ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > โครงการพัฒนาดอยตุง มหาวิทยาลัยที่มีชีวิต : กลไกสร้างวิถีคนดอย แค่กฏชุมชนก็เอาอยู่ (ตอนจบ)

โครงการพัฒนาดอยตุง มหาวิทยาลัยที่มีชีวิต : กลไกสร้างวิถีคนดอย แค่กฏชุมชนก็เอาอยู่ (ตอนจบ)

30 มีนาคม 2012


สมาชิกโครงการพัฒนาดอยตุง
สมาชิกโครงการพัฒนาดอยตุง

ปี 2560 โครงการพัฒนาดอยตุงจะครบ 30 ปี แม้วันนั้นยังมาไม่ถึง แต่วันนี้โครงการพัฒนาดอยตุง ได้ “ลงจากดอยแล้ว” เพื่อก้าวเดินในเส้นทางการพัฒนาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเอง หรือช่วยเขาเพื่อช่วยเราก็ตาม โดยยังคงยึดหลักการแก้ปัญหาปากท้องและการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

โครงการการพัฒนาดอยตุงตามพระราชดำริของสมเด็จย่า ตั้งกรอบการพัฒนาว่า 30 ปี ต้องการช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเองได้ จะต้องถ่ายโอนกิจการในโครงการพัฒนาดอยตุงให้สมาชิกได้มีส่วนร่วม จะเป็นรูปแบบไหน อย่างไร ได้ศึกษาเตรียมไว้พร้อมแล้ว

ดีเอ็นเอของโครงการพัฒนาดอยตุงคือการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้แสดงศักยภาพนั้นให้เห็นแล้วว่า การปลูกคน ปลูกป่า ให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนได้ ท้ายที่สุดแล้วคนไม่ทำลายป่า และป่าก็จะไม่ทำลายคน พร้อมวิถีชีวิตที่เรียบง่าย วิถีแห่งความพอเพียง ในโลกของการคืนสู่สามัญที่ควรจะทำมานานแล้ว

วิถีที่ชุมชนดูแลกันเองด้วยกฎของชุมชนที่เข้มแข็ง วันนี้เขายืนหยัดได้ด้วยตัวของเขาเองแล้ว แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ นับเป็นการเดินทางหลายลี้ที่ทุรกันดารและทรหด กว่าจะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมกลุ่มเป็นพลังชุมชนที่เข้มแข็งดังที่ปรากฏในวันนี้ได้

ต้นชาน้ำมัน โครงการพัฒนาดอยตุง
ผลผลิตชาน้ำมัน
ผลผลิตชาน้ำมัน

ดังนั้นคำถามที่ว่า “ชุมชน” โครงการพัฒนาดอยตุงอยู่ในภาวะ “ช่วยเขา แล้วเขาแข็งแรงหรือยัง” ซึ่งมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน

จากฐานข้อมูลของดอยตุง ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนจุดแข็งของโครงการดอยตุง และบ่งชี้ถึงความสำเร็จได้เป็นอย่างดี คือ”ฐานข้อมูล” ที่จัดเก็บอย่างละเอียดในทุกๆ ด้าน สามารถหยิบมาใช้เพื่อการวิเคราะห์ได้ในทุกๆ เรื่อง ฐานข้อมูลจึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้โครงการดอยตุงพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง มีกรอบและเป้าหมาย โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน

นายสุภาพ ภิระบรรณ เจ้าหน้าที่ ส่วนพัฒนาสังคม โครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

นายสุภาพ ภิระบรรณ เจ้าหน้าที่ส่วนพัฒนาสังคม โครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้เล่าถึงขบวนการเก็บข้อมูลสถิติต่างๆ ว่า ทุกๆ ปี ส่วนงานสำรวจข้อมูลประจำปีต้องทำการจัดเก็บอย่างสม่ำเสมอ โดยเก็บข้อมูลประชากรในโครงการพัฒนาดอยตุงทุกครัวเรือนแบบ 100% ซึ่งขบวนการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ ได้ดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน เพื่อนำข้อมูลมาติดตามการพัฒนาโครงการ และใช้ในการวางแผนพัฒนาโครงการ

ข้อมูลที่จัดเก็บประกอบด้วย ข้อมูลประชากร รายได้ เศรษฐกิจ อาชีพ การศึกษา หนี้สิน เงินออม รายละเอียดการทำเกษตรของสมาชิกโครงการ เป็นต้น ส่วนข้อมูลเสริมในด้านสังคม อาทิ การทำกิจกรรมในหมู่บ้าน ประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม รวมทั้งการซักถามความเห็น ความพึงพอใจของโครงการของสมาชิกโครงการ ซึ่งการสำรวจจะทำกันในช่วงมีนาคม–พฤษภาคม เป็นช่วงที่ประชาชนที่ไปทำงานนอกพื้นที่เดินทางกลับมาบ้าน

ข้อมูลที่จัดเก็บได้เอามาประเมินผล วิเคราะห์ ว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน เช่น สมมติยังมีราษฎรในหมู่บ้านที่มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ 30,000 บาทต่อคนต่อปี (ของกรมพัฒนาชุมชน กำหนดไว้ที่ 23,000 บาทต่อคนต่อปี) ดังนั้น ถ้ารายได้เขาต่ำกว่า 23,000 – 30,000 บาท เราจะเข้าไปดูแล ว่าจะไปส่งเสริมอาชีพอะไรเพิ่ม เช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือปลูกพืชอื่นเสริมไหม

โครงการพัฒนาดอยตุงนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อเป็นตัวชี้วัดในการวิเคราะห์ว่า แผนงานที่เราส่งเสริมไปทำได้ตามเป้าหรือไม่ หรือเจอปัญหาอะไรบ้าง และจะแก้ปัญหาอย่างไร จะไปเสริมส่วนไหน ขณะเดียวกันก็นำมาวางแผนพัฒนาโครงการต่อไป

นอกจากนี้ เรายังคืนข้อมูลให้หมู่บ้านไปใช้ในการเขียนโครงการ เพราะเขาให้ข้อมูลเรามา เราก็คืนข้อมูลให้เขาไป

ข้อมูลทั้งหมดทำเป็นลักษณะศูนย์ข้อมูลสังคม มีหน้าที่บริการดูแลข้อมูลให้หน่วยงานต่างๆ ข้อมูลที่ได้ไม่ว่าจะเป็นในส่วนเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส สาธารณสุข การใช้น้ำ ส้วม ถ้ามีปัญหาเรื่องอะไรเราก็สามารถแชร์ข้อมูลกับสาธารณสุขได้ด้วย หรือการแชร์ข้อมูลกับกรมพัฒนาชุมชน อำเภอ เกษตรอำเภอ เช่น หากเขาต้องการข้อมูลไปเปรียบเทียบว่า หมู่บ้านนี้มีกี่บ้านที่ทำการเกษตร เราก็มีข้อมูลให้ มาแลกเปลี่ยนทำการส่งเสริมเรื่องพืชเรื่องอะไรร่วมกัน เป็นต้น

“ข้อมูลที่เราจัดเก็บ เราประสานกับหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่ ไม่ว่าอำเภอ อบต. มาแชร์ข้อมูลกัน เพื่อนำไปใช้วางแผนและพัฒนาในพื้นที่”

อาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจากหมู่บ้าน โดยใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมช่วยเก็บข้อมูล
อาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจากหมู่บ้าน โดยใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมช่วยเก็บข้อมูล

เจ้าหน้าที่เคยลงพื้นที่เก็บข้อมูลเล่าว่าวิธีการเก็บข้อมูล ในช่วงแรกๆ ใช้เจ้าหน้าที่โครงการ แต่ช่วงหลังๆ ใช้อาสาสมัครในหมู่บ้าน เพราะเป็นการส่งเสริมให้เขาช่วยตัวเองด้วย และคนในหมู่บ้านจะรู้ข้อมูลพื้นฐานคนในหมู่บ้านดีที่สุด รวมทั้งการสื่อสารด้วยภาษาของเขา เพราะคนเฒ่าคนแก่พูดภาษาไทยไม่ได้ ต้องพูดภาษาชนเผ่า ผลจากการใช้อาสาสมัครทำให้การเก็บข้อมูลใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากสุด โดยก่อนจะเก็บ เราต้องซักซ้อมกับน้องๆ ที่มาเป็นอาสาสมัคร และเมื่อเก็บมาแล้ว มีเจ้าหน้าที่มาตรวจ หากผิดก็ให้กลับไปแก้อีก

“การใช้อาสาสมัครมีข้อดีคือ ลดปัญหาคนแปลกหน้า เดิมทีชาวบ้านไม่ไว้ใจคนข้างนอกเลย ประมาณว่าถ้าเจ้าหน้าที่เข้าหน้าบ้าน ชาวบ้านออกหลังบ้าน แรกๆ ไม่มีความไว้ใจเลย กลัวเจ้าหน้าที่ เคยมีชาวบ้านถามว่าสำรวจข้อมูลเอาไปทำอะไร เราต้องชี้แจงอธิบายเหตุผลเขาได้ ว่าเราจะนำข้อมูลมาให้เขา มาช่วยเหลือเขาอย่างไร เขาจึงจะยอมให้ข้อมูลเรา”

โครงการฯ เก็บข้อมูลทุกอย่างเพื่อเอาไปวัดผล เช่น ฐานะครอบครัว จากเดิมไม่มีอะไร เดี๋ยวนี้มีมอเตอร์ไซค์ มีรถยนต์ มีทีวี มีทุกอย่างแล้ว เราก็หวังว่าในอนาคต เมื่อโครงการพัฒนาดอยตุงหมดระยะลงในปี 2560 ชาวบ้านในหมู่บ้านต้องเก็บกันเอง เพื่อจะได้รู้ข้อมูล เพราะการถ่ายโอนการบริหารจัดการไปอยู่ที่ อบต. หรือท้องถิ่น ดังนั้นเขาต้องร่วมกันดูแลหมู่บ้าน

เจ้าหน้าที่ก็ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วย เพื่อให้รู้จริง
เจ้าหน้าที่ก็ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วย เพื่อให้รู้จริง

นอกจากนี้โครงการพัฒนาดอยตุงกับ อบต. ได้ฝึกอบรมเด็กๆ ในหมู่บ้านช่วงปิดเทอมให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยทาง อบต. โครงการดอยตุง โรงเรียน มาร่วมกันเพื่อพัฒนาให้กลุ่มเยาวชนเข้มแข็งขึ้น เพราะอย่างน้อยในช่วงปิดเทอมมาพบกัน มาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เรื่องการอนุรักษ์ป่า การเรียนรู้อะไรพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการดอยตุง ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่เน้นเรื่องพวกนี้ เนื่องจากขบวนการเหล่านี้เป็นการเน้นการสร้างคน เป็นการปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ด้วย

เพราะถ้ายึดตามแนวพระราชดำริของสมเด็จย่า คือ สร้างคน ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเอง ถ้าเราสามารถช่วยเขาให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนา

เจ้าหน้าที่เล่าต่อว่า “สมัยแรกๆเก็บละเอียดกว่านี้ ถ้วย ช้อน ตะเกียง เทียน เพราะผู้บริหารโครงการย้ำชัดว่า ก่อนที่จะทำอะไรต้องเก็บข้อมูลทั้งหมด หลังทำแล้วก็เอาข้อมูลมาเปรียบเทียบ แรกๆ มีปัญหาการเก็บข้อมูล อย่างที่บอกเจ้าหน้าที่เข้าหน้าบ้าน ชาวบ้านออกหลังบ้าน แต่ทุกวันนี้มีอะไรมานั่งคุยกันแล้ว เพราะเราบอกว่าต่อไปเขาต้องรับไปทำในอนาคต และต้องไปสานต่อลูกหลาน ศูนย์นี้ต้องยืนได้”

ปัจจุบัน ผู้นำชุมชนในโครงการพัฒนาดอยตุงคืออาสาที่มาช่วยในโครงการพัฒนาก่อนหน้านี้ และวันนี้มาเขาเป็นผู้นำชุมชนแล้ว เป็นผลจากที่โครงการพัฒนาดอยตุงได้สร้างคนมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยการที่เราคัดกลุ่มคนที่พอจะอ่านออกเขียนได้ก็ถือว่าดีแล้ว ไม่ว่าจะ ป. อะไร ป.3 ป.4 ป.5 เราคัดมาเพื่อเป็นตัวแทนหมู่บ้าน เพื่อที่จะมาพัฒนา เราเรียกว่ากลุ่มคนเหล่านี้ว่า อาสาสมัครโครงการพัฒนาดอยตุง อาสา อบต. คือพัฒนาให้เขามีความรู้ มีโครงการอบรมอะไร เราส่งไปอบรมหมดทุกอัน ดังนั้นคนที่เรียนก็เรียนไป ส่วนคนที่ไม่เรียน อยู่บ้าน ก็มาช่วยกัน อาจจะมาเป็นกรรมการหมู่บ้าน ต้องมาช่วยกันคิด ขณะที่ส่วนพัฒนาสังคมของโครงการพัฒนาดอยตุงก็ไปเสริม ไปช่วย ไปเป็นที่ปรึกษา

วันนี้กลุ่มเหล่านี้เป็นผู้นำชุมชน เป็นพ่อหลวง เป็นนายก อบต. เป็นผู้ช่วย

ถือว่าได้สร้างคนแล้ว แล้ววันนี้เราอยากให้กลุ่มคนเหล่านี้สร้างคนต่ออีก โดยหวังว่าเมื่อถึงวันที่จะต้องถ่ายโอนโครงการกันจริงๆ ในปี 2560 สมาชิกโครงการพัฒนาดอยตุงมีความพร้อมอย่างแท้จริง

ดังนั้น เกือบ 30 ปีที่ที่นี่เป็น “ต้นแบบทางเลือก” เจ้าหน้าที่ยอมรับว่าความสำเร็จของดอยตุงในวันนี้ได้มาเพราะการพัฒนาแบบโยนหินถามอะไรเยอะ ที่ดีก็มีเยอะ แต่ที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มี เพราะความมุ่งมั่นที่ต้องการเป็น “การพัฒนาทางเลือก”

ดังนั้นกระบวนการพัฒนา จึงไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง….

รายได้ต่อหัวเฉลี่ยโครงการพัฒนาดอยตุง

จิตวิญญาณ-วิถีคนดอย แค่กฎชุมชนก็เอาอยู่

โครงการบำบัดยาเสพติด เป็นอีกการพัฒนาที่เป็นแบบอย่าง การปลูกคน ปลูกชุมชนให้เข้มแข็ง ในแนวทางการช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเอง

เจ้าหน้าที่เล่าว่า โครงการบำบัดยาเสพติดเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2534 เริ่มจากการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่โครงการดอยตุงเข้าใจก่อนรอบแรก จากนั้นส่งเจ้าหน้าที่ออกไปรับสมัครว่ามีใครสนใจจะเข้าโครงการบำบัดไหม ก็มีคนสมัครเข้ามา

คนสมัครส่วนใหญ่อยากจะเลิก ติดอยู่ที่คนแก่ที่ดูดฝิ่นกลัวว่าเลิกเมื่อไหร่ตายเมื่อนั้น ทางโครงการก็จัดชุดเจ้าหน้าที่เข้าไปคุยกับคนในครอบครัว และให้คณะกรรมการหมู่บ้านเข้าไปคุยอีกว่า โครงการนี้จะช่วยให้เขามีชีวิตใหม่

ปรากฏว่ามีชาวบ้านเหลือไม่กี่คนที่ไม่ยอมเข้าโครงการ แต่บางคนหนีไปเลย วันสุดท้ายมีคนสมัครเข้าศูนย์บำบัด 469 คน

ศูนย์บำบัดผาหมีเปิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2535 มีแพทย์ มีทหาร มีตำรวจตะวนชายแดน (ตชด.) ช่วยกันดูแล การถอนพิษยาเสพติดใช้เวลา 21 วัน ตามหลักการของแพทย์ หลังจากนั้นติดตามอีก 1,000 วัน หรือประมาณ 3 ปี โดยส่งชุดปฏิบัติการณ์หมู่บ้าน มีทหาร ตชด. ตำรวจ เจ้าหน้าที่ส่วนพัฒนาสังคมของโครงการดอยตุง เป็นชุดติดตามกลุ่มที่เข้าบำบัดในหมู่บ้าน

ขณะเดียวกันมีการกำหนดกฎระเบียบของแต่ละหมู่บ้านออกมารองรับกลุ่มที่ออกมาจากโครงการบำบัด โดยกฏระเบียบจะแตกต่างกัน บางหมู่บ้าน หากกลับออกมาแล้ว และถ้าหากกลับไปเสพอีก ครั้งที่หนึ่งก็ส่งกลับเข้าศูนย์อีกครั้ง ครั้งสองว่ากล่าวตักเตือนครอบครัวที่ไม่ดูแล ครั้งที่ 3-4 อาจจะต้องไล่ออกจากหมู่บ้านไป ทั้งนี้เป็นไปตามกฏที่หมู่บ้านกำหนด เพราะแต่ละหมู่บ้านมีข้อกำหนดอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้หมู่บ้านที่เขาได้ร่วมดำเนินการป้องกันยาเสพติด ให้ป้ายหมู่บ้านที่ปลอดยาเสพติด บ้านไหนที่ไม่ยุ่งเกี่ยว หรือยุ่งเกี่ยว แต่ทางหมู่บ้านสามารถบริหารจัดการได้ ก็ไม่ต้องไปแจ้งตำรวจ-ทหารให้มาจัดการ โดยคณะกรรมการหมู่บ้านสามารถเรียกคนเสพไปลงโทษ ว่าคุณผิดกฎระเบียบหมู่บ้าน

ชุดแรกที่มอบป้ายหมู่บ้านปลอดยาเสพติดไป 12 หมู่บ้าน ส่วนชุดที่สองอีก 5 ป้าย จะมอบให้หมู่บ้านต่อไป

เจ้าหน้าที่อธิบายว่า “การได้รับป้ายแล้วไม่ใช่ว่าหมู่บ้านจะไม่มียาเสพติด เมื่อยังมีอยู่ ถ้ามีคนเสพและจับได้จะต้องรับโทษตามกฎระเบียบของหมู่บ้าน โดยเขาจัดการกันเอง และแจ้งมาทางเราว่าเขาจัดการกับลูกบ้านของเขากันเอง อันนี้เราถือว่าเขาเข้มแข็งแล้ว”

วันนี้ศูนย์บำบัดยาเสพติดที่บ้านผาหมีไม่มีแล้ว กลายเป็นศูนย์ฝึกอบรมการปลูกพืช ปลูกผัก เพราะเราสร้างความเข้มแข็งเรื่องยาเสพติดได้แล้ว ให้แต่ละหมู่บ้านจัดการกันเอง และผู้ที่เข้าบำบัด 469 คนในตอนนั้น ไม่มีการเสียชีวิตจากการเข้าโครงการบำบัด

“ปัจจุบันคนรุ่นเก่าไม่มีแล้ว แต่มีในคนรุ่นใหม่ คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำหมู่บ้าน ช่วยดูแลอยู่ ซึ่งโครงการพัฒนาดอยตุงมี 29 หมู่บ้าน บางทีเวลาตรวจปัสสาวะ ถ้าเป็นคนเยาวชนหมู่บ้านไหน เมื่อไปรับการบำบัดแล้ว กลับมาที่หมู่บ้านจะติดตามต่อ ให้มาทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ในหมู่บ้านอีก”

นี่คือกฎของชุมชนที่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยไม่ต้องเอื้อมมือไปใช้กฎหมาย

นี่คือบทพิสูจน์วิถีคนดอย จิตวิญญาณคนพัฒนาแล้ว