ThaiPublica > เกาะกระแส > ประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม GSVC ไทยเข้าชิง 3 ทีม แต่อินโดฯ เวียดนาม คว้าชัยไปชิงแชมป์โลก

ประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม GSVC ไทยเข้าชิง 3 ทีม แต่อินโดฯ เวียดนาม คว้าชัยไปชิงแชมป์โลก

22 มีนาคม 2012


การประกาศรางวัลประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม Global Social Venture Competition (GSVC) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2012
การประกาศรางวัลประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม Global Social Venture Competition (GSVC) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2012

การประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม Global Social Venture Competition (GSVC) เป็นการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมที่เปิดรับผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก เป็นการแข่งขันแห่งแรกของโลกที่มีประวัติการแข่งขันยาวนานที่สุด มีการจัดครั้งแรกในปี 1999 และจัดต่อเนื่องมาตลอดทุกปีที่ University of California at Berkeley

การแข่งขันนี้มีความแตกต่างจากการประกวดแผนธุรกิจของที่อื่นๆ คือ แผนธุรกิจที่เข้าประกวดจะต้องเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีเป้าหมายหลักไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ในการแข่งขันจะมีการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social impact assessment) และดูความยั่งยืนทางการเงินของธุรกิจ แม้ว่าธุรกิจนั้นจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ แต่ถ้าไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยทุน หรือผลกำไรที่เกิดจากการประกอบกิจการของตนเอง ก็ไม่สามารถถือว่าธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ดีได้

ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดนี้ และได้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในปี 2007 คือทีมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดความสนใจและการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรจัดการแข่งขันในปีต่อมา

ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา การแข่งขัน GSVC ในรอบคัดเลือกระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงถูกจัดขึ้นในประเทศไทย โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้าร่วมในการแข่งขันเพื่อคัดเลือกผู้แข่งขันในภูมิภาคไปแข่งรอบชิงชนะเลิศที่สหรัฐอเมริกา

สำหรับการแข่งขัน GSVC ในรอบคัดเลือกระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2012 นี้ ถูกจัดขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา จากทีมที่ผ่านรอบคัดเลือกในรอบแรกทั้งหมด 13 ทีม จากทั่วภูมิภาค และมีทีมจากประเทศไทย 3 ทีม เพื่อคัดเลือกผู้ชนะในระดับภูมิภาค 2 ทีม ไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ

โดยในรอบนี้ ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมดจะต้องนำเสนอแผนธุรกิจ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นผู้ตัดสิน ผลที่ออกมาคือ ทีม Micro Oasis จาก Prasetiya Mulya Business School ประเทศอินโดนีเซีย และทีม Marine Gifts จาก Hanoi Cultural University ประเทศเวียดนาม เป็น 2 ทีมที่ชนะในระดับภูมิภาค และเป็นตัวแทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแข่งขันในระดับโลกต่อไป

เหยือกรดน้ำ (Pitcher Fertigation) ที่ทำจากดินเผา
เหยือกรดน้ำ (Pitcher Fertigation) ที่ทำจากดินเผา

Micro Oasis จากประเทศอินโดนีเซีย มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่แห้งแล้ง โดยการพัฒนาทักษะทางการเกษตรและการบริหารจัดการ รวมถึงการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่แห้งแล้ง ด้วยธุรกิจที่ให้บริการทางการเกษตรแบบบูรณาการ และช่วยสร้างระบบชลประทานสำหรับพื้นที่แห้งแล้งในราคาย่อมเยาว์ โดยใช้ระบบการให้ปุ๋ยละลายน้ำผ่านเหยือกรดน้ำ (Pitcher Fertigation)

ที่หมู่บ้าน “กุนูคิดูล” เมืองยอกยากาตาร์ ตอนใต้ของประเทศอินโดนีเซีย มีพื้นที่แห้งแล้งกว่า 670 ตารางกิโลเมตร เกษตรกรในหมู่บ้านนี้สามารถทำการเพาะปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง คิดเป็นช่วงเวลา 2 – 3 เดือนในแต่ละปี ส่วน 8 – 9 เดือนที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ เกษตรกรส่วนใหญ่จะหันไปประกอบอาชีพรับจ้างและเป็นผู้ใช้แรงงาน ทำให้คนในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่ยังคงยากจน ไม่มีการศึกษา และเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ไม่สามารถออกจากวงจรของความยากจนได้

สิ่งที่ Micro Oasis เข้าไปทำก็คือ การสร้างระบบชลประทานแบบบูรณาการ ด้วยระบบการให้ปุ๋ยละลายน้ำผ่านเหยือกรดน้ำ (Pitcher Fertigation) ที่ทำจากดินเผา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้สามารถรดน้ำที่มีการผสมปุ๋ยลงไปในดินได้ น้ำผสมปุ๋ยจะค่อยๆ ซึมลงดินอย่างช้าๆ ทำให้ดินในบริเวณที่มีเหยือกดินเผาฝังอยู่มีความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์ สามารถเพาะปลูกได้นานขึ้น จากเดิมที่ทำการเพาะปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ก็ทำให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ถึง 4 ครั้งใน 1 ปี

ในขั้นตอนการผลิตเหยือกรดน้ำ โรงงานที่ผลิตเหยือกจะทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน โดย Micro Oasis มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเกษตรกรตั้งแต่เริ่มการผลิต ช่วยเหลือตั้งแต่การเข้าไปสำรวจพื้นที่ในการเพาะปลูก ว่าจะมีน้ำใช้เพียงพอหรือไม่ หลังจากนั้นจึงเป็นการวางระบบเหยือกรดน้ำ

ในระหว่างการขั้นตอนเพาะปลูก Micro Oasis จะเข้าไปช่วยเกษตรกรในการเลือกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ ระหว่างที่รอผลผลิตเติบโตจะมีการให้คำปรึกษา อบรมให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพ และเมื่อผลผลิตออกสู่ตลาด Micro Oasis จะใช้เครือข่ายที่มีช่วยเกษตรกรในการระบายสินค้า

รายได้หลักของ Micro Oasis เกิดจากการแบ่งปันผลกำไรหลังจากที่เกษตรกรขายสินค้าได้แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 18.5% ของกำไรที่เกษตรกรได้รับ

การสร้างระบบชลประทานแบบบูรณาการ ด้วยระบบการให้ปุ๋ยละลายน้ำผ่านเหยือกรดน้ำ
การสร้างระบบชลประทานแบบบูรณาการ ด้วยระบบการให้ปุ๋ยละลายน้ำผ่านเหยือกรดน้ำ

ส่วนทีมที่ชนะอีกทีมหนึ่งคือ Marine Gifts จากประเทศเวียดนาม Marine Gifts มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ท้องทะเล และสนับสนุนให้ผู้หญิงที่อาศัยในบริเวณเขตอนุรักษ์ทางทะเลมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ่านบริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และขายสินค้าหัตถกรรมจากทรัพยากรทางทะเล ที่ผลิตโดยหญิงชาวบ้านที่อาศัยในเขตอนุรักษ์ทางทะเลนั้น

ประเทศเวียดนามมีพื้นที่ฝั่งตะวันออกทั้งหมดติดทะเลจีนใต้ ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาวถึง 3,200 กิโลเมตร มีน่านน้ำเป็นพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางกิโลเมตร ด้วยชายหาดที่สวยงามและความหลากหลายทางระบบนิเวศนี้ ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่า 9 ล้านคนในแต่ละปี โดยมีสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โรงแรม และรีสอร์ทหรู ถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก

แต่ปรากฎว่า รายได้ที่มากกว่า 100 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี ถูกนำมาพัฒนาชีวิตชาวบ้านในท้องถิ่นเพียงไม่ถึง 1% ของรายได้ทั้งหมด ผู้หญิงที่อาศัยในเขตอนุรักษ์ทางทะเลยังคงยากจน ไม่มีการศึกษา และขาดทักษะในการประกอบอาชีพ

สิ่งที่ Marine Gifts ได้เข้าไปทำก็คือ การเข้าไปรับซื้อสินค้าหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ผลิตโดยหญิงชาวบ้านที่อาศัยในเขตอนุรักษ์ทางทะเล เพื่อนำไปขายต่อ และให้บริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรัษ์ธรรมชาติ และสร้างความเข้าใจในวิถีชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์ทางทะเลให้แก่นักท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายสินค้าและการท่องเที่ยว

โดยกำไรที่เกิดขึ้น Marine Gifts จะนำไปฝึกทักษะในการประกอบอาชีพให้กับกลุ่มสตรี และรณรงค์ปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตอนุรักษ์ทางทะเลต่อไป

จากการแก้ไขปัญหาทางสังคม ความมั่นคงทางรายได้ และความยั่งยืนของธุรกิจ ทำให้คณะกรรมการตัดสิน เลือกทั้ง 2 ทีมนี้เป็นตัวแทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่ University of California Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป

หญิงชาวบ้านที่อาศัยในบริเวณเขตอนุรักษ์ทางทะเลกับการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน
หญิงชาวบ้านที่อาศัยในบริเวณเขตอนุรักษ์ทางทะเลกับการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน