ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดรายงาน ธปท. “เอสเอ็มอีแบงก์” สอบตก เอ็นพีแอลพุ่ง – ปล่อยสินเชื่่อบกพร่อง คลังต้องเพิ่มทุน 3-5 พันล้าน

เปิดรายงาน ธปท. “เอสเอ็มอีแบงก์” สอบตก เอ็นพีแอลพุ่ง – ปล่อยสินเชื่่อบกพร่อง คลังต้องเพิ่มทุน 3-5 พันล้าน

2 มีนาคม 2012


นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

จากรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรณีการตรวจสอบการบริหารความเสี่ยงของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ เอสเอ็มอีแบงก์) 6 ด้าน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 ประกอบไปด้วย 1. ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน 2. ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ 3. ความเสี่ยงด้านเครดิต 4. ความเสี่ยงด้านการตลาด 5. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และ 6. ความเสี่ยงด้านปฎิบัติการ

ปรากฏว่า ผลประกอบการโดยภาพรวมของธนาคารยังอยู่ในระดับที่ต่ำใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยการดำรงสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงต่ำกว่ามาตรฐานที่ ธปท. กำหนด การประกอบธุรกิจขาดทุนอย่างต่อเนื่องเกิน 3 ปี และกระบวนการพิจารณาสินเชื่อยังมีข้อบกพร่อง โดยเฉพาะลูกหนี้เอสเอ็มอีตามนโยบายรัฐ ส่วนใหญ่มีฐานะอ่อนแอ ทำให้จำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มสูงขึ้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า หลังจาก ธปท. ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบเอสเอ็มอีแบงก์มาถึงกระทรวงการคลัง ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้นำรายงานของ ธปท. มาทำการวิเคราะห์ เพื่อรายงานต่อนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่เพิ่งจะได้รับมอบหมายจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้มากำกับดูแลเอสเอ็มอีแบงก์ นายวิรุฬตกใจเมื่อเห็นรายงานฉบับนี้ โดย ธปท. ได้ทำประมาณการตัวเลขการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของเอสเอ็มอีแบงก์ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 มีสัดส่วนอยู่ที่ 7.24% ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ ธปท. กำหนดไว้ที่ 8.5% และคาดว่า ณ สิ้นปี 2555 สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะลดต่ำลงมาเหลือ 3.03% เนื่องจากลูกหนี้มีโอกาสเสื่อมสภาพ และภาระในการกันเงินสำรองค่าปรับจากการทำผิดสัญญาอนุพันธ์ (Interest Rate Swap : IRS) ที่เอสเอ็มอีแบงก์ไปทำไว้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย รัฐบาลอาจจะต้องจัดสรรเงินงบประมาณมาเพิ่มทุนประมาณ 5,400 ล้านบาท แต่ถ้าไม่นับรวมหรือหักภาระในการกันเงินสำรองจากค่าปรับกรณีที่ไปทำ IRS สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะอยู่ที่ 5.53% ทางกระทรวงการคลังอาจจะต้องไปหาเงินมาเพิ่มทุนแค่ 3,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า นายวิรุฬจึงสั่งการให้นายนริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ ไปจ้างผู้สอบบัญชีที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาเป็นผู้สอบบัญชีเพิ่มเติมนอกเหนือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พร้อมกับสั่งการให้เร่งแก้ไขปรับปรุงความเสี่ยงด้านต่างๆ ตามข้อเสนอแนะของ ธปท.

นายนริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
นายนริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

อนึ่ง รายงานผลการตรวจสอบของ ธปท. มีรายละเอียดดังนี้

1. ตรวจสอบด้านผลการดำเนินงานและฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 มีผลขาดทุนสุทธิ 133 ล้านบาท ซึ่งต่อเนื่องมา 3 ปี สาเหตุจากภาระที่ต้องกันสำรองหนี้เอ็นพีแอล ภาระกันสำรองค่าปรับจากการไปทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย ซึ่งปัจจุบันถูกธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ฟ้องบังคับคดีในชั้นศาล

ทั้งนี้ จากการที่ ธปท. ได้ตรวจฐานะการเงินล่าสุด ณ เดือนตุลาคม 2554 พบว่าสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 6.65% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 18.36% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ ธพว. เร่งขยายสินเชื่อนโยบายรัฐ แต่การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ทำให้เอ็นพีแอลลดลง แต่เดือนตุลาคม 2554 มีกำไรสุทธิ 671 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารได้มีการชำระคืนเงินต้นของตราสารอนุพันธ์ (Floating Rate Certificate Of Deposit: FRCD) จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้กำไรจากการแข็งค่าของเงินบาท 2,348 ล้านบาท ซึ่งธนาคารได้มีการจัดสรรเงินกำไรประมาณ 1,633 ล้านบาท ไปกันสำรองตามเกณฑ์ IAS 39

2. ตรวจสอบความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ พบว่าความเสี่ยงมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากในปี 2553 ต้องปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐ แต่ลูกหนี้ส่วนใหญ่มีฐานะการเงินอ่อนแอ ทำให้เอ็นพีแอลสูงและต้องมีภาระกันสำรองสูงตาม ขณะที่แบงก์มีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งทุนและการเพิ่มทุนจากภาครัฐ ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อนโยบายรัฐ ส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น 2 ปี หากสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว อาจจะทำให้มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการตั้งสายงานบริหารสินทรัพย์เข้ามาจัดการปัญหาเอ็นพีแอลทำให้เอ็นพีแอลใหม่ลดลง แต่การแก้ไขเอ็นพีแอลรายเก่ายังล้าช้า เพราะอยู่ในระหว่างการดำเนินการทางกฏหมาย รวมทั้งในอดีตมีการอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่มีลักษณะผิดปกติ ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายสูง

นอกจากนี้ ทางธนาคารกำลังจัดทำคู่มือในการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้การติดตามความเสี่ยงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ขณะนี้ กระทรวงการคลังกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยความเสียหายให้เอสเอ็มอีแบงก์ กรณีที่ไปปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐ ทำให้ความเสี่ยงด้านนี้มีแนวโน้มลดลง

3. การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิต ตรวจพบว่าความเสี่ยงด้านนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลส่วนใหญ่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อก่อนปี 2552 ถึง 93% ของยอดสินเชื่อคงค้าง และในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีกครั้งสูงถึง 54% นอกจากนี้ ยังมีลูกหนี้ที่ถูกศาลสั่งบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาด แต่หลักประกันที่ธนาคารยึดมาเป็นทรัพย์ที่ขายยากและมีคุณภาพต่ำ หากขายได้ก็ขาดทุน

ส่วนกระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อ พบว่ายังมีข้อบกพร่อง และการนำเครื่องมือประเมินความเสี่ยง Credit Risk Rating มาใช้ในการอนุมัติสินเชื่อ แต่ไม่สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง เนื่องจากปัจจัยที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยงส่วนใหญ่จะเน้นไปที่คุณภาพของโครงการที่มาขอสินเชื่อ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคาร

จากการที่ ธปท. ได้เข้าไปตรวจสอบครั้งล่าสุด (ตุลาคม 2554) พบว่ามีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอีก 3,548 ล้านบาท ทำให้ธนาคารต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นอีก 802 ล้านบาท ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวที่ธุรกิจโรงแรมและโรงสีข้าว โดยธุรกิจโรงแรมมีการปล่อยสินเชื่อมากกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดเพดานควบคุมความเสี่ยงให้การปล่อยสินเชื่อแต่ละประเภทต้องไม่เกิน 9,400 ล้านบาท

4. ความเสี่ยงด้านการตลาด พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างคงที่ โดยมีภาระที่ต้องชำระคืนเงินกู้ยืมจากต่างประเทศ 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 7 สิงหาคม 2554 ปัจจุบันธนาคารยังไม่มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะไปชำระหนี้ดังกล่าว และยังไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนการจัดทำรายงาน Repricing Gap (เครื่องมือวัดความเสี่ยงจากการผันผวนของดอกเบี้ยต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ) ยังไม่ถูกต้อง

5. ตรวจสอบความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะมีภาระต้องชำระคืนเงินกู้ยืมจากต่างประเทศ 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2554 แต่ปัจจุบันเอสเอ็มอีแบงก์ยังมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ ธนาคารจึงเตรียมแผนในการชำระหนี้คืน โดยการระดมเงินฝากจากผู้ฝากเงินรายใหญ่ทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการระดมทุนในลักษณะนี้มีต้นทุนสูงกว่าการระดมเงินฝากจากประชาชนทั่วไป โดยผู้ฝากรายใหญ่ 10 รายแรกมีสัดส่วนสูงถึง 68% ของเงินฝากและเงินกู้ยืมโดยรวม เนื่องจากธนาคารมีข้อจำกัดด้านการระดมทุนไม่สามารถรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปได้ จึงต้องพึ่งพาเงินฝากรายใหญ่

นอกจากนี้ ธปท. ยังตรวจสอบพบว่า การจัดทำรายงานเครื่องมือวัดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk: Maturity Gap) ยังไม่ถูกต้อง โดยโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินที่จะครบกำหนดภายใน 1 ปี เป็น Negative Gap

6. ตรวจสอบความเสี่ยงด้านปฎิบัติการ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการควบคุมและติดตามความเสี่ยงยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องการประเมินความเสี่ยงตนเอง (Control Self Assessment: CSSA) ยังมีข้อบกพร่อง อาทิ ไม่ทบทวนวงเงินสินเชื่อ, ตั๋วบีอีครบกำหนดแล้ว ธนาคารยังไม่มีการต่อตั๋วบีอีก แต่ให้ลูกหนี้ใช้วงเงินสินเชื่อดังกล่าวได้

ส่วนข้อพิพาทระหว่างเอสเอ็มอีแบงก์กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย ปัจจุบันเรื่องนี้ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาล ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย 4,611 ล้านบาท ซึ่งธนาคารได้มีการกับสำรองเอาไว้แล้ว 1,985 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีข้อพิพาทกับบริษัทเอ็ม เอฟอีซี จำกัด(มหาชน) กรณีที่ธนาคารไปบอกเลิกสัญญาพัฒนาระบบปฎิบัติการหลัก (Core Banking System) โดยธนาคารอาจจะมีความเสียหายจากการจ่ายเงินล่วงหน้าอีก 32 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการเรียกร้องให้บริษัทฯ จ่ายเงินค่าเสียหายให้ธนาคารอยู่ (อ่าน วิเคราะห์ผลการดำเนินงานของ ธพว. ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554)

ธปท. – สศค. แนะคลังจัดงบเพิ่มทุน 3,000-5,400 ล้านบาท

หลังจากที่ ธปท. เข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์จนพบต้นตอของปัญหา จึงได้ทำเรื่องเสนอแนะแนวทางแก้ไขต่อกระทรวงการคลังดังนี้

1. แนะนำให้กระทรวงการคลังไปเตรียมหาเงินมาเพิ่มทุน 3,000-5,400 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารมีเงินกองทุนตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ในกฏกระทรวง

2. ประเด็นข้อบกพร่องที่ ธปท. ตรวจพบ และเสนอให้ธนาคารเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนมีดังนี้

-แนะนำให้ธนาคารตั้งสำรองเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 3,548 ล้านบาท ภายในเดือนธันวาคม 2554 และปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดชั้นและกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง

-ปรับปรุงกระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อ โดยวางระบบการตรวจสอบยันข้อมูลทางการเงินของลูกหนี้ให้มีความถูกต้อง และตรวจสอบการเพิ่มทุนของลูกหนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขก่อนที่จะปล่อยกู้

-ควบคุมดูแลการจัดหาเงินทุน เพื่อรองรับการชำระคืนเงินกู้ยืมต่างประเทศให้เป็นไปตามแผน และบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

-ปรับปรุงแก้ไขกระบวนการประเมินความเสี่ยงตนเอง (CSA) โดยกำหนดให้ฝ่ายขอต่างๆ ของธนาคาร ระบุความเสี่ยงที่สำคัญให้ถูกต้องครบถ้วน และประเมินความเสี่ยงของกิจกรรมหรือธุรกรรมดังกล่าว เพื่อควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

3. ประเด็นอื่นๆ ที่ควรแก้ไข

-ควรเร่งจัดทำคู่มือบริหารความเสี่ยงด้าน Credit ให้แล้วเสร็จ

-ควรควบคุมดูแลและพัฒนาเครื่องมือ Credit Risk Rating ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด

-ควรปรับปรุงข้อมูลที่นำมาใช้ในการจัดทำรายงานบริหารความเสี่ยงด้าน Market และ Liquidity

-ควรเข้าตรวจสอบฝ่ายงานที่สำนักงานใหญ่ นอกเหนือจากฝ่ายสินเชื่อและสาขา ซึ่งยังว่างเว้นจากการตรวจสอบมาเป็นเวลานานเกิน 3 ปี

4. ตามความเห็นของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอให้จัดทำรายงานแผนการทยอยกันสำรองค่าใช้จ่ายจากการทำตราสารอนุพันธ์ และค่าปรับที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต กรณีที่แพ้คดีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทยให้กระทรวงการคลังทราบ

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หลังจากที่ได้อ่านรายงานผลการตรวจสอบของ ธปท. ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้

1. การกันสำรอง FRCD เมื่อปี 2549 ธพว. ได้ระดมทุนด้วยการออกบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD) วงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ระยะเวลา 5 ปี โดยมีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทยเป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่าย และได้ทำสัญญาอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง 2 ด้าน คือ สัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Cross Currency Swap) และสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Swap: IRS) โดยมีเงื่อนไขผูกกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงซึ่งกำหนดเป็นช่วง (Range) หากดอกเบี้ยหลุดออกนอก Range จะต้องจ่ายค่าปรับให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย 8.5% ปรากฏว่าในปี 2551 เกิดวิกฤตซับไพรม์ อัตราดอกเบี้ยในตลาดวิ่งหลุดออกนอก Range ทำให้ ธพว. มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มขึ้นอีก 4,600 ล้านบาท

ต่อมา เอสเอ็มอีแบงก์ได้แจ้งว่าสัญญาเป็นโมฆะ เนื่องจากคณะกรรมการธนาคารพบว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำรายงานให้คณะกรรมการธนาคารมีความเข้าผิดในสาระสำคัญของสัญญา ทางคณะกรรมการจึงได้ส่งเรื่องนี้ไปให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อชี้มูลความผิด

ขณะที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทยได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อบังคับให้ธนาคารจ่ายเงินค่าปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หากศาลแพ่งตัดสินให้ธนาคารต้องจ่ายเงินค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6,900 ล้านบาท แต่ถ้าศาลสั่งให้ชำระหนี้บางส่วน คาดว่าจะอยู่ที่ 2,000-6,500 ล้านบาท โดยธนาคารได้กันสำรองไว้แล้ว 1,985 ล้านบาท

2. การกันสำรองตามเกณฑ์ IAS 39 ในปี 2552 ธนาคารมีการนำค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 1,513 ล้านบาท คำนวณกลับมาเป็นรายได้เพื่อจัดสรรโบนัสให้พนักงาน เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ผ่อนผันเกณฑ์การตั้งสำรองตาม IAS 39 ไปถึงปี 2555 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ สศค. เห็นว่าไม่ควรอนุญาตให้ทำเช่นนี้ แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ให้การรับรองงบการเงินไปแล้ว จึงไม่สามารถแก้ไขได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม 2554 ธนาคารได้นำรายได้จากการปริวรรตเงินตราไปใช้กันสำรองตามเกณฑ์ IAS 39 ประมาณ 1,633 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่ ธปท. เคยประเมินไว้ในรายงานตรวจสอบปี 2554 (1,694 ล้านบาท)

3. การเพิ่มทุน สคร. ได้ทำเรื่องขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2555 จากรัฐบาลวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาเพิ่มทุนให้ ส่วน สศค. ทำเรื่องเสนอให้มีการเพิ่มทุน 6,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายได้รับการอนุมัติให้เพิ่มทุนเพียง 600 ล้านบาท