านช่องแคบฮอร์มุซ พอๆ กับจำนวนเรือเปล่าที่แล่นผ่านเข้ามาเพื่อขนส่งน้ำมันรอบใหม่ และกว่า 85% ของการส่งออกน้ำมันดิบเหล่านี้มีปลายทางที่ตลาดเอเชีย โดย ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ จีน เป็นประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ของอิหร่าน

นอกจากช่องแคบฮอร์มุซแล้ว โลกของเราก็ยังมีช่องแคบอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อการขนส่งน้ำมันดิบโลก เช่น ช่องแคบมะละกา เส้นทางสำคัญในเอเชียที่ใช้ลำเลียงน้ำมันประมาณ 13.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2552 หรือลดลงจากระดับสูงสุดที่ 14 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2550

ขณะที่คลองสุเอซและท่อส่งน้ำมันสุเมดก็เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญอันดับต้นๆ ของโลก โดยคลองสุเอซในอียิปต์ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงและอ่าวสุเอซและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้น เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันดิบประมาณวันละเกือบ 2 ล้านบาร์เรล หรือประมาณเกือบ 5% ของน้ำมันดิบที่ขนส่งทางทะเลทั่วโลกในปี 2553 ส่วนท่อส่งน้ำมันสุเมดสามารถขนส่งน้ำมันได้ประมาณ 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสามารถใช้แทนคลองสุเอซในกรณีที่คาร์โกใหญ่เกินกว่าจะขนส่งโดยใช้เส้นทางคลองสุเอซได้

รวบรวมจาก รอยเตอร์ส, บลูมเบิร์ก, สำนักงานข้อมูลสารสนเทสด้านพลังงานของสหรัฐ EIA, เลห์แมนบราเธอร์สรีเสิร์ช