ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โฉนดที่ดิน สกสค. 48 ไร่ที่สุราษฎร์ฯ ล่องหน บอร์ดสกสค. ทวง”ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ” คืนภายใน 3 ก.พ. นี้

โฉนดที่ดิน สกสค. 48 ไร่ที่สุราษฎร์ฯ ล่องหน บอร์ดสกสค. ทวง”ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ” คืนภายใน 3 ก.พ. นี้

2 กุมภาพันธ์ 2012


การขายที่ดินของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จำนวน 48 ไร่ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อการขายครั้งนี้ไม่ได้ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการสกสค. ตามที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอไปแล้ว (อ่านบอร์ดคุรุสภาป่วน ถกเครียด 3 ชม. ขายที่ดินสุราษฎร์ฯ ไร้ข้อสรุป)

ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 คณะกรรมการสกสค. ที่มีดร.ศศิธารา พิชัยชาญรณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนัดพิเศษ เพื่อพิจารณากรณีที่ผู้บริหารของสกสค. นำที่ดินจังหวัดสุราษฏร์ธานีจำนวน 48 ไร่ ไปขายยกแปลงโดยไม่ได้ขออนุมัติคณะกรรมการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องมาจากการประชุมบอร์ดครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ซึ่งบอร์ดได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาข้อกฏหมายและกระบวนการจะซื้อจะขายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี และให้นำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมบอร์ดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการสกสค. เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ (1 กุมภาพันธ์) นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยให้เหตุผลว่า ติดภารกิจที่จะต้องไปวางแผนรับมือกรณีสหภาพแรงงานองค์การค้าของสกสค. นัดหยุดงานประท้วงในวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2555 โดยบรรยากาศการประชุมครั้งนี้ยังคงถกกันอย่างเคร่งเครียดเหมือนคราวที่แล้ว ครั้งนี้ใช้เวลาประชุม 3 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่า กรณีที่ผู้บริหารองค์การค้าของสกสค. ขายที่ดินสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นทรัพย์สินของ สกสค. โดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนั้นถูกหรือผิด และใครต้องรับผิดชอบ

นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ที่มาภาพ : http://www.siamsport.co.th/_ImagesNews/B100526A1N9107.jpg
นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ที่มาภาพ : http://www.siamsport.co.th/_ImagesNews/B100526A1N9107.jpg

การประชุมในวันนี้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. ดร.ศศิธารา ประธานในที่ประชุมได้ให้คณะทำงานฯ รายงานผลการศึกษาทั้งหมดต่อที่ประชุม โดยชี้แจงความเป็นมาของที่ดินแปลงนี้ พร้อมรายงานกฏหมาย ข้อบังคับ และมติที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งมี 2 ประเด็นหลักๆ ที่ต้องพิจารณาคือ 1. การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นอำนาจของผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. หรือไม่ และ 2. กระบวนการในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีความโปร่งใสตรวจสอบได้หรือไม่

คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการมีความเห็นในประเด็นแรกว่า การพิจารณาขายที่ดิน หรือพัฒนาที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอำนาจของคณะกรรมการสกสค. กล่าวคือ ในการประชุมคณะกรรมการสกสค. ครั้งที่ 1/2554 วันที่ 20 มกราคม 2554 บอร์ดได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาที่ดิน 6 แปลง ซึ่งมีที่ดินจังหวัดสุราษฏร์ธานีรวมอยู่ด้วย โดยศึกษาด้านกฏหมาย ความคุ้มค่า และการบริหารความเสี่ยง โดยมีนายนิวัตร นาคะเวช เป็นประธานกรรมการ

ต่อมา ในการประชุมครั้งที่ 2/2554 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ได้มีการเปลี่ยนแปลงประธานคณะทำงานเป็นนายวาสนา ไชยศึก กรรมการสกสค. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสวัสดิการสังคม พร้อมกับแต่งตั้งนายบำเหน็จ ทิพย์อักษร เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และให้นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ เป็นคณะทำงาน กรณีนี้ “จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการสกสค.”

ส่วนประเด็นที่ 2 เรื่องกระบวนการซื้อ-ขายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางคณะทำงานได้ตรวจสอบเอกสารตามที่ได้รับจากองค์การค้าของสกสค. และยืนยันว่าเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซื้อขายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยสรุปเป็นรายประเด็นดังนี้

1. การประชุมคณะผู้บริหารองค์การค้าสกสค. ครั้งที่ 5/2554 วันที่ 24 สิงหาคม 2554 มีผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ในระเบียบวาระที่ 3.3 สำนักบริหารสินทรัพย์เสนอว่า มีผู้ขอซื้อที่ดินแปลงนี้ 48 ไร่ ในราคา 36 ล้านบาท ราคาต้นทุนที่ดินที่ซื้อมาอยู่ที่ 12 ล้านบาท ราคาไร่ละ 8 แสนบาท ราคาประเมินของกรมที่ดิน 5.3 ล้านบาท โดยผู้อำนวยการองค์การค้าเสนอว่า จะเดินทางไปดูเองโดยจะติดป้ายขายไม่ผ่านนายหน้า

คณะทำงานฯ ได้ให้ข้อสังเกตว่า มีการติดป้ายประกาศขายหรือไม่อย่างไร ส่วนผู้ที่เสนอราคา 36 ล้านบาท เป็นผู้ใดไม่มีหลักฐาน

2. วันที่ 19 กันยายน 2554 สำนักบริหารสินทรัพย์ องค์การค้าของสกสค. ทำบันทึกเสนอผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ขออนุมัติหลักการขายที่ดินแปลงนี้ไร่ละ 8 แสนบาท อ้างว่าเป็นราคาซื้อ-ขายตามท้องตลาดปัจจุบัน โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดสุรษฎร์ธานี ประเมินราคาที่ดินปี 2554 เอาไว้ที่ราคา 5.21 ล้านบาท

คณะทำงานฯ ได้ให้ข้อสังเกตว่า บันทึกเสนอของสำนักงานบริหารทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งเสนอต่อผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. นั้น ไม่มีหนังสือหรือคำสั่งของผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

3. วันที่ 20 กันยายน 2554 นางสาวจตุพร รัตนวิสาลนนท์ และพวก มีหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ขอซื้อที่ดินแปลงนี้ไร่ละ 700,000 บาท โดยขอให้พิจารณาที่ดินด้านหลัง ซึ่งเป็นที่ลุ่มมากจำนวน 5 ไร่ ในราคาต่ำเป็นพิเศษ นายวีระศักดิ์ เสือสะอาด ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง เสนอถึงผู้อำนวยการองค์การค้าขอให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูง

4. วันที่ 21 กันยายน 2554 ผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. มีคำสั่งให้สำนักบริหารสินทรัพย์นำคำเสนอซื้อที่ดินของนางสาวจตุพร รัตนวิสาลนนท์ ไร่ละ 700,000 บาท เสนอต่อที่ประชุมผู้บริหารขององค์การค้าของสกสค. โดยมีประเด็นที่จะต้องพิจารณา 6 ประเด็น คือ 1) เห็นสมควรให้ขายที่ดินไร่ละ 1 ล้านบาท ยกเว้นที่ดินด้านหลังลึกเข้าไปเป็นที่ลุ่ม 5 ไร่ ให้ขายไร่ละ 8 แสนบาท 2) ผู้ซื้อต้องชำระเงินภายใน 8 เดือนหลังจากทำสัญญา 3) ในวันทำสัญญา ผู้ซื้้อจะต้องชำระเงินก่อน 3 ล้านบาท 4) ค่าภาษี ค่าโอน ค่าธรรมเนียม เป็นของผู้ซื้อ 5) ยินยอมให้ผู้ซื้อเข้าพัฒนาที่ดิน หากผู้ซื้อไม่สามารถมารับโอนได้ตามกำหนด ทรัพย์สินที่นำมาพัฒนาจะตกเป็นขององค์การค้าของสกสค. และ 6) ผู้ซื้อต้องกันที่ดิน 2 ไร่ เพื่อสร้างสำนักงานสกสค.จังหวัด โดยใช้เงื่อนไขและราคาตามสัญญาซื้อ-ขายเดิม

ในประเด็นข้อ 3-4 คณะทำงานฯ ให้ข้อสังเกตว่า การกำหนดเงื่อนไขในการขายที่ดินดังกล่าว เช่น การขายที่ดินไร่ละ 1 ล้านบาท ส่วนที่ดินด้านหลังขายไร่ละ 8 แสนบาท กำหนดให้ผู้ซื้อชำระเงินภายใน 8 เดือน และชำระเงินก่อน 3 ล้านบาทและให้เข้าพัฒนาที่ดินได้ ไม่มีรายละเอียดว่าองค์การค้าของสกสค. ใช้เหตุผลอะไรมาประกอบในเงื่อนไข

5. วันที่ 22 กันยายน 2554 ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงขององค์การค้าของสกสค. มีมติเห็นควรให้ขายที่ดินจังหวัดสุราษฏร์ธานี ตามข้อเสนอของผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. และมีข้อสังเกต-ข้อเสนอแนะ ให้ผู้จะซื้อขอให้องค์การค้าโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้บุคคลที่ผู้จะซื้อกำหนดได้ หากผู้ซื้อมีความประสงค์ที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งก่อน จะต้องชำระเงินค่าซื้อ-ขายเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทั้งหมดตามสัญญา

ประเด็นนี้คณะทำงานมีความเห็นว่า ที่ดินแปลงนี้ ผู้ซื้อเสนอซื้อยกแปลง มิได้กำหนดเงื่อนไขการซื้อ-ขายเป็นอย่างอื่น เหตุใดองค์การค้าของสกสค. จึงเสนอให้ผู้จะซื้อ สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับบุคคลที่ผู้ซื้อกำหนดได้

6. วันที่ 23 กันยายน 2554 สำนักบริหารทรัพย์สินขององค์การค้าของสกสค. จัดทำบันทึกเสนอผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ขออนุมัติขายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามเงื่อนไข (5) ให้แก่นางสาวจตุพร รัตนวิสาลนนท์ โดยมอบให้ฝ่ายกฏหมายและวินัยจัดทำสัญญาซื้อ-ขายที่ดิน และผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. อนุมัติให้ดำเนินการตามที่เสนอ

7. วันที่ 27 กันยายน 2554 ฝ่ายกฏหมายองค์การค้าจัดทำสัญญาให้ผู้จะซื้อลงนามตามเงื่อนไขในข้อ 6

คณะทำงานมีข้อสังเกตว่า ตามมติคณะผู้บริหารระดับสูงขององค์การค้า กำหนดให้ผู้ซื้อชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือภายใน 8 เดือน แต่ในสัญญาจะซื้อจะขายไปกำหนดว่าให้ชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 9 เดือน เป็นการขยายระยะเวลาชำระเงินให้กับผู้ซื้อ

8. วันที่ 7 ธันวาคม 2554 ผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ทำบันทึกเสนอปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการสกสค. ว่า องค์การค้าได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาที่ดิน ตามมติคณะกรรมการสกสค. ครั้งที่ 3/2553 วันที่ 3 มีนาคม 2553 ให้ผู้ที่สนใจทราบเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยตามมติดังกล่าว ให้องค์การค้าพิจารณาทางเลือกให้เอกชนซื้อเหมาทั้งโครงการ ประกอบกับองค์การค้าขาดสภาพคล่องทางการเงิน การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน แทนการกู้ยืมเงินจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ จึงจำเป็นต้องขายที่ดินให้กับผู้เสนอซื้อเป็นมูลค่า 47 ล้านบาท

คณะทำงานฯ ให้ข้อสังเกตว่า “ไม่มีเอกสารการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบใด”

9. วันที่ 10 มกราคม 2555 นางสาวจตุพร รัตนวิสาลนนท์ ผู้ซื้อ มีหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ขอรับโฉนดเพื่อนำไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินในนามเดิม ตามเงื่อนไขสัญญาเดิมที่ทำไว้กับผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค.

10. วันที่ 13 มกราคม 2555 นางสาวจตุพร รัตนวิสาลนนท์ ผู้ซื้อ มีหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเลขที่ 27937 ในวันที่ 18 มกราคม 2555 และจะชำระค่าที่ดินจำนวน 30 ล้านบาท

แหล่งข่าวคณะกรรมการสกสค. กล่าวต่อไปอีกว่า การประชุมคณะกรรมการในวันนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่มีความเห็นตามที่คณะทำงานศึกษาข้อกฏหมายฯ เสนอ และมองว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำนอกเหนือจากที่คณะกรรมการสกสค. มีมติ

ทั้งนี้ หลังจากที่คณะทำงานฯ รายงานเสร็จ คณะกรรมการจึงมีมติว่า 1) ให้องค์การค้าของสกสค. ส่งโฉนดที่ดินสุราษฎร์ธานีมาให้คณะกรรมการสกสค. ภายในวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 2) ให้ดำเนินการแจ้งไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ให้กระทำการจดนิติกรรมสัญญาใดๆ ซึ่งตอนนี้ไม่ทราบว่าทำหรือยัง ก่อนหน้านี้ ทางองค์การค้าได้แจ้งคณะกรรมการว่าจะไปทำนิติกรรมสัญญาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งผู้ที่มีอำนาจลงนามในสัญญาได้คือนายเกษม กลั่นยิ่ง เลขาธิการสกสค. เท่านั้น ไม่ใช่ผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการด้วย 3) ให้องค์การค้าของสกสค. ไปจัดหาบริษัทประเมินราคาที่ดินที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลังอย่างน้อย 3 ราย เพื่อประเมินราคาที่ดินใหม่ให้ได้ราคาที่เป็นมาตรฐาน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสกสค. เคยมีมติให้นายบำเหน็จ ทิพย์อักษร รองเลขาธิการสกสค. ทำหนังสือไปถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ขอให้ส่งมอบโฉนดที่ดินที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อนำมาเก็บไว้กับสกสค. แต่จนถึงบัดนี้ ยังไม่ได้มีการส่งมอบโฉนดคืนให้สกสค. จนกระทั่งคณะกรรมการได้มีมติเป็นครั้งที่ 2 ให้ผู้อำนวยการสกสค. ดำเนินการส่งมอบโฉนดคืน สกสค. ภายในวันศุกร์ที่ 3 ก.พ. นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงพักการประชุม คณะกรรมการได้ออกมาจับกลุ่มคุยกันที่หน้าอาคารสำนักงานสกสค. ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กรรมการรายหนึ่งให้ความเห็นว่า “ตอนนี้คงไม่มีบอร์ดท่านใดกล้าไปลงนามรับรองมติย้อนหลังว่าสิ่งที่ ผอ. ทำไปนั้นถูกต้อง ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีบอร์ดท่านใดกล้าที่จะชี้ว่าสิ่งที่ทำไปแล้วถูกหรือผิด ไม่มีใครกล้ายุ่ง เพราะกลัวถูกฟ้อง การประชุมทั้ง 2 ครั้ง จึงไม่มีข้อสรุป ก็ต้องปล่อยให้เรื่องเดินหน้าต่อไปอย่างนี้ ซึ่งสุดท้าย ก็อาจจะต้องใช้วิธีการประเมินผลงานของผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ถ้าไม่ผ่าน ก็ถูกเลิกจ้าง และโดยมารยาทแล้ว ผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค. ควรจะพิจารณาว่าตนเองควรจะทำอย่างไร”

(อ่าน รายงานคณะทำงานศึกษาข้อกฏหหมายและกระบวนการจะซื้อจะขายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี)

สหภาพแรงงานฯ ประท้วงหยุดงาน

รายงานข่าวจากที่ประชุมประจำปี 2555 ของสหภาพแรงงานองค์การค้าของสกสค. ระบุว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 สหภาพแรงงานองค์การค้าของสกสค. ได้เรียกประชุมสมาชิกสหภาพแรงงาน เพื่อขอมติที่ประชุมรับรอง “ประกาศนัดหยุดงาน ในวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2555”

การประชุมในวันนี้ มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 1,150 ราย โดยมีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้มีการประกาศนัดหยุดงานประมาณ 960 คน คิดเป็นสัดส่วน 83.47% ของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ส่วนสมาชิกที่เหลือไม่เห็นด้วยที่จะให้ประกาศนัดหยุดงาน ซึ่งการดำเนินการของสหภาพแรงงานฯ ในครั้งนี้เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ระบุว่า “กรณีที่ข้อเรียกร้องไม่สามารถตกลงกันได้ ฝ่ายลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องสามารถนัดหยุดงานได้ ส่วนนายจ้างเองก็สามารถสั่งหยุดงานได้เช่นกัน แต่จะต้องมีเจ้าหน้าที่หรือสมาชิกของสหภาพแรงงานมาลงคะแนนเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง (50%)

วัตถุประสงค์ของการนัดหยุดงานในครั้งนี้ ทางสหภาพแรงงานฯ ต้องการเรียกร้องให้องค์การค้าของสกสค. ซึ่งเป็นนายจ้างมาเจรจากับลูกจ้าง และยอมจ่ายเงินบำเหน็จให้กับพนักงานที่ปลดเกษียณไปก่อนหน้านี้ เพราะถือว่าเป็นสภาพการจ้างงาน

แหล่งข่าวจากสหภาพแรงงานกล่าวว่า ตามประเพณีปฎิบัติที่ผ่านมา สมาชิกสหภาพฯ จะนัดรวมตัวกันภายในโรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 แต่ทางผู้บริหารขององค์การค้าของสกสค. สั่งห้าม จึงนัดระดมพลเพื่อนสมาชิกที่หน้าโรงพิมพ์คุรุสภา

(อ่านแถลงการณ์สหภาพแรงงานองค์การค้าของสกสค. (ฉบับที่ 2))

นายอารีย์ วงศ์สืบ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของสกสค.(คนกลาง)
นายอารีย์ วงศ์สืบ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของสกสค.(คนกลาง)