ThaiPublica > คนในข่าว > “อารักษ์ ชลธาร์นนท์” แก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานบิดเบือน ต้องทำให้ประชาชนยอมรับราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวี

“อารักษ์ ชลธาร์นนท์” แก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานบิดเบือน ต้องทำให้ประชาชนยอมรับราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวี

11 มีนาคม 2012


“นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
“นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ปัญหาราคาน้ำมันดิบและในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ราคาก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าจากต่างประเทศในขณะนี้มีราคาอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศถูกตรึงไว้ที่ราคา 333 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ต่ำกว่าราคาขายในตลาดโลกเกือบ 4 เท่าตัว

จากโครงสร้างราคาพลังงานที่บิดเบือน ก่อให้เกิดความบิดเบี้ยวอื่นๆตามมา อาทิ การลักลอบส่งออกก๊าซแอลพีจีไปขายประเทศเพื่อนบ้าน และล่าสุดฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบไปแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท รัฐบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการเดินหน้าปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มคนที่ใช้รถยนต์ติดก๊าซกว่า 1 ล้านคัน กระทรวงพลังงานจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ปรับราคาขึ้นมาเป็น 10 บาทต่อกิโลกรัม ผมไม่ได้ไปสั่งให้บริษัท ปตท.ปรับขึ้นราคาน่ะ แต่เราใช้วิธีการปรับลดเงินชดเชยลงมา จากที่เคยชดเชยอยู่ที่ 1 บาทต่อกิโลกรัม ตอนนี้เหลือลงลงเหลือแค่ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม พอเงินชดเชยมันหายไป ราคาก๊าซเอ็นจีวี ก็ปรับราคาขึ้นโดยอัตโนมัติ”

ไทยพับลิก้า : ทำไมประชาชน จึงไม่เชื่อถือโครงสร้างราคาก๊าซเอ็นจีวีที่บริษัทปตท.นำออกมาเผยแพร่

ผมคิดว่า สาเหตุที่ประชาชนไม่เชื่อ ก็เพราะว่าบริษัทปตท.เป็นผู้ค้า ส่วนประชาชนเป็นผู้ใช้ ขณะที่ตัวผมเอง ก็มีบางคนกล่าวหาว่าผมเป็นพวกเดียวกับบริษัทปตท. ผมบอกว่าไม่ใช่น่ะ ผมเป็นตัวแทนของประชาชน ต้องยื่นอยู่ข้างประชาชน แต่เรื่องโครงสร้างของราคาพลังงาน ณ วันนี้ จะให้ผมไปยืนบอกประชาชนว่า โครงสร้างราคาต้นทุนที่แท้จริงเป็นเท่านั้นเท่านี้ ประชาชน ก็คงจะไม่เชื่อผม รวมทั้งบริษัทปตท.ด้วย

นี่คือสาเหตุที่ผมต้องไปหาคนกลาง เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบว่า ราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีที่แท้จริงๆแล้วเป็นเท่าไหร่กันแน่ แม้กระทั้งผลการตรวจสอบราคาของคนกลาง อย่างสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศออกมาแล้ว คนยังไม่เชื่อเลย

เมื่อเราเอาคนกลางมาตรวจสอบแล้ว คนยังไม่เชื่อ เพราะเป็นข้อมูลที่สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจัดทำไว้หมดแล้ว เราจึงส่งให้สถาบันวิจัยพลังงานของจุฬาฯ ตรวจสอบความถูกกต้องซ้ำอีกที ซึ่งใช้เวลาตรวจ 10 วัน ผมถือว่าช้ามาก เพราะแค่ตรวจรับรองเอกสารใช้เวลาแค่2-3 วันก็น่าจะเสร็จ

ถามว่าเมื่อสถาบันวิจัยพลังงาน ทำการตรวจสอบรับรองข้อมูลของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเสร็จแล้ว ประชาชนยังไม่เชื่ออีกจะทำอย่างไรต่อไป ผมก็ต้องมาตั้งคนกลางมาช่วยตรวจสอบ ซึ่งคนกลางที่ว่านี้ประกอบไปด้วยตัวแทนจากผู้ประกอบการขนส่ง

ขั้นตอนแรกต้องทำให้ประชาชน ยอมรับราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซก่อน มิฉะนั้นกระทรวงพลังงานจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ มันติดอยู่ตรงนี้ และเรื่องนี้ต้องทำเร็วด้วย เพราะในแต่ละวันกองทุนน้ำมันต้องนำเงินไปจ่ายชดเชยราคาก๊าซธรรมชาติวันละ 140 ล้านบาท นอกจากตั้งคนกลางเข้ามาร่วมกับทางการ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2555 ยังอนุมัติงบฯ 1.5 ล้านบาท ไปสนับสนุน “โครงการการศึกษาทบทวนการคำนวณต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวี”ด้วย

ไทยพับลิก้า : ศึกษาเสร็จแล้วจะนำออกมาเผยแพร่ให้ประชาชนทราบหรือไม่

ใครบอกว่าจะไม่ทำหล่ะ เมื่อผลการศึกษาเสร็จเมื่อไหร่ ผมจะนำออกเผยแพร่ให้ประชาชนทราบทันที ตอนนี้ผมสั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปดำเนินการตรวจเช็คราคาก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่ปากหลุมก๊าซไล่มาจนถึงปลายทางที่หน้าปั้ม รวมทั้งสูตรในการคำนวณราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ แต่ละช่วงต้องแจกแจงราคาต้นทุนออกมาให้ประชาชนรับทราบได้ทั้งหมด ผู้ที่จะมาตรวจสอบไม่ใช่มีแค่สถาบันวิจัยพลังงานของจุฬาฯเพียงแห่งเดียว และยังต้องได้รับความเห็นชอบ จากคณะทำงานที่มีตัวแทนผู้ประกอบการ(คนลาง)ด้วย เมื่อตัวแทนผู้ประกอบการที่อยู่ในคณะทำงานชุดนี้ยอมรับราคาต้นทุนเนื้อก๊าซแล้ว เขาก็จะไปอธิบายให้กลุ่มผู้ประกอบการทราบอีกทอดหนึ่ง เรื่องจะได้จบเสียที ผมจะได้เดินหน้าต่อ

แต่ถ้าเรื่องนี้ยังไม่จบ ผมเป็นห่วงเรื่องภาระหนี้สินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หนี้สินที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการนำเงินไปจ่ายชดเชยก๊าซแอลพีจี ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปอีกสัก 5 ปี ฐานะเงินกองทุนน้ำมัน อาจจะติดลบถึง 8 แสนล้านบาท ก็มีความเป็นไปได้ ถามว่าใครจ่าย คำตอบคือประเทศจ่าย ประชาชนเข้าใจผิดหมดเลย พอเราปรับราคาก๊าซธรรมชาติขึ้น ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเดือดร้อน แต่ข้อเท็จจริงๆแล้วคือเงินของประชาชนทั้งประเทศ

“โครงการการศึกษาทบทวนการคำนวณต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวี” อย่าไปคิดในแง่ลบว่ากระทรวงพลังงานมีธงอยู่ในใจว่าต้องการทำให้ราคาก๊าซเป็นเท่านั้นเท่านี้ ยืนยันว่าไม่มีการปรับแต่งตัวเลข หรือ “Manipulate” จึงไปดึงคนกลางเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย มันจะได้จบเสียที สื่อมวลชนก็ต้องช่วยกัน อย่าไปคิดว่าเราจะแต่งตัวเลข

ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการภาคขนส่ง ซึ่งเขาก็ทราบดีว่ารัฐบาลต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าไปจ่ายชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี คิดเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก การปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเลย เพียงแต่ยังติดใจว่าโครงสร้างราคาก๊าซที่นำมาแสดงต่อสาธารณชนนั้นถูกต้องหรือเปล่าเท่านั้น

อย่าลืมอีก 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ถ้ายังไปอุดหนุนราคาก๊าซกันอยู่ ประเทศไทยจะเสียเปรียบ ก๊าซที่รัฐจ่ายเงินอุดหนุนไป มันจะไหลออกไปยังต่างประเทศด้วย เท่ากับว่า เราต้องอุดหนุนให้กับต่างประเทศด้วย ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ผมคิดว่าผู้ประกอบการและประชาชนเข้าใจดี จึงต้องดึงคนกลางเข้ามาตรวจสอบ เราไม่มีอะไรจะปิดบัง

ไทยพับลิก้า : แล้วเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันจะดำเนินการอย่างไร

หลังจากที่ครม.มีมติให้เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันเดือนละ 1 บาท เราปรับอัตราเงินน้ำส่งกองทุนน้ำมันไปเพียงครั้งเดียว งวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2555 ยังไม่ปรับขึ้น ขอดูสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกก่อน ตอนนี้ยังไม่ปรับ แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะกองทุนน้ำมันตอนนี้ติดลบเข้าไปกว่า 20,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งเราต้องจ่ายดอกเบี้ยด้วย เพราะเป็นเงินกู้ แต่ที่หนักใจคือทุกเดือนต้องนำเงินไปจ่ายชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีเดือนละ 4,300 ล้านบาท หรือเงินไหลออกไปวันละ 142 ล้านบาท ขณะที่กองทุนน้ำมันมีรายได้จากการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน และก๊าซเบนซินโซฮอล์ลิตรละ 1 บาท ทำให้กองทุนมีรายได้เข้ามาวันละ 21 ล้านบาท หักกลบกันแล้วติดลบวันละ 121 ล้านบาท

แต่ที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือราคาก๊าซแอลพีจี ตอนนี้ราคาในตลาดโลกปรับขึ้นไปถึง 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันแล้ว ทำให้มีภาระในการหาเงินมาชดเชยเกือบ 600-700 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง ส่วนเอ็นจีวีที่ปรับราคาขึ้นไปนั้น ไม่ได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนน้ำมันมากเท่าไหร่ แต่ก็จำเป็นต้องทำ

ไทยพับลิก้า : กรณีที่รัฐมีนโยบายปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี มีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

มีแน่นอน ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย เพราะราคาพลังงานเป็นต้นทุนของภาคธุรกิจ อย่างการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีในภาคขนส่ง เราได้เตรียมมาตรการไว้ช่วยเหลือหลายมาตรการ ทั้งในกลุ่มของแท็กซี่ ขนส่งมวลชน เราช่วยเหลืออยู่แล้ว แทบจะไม่มีผลกระทบอะไรเลย

ส่วนการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ก็ต้องยอมรับความจริง ราคาตลาดโลก 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่เราให้ประชาชนซื้อในราคาที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน การปรับขึ้นราคาแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้ม ทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนหายไปแน่นอน

ขณะเดียวกัน ผมก็ต้องดูเงินในกระเป๋าผมเหมือนกัน ณ ที่นี้ หมายถึงฐานะการเงินของกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นเงินของประชาชนทุกคน ก็หายไปเช่นเดียวกัน ถ้าไม่อยากที่จะทำฐานะเงินกองทุนน้ำมันติดลบเยอะๆ จำเป็นต้องปรับราคาเอ็นจีวี แอลพีจี