ThaiPublica > คนในข่าว > “ปราโมทย์ นนทะโคตร” กาง ธกส. โมเดล ‘ไทยธุรกิจเกษตร’ บริษัทกลางจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ เชื่อมยักษ์ใหญ่–ซีพีถึงมอนซานโต้

“ปราโมทย์ นนทะโคตร” กาง ธกส. โมเดล ‘ไทยธุรกิจเกษตร’ บริษัทกลางจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ เชื่อมยักษ์ใหญ่–ซีพีถึงมอนซานโต้

4 มีนาคม 2012


นายปราโมทย์ นนทะโคตร ประธานกรรมการ บริษัทไทยธุรกิจเกษตร จำกัด หรือ TABCO
นายปราโมทย์ นนทะโคตร ประธานกรรมการ บริษัทไทยธุรกิจเกษตร จำกัด หรือ TABCO

แม้ “เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด” จะมีขนาดเล็ก แต่การจัดหาวัตถุดิบในการเพาะปลูกกลับถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับชีวิตเกษตรกรไทย ซึ่งทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีลูกค้าหลายล้านคนอยู่ทั่วประเทศ รู้ดีว่า หากปล่อยให้เกษตรกรซื้อหาวัตถุดิบตามยถากรรมจะทำให้ต้นทุนพุ่งสูงลิ่ว และมีผลต่อการชำระสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ตามมา

หลายคนไม่ทราบว่า เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ธ.ก.ส. ได้จัดตั้งบริษัทกลางขึ้นมาแห่งหนึ่ง ชื่อว่า “บริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด” หรือ TABCO เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางจัดซื้อวัตถุดิบทางเกษตกร การขาย และให้บริการแก่สมาชิกที่เป็น “สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สกต.” ที่มีจำนวนถึง 64 แห่ง

TABCO ตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 มีทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท โดยมีบรรดา สกต. เครือข่ายในจังหวัดต่างๆ ถือหุ้น 90% ที่เหลืออีก 10% เป็นการถือโดย ธ.ก.ส. ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการรวมตัวกันของเกษตรกรในการซื้อปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ ให้แก่ชาวไร่เพื่อสร้างอำนาจ “ต่อกร” กับบริษัทยักษ์ใหญ่ ให้ได้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่ยุติธรรมต่ำกว่าท้องตลาด

นายปราโมทย์ นนทะโคตร ประธานกรรมการ บริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด หรือ TABCO คือผู้กุมบังเหียนธุรกิจที่เกี่ยวพันกับชีวิตของชาวไร่นับล้านคน ถือเป็นผู้ที่อยู่ “ตรงกลาง” ระหว่างการดูแลต้นทุนทางการเงินให้แก่เกษตรกรสมาชิก ธ.ก.ส. และบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย รวมถึงบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยนายปราโมทย์มองว่า โมเดลธุรกิจของ ธ.ก.ส. ดังกล่าว ทำให้โอกาสที่เกษตรกรจะได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีและราคาไม่แพงมีสูงขึ้น

ไทยพับลิก้า : ที่มาของบริษัทไทยธุรกิจเกษตรจำกัด

TABCO เกิดจากความก้าวหน้าของ “สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.” หรือ สกต. ของแต่ละจังหวัด ที่ต้องมาทำหน้าที่จัดหาปัจจัยการผลิตให้สมาชิก ธ.ก.ส. ในพื้นที่ของตัวเอง เช่น การจัดหาซัพพลายเออร์ การจัดหาผู้ผลิตวัตถุดิบการเกษตรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ สกต. เลยคิดที่จะจัดหาตัวกลางที่เป็นบริษัทมาเชื่อมต่อตรงนี้ให้เขา โดย สกต. แต่ละจังหวัดถือหุ้นรวมกัน 90% และ ธ.ก.ส. ถือหุ้น 10% โดยมอบให้ตัวแทนจาก ธ.ก.ส. 3 คน และตัวแทนจาก สกต.4 คน มาเป็นกรรมการบริหาร โดยมีวาระคราวละ 1 ปี ครบวาระแล้วก็เลือกกันใหม่

สิ่งที่บริษัทนี้ทำคือการทำตามประสงค์ของผู้ถือหุ้น เพื่อดูแลหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้แก่ชาวบ้านสมาชิกสหกรณ์ สกต. นั่นคือแนวคิดตั้งแต่เมื่อ 19 ปีที่ผ่านมา ก็ทำหน้าที่นี้มาตลอด ทั้งจัดหาปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ยาปราบศัตรูพืช

ขณะที่ช่วงหลังๆ ผู้ถือหุ้นเริ่มมาคิดว่า ภาคการผลิตมักตายในเรื่องการตลาด ผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ ผู้ถือหุ้นจึงอยากให้ทางบริษัทเข้ามาช่วยหาตลาดจัดจำหน่าย ระบายสินค้าให้กับ สกต. ทั่วประเทศได้หรือไม่ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ ธ.ก.ส. อยู่แล้ว ปัจจุบันบริษัทได้ทำหน้าที่กระจายปัจจัยการผลิตไปสู่ชาวบ้านและเพิ่มมูลค่าการตลาดให้ราคาสินค้าเกษตรอีกด้วย ถือเป็นการทำหน้าที่เติมเต็มให้ภาคเกษตร

โครงสร้างการถือหุ้นบริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด

ไทยพับลิก้า : บริษัทให้น้ำหนักการหาปัจจัยการผลิตหรือการตลาดมากกว่า

จริงๆ ปัจจัยการผลิตเป็นหลักเลย เรื่องการตลาดเราเพิ่งมาเรียนรู้จากระบบและข้อจำกัดที่มีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องทุนดำเนินการสำคัญมาก เราเน้นให้ สกต. เป็นเครือข่ายกันและกัน มันเกิดบ้างแล้ว โดยให้ สกต. แต่ละจังหวัดเชื่อมต่อกันเอง เช่น สกต.ร้อยเอ็ด มีข้าวหอมมะลิ ก็เชื่อมกับ สกต.นครศรีธรรมราช ที่จำเป็นต้องจำหน่ายข้าวสารให้กับสมาชิก ขณะที่บริษัทจะช่วยกระจายสินค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเราจะมาปรับปรุงและบรรจุภัณฑ์เป็นตราของบริษัท ส่งไปขายในจุดต่างๆ ซึ่งเราทำมาปีกว่าๆ แล้ว พบว่าตลาดมีการเติบโตมากขึ้น เพราะข้าวหอมมะลิของเราเป็นข้าวหอมแท้ที่ผลิตในทุ่งกุลาร้องไห้ เราทำได้ 1,000 ตันต่อเดือน และมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเดินหน้าที่นี้ต่อไป

ถ้าสินค้าเกษตรอื่นๆ มีความเดือดร้อนเราก็จะทำ เช่น ข้าวโพด เราจะทำเรื่องสนับสนุนการจำนำที่ ธ.ก.ส. ทำอยู่ เพราะถึงยังไงทางผู้ค้าอาหารสัตว์ก็ต้องการซื้อพืชไร่เข้าโรงงานอยู่แล้ว เราต้องการให้ สกต. ในพื้นที่ทำเหมือนแก้มลิง คือดักเก็บข้าวโพดเอาไว้ก่อน จากนั้นก็ส่งมาทางเราไปทำเป็นอาหารสัตว์ ขายยังโรงงานอาหารสัตว์ของบริษัท ซีพี เบทาโกร หรือสหฟาร์ม หรืออย่างปัจจุบันเราก็ดูแลธัญพืชตัวอื่นด้วย เช่น ถั่วเขียว ก็ร่วมทุนกับบริษัทเอกชน เหตุที่่ต้องดูแลแหล่งผลิตถั่วเขียวมากเพราะราคาตกต่ำ เราไปช่วยรับซื้อในราคาที่เหมาะสมเพื่อมาทำตลาดร่วมกับเอกชน

ไทยพับลิก้า : ในเรื่องการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ให้ชาวไร่ ถือว่าบริษัทไทยธุรกิจเกษตรมีบทบาทสำคัญ

จริงๆ คือ ที่ผ่านมาชาวบ้านเก็บเมล็ดไว้ใช้เอง ก็มีข้อจำกัด มีทางเลือกน้อย โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมก็มีข้อจำกัดด้านการพัฒนา ฉะนั้นเราจึงคิดว่า ทำอย่างไรให้ชาวบ้านรับรู้และปรับปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูกอย่างจริงจัง จึงร่วมกับบริษัท ซีพี เดินหน้าให้ชาวบ้านนำร่องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการปลูกข้าวโพดของชาวไร่ทั่วไป เพราะแต่เดิมรัฐบาลมีพันธุ์ที่ส่งเสริมชื่อพันธุ์ “สุวรรณ1” พบว่ามีข้อจำกัดเรื่องปริมาณผลผลิตไม่มาก ขณะที่บริษัทเอกชนมีศักยภาพเรื่องของการกระจายเมล็ดพันธุ์หรือพื้นที่ปลูกค่อนข้างดีกว่า มีเปอร์เซ็นต์การงอกและปริมาณผลผลิตไม่ด้อยไปกว่าเดิม ทาง ธ.ก.ส. จึงนำร่องการเปลี่ยนแปลงเพิ่มผลผลิตข้าวโพดด้วยการเปลี่ยนแปลงพันธุ์ของสมาชิก ธกส.

พอทางบริษัท TABCO เข้ามาก็สานโครงการต่อ จนเป็นเรื่องหลักที่ TABCO จัดหาเมล็ดพันธุ์ให้ภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพดเป็นหลัก ส่วนเมล็ดอย่างอื่นได้ร่วมดำเนินการตามความจำเป็นหรือชาวบ้านร้องขอ เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว ก็มีการประสานกับกรมวิชาการเกษตรหรือกรมการข้าวบ้าง ว่าเราจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเมล็ดไม่พอ เช่น เกิดอุทกภัย ก็มีการช่วยเหลือเป็นครั้งคราวมากกว่า

ไทยพับลิก้า : TABCO ถือเป็นตัวกลางในการจำหน่ายให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ด้วย

บทบาทของบริษัท TABCO จะเน้นพวกพืชไร่เป็นหลัก เพราะถือว่าได้สานต่อโครงการนำร่องจาก ธ.ก.ส. โดยในตลาดของผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ TABCO รับมาเป็นผู้จำหน่ายให้กับชาวบ้านประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของบริษัทซีพี, มอนซานโต้, คาร์กิล, ไพโอเนีย และแปซิฟิก โดยในส่วนของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดซีพี ทางบริษัท TABCO ได้จัดจำหน่ายให้กับชาวบ้านใน “ตราใบโพธิ์” ส่วนบริษัทเอกชนต่างๆ จะจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ก็จะใช้ชื่อเป็นอีกตราสินค้าหนึ่ง เช่น พันธุ์ข้าวโพดของซีพีในตลาดทั่วไปก็จะเป็นชื่อ “ตราดอกบัว” ขณะที่เมล็ดข้างในก็จะไม่แตกต่างจากตราใบโพธิ์

สาเหตุที่ชาวบ้านซื้อสินค้าจากเรา ก็เพราะชาวบ้านเชื่อมั่นเรื่องต้นทุนขายของบริษัท TABCO ว่าไม่แพง เปอร์เซ็นต์การงอกดี อีกทั้งบริษัท TABCO ก็มีความเป็นธรรมกับชาวบ้านอยู่อย่างเต็มที่ และยังมีวิวัฒนาการเรื่องพันธุ์มาเรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมของเรามาก

ส่งผลให้แต่เดิมช่วงแรกๆ ที่ TABCO มีผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จากบริษัทซีพีแห่งเดียว ภายหลังมีการขยายไปบริษัทอื่นด้วย เพราะทุกคนทราบแล้วว่าแนวทางของ TABCO เป็นเรื่องที่ดี จึงเข้ามาร่วมแพ็คขายเหมือนซีพี เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านจะผลิตข้าวโพดจนแทบส่งขายกันไม่ทันความต้องการอยู่แล้ว ความต้องการเมล็ดพันธุ์จึงมีมาก โดยเราจะขายกันแบบล็อตต่อล็อต เพราะเรื่องของเมล็ดพันธุ์จะสต็อกไว้นานๆ ไม่ได้ ต้องมีการเก็บรักษาอย่างดี และดูแลเปอร์เซ็นต์การงอกให้ตรงตามเงื่อนไข

คุณปราโมทย์-นนทะโคตร2

ไทยพับลิก้า : การมีเมล็ดพันธุ์จากหลากหลายบริษัทไปจำหน่าย อาจทำให้ชาวบ้านสับสนหรือไม่

ชาวบ้านจะทราบเองว่าจะเลือกซื้อของตราใด ขึ้นกับสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก คุณภาพดิน และดินฟ้าอากาศในพื้นที่เพาะปลูกด้วย เช่น พันธุ์ตอง 8 ต้องปลูกในสภาพดินอย่างไร เพราะตอง 8 ทนแล้งได้ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเรื่องแบบนี้ชาวบ้านจะรู้ ถ้าปลูกแบบมีน้ำมากเค้าจะไม่ใช้พันธุ์นี้ ไปใช้พันธุ์อื่น

ไทยพับลิก้า : ราคาขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดตราใบโพธิ์ของบริษัทไทยธุรกิจเกษตร ถือว่าราคาถูกกว่าตราดอกบัวของบริษัทซีพี

ตราใบโพธิ์ที่เรารับมาจากซีพีแล้วนำไปขายให้สมาชิก สกต. นั้นจะมีราคาถูกกว่า และเป็นที่รู้จักดีของชาวไร่ข้าวโพดเลย โดยพันธุ์ตอง 8 เป็นที่นิยมของเกษตรกร รวมไปถึงในประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว เขมร เวียดนาม เพราะขณะนี้เค้ามีคอนแทร็กฟาร์มมิ่งด้วย แล้วก็มีการข้ามชายแดนมาซื้อเมล็ดพันธุ์ยังประเทศไทยด้วย

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้สัดส่วนเมล็ดพันธุ์ของซีพีที่บริษัท TABCO จัดจำหน่ายอยู่มีประมาณเท่าไหร่

เรามียอดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของซีพีเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วนประมาณ 70% ของยอดขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดทั้งหมดที่ TABCO ขายอยู่ คิดเป็นประมาณ 3,000 ตันต่อปี คิดเป็นยอดขายปีละ 450 ล้านบาท โดยราคาที่เราจำหน่ายให้แก่เกษตรกรอยู่ที่ตันละ 120,000 บาท ขนาดถุงละ 10 กิโลกรัม ก็ตกถุงละ 120 บาท โดยปริมาณการผลิต 1 ไร่ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 2-3 กิโลกรัม

ไทยพับลิกา : กรรมวิธีการจัดจำหน่ายระหว่างไทยธุรกิจเกษตรกับซีพีทำอย่างไร

บริษัทซีพีจะแพ็คสินค้ามาเสร็จ เพราะเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ต้องอยู่ในห้องเย็น เปอร์เซ็นต์การงอกจะขึ้นกับการเก็บรักษาด้วย ทุกบริษัทที่จำหน่ายร่วมกับเราก็จะมีการเก็บอย่างดี TABCO ก็จะช่วยทาง สกต. ในพื้นที่ดูแลว่า เมล็ดพันธุ์จากซีพี มอนซานโต้ แปซิฟิก ต้องมีวันที่ผลิตหรือวันหมดอายุอย่างไร เมื่อไหร่ ที่ผ่านมาถ้ามีปัญหาทางบริษัทเหล่านี้ก็จะทดแทนให้ เราจะแจ้งกับทาง สกต. ว่าเมื่อได้รับไปแล้วอย่าตากแดด ให้เก็บรักษาอย่างดี เช่น ในช่วงนี้มีการสั่งเมล็ดพันธุ์จากทางบริษัทจำนวนมาก เพราะสมาชิก สกต. ส่วนใหญ่ต้องการเร่งปลูกเมื่อฝนลงมา

ไทยพับลิกา : ชาวไร่จะชำระเงินค่าสินค้า จากการกู้ผ่าน ธ.ก.ส. หรือไม่

คือสมาชิก สกต. เหล่านี้จะเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. อยู่แล้ว ชาวไร่ไปสั่งซื้อสินค้ากับทาง สกต. จำนวนเท่าไหร่ ทาง สกต. ก็จะหักจากสินเชื่อที่ลูกค้าขอไว้อยู่กับทาง ธ.ก.ส. หรือจะจ่ายเงินสดก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วบริษัทไทยธุรกิจเกษตรไม่ใช่องค์กรที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด เพราะเราต้องการให้ทั้งระบบอยู่ได้ บางอย่างมีส่วนต่างเพียงเล็กน้อย กำไรไม่มาก แต่ทำให้ระบบอยู่ได้ก็พอ สกต. ต้องไม่เลิกกิจการไป

ไทยพับลิก้า : TABCO จะมีโอกาสในการปรับลดราคาเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรหรือไม่

จริงๆ ชาวบ้านรู้สึกว่าคุ้มค่าจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ของบริษัท เพราะระบบการพัฒนาพันธุ์ที่ดีทำให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น แกนข้าวโพดเล็กลง จำนวนแถวข้าวโพดก็มากขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้พันธุ์ลูกผสมในสมัยเดิม ขณะนี้ผลผลิตออกมามากขึ้น สามารถป้อนตลาดโรงงานอาหารสัตว์ และตลาดค่อนข้างมีเงื่อนไขน้อยต่อราคาข้าวโพดสายพันธุ์นี้ แต่ถ้าพันธุ์อื่นจะมีปัญหาในการรับซื้อเกรดต่างๆ จะมีราคารับซื้อที่ต่างกัน

ไทยพับลิก้า : บริษัทช่วยเหลือเกษตรกรในการต่อรองหากบริษัทซีพีมีการขยับขึ้นราคาหรือไม่

การขึ้นราคานั้นบริษัทซีพีต้องฟังชาวบ้านด้วย เช่น ตอง 8 ต้องฟังชาวบ้านเป็นหลัก และ สกต. เราพร้อมจะมีการรับรู้ถึงความต้องการของชาวบ้านตลอดเวลา เราคำนึงถึงเรื่องต้นทุนเกษตรกรอยู่แล้วว่าชาวบ้านต้องการเท่าไหร่ และทางบริษัทไทยธุรกิจเกษตรเองก็ไม่ใช่หน่วยงานธุรกิจที่แสวงหากำไรเหมือนบริษัทเอกชนทั่วไป ทำให้ที่ผ่านมาเราก็ใช้เงื่อนไขเหล่านี้ในการขอให้ทางบริษัททบทวนเรื่องการขึ้นราคา ซึ่งช่วยให้บริษัทผู้ผลิตไม่กล้าปรับขึ้นแบบฮวบฮาบ ส่งผลให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เราจำหน่ายให้กับทางซีพีมีราคาต่ำที่สุดในท้องตลาด

ไทยพับลิกา : ตอนนี้ชาวไร่มีปัญหาว่าเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อปลูกไปแล้วจะนำมาปลูกต่อไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย

ตอนนี้เราต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าเอาไปทำพันธุ์ไม่ได้ เพราะทางบริษัทซีพีเค้าสร้างพันธุ์มา ก็ต้องลงทุนเรื่องของเทคโนโลยีการพัฒนาพันธุ์ ขณะที่ในส่วนของเกษตรกรเอง ถ้าปลูกโดยไม่เปลี่ยนสายพันธุ์เลยทุกปีผลผลิตก็จะลดลง ชาวบ้านก็ต้องมีการปรับปรุงดินด้วย ขณะที่บริษัทไทยธุรกิจเกษตรก็่ช่วยเหลือเรื่องตลาด โดยร่วมกับซีพีที่เค้ามีธุรกิจอาหารครบวงจร ให้มีการรับซื้อคืนผลผลิตข้าวโพดโดยมี สกต. เป็นผู้รวบรวม ขณะนี้ สกต. จังหวัดน่าน จะมีการนำผลผลิตไปขายคืนให้บริษัทซีพีมากที่สุด ซึ่งทางบริษัทไทยธุรกิจเกษตรก็ช่วยเหลือเรื่องนี้อยู่