ThaiPublica > คนในข่าว > “สมชาย หอมลออ” วิเคราะห์–เสียงออร์เคสตร้าที่ตึกไทยคู่ฟ้า ส่งสัญญาณ “เมโลดี้ปรองดอง”

“สมชาย หอมลออ” วิเคราะห์–เสียงออร์เคสตร้าที่ตึกไทยคู่ฟ้า ส่งสัญญาณ “เมโลดี้ปรองดอง”

18 กุมภาพันธ์ 2012


“แม้จะเป็นละคร มันก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าทุกๆ ฝ่ายก็ยังคิด มันก็เป็นพัฒนาการของความขัดแย้งว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว กลุ่มชนชั้นนำเขาก็สามารถที่จะคุยกันได้”

ภาพงานเลี้ยงฉลอง “รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย” ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บรรจงจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงค่ำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

แม้เบื้องหน้าของการจัดงานจะอ้างถึงการฉลองหลังการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย

แต่นัยยะของการจัดงาน โดยเชิญ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มาเป็น “ประธาน” ในงาน

ชี้ให้เห็นความเกี่ยวโยงต่อ “วิกฤติความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นมาตลอด 8 ปีเต็ม (2547-2555)

ส่งผลให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์การจัดงานเลี้ยงดังกล่าวไปต่างๆ นานา

รวมไปถึง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” อีกกลุ่มบุคคลหนึ่งที่จับตางานเลี้ยงครั้งนี้

โดยเฉพาะ “สมชาย หอมลออ” กรรมการ คอป. ที่มองงานเลี้ยงครั้งนี้ว่าเป็น “งานกาล่าดินเนอร์” ครั้งสำคัญ ที่จะมีผลต่อ “ความปรองดอง” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เขาวิเคราะห์เสียงดนตรีจาก “วงออร์เคสตร้า” ในงานว่าเป็น “สัญญาณดี” สำหรับประเทศไทย

นายสมชาย หอมลออ กรรมการคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
นายสมชาย หอมลออ กรรมการคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

ไทยพับลิก้า : การทำงานของ คอป. ในขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงโค้งสุดท้าย

คอป. เหลือเวลาทำงานอีกประมาณ 5 เดือน โดยจะสิ้นสุดการทำงานในเดือนกรกฎาคมนี้ บางท่านก็เสนอว่า คอป. ควรต่ออายุออกไป แต่เท่าที่ได้ปรึกษากันในหมู่คณะกรรมการแล้ว เราก็จะไม่ขอต่ออายุ แน่นอนว่าอาจจะมีช่วงเวลาหลังจากเดือนกรกฎาคมไปแล้ว 2-3 เดือน เพื่อปิดการดำเนินการ

ถึงขณะนี้ เราได้ดำเนินการมาพอสมควรแล้ว ในแง่ของการตรวจสอบและค้นหาความจริง ก็อยู่ในระหว่างการเขียนรายงานของ คอป. อยู่ แน่นอนว่ามีข้อมูล พยาน หลักฐานบางอย่าง ที่ต้องตรวจสอบต่อไป แต่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมก็จะมีการเขียนรายงานเพิ่มเติมไปด้วย

รายงานของ คอป. จะมุ่งเน้นไปที่ว่า เกิดอะไรขึ้นในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ปี 2553 และสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน ทั้งที่เป็นผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนั้นเกิดจากอะไร โดยจะเน้นศึกษาลงไปที่สาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงจริงๆ ซึ่งก็มีประเด็นที่เราตรวจสอบอยู่หลายประเด็น อาทิ การชุมนุมของ นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) นั้นอยู่ในกรอบของการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธหรือไม่ และการเข้าควบคุมและสลายการชุมนุมของรัฐนั้น ได้ทำอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้โดยมาตรฐานสากลที่ต้องเคารพเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิในร่างกายและทรัพย์สิน รวมไปถึงกรณีชายชุดดำ ว่ามีจริงหรือไม่ แล้วเข้ามาเกี่ยวข้องกับการชุมนุมอย่างไร และถือว่าเป็นฝ่ายไหน หรืออาจจะมีหลายฝ่าย ซึ่งเราก็มีข้อมูลหลักฐานพอสมควร

เราให้ความสนใจกับเรื่องการใช้กำลังเป็นพิเศษ เช่น ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ต่างๆ กระทั่งแนวคิดและแผนยุทธการต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมกับการควบคุมฝูงชนหรือไม่ ทำไมต้องใช้กำลังทหาร มีหนทางหลีกเลี่ยงหรือไม่ รวมไปถึงทำไมไม่ยุติความขัดแย้งด้วยการเจรจาและสันติวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อทั้งสองฝ่ายได้

แต่ประเด็นอื่นที่อาจจะเกี่ยวพันกับรากเหง้าความขัดแย้ง ก็อยู่ในส่วนของงานวิจัยของ คอป. เช่น บทบาทของสื่อ กลไกลของความยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำ แต่เพื่อความเข้าใจบริบทในความขัดแย้งอันนี้ ก็อาจจะต้องมีการเท้าความไปถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครั้งก่อนๆ ด้วย

ไทยพับลิก้า : เป็นรายงานฉบับสุดท้าย คอป. ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาเลยหรือไม่

ในแง่ของเราก็ถือว่าเป็นรายงานที่เราเสร็จภารกิจ แต่อาจจะไม่ตอบคำถามหรือข้อสงสัยได้ทุกประเด็น เพราะต้องยอมรับว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ซับซ้อน มีตัวละครหรือคู่ขัดแย้งมาก จริงๆ แล้วก็เป็นสถานการณ์ที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ และหลายคนก็ยังถูกดำเนินคดีอยู่ ทั้ง นปช. ทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเจ้าหน้าที่ก็ถูกดำเนินคดีอยู่ ดังนั้น การจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องให้ถ้อยคำทั้งหมดก็เป็นเรื่องยาก แต่เรามีพยานหลักฐานมาประกอบเป็นจำนวนมาก เราก็จะเสนอภาพและสาเหตุให้สังคมรับรู้ได้พอสมควร แต่จะถึงขั้นจะเหมือนการสอบสวนในทางคดีว่า ต้องเอาคนนั้นไปเอาผิดไปขึ้นศาล ขนาดนั้นก็คงไม่ใช่

ไทยพับลิก้า : ถ้ารายงานที่จะออกมานั้นชี้ถึงสาเหตุของปัญหา ก็ต้องกระทบกับฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่นอน

กระทบแน่ (ตอบสวนทันที) แต่เราก็คิดว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องความจริงอย่างเดียว ที่ผ่านมา ข้อเสนอแนะของเรามันมีคนได้คนเสีย มีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยตลอดมา เพราะความขัดแย้งยังดำรงอยู่ แต่เราก็พยายามบอกว่า สิ่งที่เราดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริง รวมไปถึงที่จะเสนอต่อไปก็ดี เหล่านั้นต่างก็เพื่อจะนำไปสู่ความปรองดอง เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เข็มแข็ง เพื่อเป็นฐานของสังคม รวมไปถึงการเยียวยา ที่ คอป. ได้เสนอรัฐบาลไป โดยมีมติ ครม. ให้ตั้ง คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เพื่อดำเนินการทำข้อเสนอให้เป็นรูปธรรม

ไทยพับลิก้า : ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยขณะนี้อย่างไร

จริงๆ การสร้างความปรองดองนั้นอาจจะไม่ใช่หน้าที่ของ คอป. โดยตรง เพราะโดยคำสั่งแต่งตั้ง คอป. นั้น คอป. เพียงแต่เป็นผู้เสนอหนทางในการนำไปสู่การปรองดอง แต่การจะสร้างความปรองดองนั้นยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในฐานะของผู้ถืออำนาจและมีบทบาทที่ชัดเจน แต่ คอป. ก็ได้รับฟังจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งในช่วงวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ นี้ นายโคฟี อันนัน ก็จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อพูดคุยกับประชาชน ผู้เสียหาย พบกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กำลังใจประเทศไทย เพราะในฐานะที่เขารู้จักประเทศไทย ก็คงมีความปรารถนาที่จะเห็นความสงบและสันติในประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยนั้น ทั้งนักประเมินสถานการณ์ ผู้สังเกตการณ์ รวมไปถึงคู่ขัดแย้ง ค่อนข้างจะประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยไปในทางลบมากๆ เช่น ประเมินว่าถ้ายุบสภาจะเกิดกลียุค หรือมีการเลือกตั้งจะนองเลือด แต่ปรากฎว่า เมื่อมีการเลือกตั้งกลับไม่มีการนองเลือด และกลายเป็นการเลือกตั้งที่มีความสูญเสียน้อยที่สุดเลยก็ว่าได้ มันน้อยกว่าปกติ

กระทั่งคาดการณ์กันในแง่ร้ายว่าหลังเลือกตั้งเหตุการณ์ไม่สงบแน่ เพราะถ้าประชาธิปัตย์ชนะ นปช. คงไม่ยอมและคงก่อการชุมนุมใหญ่อีก หรือถ้า นปช. ชนะ ประชาธิปัตย์ก็จะไม่ยอม คงจะสมคบกับทหาร ก่อกวนหรือแม้กระทั่งยึดอำนาจ และเมื่อมีการยึดอำนาจก็จะมีการนองเลือด ทุกคนคิดแง่ร้ายอย่างนี้หมดเลย ทั้งไทยและต่างประเทศ เมื่อผลออกมาแล้วผมคิดว่าคนเหล่านี้ประเมินสังคมไทยต่ำไป เพราะสังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีปัจจัยสันติอยู่มาก เมื่อเทียบกับในหลายสังคมและหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุม หรือทหารที่มาควบคุมการชุมนุม ถ้าได้ไปคุยด้วยจะรู้เลยว่ายังเป็นคนที่ต้องการความสงบสันติ ยังรักสังคมและประเทศ เพียงแต่ที่ผ่านมาจะมีผู้นำทางการเมืองที่พยายามจะอาศัยสถานการณ์บางอย่างเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง เป็นเรื่องของวาทกรรมและสงครามจิตวิทยา แน่นอนว่าประชาชนส่วนหนึ่งที่รู้ไม่ทันก็หลงกลและสูญเสียได้

“ผมมองไปข้างหน้า ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีความรุนแรงหรือการนองเลือดเกิดขึ้นได้อย่างไรใน 2-3 ปีข้างหน้า หากวิเคราะห์ก็แน่นอนว่า ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน ย่อมไม่ต้องการให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นในสมัยของตัวเองแน่นอน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมจากฝ่ายไหน รัฐก็ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น แม้แต่ทหารที่เป็นรัฐบาลก็ไม่ชอบที่จะให้เกิดความรุนแรง ทำให้ผมยังมองไม่เห็นว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่สนับสนุนคุณทักษิณ

ไทยพับลิก้า : บางส่วนก็ยังเป็นห่วงว่าความขัดแย้งจะเกิดขึ้นต่อไปแบบไม่มีวันจบ

มันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าพันธมิตรฯ หรือกลุ่มเสื้อหลากสี ผมก็ไม่เห็นว่าคนเหล่านี้จะออกมาก่อความรุนแรงได้อย่างไร เพราะบทเรียนที่ผ่านมาก็มีอยู่แล้ว คดีก็ยังมีกันอยู่ ทหาร เหรอ ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นในการที่จะไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง เพราะในทางกฎหมายแล้วทหารเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาล

หากทหารจะออกมาก่อการ ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรงได้ ก็มีวิธีเดียวคือการยึดอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากสำหรับทหารหรือผู้นำกองทัพในขณะนี้ ผมถึงมองไม่เห็นโอกาสเลยในอนาคตช่วง 2-3 ปีนี้

ไทยพับลิก้า : โอกาสที่จะกลับไปสู่การเมืองในระบบปกติ คือความขัดแย้งหมดไปเลยมีหรือไม่

ความขัดแย้งมันเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย เพียงแต่ว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบเป็นพิเศษ ที่จะทำให้ความขัดแย้งนั้นไม่กลายเป็นความรุนแรง ซึ่งตอนนี้ก็มีความขัดแย้งหลายเรื่อง เช่น เรื่องการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มันมีกฎกติกาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอยู่ และถ้ารัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ก็ต้องเป็นฝ่ายที่เปิดให้มีการเจรจาต่อรองกัน

“เท่าที่ผมสังเกตจากภายนอกมาตลอดเวลา แม้รัฐบาลจะอาศัยข้อเสนอของ คอป. หลายเรื่องไปหาเสียงกับกลุ่มคนเสื้อแดงบ้าง แต่อีกส่วนหนึ่ง รัฐบาลก็มีความระมัดระวังในการที่จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองอยู่บ้าง เช่น กรณีการเปิดงานกาล่าดินเนอร์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ แม้ในบางมุมของบางคนอาจจะมองว่าเป็นการเล่นละคร หรือบางคนอาจจะไม่พอใจ แต่ในมุมของการสร้างความปรองดองแล้ว มันเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี เพราะอย่างน้อย คนที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคู่ขัดแย้งกัน กลับมาคุยกัน มาร่วมงานกัน มันก็เป็นสัญญาณสู่สังคมที่ดี”

ไทยพับลก้า: แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดอาจจะเป็นเพียงฉากละครงานเลี้ยงเท่านั้นหรือ

แม้จะเป็นละคร (เน้นเสียง) มันก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าทุกๆ ฝ่ายก็ยังคิด…มันก็เป็นพัฒนาการของความขัดแย้งว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว กลุ่มชนชั้นนำเขาก็สามารถที่จะคุยกันได้ แน่นอนว่าเขายังมีความขัดแย้ง มีความแตกต่างกันอยู่ แต่เขาก็ยังอยู่ในจุดที่ประณีประนอมกันได้ คือเขาอาจจะคิดว่าลากกันไปมันก็เสียทั้งสองฝ่าย แล้วก็ทำให้สังคมเสียด้วย และผมเชื่อว่าหากกลุ่มชนชั้นนำ เขาประณีประนอมกันได้ระดับหนึ่งเนี่ย ความรุนแรงจะไม่มี แต่ที่ผ่านมาที่รุนแรงถึงกับฆ่ากันตาย มันกิดขึ้นเพราะชนชั้นนำขัดแย้งกันอย่างหนัก

ไทยพับลิก้า : สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะจริงใจหรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีหรือ

ความจริงใจคืออะไรล่ะ…นักการเมืองแม้แต่อยู่พรรคเดียวกัน ยังไม่จริงใจกันเลย เรื่องนี้มันเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง และระบอบประชาธิปไตยมันก็เป็นเรื่องการต่อรอง การแชร์ผลประโยชน์ทางการเมืองกัน คอป.มีข้อแม้เพียงข้อเดียวคืออย่างทิ้งประชาชน เพราะประชาชนถูกนำเข้าสู่กระบวนการของความขัดแย้งแล้ว ก็อย่าไปทิ้งเขา เพราะวันนี้ประชาชนก็ยังเดือดร้อนอยู่ ยังมีความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมอยู่ เพราะการประณีประนอมของกลุ่มชนชั้นนำนั้นไม่ด้ก่อนให้เกิดความปรองดองที่ถาวรนะ เพราะเป็นธรรมชาติของกลุ่มชนชั้นนำ ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ยังจะแย่งชิงผลประโยชน์กันตลอดเวลา จึงไม่ถาวร

ไทยพับลิก้า : เป็นสัญญาณที่ดีแล้วจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงได้หรือไม่

มันเป็นพัฒนาการของความขัดแย้ง ซึ่งในอดีตความขัดแย้งของประเทศไทยก็เป็นอย่างนี้มาตลอด…ชนชั้นนำขัดแย้งกัน ดึงประชาชนเข้ามาในกระบวนการของความขัดแย้ง แล้วก็ตายกันไป อย่าง เหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 พอเสร็จแล้วคนเหล่านี้ก็ทิ้งประชาชน คือไม่ได้แก้ไขในเชิงโครงสร้างอะไรเลย แล้วมันก็จะมีซ้ำอีก เราก็จะอยู่แบบ 10 กว่าปีมีทีหนึ่ง อีกสิบกว่าปีก็มีอีกทีหนึ่ง ตายกันไป หายกันไป เจ็บกันไปเป็นพัน คือเราต้องการให้มันเกิดการแก้ไขปัญหาถาวร ด้วยการทำให้เป็นการแก้ไขปัญหาของประชาชนด้วย เพื่อไม่ให้ใครเอาปัญหาประชาชนไปเป็นเชื้อของความขัดแย้งได้ จึงต้องปฏิรูปทางโครงสร้างในสังคมไทย ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เลยนะ … ไหนๆก็จะมีการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ควรใช้เป็นกระบวนการในการสร้างความปรองดองอย่างถาวรหรือไม่

“นี่เป็นกฎธรรมชาติของสังคมเลย ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกก็เป็นอย่างนี้คือมันจะพัฒนาไปสู่อีกจุดหนึ่ง และพัฒนาไปเรื่อยๆ บางแห่งรุนแรงแล้วรุนแรงอีก แต่ถ้ามีองค์ความรู้และมีจิตใจของการรักกันทุกอย่างมันก็จะยุติลง”

ไทยพับลิก้า : ประชาชนส่วนหนึ่ง จากทั้ง 2 ฝ่ายคู่ขัดแย้งอาจจะยังไม่ยอมรับภาพที่เกิดขึ้นได้

การไม่ยอมรับมันก็มองได้หลายอย่าง แต่มันก็อยู่ที่เราจะตีความอย่างไรด้วย บางคนอาจจะแสดงออกว่าไม่ยอมรับ แต่ความจริงในเบื้องหลังเขาอาจจะไม่ได้คิดแค่นั้นก็ได้ และพวกนี้เป็นเสียงสะท้อนที่ต้องรับฟัง เพราะเขาอาจจะต้องการความปรองดองที่แท้จริง จริงจังและได้ผล แต่สำหรับ คอป. และผม คิดว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจุดหนึ่ง ปัญหาคือเราจะผลักดันต่อไปอย่างไร มันก็ดีแล้ว ที่คนที่ถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งกัน หันมาคุยกัน แต่อย่าพอแค่นี้นะ ต้องต่อไปอีกนะ ซึ่งเราจะต้องผลักดันต่อ

ไทยพับลิก้า : ถ้าเชื่อว่าเป็นสัญญาณที่ดี แล้วเราจะสามารถไว้ใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แค่ไหนว่าต้องการจะปรองดองจริงๆ เพราะท่าทีจากเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังแสดงออกซึ่งความขัดแย้ง

ผมคิดว่าคนมันก็มีการเปลี่ยนแปลงเนอะ… คือ คุณทักษิณ ก็เป็นคนนะ ผมก็คิดว่าคุณทักษิณก็เหมือนกับคนอื่นแหละ อาจจะมีการปรับปรุง มีการเปลี่ยนแปลงได้ จะโดยเหตุอะไรก็แล้วแต่ แม้แต่กรณีฆ่าตัดตอนในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณเอง หลังจากที่ช่วงนั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากแล้ว เราก็จะเห็นว่าพฤติกรรมของการฆ่าตัดตอนก็ลดลง

“ผมว่าทุกคนที่เป็นคู่ขัดแย้ง มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งไม่เพียงแค่สังคมไทยอย่างเดียวหรอก ในต่างประเทศก็มีลักษณะนี้ คนที่ฆ่ากันเนื่องจากขัดแย้งระหว่างเผ่า หรือเชื้อชาติ ในที่สุดก็ออกมาขอโทษก็มี แม้เขาจะเป็นผู้นำนะ ถูกศาลตัดสินก็มี ระดับประชาชน ระดับผู้บังคับบัญชาระดับกลางก็ออกมาโทษประชาชนก็มี สำนึกผิดก็มี ปรับปรุงแก้ไขก็มี กระทั่งมีกฎหมายอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมก็มี ซึ่งในแง่นี่เองประชาชนคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองทุกฝ่ายจะต้องจับตาดูว่า เมื่อคนระดับนำเริ่มจูบปากกันมันจะต้องไม่เห็นการขาย หรือเกียะเชี๊ยะกันบนค่าใช้จ่ายของประชาชน”

ไทยพับลิก้า : หากชนชั้นนำสามารถยุติความขัดแย้งกันได้ แล้วประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งหลายจะได้รับการเยียวยาหัวใจกันอย่างไร

จำนวนเงินที่จะเยียวยากันมันก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญที่จะเยียวยาหัวใจของประชาชนที่สูญเสียได้ คือกระบวนการยุติธรรม ต้องเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ คือเขาต้องการความถูกต้อง และเขาจะสบายใจขึ้น ผมเชื่อว่าในที่สุดจะยอมรับและให้อภัยกันได้ เพราะเรื่องแบบนี้มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำแล้วจะทำให้คนตายฟื้นขึ้นมาได้

“สมชาย หอมลออ” อีกคนใน “คอป.” ที่ “ทักษิณ” คุ้นเคย”

ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงรุนแรง การทำงานของ “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” ซึ่งมีหน้าที่ในการค้นหาความจริงของเหตุการณ์ “กระชับวงล้อม-ขอคืนพื้นที่” ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ถูกจับตาจากทุกฝ่ายอย่างหนัก

โดยเฉพาะ “ศาสตราจารย์ คณิต ณ นคร” ประธาน คอป. ที่ในอดีตเป็นหนึ่งใน “ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย” มากับ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

แต่หากมองลึกลงไปในตัว “กรรมการ คอป.” จะเห็นว่า ไม่เพียง “คณิต” เท่านั้น ที่คุ้นเคยกับ “พ.ต.ท.ทักษิณ”

แต่ “สมชาย หอมละออ” ก็เป็นอีกคนใน กรรมการ คอป. ที่เกี่ยวโยงกับพ.ต.ท.ทักษิณมานาน

แต่เป็นการเกี่ยวโยง ในแบบที่ “สมชาย” เป็น ฝ่ายที่ยืนอยู่ “ตรงกันข้าม” กับพ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลพรรคไทยรักไทยมาตลอดเวลา

“ผมทำงานในหน้าที่สิทธิมนุษยชนมาตลอดอยู่แล้ว ตอนนั้นก็มีเรื่องฆ่าตัดตอน ยาเสพติด ที่เราดำเนินการอยู่ เราไปร้องเรียนที่ไหนก็ไม่มีใครมาจัดการได้ เราก็ไปร้องเรียนยังองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จนคุณทักษิณบอกว่า ยูเอ็น ไม่ใช่พ่อ ซึ่งเป็นไปตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ที่เรามีสิทธิ์ที่จะร้องเรียน” สมชายเล่า

ในช่วงนั้นเมื่อมีการร้องเรียนเรื่อง “ฆ่าตัดตอน” ไปยังยูเอ็นจนเกิด “วาทะกรรมยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พยายามบิดเบือนว่ายูเอ็นเป็นต่างชาติ ซึ่งเขายืนยันว่า “สหประชาชาติ” นั้นไม่ใช่ต่างชาติ แต่เป็น “องค์กรระหว่างประเทศ” ที่ประเทศไทยเองก็เป็นสมาชิกอยู่

“ช่องทางของสหประชาชาตินั้น ในที่สุดกลุ่มของคุณทักษิณ หรือแม้แต่ตัวคุณทักษิณเอง ก็ร้องเรียนช่องทางเดียวกัน เมื่อรู้สึกว่าตัวเองถูกละเมิด” สมชายเปรียบเทียบ

แม้ “เขา” และ “คณิต” เป็นคนที่มีประวัติเกี่ยวโยงกับ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ในคนละมุม แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคกับการทำงานใน ฐานะ “คอป.”

“ตอนอาจารย์คณิต เสนและทาบทามมาเป็นกรรมการ คอป. ผมก็ตัดสินใจว่าเราน่าจะช่วยลดวิกฤติของประเทศได้ ผมเคารพท่าน เชื่อว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ จึงตัดสินใจ…

…ตอนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่งตั้งมาเป็น คอป. อาจารย์ณิต ให้นโยบายเอาไว้ว่าขอให้ทำตามหลักวิชา ขอให้ทำเพื่อชาติ จะไม่ทำเพื่อรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มาของเงื่อนไขของอาจารย์คณิต ที่ว่าเวลาเสนอรายงาน เราไม่ได้เสนอต่อรัฐเท่านั้น แต่จะต้องเปิดเผยต่อประชาชนด้วย เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ไปพร้อมกันว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การส่งเสริมประชาธิปไตยและการสร้างชาติ ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของผู้นำ แต่ทุกคนต้องช่วยกัน” !