ThaiPublica > คนในข่าว > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าแบงก์ชาติ เล่าปมร้อน ร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าแบงก์ชาติ เล่าปมร้อน ร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู

17 กุมภาพันธ์ 2012


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในที่สุด การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินก็ถึงคราวต้องสะสาง แม้หลายฝ่ายมองว่ายังไม่พร้อมที่จะหยิบปัญหานี้ขึ้นมากางบนโต๊ะและจัดการอย่างจริงจัง การลงมือตัดหนี้ก้อนนี้ออกจากภาระงบประมาณ โดยโอนมาให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยครั้งนี้ จึงถูกวิพากษ์และเกิดวิวาทะที่ร้อนแรงระหว่าง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร กับ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เป็นการโอนภาระหนี้ที่แบงก์ชาติไม่มีส่วนรับรู้รับทราบ โดยเฉพาะร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูระบบการเงินในปี 2540 ที่มียอดเงินต้นอยู่ 1.14 ล้านล้านบาท

จนกลายเป็นปมร้อนฉ่า เพราะร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวในครั้งแรกที่ปรากฏให้ ครม. มีอำนาจโอนทรัพย์สินของแบงก์ชาติอย่างเบ็ดเสร็จในมาตรา 7 (3) เพื่อชำระหนี้ โดยไม่สนใจว่าฐานะแบงก์ชาติจะเป็นอย่างไร

แม้วันนี้ จะมีการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.ก. จนเป็นที่พอใจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย แต่ พ.ร.ก. ดังกล่าวก็ยังอยู่ในขบวนการตีความของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องออกเป็น พ.ร.ก. หรือไม่

14 ปีของความเสียหายจากวิกฤตการเงินของไทยในปี 2540 แม้โจทย์หนี้ 1.14 ล้านล้านบาท จะไม่ “simple” แต่ทางออกที่ได้ข้อสรุปชัดเจน “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่าเป็นทางออกที่ “simple” ที่สุด

แต่กว่าจะได้ทางออกที่ “simple” ธปท. ก็ผ่านห้วงวิกฤตอย่างเฉียดฉิว กับร่าง พ.ร.ก. ฉบับอันตรายที่สุด

“ประสาร” เล่าถึงที่มาที่ไปของกรอบแนวคิดการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินว่า แม้โจทย์จะยากแต่ก็แก้ปัญหาได้ง่ายๆ เพราะเป็นการเก็บเงินจากสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐในอัตรา 0.47% เท่ากัน นำส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแก้โจทย์หนี้ดังกล่าว

ภาระการนำส่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับธนาคารพาณิชย์ เพราะแต่เดิมต้องนำส่งเงิน 0.4% ของยอดเงินฝากรวมมานานแล้ว และการเก็บเพิ่มอีก 0.7% ในครั้งนี้ก็เล็กน้อย เพียงแต่ไม่มีสื่อสารกันตั้งแต่ต้น ทำให้มีการตีความไปต่างๆ นานา

คำถาม : การจัดเก็บเงินในส่วนของแบงก์รัฐ 0.47% ของยอดเงินฝาก เอาไปตั้งกองทุนพัฒนาประเทศ ทำไมไม่นำไปใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

ผมยังไม่มีโอกาสถามคำถามนี้กับกระทรวงการคลัง ถ้าให้ผมพยายามตอบแทนกระทรวงการคลัง มีการประชุมเรื่องนี้เมื่อปลายปี 2554 มีการโต้แย้งกันเยอะ ซึ่งข้อสรุปก่อนปีใหม่ได้กำหนดหลักการ 3 ข้อ คือการแก้หนี้กองทุนฟื้นฟู 1. ไม่พิมพ์เงิน 2. ไม่เอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ 3. พยายามไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลยกโจทย์นี้ขึ้นมา เขาขอข้อ 3 ส่วนข้อ 1-2 เป็นเรื่องแบงก์ชาติ

จากโจทย์ของรัฐบาล เขาไม่ต้องการให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน กล่าวคือ แบงก์รัฐอย่างธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สิ้นปีมีกำไร เงินอันนี้เขานำส่งคลัง เป็นรายได้กองกลางของคลัง หรือเรียกว่าเป็นรายได้ของแผ่นดิน เมื่อเราไปเก็บ 0.47% ทำให้กำไรของเขาลดลง สมมติเดิมออมสินเคยนำส่งรัฐ 15,000 ล้านบาท พอไปเก็บ 0.47% สิ้นปีกำไรที่เขาจะนำส่งรัฐหายไป 5,000 ล้านบาท ถ้าเอาเงิน 5,000 ล้านบาทนี้ ไปชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เงินรายได้ของรัฐจะหายไป 5,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า เป็นการเอาเงินงบประมาณไปลดหนี้กองทุนฟื้นฟู 5,000 ล้านบาท ซึ่งมันไม่แก้โจทย์ของรัฐบาล

โจทย์ที่เก็บค่าต๋งแบงก์รัฐเป็นเรื่องการแข่งขัน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาของระบบที่ไม่ให้แบงก์รัฐไปชิงเงินฝากแบงก์พาณิชย์ เพราะแบงก์รัฐเขาเสนอดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าได้ เราจึงแก้ปัญหาโดยการเก็บค่าต๋ง ทำให้ต้นทุนแบงก์รัฐเขาสูงขึ้นใกล้เคียงกับแบงก์พาณิชย์

แต่ถ้าเราเอาเงิน 0.47% ที่เก็บจากแบงก์รัฐ เอาไปใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เท่ากับเอาเงินงบเงินประมาณมาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ นั่นเอง

คำถาม : ทำไมเคาะตัวเลขนำส่ง 0.47% ตัวเลขนี้มาจากไหน

เราทำโปรเจคชั่น ความจริงเดิมคำนวณรอบแรกๆ ตัวเลขสูงกว่านี้ 1. ตัวเลขเพื่อให้ชำระดอกเบี้ยได้แต่ละงวด 2. ลดเงินต้นหมดในระยะเวลา 25 ปี หากนานไปกว่านี้ คนจะรู้สึกว่าทิ้งปัญหาไกลเกินไป และเป็นตัวเลขที่คนฟังแล้วไม่เบือนหน้าหนี 3. เงินฝากของระบบแบงก์จะโตปีละกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราคาดว่าจะโตปีละ 4% 4. ดอกเบี้ยพันธบัตรรุ่นเก่าๆ ที่ดอกเบี้ยสูงๆ 6.75% ที่เรียกว่าพันธบัตรกู้ชาติ จะทยอยครบกำหนด และพันธบัตรรัฐบาลที่จะออกใหม่ อิงกับดอกเบี้ยนโยบายซึ่งอยู่ที่ 3% ดังนั้นดอกเบี้ยจะค่อยๆ ลดลง ทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ให้ตัวเลขมา นี่คือโปรเจคชั่นว่าจะลดต้นลดดอกเบี้ยหมดภายใน 25 ปี

วิธีทำคือ งวดแรกๆ ภาระดอกเบี้ยจะสูง เงินที่เก็บมาไม่เพียงพอ ก็ต้องเอาทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่มีอยู่แสนกว่าล้านบาท อาทิ หุ้นธนาคารกรุงไทย หุ้นบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) ขายออกไปบ้าง ได้ปันผลบ้างมา เอามาสมทบเข้าไป งวดหลังๆ เมื่อฐานเงินฝากเพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ต่ำลง ก็จะมีรายได้เกิน เอาไปลดเงินต้น ก็ทำเป็นซีนนาริโอต่างๆ ว่าจะเก็บค่าต๋งเท่าไหร่ แถวๆ 0.46% และ 0.01% ให้สถาบันประกันเงินฝาก

ดังนั้น อัตรา 0.46% จึงพอทำโจทย์นี้ได้ คือเก็บเขาน้อยที่สุด และต้องชำระดอกเบี้ยและชำระเงินต้นให้จบภายใน 25 ปี กรณีนี้สามารถทำได้ภายใน 24 ปี ซึ่งเราตั้งสมมติฐานว่าฐานเงินฝากโตปีละ 4% ในทางเป็นจริงน่าจะสูงกว่านี้ เราก็บอกแบงก์ว่าเอาอย่างนี้ไปก่อนในช่วงแรก แล้วสัก 3 ปี ถ้าฐานเงินฝากโตเร็วกว่าที่คิด ก็มาดูอัตรา 0.47% กันใหม่ ว่าจะปรับลดได้หรือไม่

คำถาม : จากภาระหนี้ก้อนนี้ จะทำให้แบงก์ชาติทำให้ค่าเงินบาทอ่อน เพื่อจะได้มีกำไรไปชำระหนี้หรือไม่

มีคนถามประเด็นนี้เหมือนกัน ผมได้ตอบไปว่าไม่เกี่ยวกันเลย กรณีภารกิจหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ผมได้ชี้แจงว่าจะไม่ให้มารบกวนการดำเนินนโยบายการเงิน ไม่ว่าด้านนโยบายอัตราดอกเบี้ย หรือนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ผมก็ยืนยันว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แค่ 1.14 ล้านล้านบาท ความจริงในงบแบงก์ชาติเวลานี้มีหนี้กว่า 4 ล้านล้านบาท เพราะเราดูดซับสภาพคล่องเอาไว้ หากเราห่วงเรื่องนี้เราจะไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ยเลย

อีกอย่าง ตอนนี้ในท้องตลาดมองว่าแบงก์ชาติจะต้องทำให้บาทอ่อน แบงก์ชาติจะได้มีกำไรมาใช้หนี้ ผมก็บอกว่าแนวคิดนี้ไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน การที่ทำให้บาทอ่อนแปลว่าแบงก์ชาติต้องแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งแบงก์ชาติต้องซื้อดอลลาร์อุตลุดเลย ทำให้เงินบาทเข้าไปสู่ระบบ เราก็ต้องดูดซับสภาพคล่องอีก ก็ต้องออกพันธบัตรเพิ่ม ดอกเบี้ยตอนนี้ 3% เราได้ดอลลาร์เข้ามา เอาไปลงพันธบัตรสหรัฐอเมริกา ตอนนี้ดอกเบี้ยนิดเดียว ยิ่งทำให้บาทอ่อนเท่าไหร่ งบแบงก์ชาติก็ยิ่งขาดทุนเยอะขึ้น

แต่คนก็ถามว่า คุณจะได้กำไรอัตราแลกเปลี่ยน เพราะคุณมีเงินสำรองระหว่างประเทศเยอะ ผมก็บอกว่าบ้านเราไม่เหมือนที่อื่น เพราะแยกบัญชี บัญชีของแบงก์ชาติเป็นบัญชีการธนาคาร อีกบัญชีเป็นบัญชีเงินสำรองระหว่างประเทศ บัญชีนี้เป็นน้ำมนต์ ไม่สามารถเบิกทำได้ เพราะทองคำที่บริจาคเข้าคลังหลวงถือเป็นน้ำมนต์ อยู่ดีๆ บอกว่าจะเอาบัญชีเงินสำรองมาใช้กับบัญชีการธนาคารไม่ได้

คำถาม : ย้อนไปที่โจทย์เดิม ปัญหาลักลั่นระหว่างแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ และหนี้ก้อนนี้ต้องจบภายใน 24 ปี ขณะนี้แก้โจทย์นี้ได้แล้ว แต่ถ้าอยากได้เงินเพิ่มมาใช้หนี้ให้หมดเร็วขึ้นจะต้องขายทรัพย์สินหรือไม่

ขายทรัพย์สินมันจะซับซ้อนเกินไป แต่หนี้ก้อนนี้ ธนาคารพาณิชย์เขาห่วงว่าปกติวิกฤตเศรษฐกิจจะมาถี่กว่า 24 ปี จะบอกว่ามันคงยากที่ไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจเลยในเวลา 24 ปี เขาอยากให้เรื่องนี้จบภายในเวลาอันสั้นกว่า 24 ปี

ผมก็บอกว่าใจเย็นๆ เศรษฐกิจและศักยภาพเราจะโตได้ปีละ 4-5 % ในเรียลเทอม บวกเงินเฟ้ออีก 2-3% เศรษฐกิจจะโตได้ 7-8% จากนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าเราโตในระดับนี้ เศรษฐกิจเราจะโต 80-100% จีดีพีตอนนี้ 10 ล้านล้านบาท ก็จะเป็น 20 ล้านล้านบาท

เช่นเดียวกับระบบแบงก์ที่จะโตล้อเศรษฐกิจไป ตอนนี้ระบบแบงก์มีเงินฝาก 10 ล้านล้านบาท ใน 10 ปีข้างหน้า จะมีเงินฝาก 20 ล้านล้านบาท ดังนั้น หนี้ก้อนนี้ นอกจากชำระดอกเบี้ยแล้ว เราจะค่อยๆ ลดเงินต้นไปเรื่อยๆ ตัวเลข 1.14 ล้านล้านบาท เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกคนรู้สึกว่า โอ้โฮ…อิมพอสซิเบิ้ล มาถึงวันนี้ ผลจากการดูดซับสภาพคล่องทำให้ในบัญชีแบงก์ชาติมีหนี้อยู่ 4 ล้านล้านบาท

ดังนั้น จากจุดนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า กระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ ระบบแบงก์ จะมีความพร้อมมากกว่านี้ เมื่อไปถึงจุดนั้น ผมคิดว่าถ้าไม่เกิดวิกฤตอะไรขึ้น อาจจะมีคนกล้าที่จะตัดหนี้ก้อนนี้ไปทีเดียวเลยก็ได้ เพราะเขามีความพร้อม แต่ถ้าทำตอนนี้มันหักโหมเกินไป จะเห็นทันทีว่า เรื่องนี้พอโยนไปโยนมามันจะไปลงที่คนใดคนหนึ่งหรือใครหลายคน จะหนักอึ้งเลย มันจะเกิดผลเสียต่างๆ ก็บอกว่าใจเย็นๆ ถ้าทำตอนนี้ ล้างทั้งหมด มันหักโหม หรือถอยหลังไป 10 ปี คนที่ทำตอนนั้นก็มืดฟ้ามัวดินเลย ว่าวันหนึ่งจะได้แก้ได้หรือไม่ อาจจะคิดว่าไม่มีสิทธิ์เลย แต่ตอนนี้ผมว่า อีก 10 ปีข้างหน้า คนที่รับผิดชอบอยู่ก็อาจจะคิดว่า แค่นี้หรือ!!

ไปถึงตอนนั้น ผมคิดว่า…ขออย่างเดียว อย่ามีปัญหาใหม่ ถ้ามีปัญหาใหม่ๆ หนักๆ ก็ยุ่ง..

ผมก็เช็คกับหม่อมเต่า (ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.) สมัยที่ท่านเป็นผู้ว่าฯ ธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบ ประมาณ 400,000 กว่าล้านบาท แต่ตอนนี้ 1.2 ล้านล้านบาท มีเงินหมุนในระบบเยอะกว่ามาก ด้วยตัวเลขเดียวกัน เขามองในสมัยนั้นแล้วบอกว่าหนี้ก้อนนี้…ไม่มีทาง ดังนั้น ตอนนี้หนี้ 1.14 ล้านล้านบาท คุยไปคุยมาเหมือนคุยกันบนโต๊ะอาหาร

แต่ต้องพยายามรีบลด ไม่งั้นระบบแบงก์จะเหมือนมีลูกตุ้มถ่วง

คำถาม : ข่าวที่ออกมา มีการบอกว่าคุณประสารมุสา ว่าไม่เห็นร่างพ.ร.ก.

คือทุกๆ ครั้งที่เรื่องนี้เข้า ครม. ใน 3 รอบ เราไม่เห็นก่อน แล้วก็รอบสุดท้าย ผมให้เจ้าหน้าที่ไปเวิร์คกับกฤษฎีกา ทางกฤษฎีกาเขาเก็บหมด และเวลาเราไปชี้แจงที่รัฐสภา สมาชิกเขาจะขอก็อปปี้ ทางกฤษฎีกาบอกว่าเขาไม่มี ส่วนเราไม่มีก็อปปี้ในมือ จะบอกว่าเรามีได้อย่างไร

ก่อนเข้า ครม. ทุกครั้งเราไม่เห็น พ.ร.ก. ก่อน บางคนอธิบายว่าเรื่องนี้ต้องเป็นความลับ เพราะการเสนอแต่ละขั้นตอนไม่มีการการันตีว่าจะไม่มีการแก้ไข

คำถาม : ตอนนั้นกังวลประเด็นไหนที่สุดใน พ.ร.ก.

ครม. รอบก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2554 คือประเด็นโอนหนี้ให้แบงก์ชาติรับไป ใช้คำว่า “โอนหนี้“ ด้วยเหตุผลว่าจะได้ลดหนี้สาธารณะจาก 40 % ลงเหลือ 30% ของจีดีพี จำได้ไหม ถ้าไปค้นหนังสือพิมพ์ตอนนั้น บอกว่าขอโอนหนี้ก้อนนี้ให้แบงก์ชาติ เพราะถือว่าเข้มแข็งแล้ว เพื่อจะได้ลดหนี้สาธารณะ นั่นคือรอบที่ 1 วันอังคารก่อน 30 ธันวาคม 2554 เราไม่เห็นร่าง พ.ร.ก. อะไรทั้งสิ้น ใน ครม. ครั้งนั้นว่า “รับในหลักการ ว่าจำเป็นต้องเตรียมเงินเพื่อช่วยน้ำท่วม แต่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือกัน”

จากนั้นก็นำไปสู่ 30 ธันวาคม 2554 วันที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เรียกหารือ ซึ่งผมเข้าไปประชุมด้วย ผมก็ยังไม่เห็นร่าง พ.ร.ก. การประชุมครั้งนั้นมีข้อสรุป 3 ข้อ ว่าไม่พิมพ์เงิน ไม่ใช้เงินทุนสำรอง ไม่เป็นภาระงบประมาณ

จากนั้นก็เป็นปีใหม่ วันพุธแรก มีประชุม ครม. เราไม่รู้ว่าระหว่างปีใหม่เขามีประชุมยกร่าง พ.ร.ก. กัน เราก็ไม่เห็นอีก แต่เย็นๆ วันนั้นมีคนเอาร่าง พ.ร.ก. มาให้ดู คืนนั้นก็ตกใจ มาตรา 7 ( 3 ) ร่าง พ.ร.ก. อันนี้เราไม่เห็นมาก่อนว่าภายใต้มาตรา 7(3) ครม. มีอำนาจโอนทรัพย์สินของ ธปท. และกองทุนฟื้นฟูฯ คือมีอำนาจโอนทรัพย์สินได้ทุกอย่างไปชำระหนี้ได้ และ 7 (1) คือ เงินนำส่งของแบงก์ชาติไม่ต้องสุทธิ ขาดทุนสะสมก็ต้องนำส่ง แปลว่าขาดทุนสะสมที่มีอยู่ทิ้งไว้อย่างนั้น ซึ่งอันตรายมาก และ 7 (2) เขียนว่าเงินผลประโยชน์ ให้เอามาชำระหนี้ดอกเบี้ยด้วยทั้งพันธบัตร F1 และพันธบัตร F3 แต่เงื่อนไขที่หลวงตาอนุญาตคือนำมาลดเงินต้นของพันธบัตร F3 เท่านั้น

ตกลงมาตรา 7 เป็นตัวปัญหา จึงส่งข่าวไปเรียนท่านรองนายกฯ ว่าไม่ไหว เรารับไม่ได้ ท่านเดินทางมาแบงก์ชาติ ผมก็อธิบายว่าไม่ดีอย่างไร เพราะ 7 (3) การโอนสินทรัพย์ก็คือการพิมพ์เงินนั่นแหละ ส่วน 7 (1) ถ้าไม่สุทธิ และถ้าดำเนินไปถึงจุดหนึ่งคนจะมีคำถามต่อบัญชีแบงก์ชาติ ถ้าทิ้งติดลบนานๆ แบงก์ชาติกล้าดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเหรอ กล้าดำเนินนโยบายดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเหรอ เพราะมีขาดทุนตั้งเยอะ และไม่มีทางล้างขาดทุนสะสมได้ ส่วนมาตรา 7 (2) คณะลูกศิษย์หลวงตาบัวเขาคงไม่ยอม

ท่านฟังเสร็จก็ยอมแก้ให้ และมีจุดที่สำคัญคือเรื่องพันธบัตรรัฐบาลจะทยอยครบกำหนด ท่านบอกว่าให้กองทุนฟื้นฟูฯ ออกพันธบัตรไปเปลี่ยน ถามว่าพันธบัตรรัฐบาลพวกนั้นใครถือ กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม กองทุนรวม ประชาชนทั่วไป หากกองทุนฟื้นฟูฯ ออกพันธบัตร ไม่มีใครถือ เพราะฐานะมันติดลบ ท่านถามว่าแบงก์ชาติออกได้ไหม ผมก็บอกว่าถ้าแบงก์ชาติออกพันธบัตรก็เป็นการพิมพ์เงินเลย

ผมเรียนว่า เวลานี้คนที่ออกพันธบัตรแล้วได้ดอกเบี้ยต่ำสุดคือรัฐบาล ท่านฟัง ตรงนี้เป็น critical เลย ท่านก็บอกว่าหากรัฐบาลจำเป็นต้องออกพันธบัตรรุ่นใหม่แทนรุ่นเก่า ก็โอเค แต่เรา (แบงก์ชาติ) ต้องพยายามหาเงินมาชำระดอกเบี้ยแต่ละงวด เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ

นี่เป็นจุดที่ทำให้ตีความว่าหนี้สาธารณะไม่ลดลง เพราะยอดคงค้างยังเป็นหนี้สาธารณะอยู่ เพียงแต่แบงก์ชาติจัดการเรื่องดอกเบี้ย

หลังจากที่คุยเสร็จ ผมพยายามติดต่อเลขากฤษฎีกา แต่ท่านรองนายกรัฐมนตรีแวะไปที่กฤษฎีการเลย

นี่ผมกำลังเล่าข้อเท็จจริงให้ฟัง พอวันรุ่งขึ้นเราส่งทีมไปหารือที่กฤษฎีกา เราคุยในเชิงคอนเซ็ปต์ พอหารือเสร็จ กฤษฎีกาเขาขอก็อปปี้คืนหมด เราไม่มีก็อปปี้ ดังนั้นเราไม่ได้กล่าวเท็จ

หลังจากนั้นก็เข้า ครม. เราไม่รู้ว่าเอาอะไรเข้า ผมก็ทำหนังสือถึง รมต.คลัง ว่า เท่าที่ผมเข้าใจมีอย่างนี้ๆ
และที่รัฐสภาเชิญแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง กฤษฎีกาไปชี้แจง สมาชิกเขาขอก็อปปี้ กฤษฎีกาบอกว่าไม่มี ก็ได้ถามกฤษฎีกาว่าทำไมตอบแบบนั้น เขาบอกว่าเป็นวิธีปฏิบัติ ถ้าไปบอกว่ามีก็อปปี้ หากใครขอก็อปปี้ไป แล้วเรื่องนี้ยังไม่จบ ระหว่างทางใครจะแก้อย่างไรไม่รู้ เกิดวันหน้าออกมาเปรียบเทียบกัน จะมีประเด็นว่าใครไปแก้

ดังนั้น แม้แต่ต้นเรื่องคือกฤษฎีกาบอกว่าไม่มีก็อปปี้ แล้วจะให้แบงก์ชาติบอกว่าจะมีก็อปปี้ได้อย่างไร ทางพระท่านก็ถามว่าเขาแก้จริงหรือ พระท่านก็ขอก็อปปี้ ก็ไม่มี

ดังนั้น มันไม่ใช่การโกหก มันไม่มีก็อปปี้ มันเป็นวิธีปฏิบัติ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

คำถาม : นี่แสดงว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ดูแล้วในหลักการวิธีนี้ดีที่สุด

ณ ขณะนี้ ปัญหาหนี้มันได้รับการแก้ไข ถึงแม้จะไม่ใช่ไอดีล กล่าวคือ ไอดีลตามหลักสากลคือต้องจัดสรรงบประมาณมาทยอยชำระหนี้ เพราะมันเป็นค่าใช้จ่ายของแผ่นดิน ไม่มีใครอยากให้เกิดวิกฤต พอเกิดแล้วต้องแก้ และแก้แล้วมันต้องพิสูจน์ว่าฟื้นไหม ของเราที่ผ่านมา 14 ปี เศรษฐกิจโตปีละ 4-5% จีดีพี 10 ล้านล้านบาท เงินเฟ้อเราก็ค่อนข้างต่ำ ก็ไม่เลวนะ ในหลักสากลหนี้ก้อนนี้เขาถือว่าเป็นรายจ่ายซึ่งต้องตั้งงบประมาณ ค่อยๆ ทยอยไป เป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุด

แต่ระยะหลัง วิกฤตเศรษฐกิจในต่างประเทศมีความเสียหายสูงมาก อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลายประเทศ เขาใช้วิธีเก็บภาษีผู้ประกอบธุรกิจการเงินนิดๆ หน่อย ๆ ประมาณ 0.01% หรือ 0.1% เป็นต้น วันที่ประชุมเมื่อ 30 ธันวาคม 2554 ผมก็เสนอว่า หลักสากลเขาต้องตั้งงบประมาณหรือเก็บภาษีเพิ่ม ทีนี้ การเก็บจากธนาคารพาณิชย์ 0.47% นี่คือภาษีแบบหนึ่ง เดิมที่ธนาคารพาณิชย์จ่าย 0.4 % เข้าสถาบันประกันเงินฝากหรือสมัยก่อนเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ นี่ก็คือภาษีทางอ้อมนั่นเอง ไม่ต่างจากหลักสากลมาก เพียงแต่เรารู้สึกว่าเป็นอัตราภาษีที่เป็นภาระพอสมควร

คำถาม : เพียงแต่ครั้งนี้การปฏิบัติไม่ได้หารือกับคนที่เกี่ยวข้อง

เราต้องหนักแน่นไว้ เพราะหนี้ก้อนใหญ่อยู่ๆ จะใส่ตูมมาและเขียนกฎหมายจะให้โอนทรัพย์สินแบงก์ชาติอีก และเรื่องนี้ ครม. ก็รู้ว่าเป็นเรื่องร้อน การประชุมเรื่องนี้ครั้งแรก ครม. ก็รับในหลักการ

มองย้อนหลัง ทางออกที่ได้ข้อสรุปแบบนี้ หากทำอย่างตรงไปตรงมาจะไม่ตกใจ เพราะแบงก์พาณิชย์เขาจ่ายอยู่แล้ว 0.4% ขอเพิ่มอีกนิดหนึ่งก็ไม่มีอะไร แต่ที่ผ่านมาทำให้ตกอกตกใจกัน

คำถาม : ประเด็นที่ให้ทบทวนวงเงินคุ้มครองมากกว่า 1 ล้านบาท

นี่ก็เห็นใจสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่เขากำหนดตัวเลขคุ้มครอง 1 ล้านบาท มันมีที่มา โดยเขาเทียบจากรายได้ประชาชาติต่อหัว ประเทศที่รายได้ต่อหัวสูงวงเงินตัวนี้ก็จะสูง รายได้น้อยก็วงเงินตัวนี้ก็น้อย อย่างญี่ปุ่นวงเงินค้ำประกันเงินฝากประมาณ 4 ล้านบาท ส่วนประเทศอื่นที่รายได้ใกล้เคียงกับไทยก็ประมาณ 1 ล้านบาท

คอนเซ็ปต์ว่า ถ้าแบงก์เป็นอะไรไปไม่ใช่ให้ผู้เสียภาษีหรือรัฐรับภาระทั้งหมด สถาบันนี้จะช่วยให้ผู้ฝากเงินรายย่อยดำรงชีพต่อไปได้ ถ้ามองภาพใหญ่กลไกสถาบันประกันเงินฝาก เท่าที่สังเกตุจะใช้ได้ดีกับประเทศที่มีระบบธนาคารเล็กๆ เยอะๆ เวลามีปัญหาสามารถปล่อยให้ล้มได้โดยไม่กระทบระบบ สถาบันประกันเงินฝากเข้าช่วยชดเชยให้ ตัวอย่างที่ชัด คือสหรัฐอเมริกามีธนาคารตามรัฐต่างๆ เป็นหมื่น คอนเซ็ปต์นี้เวิร์ก

แต่เมื่อไหร่ที่ธนาคารพาณิชย์ใหญ่มีปัญหาหรือเป็นปัญหาใหญ่ของระบบ สถาบันประกันเงินฝากจัดการไม่ไหว กระทรวงคลังหรือรัฐบาลประเทศนั้นๆ ต้องออกมา อย่างซับไพรม์ของอเมริกาหรืออังกฤษ แบบนั้นก็รับไม่ไหว

ส่วนประเทศไทยตอนนี้ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์มีน้อยมาก มีธนาคารพาณิชย์ 14-15 แห่ง มองสภาพทั้งในระบบ ตัวเล็กสุดอย่างสินเอเชียถือหุ้นโดยแบงก์ใหญ่ที่สุดในโลกคือ ICBC หรือทีเอ็มบีก็มีไอเอ็นจีถือหุ้น ธนชาติมีโนวาสโกเทียถือหุ้น เป็นต้น

วิธีการสร้างความเชื่อมั่นของสถาบันประกันเงินฝากทำได้หลายวิธี เช่น เอาเงินมากองไว้ ไปขอเครดิตไลน์จากแบงก์ว่ามีวงเงินอยู่ เกิดอะไรขึ้นใช้วงเงินได้ หรือให้กระทรวงการคลังออกมาประกาศว่า ให้สถาบันประกันเงินฝากทำภารกิจตามกฎหมาย ถ้ามีปัญหาอะไรกระทรวงการคลังดูแล ผมว่าทางออกแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้ระบบเสียหาย

ถ้าถามว่าควรเพิ่มวงเงินหรือไม่ คำตอบคือไม่ 1 ล้าน เป็นกรอบที่เหมาะสมแล้ว แบงก์ชาติ กระทรวงการคลังคงไม่ยอมปล่อยดังนั้นวงเงิน 1 ล้าน หรือมากกว่าก็ไม่จำเป็น ไม่มีความหมาย

คำถาม : ตอนนี้ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกาอัดเงินเข้ามาในระบบเยอะมาก จะเกิดอะไรบ้าง

ตอนนี้เขากดดอกเบี้ยระยะยาวให้ลง เพื่อหวังให้มีการลงทุนให้หลุดพ้นจากภาวะซบเซา ผมคิดว่าหากเงินจะไหลเข้ามา ไม่ใช่เกิดจากนโยบายของเขามากเท่ากับเรื่องดอกเบี้ย เพราะเขาจะทิ้งให้ดอกเบี้ยต่ำประมาณ 2 ปี ขณะที่บ้านเราดอกเบี้ยคงไว้ที่ 3% ผมว่าดอกเบี้ยมีส่วน เพราะของเราสูงกว่า และการเติบโตของเรา 4 -5% ขณะที่ของเขาซบเซา มีโอกาสที่เงินจะไหลมาบ้าง

ทีนี้ เรามีมาตรการรองรับเงินไหลเข้า 6- 7 อย่าง อยู่ในมือ

1. อัตราแลกเปลี่ยนอย่าไปตรึงเอาไว้ ต้องยืดหยุ่น ให้เป็นตามกลไกตลาด

2. เปิดเสรีให้มีการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เช่น เพิ่มประเภทหลักทรัพย์ เพิ่มวงเงิน เพิ่มประเภทการลงทุน วันนี้จะมองในประเทศไม่ได้แล้ว ต้องมองออกไปนอกประเทศ มีหลายธุรกิจที่ออกไปลงทุนแล้ว อาทิ มิตรผล เอสซีจี พฤกษา ยูเอฟซี

3. กฏระเบียบที่ควบคุมสถาบันการเงิน เราใช้กฏที่กำกับสถาบันการเงิน เช่น L to V (loan to value asset) บางประเทศ ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ เงินที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ เรากำหนด L to V เพื่อไม่ทำให้บางจุดร้อนแรงเกินไป

4. แบงก์ชาติมีหน้าตักพอสมควร ทั้งซื้อทั้งขาย หากค่าเงินสวิงมาก จำเป็นต้องเข้าฉับพลัน ก็เข้าแทรกแซงได้ เป็นระยะสั้น ไม่ใช่ฝืนทิศทาง

5. การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ จริงๆ แล้ว เอเชียมีเงินออมมากพอสำหรับการลงทุน แต่ไม่มีตลาดการเงินที่ทำหน้าที่ที่เก่งพอ ต้องอาศัยตลาดลอนดอน นิวยอร์ก ซึ่งตลาดตราสารหนี้เหมือนเป็นแก้มลิง เวลาน้ำหลากเก็บน้ำไว้ เวลาแล้งก็สูบน้ำออกมาใช้ ซึ่งการพัฒนาต้องใช้เวลา

6. ความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางในภูมิภาค

7. ถ้าจำเป็นต้องใช้คือ capital control

มาตรการทั้งหมดนี้ก็ต้องผสมผสาน ในช่วง 2 เดือนนี้มีเงินทุนไหลเข้าเขามองหาผลตอบแทน แต่เราไม่ต้องแทรกแซง ส่วนเงินประกันในช่วงที่ผ่านมาเข้ามาแล้ว 4,000 ล้านเหรียญ

คำถาม : โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ทางปฏิบัติโอนอย่างไร

โอนหนี้มันต้องโยกย้ายทั้ง 2 ข้าง ทั้งหนี้สินและทรัพย์สิน แต่ถ้าโอนเข้ามาข้างหนี้สิน ส่วนข้างสินทรัพย์ไม่มี ใครจะกล้าเซ็น ทางบัญชีต้องลงทั้งหนี้สินและทรัพย์สิน

คำถาม : ขณะนี้หนี้สาธารณะต่อจีดีพียังกู้เพิ่มได้อีกแค่ไหน

ปกติมีเกณฑ์ยั่งยืน จะดูหนี้ต่อจีดีพี เพราะจีดีพีคือตัวกำหนดการเก็บภาษีว่าจะได้เท่าไหร่ พร้อมกับคำนวนหนี้ว่ามีภาระดอกเบี้ยเท่าไหร่ เพื่อคำนวนว่าจะเก็บภาษีให้เพียงพอภาระจ่ายดอกเบี้ย

โดยศักยภาพ ประเทศไทยขีดเส้นหนี้สาธารณะไว้ที่ 60% ของจีดีพี ตอนนี้ 40% ผมมองว่าเวลาเราขาดดุลงบประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท ประมาณ 2.5-3% ของจีดีพี หากเราขาดดุล 2.5% ต่อปีไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2562 หนี้สาธารณะจะชนเพดาน 60% ของจีดีพี

หากมองในเชิงระมัดระวัง เรื่องนี้ไม่ควรชะล่าใจ ซึ่งการขายหุ้น ปตท. การบินไทย ก็เหมือนกัน ต้องการลดภาระหนี้สาธารณะลง

คำถาม : คนมองว่าแบงก์ชาติเป็นรัฐอิสระ

มันไม่ใช่ การดูแลเรื่องเงินเฟ้อแต่ละปี กรรมการนโยบายการเงินจะตกลงกันก่อนว่าจะตั้งเป้าเท่าไหร่ หารือ รมต.คลังและเสนอ ครม. แล้วแต่ว่า ครม.จะตั้งเป้าสูงหรือต่ำ แล้วส่งกลับมาให้ ธปท. รับมาปฏิบัติ ดำเนินนโยบายตามเป้า เรามีอิสระในการเลือกใช้เครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ได้เป็นรัฐอิสระ เพราะเงินเฟ้อเป็นเรื่องความผาสุกของประชาชน ให้ผู้แทนเขาเป็นคนกำหนด สมมติ อยากให้ดอกเบี้ยต่ำ เขาต้องกำหนดเป้าเงินเฟ้อสูง เป็นเรื่องประชาชนตัดสินใจ ไม่ใช่อยากบอกว่าให้ดอกเบี้ยต่ำ และของไม่แพง

คำถาม : แล้วเรื่อง core inflation และ headline inflation

Core inflation เราใช้มานาน 10 ปี ดีพอสมควร เป็นเครื่องมือการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย มีการเปิดเผยรายงานการประชุม แต่เฮดไลน์ มีอาหาร พลังงาน ทำให้แกว่งเยอะ ก็ให้ตัวนี้ออกไปก่อน

พอมาถึงจุดนี้ เรายังใช้ core inflation เวลาคุยกับคนอื่น คุยกันคนละภาษา คนละคลื่น core inflation เหลือไทยประเทศเดียวที่ใช้อยู่ คนอื่นใช้ headline inflation หมดแล้ว