ThaiPublica > คอลัมน์ > เส้นแบ่งเลือนราง: ตลาดเสรีและการแทรกแซงโดยรัฐ

เส้นแบ่งเลือนราง: ตลาดเสรีและการแทรกแซงโดยรัฐ

31 มีนาคม 2012


อภิชาต สถิตนิรามัย
[email protected]

แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมทั้งรุ่นใหม่ (Neoliberal) และรุ่นเก่า (Neoclassic) จะมีความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพของระบบตลาดไม่เท่ากัน แต่ทั้งคู่ต่างไม่สงสัยและไม่ตั้งคำถามต่อเส้นแบ่งระหว่างรัฐและตลาดที่ตนขีดขึ้น ทั้งคู่พูดราวกับว่าเส้นแบ่งนี้ “เป็นธรรมชาติและเป็นภาวะวิสัย” พูดอีกแบบคือ ทั้งคู่เชื่อว่าตนสามารถนิยามได้อย่างชัดเจนว่า “อะไรคือตลาดเสรีที่ปราศจากการแทรงแซงโดยรัฐ” กล่าวอีกแง่หนึ่ง ทั้งคู่เชื่อว่าตนสามารถแบ่งแยกเส้นแบ่งระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจออกจากกันได้เด็ดขาด

เพื่อพิจารณาประเด็นข้างต้น เราลองพินิจสี่ประเด็นในตลาดแรงงานคือ แรงงานทาส แรงงานเด็ก แรงงานผู้ข้ามชาติ และกฎหมายคุ้มครองแรงงานและค่าจ้างขั้นต่ำ

ประเด็นแรก ทำไมไม่มีสังคมใดในโลกปัจจุบันที่ยอมรับให้มีตลาดค้าทาส หรือการใช้แรงงานทาสอย่างถูกกฎหมาย ทำไมประเทศอเมริกาในยุคศตวรรษที่สิบเก้าและไทยในยุคก่อนรัชกาลที่ห้ายอมให้ใช้แรงงานทาส

ประเด็นที่สอง ทำไมประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบันกำหนดให้การใช้แรงงานเด็กเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาบางแห่งยังคงมีการถกเถียงกันว่า สมควรหรือไม่ที่จะห้ามการใช้แรงงานเด็ก ทำไมแรงงานทาสและแรงงานเด็กที่เคยถูกกฎหมายในสังคมตะวันตก จึงผิดกฎหมายในปัจจุบัน

ประเด็นที่สาม ทำไมประเทศส่วนมากจึงยังคงมีกฎหมายเข้มงวดเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ แน่นอนว่า หากตลาดทาส แรงงานข้ามชาติ และการใช้แรงงานเด็กเป็นสิ่งถูกกฎหมายแล้ว มันต้องมีผลต่อระดับค่าจ้างในตลาดแรงงานของเสรีชนและผู้ใหญ่

ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ที่ต่อต้านการใช้แรงงานทาสและแรงงานเด็กจึงเห็นว่า สมควรแล้วที่รัฐจะเข้าแทรกแซงตลาดแรงงานโดยทำให้การใช้แรงงานทั้งสองประเภทเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และไม่วิพากษ์วิจารณ์ต่อไปว่าการแทรงแซงทั้งสองกรณีเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งส่งผลให้ตลาดจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ แล้วทำไมนักเศรษฐศาสตร์ผู้ต่อต้านการค้าทาสและการใช้แรงงานเด็ก ไม่ต่อต้านการห้ามใช้แรงงานข้ามชาติ

แล้วทำไมนักเศรษฐศาตร์มักต่อต้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนชั่วโมงการทำงาน มาตรฐานการจ้างงาน ฯลฯ รวมทั้งเรื่องการให้มีกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศตะวันตกว่า มีมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานที่ “สูงเกินไป” มันจึงเป็นการแทรกแซงตลาดแรงงานมากไป ซึ่งทำให้ตลาดแรงงานไม่มีประสิทธิภาพ

ประเด็นหลักของคำถามชุดใหญ่ข้างต้นคือ นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใช้เกณฑ์อะไรที่ “เป็นธรรมชาติและเป็นภาวะวิสัย” ในการขีดเส้นว่า เรื่องหนึ่งรัฐสมควรแทรกแซง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งไม่สมควรแทรกแซง

คำตอบที่เป็นไปได้ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองคือ ภาวะหลายมาตรฐาน ซึ่งไม่เป็นธรรมชาติและไม่เป็นภาวะวิสัยข้างตนนั้น เป็นเพราะนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมลืมไปว่า สถาบันตลาด ซึ่งแม้จะสำคัญมากในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้น สุดท้ายแล้ว เป็นเพียงสถาบันประเภทหนึ่งในบรรดาสถาบันจำนวนมากของสังคม ยิ่งกว่านั้น สถาบันตลาดก็เช่นเดียวกับสถาบันอื่นๆ ทั้งหลาย ที่ไม่สามารถแยกขาดออกจากสถาบันประเภทอื่น แต่ต้องฝังตัว (embedded) ในโครงสร้างสถาบันของสังคม

ภาวะหลายมาตรฐานข้างต้นจึงเกิดขึ้นได้เพราะเขาลืมไปว่า ตลาดไม่ได้มีความชอบธรรมในตัวมันเอง ตลาดหนึ่งๆ ในสังคมหนึ่ง หรือในสังคมเดียวกันแต่ต่างกาลกัน จึงไม่จำเป็นที่จะมีความชอบธรรมในการดำรงอยู่เท่ากัน ดังเช่นตัวอย่างการใช้แรงงานทาสในอเมริกา พูดอีกแบบหนึ่ง ตลาดจะมีความชอบธรรมหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสิทธิและหน้าที่ (rights and obligations) ในสังคมหนึ่งและในห้วงเวลาหนึ่ง เพราะในสังคมปัจจุบัน ความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐานและสิทธิเด็กได้รับการยอมรับอย่างกว้างขว้างในระดับสากล ดังนั้น มันจึงไม่เป็นประเด็นและไม่มีความชอบธรรมอีกต่อไปที่จะมาถกเถียงกันว่า ปัจเจกบุคคลควรเป็นเสรีชนที่มีสิทธิในการเลือกที่จะทำงานให้ใครหรือไม่ก็ได้ เช่นเดียวกับในกรณีสิทธิเด็กในตะวันตก ก็ไม่เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงอีกต่อไป

ในขณะเดียวกัน มีนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมจำนวนมากที่ไม่เรียกร้องให้การใช้แรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างเสรี แต่กลับต่อต้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งๆ ที่ทั้งสองประเด็นนี้มีผลต่ออัตราค่าจ้างและประสิทธิภาพของตลาดแรงงานอย่างสำคัญ ในเรื่องแรงงานข้ามชาติ นักเศรษฐศาสตร์ยอมรับการแทรกแซงของรัฐ เพราะอาจเห็นว่า พลเมืองในรัฐชาติหนึ่งๆ ย่อมมีสิทธิที่จะกีดกันผู้ไม่ใช่พลเมืองของรัฐนั้นๆ ออกจากตลาดแรงงานของตน แต่ในเรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเขาต่อต้านการคุ้มครองที่ “มากเกินไป” นั้น โดยนัยแล้วเขากำลังเถียงว่า เขายอมรับการคุ้มครองขั้นต่ำระดับหนึ่งเท่านั้น (หากไม่ยอมรับ เขาอาจต้องเห็นด้วยกับการค้าทาสและการใช้แรงงานเด็ก) ในแง่นี้ ทั้งสองประเด็นก็แยกไม่ออกจากเรื่องโครงสร้างสิทธิ-หน้าที่ของสังคมเช่นกัน

แต่โครงสร้างสิทธิและหน้าของสังคมเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร คำถามนี้โดยพื้นฐานแล้วเป็นคำถามทางการเมือง สิทธิและหน้าที่รวมทั้งสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นการต่อสู้ทางการเมืองในการนิยามว่าคืออะไร มีมาตรฐานขั้นต่ำอย่างไร (แม้ว่าอาจมีผู้เถียงว่ามันเป็นสิทธิธรรมชาติ หรือเป็นสิทธิที่พระเจ้าประทานให้ก็ตาม—แต่ผมไม่รับข้อนี้)

ในแง่นี้ จึงไม่มีอะไรที่เป็นธรรมชาติและเป็นภาวะวิสัยของเส้นแบ่งระหว่างตลาดเสรีกับการแทรกแซงโดยรัฐ นัยยะที่สำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ไม่มีราคาใดๆ เลยที่เป็นตลาดเสรีจริงๆ ทั้งในตลาดสินค้าและตลาดปัจจัยการผลิต พูดอีกแบบคือ เรานิยามตลาดเสรีไม่ได้อย่างแจ่มชัดตามที่นักเสรีนิยมบอกให้เราเชื่อ เนื่องจากไม่มีราคาใดๆ เลยที่ปลอดจากการเมืองได้อย่างแท้จริง (จากตัวอย่างข้างต้นแสดงว่า ค่าจ้างแรงงานเป็นราคาที่ไม่ปลอดจากการเมือง และอย่าลืมว่าค่าจ้างเป็นตัวกำหนดราคาที่สำคัญในตลาดสินค้าทุกชนิดด้วย) การกล่าวเช่นนี้ย่อมเท่ากับการกล่าวว่า เส้นแบ่งระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์กับวิชาการเมืองนั้นพร่ามัวมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมจะยอมรับได้

ทั้งหมดที่เขียนมาข้างต้น เพียงแค่ต้องการบอกเพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายว่า อย่ายึดมั่นถือมั่นเกินไปว่า สิ่งที่ตนเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเรื่องนโยบายสาธารณะนั้น จะเป็นข้อสรุปที่เป็นธรรมชาติและเป็นภาวะวิสัยอย่างจริงแท้