ThaiPublica > คนในข่าว > เรตติ้งช่อง 3 กระฉูด เงินบริจาคภัยพิบัติเกือบ 1,000 ล้าน “อัชฌา สุวรรณปากแพรก ” มั่นใจโปร่งใส ตรวจสอบได้

เรตติ้งช่อง 3 กระฉูด เงินบริจาคภัยพิบัติเกือบ 1,000 ล้าน “อัชฌา สุวรรณปากแพรก ” มั่นใจโปร่งใส ตรวจสอบได้

1 มีนาคม 2012


นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ประธานกองทุนครอบครัวข่าว 3 ช่วยผู้ประสบอุทกภัย
นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ประธานกองทุนครอบครัวข่าว 3 ช่วยผู้ประสบอุทกภัย

“น้ำใจไทย” ท่วมท้นทุกครั้งที่มีภัยมาเยือน

จิตอาสามากมายเอื้อมมือเอื้อมใจส่งถึงกันอย่างไม่รู้จบ

บทบาทสื่อก็เช่นเดียวกัน ข่าวสารที่ท่วมจอ จนคนรับเกิดอาการเสพติดข่าวน้ำท่วม เครียด เบื่อ หมั่นไส้ แต่มาพร้อมกับบทบาทการการเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ให้และผู้รับ

ในช่วงภัยพิบัติที่ผ่านมา ทีวีช่อง 3 ดูจะโดดเด่นและมีการบริจาคไม่ขาดสายทั้งยอดเงิน สิ่งของ เครื่องใช้ และวัสดุอุปกรณ์มากมาย

หลายคนอยากรู้ว่า ช่อง 3 ได้เงินบริจาคเท่าไหร่และเอาเงินไปทำอะไรบ้าง

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ประธานกองทุนครอบครัวข่าว 3 ช่วยผู้ประสบอุทกภัย บริษัทบีอีซีเวิลด์ จำกัด(มหาชน) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

ไทยพับลิก้า : ภัยพิบัติหลายครั้งหลายคราวที่ผ่านมา ช่อง 3 ทำบทบาทในสื่อกลางรับบริจาคเงินและสิ่งของ มีการวางระบบบริหารจัดการเงินที่ได้มาอย่างไรบ้าง

เรื่องการรับบริจาคเงิน เราทำมาตั้งแต่ปี 2553 – 2554 เราทำตั้งแต่สึนามิ เฮติ ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ กล่าวคือ มีประชาชนบริจาคเงินกันเข้ามามากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กรณีเฮติ เราคิดว่าจะได้แค่ 30 ล้านบาท ปรากฏว่ามีคนบริจาคเงินเข้ามามากกว่า 200 ล้านบาท กรณีสึนามิที่ญี่ปุ่นอีก 200 กว่าล้านบาท เราก็มอบเงินผ่านสถานทูตญี่ปุ่นไป และเราก็มอบเงินให้กระทรวงต่างประเทศไปช่วยเหลือคนไทยในญี่ปุ่นประมาณ 20 ล้านบาท เมื่อมีปัญหาภัยพิบัติเกิดขึ้นเราก็ทำลักษณะนี้เรื่อยมา ตั้งแต่น้ำท่วมปี 2553 เราทำหลายโปรแกรม

ปี 2553 ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมที่ปักกธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เราก็เปิดรับบริจาค ใช้ทีมข่าวของช่อง 3 ที่ทำงานอยู่แถวนั้น เปิดรับบริจาคและส่งความช่วยเหลือไป และเราก็ได้พันธมิตรอีกเยอะแยะ ทำให้ต้นทุนของช่อง 3 ต่ำลง เพราะทุกคนที่มีจิตอาสา สมัครใจเข้ามาช่วยช่อง 3 ทำให้เราสามารถรวบรวมเงินคนที่บริจาคและรวบรวมแรงคนที่มีจิตอาสาเข้ามาช่วย ทั้งหน่วยราชการ ภาคเอกชน ก็ลงมาเต็มที่ บางครั้งคาดไม่ถึง มีคนเขามาช่วยเราตลอดด 24 ชั่วโมงเลย และสามารถส่งของไปให้ผู้ประสบภัย

จากนั้น ในการบริหารจัดการสิ่งของบริจาค เราเริ่มใช้กลไกของการบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วย เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เราก็ทำโครงการคลังอาหาร ส่งวัตถุดิบป้อนให้เขา ทั้งข้าวสารอาหารแห้ง ให้ทุกคนมาเบิกเอาไป ไม่ต้องทำเป็นถุงยังชีพ ต่างคนต่างดูแลกันเอง คือชุมชนไหนดูแลกันเองได้เราก็สนับสนุนเต็มที่ เราไม่สามารถแจกจ่ายให้ทั่วถึงได้ และก็ไม่สามารถแยกแยะได้ว่ามันซ้ำซ้อนกับทางราชการหรือเปล่า เราก็ดูแลให้เลย

พอเราเริ่มเปิดรับเงินบริจาค มีนโยบายว่าเราต้องให้ความสำคัญกับเงินพวกนี้ ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นอาจจะเกิดปัญหา ต้องให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงต้องมีคณะกรรมการบริหารจัดการเงินบริจาคกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบครัวข่าว 3 มีคณะกรรมการจากฝ่ายข่าว ผู้ช่วยกรรมการ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี ผู้จัดการฝ่าย และมีผมเป็นประธานฯ ดูแลโครงการ

ส่วนการพิจารณาโครงการ เมื่อมีคำร้องขอความช่วยเหลือเข้ามา เราก็จะให้ฝ่ายข่าวของเราซึ่งมีอยู่ทุกพื้นที่ลงไปตรวจสอบ ว่าหมู่บ้านนี้ต้องการอย่างนี้จริงหรือไม่ ถ้าจริงเราก็ดำเนินการให้ เราก็ทำที่ค่อนข้างรัดกุม ดูแลกันอย่างใกล้ชิด

ปี 2553 เรารับบริจาคมา 186 ล้านบาท จบปีมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 30 ล้านบาท แต่รัฐบาลบอกว่าต้องทำให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม 2553 กรมสรรพากรกำหนดให้เราต้องมอบให้กับองค์กรการกุศล ทั้งนี้เพื่อให้คนที่บริจาคเงินกับช่อง 3 สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ จึงมอบเงินที่เหลือให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ปิดงบดุลไป

พอถึงเดือนมีนาคม 2554 น้ำเริ่มท่วมที่ภาคใต้ ที่อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีดินถล่ม มีคนตาย บ้านหาย ก็เริ่มเปิดรับบริจาคเงิน ต้นปี 2554 ได้รับเงินบริจาคมาจริง 178 ล้านบาท ใช้จริงๆ แค่ 120 ล้านบาท เป็นโครงการคลังอาหาร โครงการสื่อการเรียนการสอน โครงการซ่อมแซมโรงเรียน โครงการบ้านน้ำใจไทย เพราะภาคใต้น้ำท่วมจากน้ำป่า บ้านพังไปกว่า 600 หลัง และเราก็ประชุมร่วมกับทางรัฐบาล แล้วก็แบ่งสรรปันส่วนกันไป ทางช่อง 3 จะรับประมาณ 200 หลัง และทางมูลนิธิเพื่อนพึ่งพาฯ รับไป 150 หลัง และที่เหลือเป็นของรัฐบาล ทางช่อง 3 ก็มีแบบบ้านของเรา ซึ่งสามารถใช้งานได้ สร้างบ้านไป 194 หลัง ที่นครศรีธรรมราช, กระบี่, สุราษฎร์ธานีและพัทลุง

เราไม่มีการรับสมัครพนักงานเพิ่มเพื่อมาดูแล โครงการนี้เป็นงานที่นอกเหนือจากงานประจำ ทุกคนทำด้วยจิตอาสา และแบ่งงานให้โต๊ะข่าวต่างๆ มาร่วมรับผิดชอบแต่ละเรื่อง

ส่วนการซื้อสินค้า เราซื้อตรงทั้งหมด เช่น ทำศูนย์เตือนภัยสิชล นบพิตำ เขาพนม และที่สุราษฏร์ธานี ก็ได้อานิสงส์ ได้ตั้งเครื่องเตือนภัยเป็นจุดๆ และมอบหมายให้ชุมชน พอปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับที่เกินอันตรายก็จะร้องเตือน แต่บ้านเรือนทางใต้อยู่กระจัดกระจาย เราก็เลยไปตั้งฐานวิทยุให้ แล้วก็มีตัวลูกโทรศัพท์ส่งไปให้ตามชุมชนต่างๆ พอมีเสียงเตือนภัย ก็ใช้วิทยุสื่อสารกันได้

หลังจากนั้น เราให้มูลนิธิกระจกเงาอบรมชาวบ้านเรื่องวิธีเตือนภัย วิธีการจัดตั้ง วิธีการอพยพ สเต็ปที่หนึ่งทำอย่างไร สเต็ปที่สองทำอย่างไร ก็สามารถทำให้ได้จนครบวงจร จากนั้นเราก็หยุด

ตอนนั้นมีเงินเหลืออยู่ 58 ล้านบาท ก็ยังไม่ได้อะไร พอดีถึงเดือนกรกฎาคม 2554 น้ำก็เริ่มเข้ามา มีน้ำป่าไหลหลากและน้ำป่าที่อุตรดิตถ์ ก็เอาเงินบริจาคที่เหลือจากทางใต้ไปช่วย เริ่มให้ถุงยังชีพ เพราะเขานอนเต็นท์ข้างถนน สุดท้ายมีบ้านที่พังลงมา 71 หลัง เราก็ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพึ่งพาฯ สร้างบ้านให้ ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ขอใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ ก็มีทหารกับ ตชด. เข้ามาช่วยกันสร้างบ้าน ราชการก็จ่ายเบี้ยเลี้ยงไป ส่วนช่อง 3 จ่ายค่าอุปกรณ์ให้ เราซื้อตรงกับบริษัทผู้ผลิต อย่างปูนซีเมนต์ไทย

พอปลายปี 2554 เกิดปัญหาน้ำท่วม เราก็เริ่มเปิดรับบริจาค คราวนี้เหมือนเคพีไอของเรา รับบริจาคมาได้อีก 548 ล้านบาท ใช้ในโครงการต่างๆกว่า 454 ล้านบาท ตอนนี้ยังเหลือประมาณ 90 กว่าล้านบาท ได้ไปทำโครงการฟื้นฟูพุทธมณฑล ให้กลับมาเป็นสัญญลักษณ์ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา สวนนงนุชก็เข้าร่วมมาบริจาค และลงมือทำให้ฟรี และจะมีการแบ่งเป็นแปลงๆ สำหรับองค์กรอื่นๆ เพื่อให้เสร็จก่อนเดือนมีนาคม 2555 ที่จะมีการเวียนเทียน

ส่วนโครงการต่างๆ ที่ทำในยอด 454 ล้านบาท มีทั้งหมด 13 โครงการ อย่างโครงการคลังอาหาร เราใช้เงินประมาณ 214 ล้านบาท ทำอาหารส่งผู้อพยพไปกว่า 5.5 แสนถุง เป็นต้น

เงินบริจาคและโครงการต่างๆ ที่ทำไปทั้งหมดนี้ จะอยู่ในรายงานประจำปีที่จะออกเดือนมีนาคม 2555

เงินบริจาคช่อง3

โครงการช่อง3 ช่วยน้ำท่วม

ไทยพับลิก้า : เตรียมข้อมูล เครือข่ายพันธมิตรให้เป็นประโยชน์ในอนาคตอย่างไร

มีการจัดทำข้อมูล มาร์คจุดแล้วรู้เลย เช่น ชุมชนนี้เราใส่เรือไปกี่ลำ ชุมชนนี้ใครเป็นผู้นำชุมชน ชุมชนนี้ให้ถุงยังชีพไปเท่าไหร่ ให้สุขาลอยน้ำไปเท่าไหร่ เราทำบันทึกไว้หมด สามารถตรวจสอบได้ ตรวจสอบได้แม้แต่อาหารกล่อง อาหารสด บางวันแจกเป็นแสนกล่อง บางวัน 5 หมื่นกล่อง เราร่วมกับป่อเต็กตึ๊ง เพราะต้องกระจายเร็วสุด มีหลายศูนย์อพยพ

ไทยพับลิก้า : มีการทอดบทเรียนจากประสบการณ์ภัยพิบัติหรือไม่ แต่ละครั้งแก้ปัญหาอย่างไร

ปีแรกๆ เราทำถุงยังชีพ ก็เอาของบริจาคมาแล้วหยิบใส่ มันก็ไม่เท่ากัน บริหารจัดการไม่ได้ พอตอนหลังไม่รับของบริจาค ใครบริจาคต้องบริจาคเป็นเงิน เราซื้อมาม่าจากสหพัฒน์ฯ ซื้อข้าวจากมาบุญครอง น้ำเราสั่งตรงจากสิงห์หรือช้าง ถุงยังชีพหนักเกือบ 20 กิโลกรัม ข้างในมีมาม่า 1 แพ็ค ปลากระป๋อง 1 โหล ข้าวสาร 1 ถุง น้ำปลา ทิพรส เราคำนวณว่า คน 4 คนในครอบครัวต้องกินอะไรบ้าง เพื่อให้อยู่ได้ประมาณ 4 วัน เราก็นั่งคำนวณว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง เพราะสำหรับคนน้ำท่วม เรื่องพวกนี้ลำบากมาก บางครั้งเราก็ติดสุขามือถือ คล้ายๆ คอมฟอร์ต 100 แต่สามารถถ่ายหนักได้

ประสบการณ์ของเรา เราร่วมมือกับชุมชนต่างๆ ซึ่งเขาไว้ใจเราพอสมควร ทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคของเราไป ข้อมูลต่างๆ ก็มาหาเราเยอะ ทำให้เราได้ข่าวด้วย

เมื่อก่อนเราทำข่าวน้ำท่วมตามสองข้างทางหลวง ขับรถไปถึงไหนก็ทำข่าวน้ำท่วมแค่ตรงนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ คุณต้องไปหาชาวบ้านที่อยู่ไกลๆ ที่เดือดร้อนจริงๆ อย่าง บางบาล เอาวัวขึ้นมาอยู่บนบ้าน ดำน้ำไปเกี่ยวหญ้ามาให้วัวกิน แต่ถ้าเราทำข่าว 2 ข้างทาง เข้าไปไม่ลึกเราก็ได้ข่าวที่ไม่ลึก ไม่ได้สะท้อนถึงชีวิตของผู้ประสบภัยจริงๆ

ทุกคนต้องรับผิดชอบในโครงการต่างๆ อยู่แล้ว เราไปทำข่าวแล้วเอาความช่วยเหลือไปด้วย สุดท้ายคนก็มีความคาดหวังว่า ถ้านักข่าวไปชาวบ้านต้องได้ของ นักข่าวก็ต้องเอาถุงยังชีพไปเผื่อติดไม้ติดมือไปบ้าง ดังนั้นในแง่บทเรียน เราก็เริ่มบริหารจัดการได้

ไทยพับลิก้า : นอกจากแจกของ จะทำอย่างไรให้ผู้ประสบภัยอยู่ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

เราแบ่งโครงการออกเป็น 1. โครงการบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า 2. โครงการฟื้นฟูฯ อาชีพ เช่น น้ำท่วมภาคใต้ เราให้เมล็ดพันธุ์ข้าว ไปคุยกับผู้นำชุมชน ทำเป็นคลังได้ไหม เราให้ยืม พอเก็บเกี่ยวได้ก็ให้เอามาคืน ก็สามารถที่จะมีพันธุ์ข้าวไปปลูกได้ ให้เมล็ดพืชผักสวนครัวไปปลูก เขาขายได้ หรือการปล่อยกุ้งที่ทะเลน้อย ปรากฏว่าผ่านไป 1 ปี เขาสามารถเก็บกุ้งแม่น้ำขายได้วันละ 500-1,000 บาท บางชุมชนขอพันธุ์ชะอมเพราะน้ำท่วมตายหมด ไม่มีทุนที่จะซื้อพันธุ์ แล้วเราก็จัดหาให้ หน่อกล้วยก็มี เราพยายามทำให้หลายรูปแบบ

ทั้งหมดมาจากว่า ผู้ประสบภัยเขาต้องการอะไร และตรวจสอบว่ามีความต้องการจริง

ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพึ่งพาฯ จะทำศาลาวัดลอยน้ำ น้ำท่วมก็ลอยได้ ชาวบ้านสามารถอยู่ได้ เริ่มทำกับวัดที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก

ที่เน้นคือ ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยสำหรับคนแก่กับคนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ชีวิตคนเราถ้าไม่มีบ้านมันก็รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีอะไรเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวครอบครัวเลย

ไทยพับลิก้า : การออกมาเป็นสื่อกลางในการรับเงินบริจาค มีผลกับแบรนด์ช่อง 3 มากน้อยแค่ไหน

ยอดเงินบริจาคเหมือนเป็นตัวกำหนดเคพีไอ วัดการทำงานของพวกผม ต้องช่วยเหลือประชาชน ช่วยเหลือสังคม ผู้ประสบภัย ได้เยอะก็ต้องทำเยอะ ผมมองอย่างนี้ ด้วยสิ่งที่ประชาชนมองเห็นว่าเราจริงจังกับเรื่องนี้ เราทำแบบจริงจัง ทุ่มเท เอาใจใส่ เขาไว้วางใจเรา แต่จำนวนคนดูเพิ่มขึ้นหรือไม่ผมไม่ทราบ

ไทยพับลิก้า : กลไกรับเงินบริจาคมาต้องใช้ให้หมดในปีนั้น อย่างปี 2553 เงินเหลือ 30 ล้านบาท ปี 2554 เงินเหลือ 90 ล้านบาท

ปี 2553 ปิดงบฯ ไปหมดแล้ว ปี 2554 จะปิดงบฯ ให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2555 กำหนดกันไปแล้ว เคลียร์หมด เหลือคั่งค้างอยู่ไม่กี่เรื่อง

ไทยพับลิก้า : เครือข่ายพันธมิตรอื่นๆ ให้ความร่วมมืออย่างไรบ้าง

พันธมิตรบางคนติดพัน เช่น ตอนไปน้ำท่วมที่โคราช มีสำนักพุทธ 31 ลงมาอยู่กับเราเลย ไปไหนก็ช่วยเรา มูลนิธิกุศลศรัทธาที่สุราษฏรธานีก็ขึ้นมาอยู่กับเรา พันธมิตรที่แก่งกระจานเขาก็มาช่วยเรา มี 100 กว่ามหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยเรา สมาคมรถบรรทุก ป่อเต็กตึ๊ง ธุรกิจโรงหมูที่อยู่ในซอยโรงหมู เอารถบรรทุกมาช่วย มาจนพวกผมเกรงใจ เขาเอารถ 6 ล้อ ไปเสริมข้างหน้าให้สูงหนีน้ำ ไปปรับมาเพื่อช่วยขนของ

นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา
นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา

ไทยพับลิก้า : ในแง่ของความโปร่งใส ทำอะไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริจาคบ้าง

เราจะขับเคลื่อนด้วยรายการข่าว ทุกคนก็ทำข่าว ตอนแรกเราก็โดนด่าเหมือนกันนะ เวลาเราทำถุงยังชีพใส่ถุงช่อง 3 เพราะเราสั่งทำถุงไม่ทัน อย่างน้อย 1 สัปดาห์ บังเอิญเรามีถุงประชาสัมพันธ์ช่อง 3 ก็เลยเอาใส่ไปก่อน แค่นั้นโดนเลย เราก็ยอมรับคำวิพากวิจารณ์ เราก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร แต่เราก็เอาไปช่วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

เริ่มแรกๆ มันงงหมด เราจะติดต่อโรงพิมพ์ที่ไหน ออกแบบอย่างไร จะเอาผ้าแบบไหน กันน้ำได้นิดหน่อย ต้องมาดูรายละเอียดกันหมด แต่ตอนหลังเราสั่งโรงพิมพ์นี้ สเป็คนี้ เราก็ได้เลย ช่วงแรกๆ ก็ต้องมาศึกษาเรื่องพวกนี้ ต้องเตรียม มันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำ ตั้งแต่เรารับบริจาคมาตั้งแต่สึนามิมาจนถึงปัจจุบัน เราได้รับเงินบริจาคกว่า 1,000 ล้านบาท

ไทยพับลิก้า : ต่อกรณีองค์การค้าของ สกสค. ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน หนังสือ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ผมยืนยันว่าไม่มี กรณีช่อง 3 สั่งซื้อหนังสือขององค์การค้าฯ เนื่องจากโรงเรียนถูกน้ำท่วม และเราก็เข้าไปซ่อมโรงเรียน เริ่มที่ภาคใต้ โรงเรียนเสียหายหมด เราก็จัดหาโต๊ะญี่ปุ่นไปให้เด็กอนุบาล ที่นอน หนังสืออุปกรณ์กีฬา เสียหายหนักเกือบทุกโรงเรียน โดยเฉพาะหนังสือยืมเรียน น้ำท่วมเขาเก็บไม่ทัน เด็กนักเรียนมาเรียน ก็ไม่มีหนังสือให้ยืมเรียน ทางโรงเรียนก็มีรายชื่อมาให้

เราทำหนังสือไปซื้อตรงกันองค์การค้าของ สกสค. นโยบายของช่อง 3 เราซื้อตรงไม่มีซื้อผ่านนายหน้า หลังจากนั้นพอเกิดเรื่องขึ้นมาที่องค์การค้าของ สกสค. เราก็ให้ทางองค์การค้าของ สกสค. ชี้แจง ทางคนของเราก็ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย

องค์การค้าของ สกสค. เขาแจ้งกลับมากว่า เขามีวิธีการขายของเขาหลายวิธี อาทิ ขายผ่านศึกษาภัณฑ์ ขายผ่านตัวแทนร้านค้า ส่วนเขาไปตั้งผู้ประสานการขายมา ตรงนี้เรายืนยันว่าเราไม่รู้เรื่อง และเราก็ไม่รู้จัก ไม้รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะคิดว่าเป็นมาตรฐานการลดสูงสุดของเขา ซึ่งเราก็เป็นกังวล และผมก็เป็นกังวลน่ะ ว่าเป็นอย่างไร แต่ผมก็ได้ข่าวมาว่าทางสหภาพแรงงานขององค์การค้าของ สกสค. ไปแจ้งความร้อนทุกข์ให้ดีเอสไอหรือสำนักงาน ป.ป.ช. มาสอบ ผมบอกว่าผมแฮปปี้เลย ให้เข้ามาตรวจสอบ ทางช่อง 3 ดำเนินการได้ แค่ทำเรื่องไปขอทราบข้อเท็จจริงจากองค์การค้าของ สกสค. แต่เราไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าไปตรวจสอบหาหลักฐานอะไรพวกนี้

แต่ถ้าเขาสอบสวนเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็โอเค แฮปปี้ ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ผลสอบออกมาเป็นอย่างไร ถ้าเกี่ยวข้องกับเราก็จะต้องมาพิจารณาเป็นพิเศษ

ไทยพับลิก้า : ถ้าให้เป็นผู้ประสานการขายจะได้ส่วนลดสูงสุด และส่วนลดที่ว่านี้คืนกลับช่อง 3 หรือไม่ และลดราคาให้ช่อง 3 บ้างหรือไม่

เขาบอกผมว่าเขาลดให้แค่นี้ คือเขาชี้แจงว่าทางช่อง 3 ไม่รู้เรื่อง เขาให้ส่วนลดกับผู้ประสานการขายเอง ไม่ได้ให้ส่วนลดกลับคืนมาที่ช่อง 3 ส่วนลดที่เขาให้เราเป็นส่วนลดปกติ ตอนแรกเราไม่รู้ เราทำเรื่องซื้อตรงไปแล้ว เขาก็บอกว่าให้ส่วนลดเป็นการพิเศษ ถ้าดูตามเอกสาร ส่วนเขาก็ไปตั้งผู้ประสานการขายกันเอง ซึ่งผมตรวจสอบลูกน้องผมแล้ว รู้จักคนนี้หรือเปล่า เป็นอย่างไร มาจากไหน ผมไม่ทราบจริงๆ

แต่องค์การค้าของ สกสค. ทำหนังสือชี้แจงช่อง 3 มาว่า เขามีผู้ประสานการขายอยู่กว่า 30 คน เขาอาจจะแบ่งเป็นจังหวัด เป็นโซน จริงๆ เราซื้อหลายจังหวัด ทุกจังหวัดเราซื้อตรงมาตลอด แต่องค์การค้าฯ ไปตั้งผู้ประสานการขายกันเอง

“ผมย้ำกับพนักงานเสมอ เงินจำนวนนี้เป็นเงินบริจาคของประชาชน เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เราจะไม่ให้มีเรื่องพวกนี้เป็นอันขาด เราจะซื้อตรงมาโดยตลอด และเราก็ได้ส่วนลดพิเศษ”

ไทยพับลิก้า : เงินที่ช่อง 3 ซื้อ เป็นเงินบริจาคของประชาชน ทำไมต้องไปผ่านค่าหัวคิวอีก

เวลาเราจัดซื้อ เราทำหนังสือตรงถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ส่วนระบบการขายของเขาเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของเขา เราไม่ได้เข้าไปตรวจสอบเขาว่าระบบเขาเป็นอย่างไร ผมอยากให้ดีเอสไอตรวจสอบให้เสร็จ ผมยืนยันเราไม่ได้ซื้อผ่านนายหน้า เรามีหลักฐานทำหนังสือซื้อตรงมาโดยตลอด เป็นเรื่องภายในซึ่งเราไม่รู้เรื่องเลย เราก็จับตาดูอยู่ว่าจะมีข้อมูลอะไรออกมาอีกหรือเปล่า ตรวจสอบได้ เป็นนโยบายของเรา ถ้าทางดีเอสไอจะมาสอบช่อง 3 เราก็ยินดีให้ความร่วมมือ

อ่านเพิ่มเติม ช่อง 3 แจงสั่งซื้อตรงจากองค์การค้าของสกสค. ไม่ผ่านนายหน้า รมช.ศึกษา ชี้ หากมีมูลชงดีเอสไอ-ปปช.-ปปง.สอบต่อ