ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ครม. อนุมัติแผนก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านล้านบาท

ครม. อนุมัติแผนก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านล้านบาท

13 มีนาคม 2012


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2555 มีมติอนุมัติปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 ครั้งที่ 2 โดยปรับเพิ่มวงเงินแผนการก่อหนี้ใหม่เป็น 1,186,087.77 ล้านบาท หรือปรับเพิ่ม 447,761.01 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 738,326.76 ล้านบาท โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. กระทรวงการคลังขอปรับเพิ่มการก่อหนี้ใหม่ในประเทศจำนวน 450,000 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 350,000 ล้านบาท เป็น 800,000 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

– เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 400,000 ล้านบาท

– เป็นเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 350,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการกู้ยืมภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555

– เงินกู้เพื่อนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555

2. รัฐวิสาหกิจมีการขอปรับเพิ่มและปรับลดวงเงินแผนการก่อหนี้ใหม่ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การรถไฟแห่งประเทศไทย, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด, องค์การสวนยาง และธนาคารเพื่อการกระเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดแล้ว จะเป็นการปรับลดวงเงินแผนการก่อหนี้ใหม่ในประเทศของรัฐวิสาหกิจลงสุทธิ 2,238.98 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 341,954.70 ล้านบาท เป็น 339,715.71 ล้านบาท

นอกจากแผนการก่อหนี้ใหม่แล้ว มีการปรับเปลี่ยนแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจด้วย โดยการเคหะแห่งชาติและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขอปรับลดวงเงินการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจดังนี้

– การเคหะแห่งชาติ ขอปรับเพิ่มสัญญาเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระจากเดิม 3 สัญญา เป็น 7 สัญญา โดยยังคงกรอบวงเงินตามที่ได้รับอนุมัติเดิมจำนวน 5,500 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับรายรับของการเคหะแห่งชาติ

– กทพ. ขอปรับลดวงเงินการปรับโครงสร้างหนี้ลงสุทธิ 700 ล้านบาท

นอกจากนั้น ครม. มีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ที่มีมติรับทราบแผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติ ครม. ภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ขอบรรจุรายการเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูปเบิกเงินเกินบัญชี (Credit line) วงเงิน 30 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลังการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2555 ครั้งที่ 2 จะทำให้ภาพรวมของแผนการบริหารหนี้สาธารณะมีวงเงินเพิ่มขึ้น 447,091.01 ล้านบาท จากเดิม 1,794,948.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,242,039.48 ล้านบาท และทำให้วงเงินที่รัฐวิสาหกิจขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันจากเดิม 444,501 ล้านบาท ลดลง 3,210.98 ล้านบาท เป็น 442,290.02 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นทำให้หนี้สาธารณะปรับสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในวินัยการคลัง โดยตามนัยมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไม่เกินวงเงิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และ 80% ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2555 มีกรอบวงเงินดังกล่าวเท่ากับ 513,483.16 ล้านบาท ซึ่งเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 400,000 ล้านบาท จึงอยู่ในกรอบวงเงินที่กำหมายกำหนด

ขณะที่ตามนัยมาตรา 25 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ในปีงบประมาณหนึ่ง กระทรวงการคลังจะค้ำประกันและให้กู้ต่อเป็นเงินบาทได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งในปีงบประมาณ 2555 มีกรอบวงเงินดังกล่าวเท่ากับ 476,000 ล้านบาท โดยหากกระทรวงการคลังจะค้ำประกันและให้กู้ต่อแก่รัฐวิสาหกิจตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 ปรับปรุงครั้งที่ 2 ตามที่รัฐวิสาหกิจเสนอขอจำนวน 442,290.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.58% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้นจะเหลือกรอบวงเงินที่กระทรวงการคลังสามารถค้ำประกันได้อีกในปีงบประมาณ 2555 จำนวนเพียง 33,709.98 ล้านบาท

สำหรับประเด็นกรอบความยั่งยืนทางการคลัง กระทรวงการคลังได้คาดการณ์ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากการดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 ปรับปรุงครั้งที่ 2 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2555 จะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ในระดับ 48.6% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ในระดับ 9.3% ซึ่งไม่เกินกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ไม่เกิน 60% และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15%

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้คาดการณ์ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี และภาระหนี้ต่องบประมาณในปี 2555-2559 ดังนี้

ผลการคาดการณ์ระดับหนี้สาธารณะในอีก 4 ปีข้างหน้า ดังตารางข้างต้น จะเห็นว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะสูงสุดในปี 2559 ซึ่งยังไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามสมมติฐานที่กระทรวงการคลังใช้ในการคำนวณ คือ

1. การขาดดุลงบประมาณปี 2555-2556 จากสำนักงบประมาณเท่ากับ 400,000 ล้านบาท และ 300,000 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนตั้งแต่ปี 2557-2559 ใช้ประมาณการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

2. จีดีพีที่แท้จริง (Real GDP) และเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2555–2559 ใช้ข้อมูลจาก สศค.

3. การกู้เพื่อโครงการลงทุนสุทธิของรัฐบาลและการกู้ใหม่สุทธิของรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป สมมติให้เพิ่มขึ้นตามการอัตราการเติบโตของจีดีพี ณ ราคาปัจจุบันในปีนั้น (Nominal GDP)

4. ปี 2555 งบชำระเงินต้นเท่ากับ 46,853 ล้านบาท งบชำระดอกเบี้ยเท่ากับ 175,244 ล้านบาท และปี 2556 งบชำระเงินต้นเท่ากับ 48,639 ล้านบาท งบชำระดอกเบี้ยเท่ากับ 134,155 ล้านบาท ตามที่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ

5. ปี 2557-2559 งบชำระเงินต้นคิดเป็น 3.5% ของงบประมาณรายจ่าย

6. งบชำระดอกเบี้ยคิดจากัตราดอกเบี้ย 5.25%

7. การกู้เงิรตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ เบิกจ่ายเต็มวงเงิน 350,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2555

8. เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กองทุนประกันภัย เบิกจ่ายเต็มวงเงิน 50,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2555

9. เริ่มจากปี 2556 ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)

10. ภาระหนี้ต่องบประมาณ กรณีรวมภาระหนี้ FIDF ในปี 2556-2559 จะมีภาระดอกเบี้ยประมาณปีละ 60,000 ล้านบาท (ประมาณจากหนี้ 1.13 ล้านล้านบาท คูณอัตราดอกเบี้ย 5.25%)

11. ฐานการจัดเก็บเงินนำส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2555 เท่ากับ 9.917 ล้านบาท สมมติให้เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของจีดีพี ณ ราคาปัจจุบัน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 (นำเสนอครั้งแรก) และ แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 ปรับปรุงครั้งที่ 1