ThaiPublica > เกาะกระแส > หลักฐาน ”เอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์” ฝืนมติบอร์ด อนุมัติเงินกู้ ”โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างฯ” เกินวงเงิน

หลักฐาน ”เอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์” ฝืนมติบอร์ด อนุมัติเงินกู้ ”โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างฯ” เกินวงเงิน

12 มีนาคม 2012


หลังจากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้านำเสนอข่าว “บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งกรรมการสอบ “โสฬส สาครวิศว” ปล่อยกู้เกินวงเงิน ทำแบงก์ขาดทุน 750 ล้านบาท” นั้น ล่าสุดนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ได้ให้ชี้แจงสื่อมวลชนต่อกรณีดังกล่าวว่า

การอนุมัติสินเชื่อภายใต้ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” ตนได้ดำเนินการตามระเบียบของธนาคาร ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ ธนาคารได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำเงินมาฝากกับธนาคาร ล็อตแรก 6,000 ล้านบาท โดยธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้กับสปส.ในอัตรา 1% ต่อปี และล็อตที่ 2 อีก 1,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี

จากนั้นธนาคารได้นำเงินฝากของสปส.มามาสมทบกับแหล่งเงินทุนของธนาคารอีก 7,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ดังนั้น กรณีธนาคารนำเงินฝากของสปส.ไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้า คิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี คงที่เป็นระยะเวลา 5 ปี จึงไม่มีผลทำให้ธนาคารขาดทุนถึง 750 ล้านบาท ตามที่ตกเป็นข่าวแต่อย่างใด

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่าสาเหตุที่คณะกรรมการธนาคารมีมติเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 แต่งตั้งนายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร เอสเอ็มอีแบงก์ เป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงนายโสฬสนั้น ในเบื้องต้นพบว่าผู้บริหารของธนาคารอนุมัติสินเชื่อโครงการนี้เกินวงเงินที่สปส.นำมาฝากไว้กับธนาคาร ถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมติที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ครั้งที่ 4/2552 ซึ่งกำหนดให้ “ธนาคารอนุมัติวงเงินสินเชื่อโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน ตามวงเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากสปส.” ซึ่งนายโสฬสเองได้นำมติของที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ครั้งที่ 4/2552 มายกร่างคำสั่งของธนาคาร ฉบับที่ 36/2552 กำหนดหลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อของโครงการนี้

คำสั่งของธนาคารฯฉบับที่ 36/2552
คำสั่งของธนาคารฯฉบับที่ 36/2552

“มติของที่ประชุมบอร์ด รวมทั้งคำสั่งของธนาคาร ไม่ได้ระบุว่าให้นำเงินฝากของสปส.มาผสมกับแหล่งเงินตามปกติของธนาคาร เพื่อนำไปปล่อยกู้ แต่กำหนดให้ธนาคารดำเนินการอนุมัติสินเชื่อภายใต้วงเงินที่สปส.นำมาฝากไว้กับธนาคารเท่านั้น หรือ ฝากแค่ไหนก็ปล่อยกู้แค่นั้น”แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวต่ออีกว่า ความเป็นมาของโครงการนี้เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2552 ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาได้จัดมาตรการเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงบประมาณกลางปี 1 แสนล้านบาท เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการทางการเงินผ่านกลไกแบงก์รัฐ ซึ่ง “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลขณะนั้น

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีตรมว.อุตสาหกรรม นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีตรมว.แรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) โดย”สำนักงานประกันสังคม” จะนำเงินมาฝากกับ “เอสเอ็มอีแบงก์” วงเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งทุน “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 ณ สำนักงานใหญ่ เอสเอ็มอีกแบงก์ ที่มาภาพ : http://www.industry.go.th/sme_bank/Lists/info_news/Disp.aspx?List=52e62293-1c49-4655-9d64-aae39250d106&ID=83
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีตรมว.อุตสาหกรรม นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีตรมว.แรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) โดย”สำนักงานประกันสังคม” จะนำเงินมาฝากกับ “เอสเอ็มอีแบงก์” วงเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งทุน “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 ณ สำนักงานใหญ่ เอสเอ็มอีกแบงก์ ที่มาภาพ : http://www.industry.go.th/sme_bank/Lists/info_news/Disp.aspx?List=52e62293-1c49-4655-9d64-aae39250d106&ID=83

วันที่ 12 มกราคม 2552 เอสเอ็มอีแบงก์และสปส.ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน โดยสปส.จะนำเงินมาฝากเอสเอ็มอีแบงก์ 6,000 ล้านบาท ได้รับดอกเบี้ย 1% ต่อปี เพื่อใช้เป็นแหล่งทุนโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้าง ธนาคารเริ่มเปิดให้บริการลูกค้า ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2552 โครงการนี้ได้รับความสนใจจากลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก แค่กลางเดือนตุลาคม 2552 ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อไปจนเต็มวงเงิน ธนาคารจึงทำเรื่องไปขอทราบนโยบายจากกระทรวงการคลังว่าจะให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งในสมัยนั้นนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้กำกับดูแล

นายโสฬสได้รับคำสั่งโดยวาจาจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ให้ธนาคารดำเนินการขยายสินเชื่อต่อไป พร้อมรับปากว่าจะไปชักชวนให้สปส.นำเงินมาฝากกับธนาคารเพิ่มเติมตามวงเงินที่ธนาคารได้ปล่อยกู้ไป จากนั้นเอสเอ็มอีแบงก์จึงเดินหน้าหาลูกค้า รับคำขอสินเชื่อ เร่งวิเคราะห์สินเชื่อและเร่งอนุมัติสินเชื่อ จนกระทั่งวงเงินอนุมัติสินเชื่อตามโครงการนี้พุ่งขึ้นไปสูงถึง 23,350 ล้านบาท ธนาคารจึงปิดโครงการนี้ไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553

ปรากฏว่าสปส.นำเงินมาฝากกับธนาคารล็อตที่ 2 แค่ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น รวมวงเงินที่สปส.นำมาฝากกับธนาคาร 2 ครั้ง มีวงเงินแค่ 7,000 ล้านบาท แต่ธนาคารอนุมัติสินเชื่อออกไป 23,350 ล้านบาท ทำให้ธนาคารต้องใช้แหล่งเงินเงินทุนตามปกติ ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารจ่ายให้กับสปส. จึงทำให้ธนาคารขาดทุนอัตราดอกเบี้ย 750 ล้านบาท ตามหลักการที่ถูกต้องแล้วนายโสฬสต้องรอให้สปส.นำเงินมาฝากกับธนาคารก่อน และทุกครั้งต้องมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างเอสเอ็มอีแบงก์กับสปส. ก่อนที่จะเริ่มเดินหน้าปล่อยกู้โครงการนี้

ทั้งนี้หลังจากที่ธนาคารอนุมัติสินเชื่อโครงการนี้ครบวงเงิน 7,000 ล้านบาท ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2552 ไปจนถึงวันที่ธนาคารปิดโครงการ (สิ้นปี 2553) ธนาคารได้เร่งอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ประมาณ 15 ราย ได้รับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อตั้งแต่ 150-500 ล้านบาท (อ่านเพิ่ม “เปิดรายงาน ธปท. “เอสเอ็มอีแบงก์” สอบตก เอ็นพีแอลพุ่ง – ปล่อยสินเชื่่อบกพร่อง คลังต้องเพิ่มทุน 3-5 พันล้าน”) ซึ่งการอนุมัติสินเชื่อให้กับกลุ่มนี้มีการตั้งข้อสังเกตุว่า บางกรณีส่อไปในทางทุจริตและเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลที่คุ้นเคย ซึ่งทั้งหมดนี้นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะต้องสรุปผลสอบข้อเท็จจริงเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาก่อนสิ้นเดือนมีนาคม 2555